“ร้านแผ่นเสียง” วัฒนธรรมฮิปสเตอร์ของคนรุ่นใหม่กับการกลับมาของแผ่นเสียง

วิถีการฟังเพลงด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Vinyl) เคยจางหายไปพร้อมกับธุรกิจแผ่นเสียงที่ซบเซา กำลังกลับมาฟื้นคืนชีพด้วยวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ของคนรุ่นใหม่ที่ยังถวิลหารูปแบบการฟังดนตรีแบบแอนะล็อก ในยุคสมัยของการฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่ง ใครจะไปคิดว่าเราจะได้เห็นผลงาน ของ “บอดี้สแลม” (Bodyslam) “เป๊ก ผลิตโชค” หรือ “อะตอม” ในรูปแบบของแผ่นเสียง การนำผลงานยุคดิจิตอลมา re-master ให้มาอยู่ในรูปของฟอร์แมตแอนะล็อก จึงไม่ได้เป็นเพียงการเอาของเก่าในอดีตมาชื่นชมในฐานะของสิ่งตกค้างจากยุคสมัย แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้เราได้มีทางเลือกในการเสพสุนทรียภาพทางดนตรีที่หลากหลายยิ่งขึ้น

ประดิพัทธ์ – สะพานควาย ที่นี่คือย่านธุรกิจเก่าแก่ของกรุงเทพฯ การเดินทางที่สะดวกสบายใกล้กับรัศมีรถไฟฟ้า BTS ทำให้ปัจจุบันย่านนี้กลายมาเป็นทำเลทองทั้งในแง่มุมธุรกิจและการใช้ชีวิต

จากสถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย เมื่อเดินทอดน่องไปตามถนนประดิพัทธ์ ผ่านร้านกาแฟ ร้านอาหาร แล้วเลี้ยวเข้าไปในซอยย่อยประดิพัทธ์ 19 ระยะทางประมาณ 200 เมตร มองไปทางซ้ายมือเราจะเจอกับป้าย “ร้านแผ่นเสียง” ตั้งอยู่ด้านบนกำแพงยาวสีขาว เป็นที่รู้กันในแวดวงแผ่นเสียงว่าที่นี่เกิดจากความตั้งใจของชายผู้เคยอยู่เบื้องหลัง Bangkok Hi-Fi ร้านขายเครื่องเล่นและแผ่นเสียงในตำนานที่ฟอร์จูนทาวน์เมื่อกว่า 20 ปีก่อน

เดินผ่านประตูรั้วบานใหญ่เข้าไป ทอดสายตาไปทางขวาคือสนามหญ้าสีเขียวชอุ่ม ถัดจากนั้นเดินตรงเข้าไปเป็นบ้านย้อนยุคสีขาวสองชั้นทรงเสน่ห์ ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล
นั่นแหละ เรามาถึงกันแล้ว…

ร้านแผ่นเสียง

คุณนก พงศกร ดิถีเพ็ง   ชายวัย 53 ปี ผู้คร่ำหวอดในวงการแผ่นเสียงไวนิลและเป็นเจ้าของ “ร้านแผ่นเสียง” แห่งนี้ ยืนรอต้อนรับเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เขาแปลกใจเล็กน้อยว่าทำไมเราถึงสนใจที่นี่นัก ระหว่างผลักประตูเข้าไปในบ้าน คุณนกชวนเราคุยเรื่องแผ่นเสียง และประวัติความเป็นมาของร้านเล็กน้อย ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของการมาเยี่ยมบ้านญาติผู้ใหญ่ที่คลั่งไคล้การสะสมมรดกจากยุคแอนะล็อก และนั่นน่าจะเป็นความรู้สึกแรกของหลายๆ คนเมื่อได้เข้ามาสัมผัสที่นี่ระหว่างเดินตามคุณนกเข้าไปในร้าน เสียงดนตรีจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงย้อนยุคก็ลอยละล่องออกมาต้อนรับ จนแทบจะทำให้เราลืมเสียงจอแจภายนอก

เสน่ห์ของร้านแผ่นเสียงไม่เพียงเฉพาะตัวบ้านสไตล์โคโลเนียลที่ชวนให้นึกถึงอดีต แต่คือบรรยากาศภายในร้านที่อบอวลไปด้วยแผ่นเสียงละลานตาและเรื่องราวที่น่าสนใจ

ภายในร้าน…ห้องแรกได้รับการออกแบบให้เป็นห้องสำหรับแผ่นเสียงไวนิลที่มาใหม่ และแผ่นเสียงไวนิล เทปคาสเซ็ท รวมถึงซีดีเพลง ที่นำเอาผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ มาทำ Re-Master เป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นเพลงของวงบอดี้สแลม (bodyslam) โปเตโต้ (Potato) หรือ วงสไตล์ฮิปฮอปที่กำลังมาแรงอย่าง เซาท์ไซด์ (Southside)

ซ้ายมือเป็นห้องสำหรับทดสอบแผ่นเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียงย้อนยุคที่ตั้งอยู่ตรงกลางห้องกำลังบรรเลงเพลงเหมือนจะดึงให้หลุดเข้าไปยังโลกอีกใบ ห้องนี้รวมเอาแผ่นเสียงหายาก ทั้งเพลงไทยเพลงสากล ไล่เลียงตั้งแต่ยุค 50s 60s 70s 80s ไปจนถึงยุค 90s จำนวนกว่า 10,000 แผ่นมาไว้ด้วยกัน ไม่มีแผ่นเสียงแผ่นไหนในห้องนี้ที่คุณนกไม่เคยฟัง และที่น่าทึ่งคือ เขาสามารถพูดคุยถึงแผ่นเสียงแต่ละแผ่นได้อย่างออกรส

ฝั่งขวาเป็นห้องนั่งเล่น ใครอยากจะมานั่งพักผ่อนหย่อนใจก็ตามสบาย ภายในห้องนี้ประกอบไปด้วยโต๊ะและเก้าอี้หลายตัว ห้อมล้อมด้วยชั้นวางแผ่นเสียงจัดเรียงกันอยู่แน่นขนัด เสมือนนั่งอยู่ท่ามกลาง ‘ห้องสมุดแห่งดนตรี’ โดยที่แห่งนี้ถือเป็น ‘คลังเก็บแผ่นเสียง’ ทั้งเพลงแนวพอป ร็อก แจ๊ส หรือ อินดี้ รวมแล้วมีมากกว่าหมื่นแผ่น โดยคุณนกตั้งใจเก็บสะสมและอนุรักษ์ไว้ให้เป็นพยานแห่งกาลเวลา บางครั้งก็หยิบออกมาปัดฝุ่นใช้งานบ้างตามแต่โอกาส

เอกลักษณ์สำคัญของร้านแผ่นเสียงแห่งนี้คือการเป็นฐานผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นเสียง Re-Master ให้กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง GRAMMY และ SONY อีกทั้งยังเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดที่ได้นำเอาเพลงต้นฉบับจากศิลปินไทยที่ไม่เคยออกเทป มาทำ Re-Master ให้อยู่ในรูปแบบ Master Tape สังเกตได้จากหลังเทปคาสเซ็ทของที่ร้านจะเป็นตัวเลข 01 เสมอ

“กระแสเรโทรที่กลับเข้ามา ประกอบกับยอดสั่งจองแผ่นเสียง เทปคาสเซ็ท ที่ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ค่ายเพลงอย่าง GRAMMY และ SONY เข้ามาปรึกษา เพื่อทำโปรเจกต์ป้อนแผ่นเสียงสู่ตลาดไทย พอได้ทดลองทำแผ่นเสียง Re-Master ให้ทางค่ายฯ ปรากฏว่ากระแสตอบรับดี มียอดสั่งจองถล่มถลาย จึงได้รับความไว้วางใจจากค่ายให้เป็นฐานผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นเสียง Re-Master และ Master Tape จากเพลงต้นฉบับของศิลปินไทยออกมาให้ได้สะสมกันอยู่เรื่อยๆ” คุณนกเล่า

การคืนชีพของแผ่นเสียงที่ชวนหลงใหล

เมื่อการกลับมาของกระแสยุควินเทจในครั้งนี้ ยังส่งผลให้ตลาดแผ่นเสียงไวนิลจากที่เงียบเหงามานานกลับมามีชีวิตชีวา ธุรกิจการขายแผ่นเสียงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับลูกค้าหน้าใหม่ที่ไม่ใช่คนรุ่น 50 เหมือนในอดีต แต่เป็นคนรุ่นใหม่อายุ 20 ที่โตมากับเทคโนโลยีและแนวดนตรีที่หลากหลาย

เหมือนหัวใจที่กำลังอ่อนแรงและพร้อมจะหยุดเต้น ได้รับแรงกระตุ้นให้กลับมาอีกครั้งด้วยวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังคงหลงใหลและโหยหาบรรยากาศการฟังดนตรีแบบย้อนยุค พวกเขาปรารถนาที่จะดื่มด่ำเสียงดนตรีจากแผ่นเสียงไวนิลสุดคลาสสิกที่สามารถส่งเสียงตัวโน๊ตในจังหวะและทำนองเพลงโปรดออกมาได้อย่างกังวาน เต็มอิ่ม และมีความละเอียดสูง

“เอาเข้าจริงๆ ลูกค้าบางคนที่เดินเข้ามาในร้านอายุไม่ถึง 20 ก็ยังมี ความต้องการก็มีหลากหลาย บางคนเข้ามาตามหาเพลงเก่า บางคนก็เข้ามาตามหาผลงานเพลงจากศิลปินรุ่นใหม่  ที่อยู่ในรูปแบบของแผ่นเสียง มันเป็นความท้าทายที่ทำให้เราต้องพยายามทำความเข้าใจว่ายุคนี้วัยรุ่นเขาฟังอะไรกัน เขาฮิตอะไร มองเทรนด์วงการเพลงให้ออกว่าอะไรกำลังได้รับความนิยม พอจับกระแสได้ก็มาประยุกต์ให้เข้ากับงานของเรา อย่างแผ่นเสียงของ “อะตอม” (ชนะกันต์ รัตนอุดม) ที่อยู่ในมือผมตอนนี้ และล่าสุดที่ผมกำลังจะผลิตออกมาคือ แผ่นเสียงเพลงของ “เป๊ก” (ผลิตโชค อายนบุตร) เพราะตอนนี้กระแสเขากำลังมาแรง แฟนคลับก็อยากจะเก็บสะสม”

ความน่าสนใจของ “ร้านแผ่นเสียง” ไม่ใช่เพราะที่นี่มีแผ่นเสียงเป็นหมื่นๆ แผ่น ซึ่งรวมไว้ทั้งเพลงไทย-สากล แผ่นเสียงหายาก รุ่นลิมิเต็ด อัลบั้มโดนแบน เครื่องเล่นแผ่นเสียงยุคเก่า หรือเพราะที่นี่เป็นฐานผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นเสียงจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ แต่ความเจ๋งของร้านแผ่นเสียงแห่งนี้คือการสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้กลายเป็น…

พื้นที่สร้างความสุขให้กับคนทุกรุ่น

“เราไม่เคยคาดหวังว่าลูกค้าที่เดินเข้ามาจะต้องซื้อแผ่นเสียงกลับไป ความสุขของเราคือการทำให้ที่นี่เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ เล็กๆ ที่ดึงดูดคนหลากหลายวัยมารวมกัน”

“ย้อนไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน เราทำร้านแผ่นเสียงร่วมกับรุ่นพี่ที่ฟอร์จูนทาวน์ ชื่อร้าน Bangkok Hi-Fi กระทั่งโยกย้ายร้านมาเปิดแถวประดิพัทธ์แห่งนี้ ลูกค้าที่ตามมาอุดหนุนมีตั้งแต่คนอายุ 40 ไปจนถึงคนอายุ 60 เวลาผ่านไปการกลับมาได้รับความนิยมของแผ่นเสียงในยุคที่การฟังเพลงอยู่ในรูปแบบสตรีมมิ่งบนออนไลน์ ลูกค้าที่เดินเข้าร้านเป็นคนรุ่นใหม่อายุ 20 เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องราวทางดนตรีของคนสองยุค พัฒนาความสัมพันธ์จนเป็นเพื่อน พี่ น้อง โดยมีแผ่นเสียงเป็นตัวเชื่อม”

ในพื้นที่เดียวกันนี้ยังเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงให้ได้มาพบปะกันในบรรยากาศแบบใกล้ชิดอบอุ่น ด้วยการเนรมิตสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงคอนเสิร์ต โปรโมตเพลง และแจกลายเซ็น เป็นพื้นที่แห่งสุนทรียภาพทางดนตรีของทุกคน

“เมื่อเวลาผ่านไปเราเข้าใจธรรมชาติว่าทุกอย่างมันจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่พื้นที่ตรงนี้จะรับบทบาทเป็นศูนย์รวมความสุข และเชิญชวนผู้คนแวะเวียนเข้ามาเติมชีวิตชีวา เหมือนอย่างที่มันเป็นมาตลอด”

คุณนกนิ่งยิ้มแล้วบอกทิ้งท้าย

        ร้านแผ่นเสียง Record Shop
3 ซอย ประดิพัทธิ์ 19 แขวง สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
FACEBOOK : ร้านแผ่นเสียง ประดิพัทธ์ ซอย 19

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ