Craft it on – การเดินทางของงานคราฟท์ การเดินทางของชีวิต

มนุษย์หลายคนมีความรักเป็นเครื่องนำทางชีวิต แม่อร – อรสา ดุลยยางกูล เจ้าของงานฝีมือแบรนด์ Craft it on ก็เช่นกัน ความรักของเธอคือการทำงานคราฟท์ออกมาอย่างมีความคิดสร้างสรรค์และดีที่สุด กระทั่งวันหนึ่งความรักเหล่านี้ได้นำพาเธอออกเดินทางไปพบเจอกับความสุขและสิ่งดีๆ ในชีวิต

ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันหมดอายุ

งานคราฟท์คืองานหัตถกรรม หรือถ้าจะให้เรียกกันง่ายๆ ก็คือ ‘งานฝีมือ’ การจะทำงานฝีมือให้ได้ดีในคุณสมบัติหนึ่งที่ผู้สร้างงานต้องมีนอกเหนือไปจากความปราณีตก็คือความคิดสร้างสรรค์

ผลงานของ ‘Craft it on’ งานคราฟท์ที่เกิดจากฝีมือของ แม่อร – อรสา ดุลยยางกูล วัย 62 ปี ทุกชิ้นล้วนเป็นงานที่โดดเด่นและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น

ไอเดียบรรเจิดของแม่อรเป็นเหตุผลข้อแรกๆ ที่ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าของ Craft it on ยิ่งเมื่อมีโอกาสได้พบเห็นหรือพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ด้วยแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือทำไมคนวัยเลยแซยิดถึงยังมีความคิดสร้างสรรค์ และสร้างงานใหม่ๆ ออกมาได้เรื่อยๆ ราวกับเป็นคนหนุ่มคนสาว

“งานทุกชิ้นเกิดจากความชอบและความรักของเรา เราชอบเรื่องการเย็บปักถักร้อย แล้วก็ทำงานฝีมือมาตั้งแต่ยังเด็ก ในการเรียนของคนรุ่นเราจะมีวิชาคหกรรมเป็นวิชาที่สอนในเรื่องการทำงานอาหาร การตัดเย็บเสื้อผ้า การทำงานฝีมือ ฯลฯ คหกรรมเป็นวิชาที่เราชอบเรียนมาก โดยเฉพาะในส่วนของการเย็บปักถักร้อย ทำงานฝีมือนี่เราได้คะแนนดีกว่าทุกคนในห้องเลย ส่วนหนึ่งที่เราเรียนวิชานี้ได้ดีกว่าคนอื่นมาจากการได้เรียนรู้มาจากคุณยาย คุณยายจะสอนให้เราตัดชุดนักเรียนใช้เองตั้งแต่ป .5 โดยตัวเสื้อยายจะมีผ้าขาวมาให้ ส่วนกระโปรงก็เลาะเอาของเก่าพลิกด้านข้างในออกมาตัดใหม่ แค่นี้เราก็ได้ชุดนักเรียนใหม่ใส่ไปโรงเรียน

“การปลูกฝังของคุณยายทำให้เราชอบที่จะทำของใช้เองมากกว่าไปหาซื้อ แล้วก็ทำให้เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งของที่อยู่รอบๆ ตัว คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นของไม่มีค่าเป็นขยะ แต่เราจะมองว่ามันคือสมบัติ เวลาเรามองมันเราจะคิดว่ามันสามารถทำเป็นอะไรได้บ้าง แล้วเราไม่ได้คิดจากความซีเรียสจริงจังนะ แต่เป็นการคิดด้วยความสนุก เราว่าอย่างแรกของความคิดสร้างสรรค์มันต้องเป็นความสนุกที่จะคิด”

ชุดไทยที่ทำจากสมุดหน้าเหลืองเหลือใช้ โคมไฟแมงกะพรุนที่ผลิตจากตะแกรงพัดลม ถุงใส่กล่องข้าวที่มาจากเศษผ้า ฯลฯ เหล่านี้คือผลงานที่มาจากไอเดียของหญิงวัย 62 ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ผลงานทั้งหมดคงยากที่จะเป็นที่รู้จักของใครต่อใคร รวมทั้งไม่สามารถนำมาสร้างรายได้ หากปราศจากการมองเห็นคุณค่าทางการตลาดของผู้เป็นลูกสาว

“เราเห็นว่างานของแม่เป็นงานที่มีไอเดียดี ดูแล้วคนสมัยใหม่น่าจะชอบ น่าจะนำไปต่อยอดทางการตลาดได้ เราเลยเริ่มต้นด้วยการชักชวนพาแม่ไปลองออกบูธที่ศูนย์การค้าเดอะไบรท์ พระราม 2” นิชาภา นิศาบดี ลูกสาววัย 26 ปีของแม่อรกล่าวถึงจุดแรกเริ่มในการนำผลงานออกสู่สายตาของผู้คน ซึ่งเธอมองว่าน่าจะดีกว่าการให้แม่นั่งทำงานฝีมืออยู่กับบ้านเหมือนที่ผ่านมา

ความรู้สึกของแม่อรในเวลานั้นแทบไม่ต่างอะไรจากนักมวยที่ขึ้นชกบนสังเวียนผ้าใบเป็นครั้งแรก แม้จะเป็นมวยมีฝีมือ และขยันฝึกซ้อมมากแค่ไหน แต่การปรากฏตัวอยู่หน้าแสงไฟที่มีสายตาคนดูจับจ้อง ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะตื่นเต้นและประหม่า

“งานในวันนั้นเป็นงานเป็นการรวมงานคราฟท์จากหลายๆ ที่ มาออกบูธรวมกัน ซึ่งก็รวมถึงแบรนด์ของเราคือ Craft it on ด้วย ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ชื่อแบรนด์ก็เพิ่งจะคิดกันใหม่ๆ ความรู้สึกของเราในวันนั้นคือตื่นเต้นมากๆ แล้วก็มีความกลัวปะปนอยู่ด้วย เรากลัวว่าคนจะไม่ชอบงานของเรา กลัวว่าจะไม่มีคนสนใจ กลัวว่าจะไม่มีใครซื้องานของเรา เรากลัวว่าเราจะผิดหวัง”

ไม่ว่าจะเป็นนักชกหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ จะเป็นยอดฝีมือหรือแค่มวยวัด แต่ทุกอย่างจะถูกตัดสินก็ต่อเมื่อเสียงระฆังยกสุดท้ายจบลง การออกบูธครั้งแรกของแม่อรในช่วงสุดสัปดาห์ดังกล่าว มีผู้คนให้ความสนใจและเวียนเข้ามาชื่นชมและอุดหนุนไม่ขาดสาย สินค้าจากฝีมือของหญิงสูงวัยขายได้หลายต่อหลายชิ้น

“เราดีใจมาก และรู้สึกมีกำลังใจในการที่จะทำงานต่อไป” แม่อรยิ้มอย่างมีความสุขเมื่อนึกถึงการเปิดตัวเมื่อ 4 ปีก่อน

และแล้ว Craft it on ก็แจ้งเกิดในวันนั้น  

เมื่องานฝีมือที่บ้านบุกตลาดออนไลน์

“เรามองว่างานของแม่เราเป็น pass it on มันคือการส่งต่อ ที่นี้เราก็มามองว่าส่งต่ออะไร เราเห็นว่าส่งต่องานคราฟท์ แล้วแม่ก็ชื่ออรอยู่แล้ว ก็เลยตั้งชื่อแบรนด์ว่า Craft it on”   นิชาภา ลูกสาวคนเล็กของแม่อรกล่าวถึงที่มาที่ไปและความหมายของแบรนด์

หลังจากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบรรดาลูกค้าในการออกบูธครั้งแรกที่เดอะไบรท์ พระราม 2 แม่อรก็มีกำลังใจในการที่จะสร้างงานมากขึ้นไปอีก หญิงวัย 62 กลับมาคิดค้นและสร้างผลงานใหม่ๆ ออกมาอีกหลายชิ้น ซึ่งทุกชิ้นงานนอกจากจะแตกต่างไม่เหมือนใครแล้ว ยังเต็มไปด้วยความสุขและอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่ง

“พอรู้ว่ามีคนชอบงานของเรา เราก็รู้สึกมีความสุขแล้วก็มีกำลังใจอยากที่จะทำงานชิ้นใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ มันไม่ใช่เรื่องของการขายได้หรือขายไม่ได้หรอก เราสร้างงานเราไม่ได้คำนึงถึงตรงนั้นเลย แค่ลูกค้าเขาเดินเข้ามาคุยกับเรา ชื่นชมงานของเรา หรือแลกเปลี่ยนความคิดกัน แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว

“พอออกบูธไปได้สัก 2-3 ครั้ง ลูกสาวเขาก็เริ่มเป็นห่วง เขาบอกว่าถ้าคุณแม่เหนื่อยก็หยุดพักได้นะ อย่าหักโหม แต่เราก็บอกเขาไปว่าแม่ใจแตกเสียแล้ว คงลำบากแล้วถ้าจะให้หยุด หลังๆ เราเลยบอกลูกสาวว่าเดี๋ยวแม่ไปออกบูธเอง ซึ่งถ้าเดินทางไม่ไกลมาก เขาก็ให้ไป แต่ถ้าเป็นบูธที่อยู่ไกล เขาก็จะไปเป็นเพื่อน”

หลังออกบูธไปได้ 4-5 งาน กลุ่มลูกค้าก็เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น นิชาภาผู้เป็นลูกสาวคิดว่าน่าจะเป็นการดีกว่า หากจะทำการเปิดตลาดออนไลน์ด้วยการทำเพจ Craft it on ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ลูกค้าแวะเวียนเข้ามาชมสินค้ากันได้มากขึ้น ไม่ต้องรอเวลาเพื่อให้มีงานออกบูธเหมือนเก่า อย่างไรก็ตามคงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับคนที่เกิดในยุคต้นพ . ศ . 2500  แล้วต้องมาเรียนรู้การขายสินค้าในโลกออนไลน์

“ลูกสาวเขาก็มาอธิบายว่าการมีเพจมันดีกว่าการต้องไปออกบูธยังไง ลูกค้าเขาสามารถที่จะเห็นสินค้าของเราได้จากโทรศัพท์มือถือทันที ไม่ต้องเดินทางมาหาเรา เราเองก็ไม่ต้องเหนื่อยขนของไปออกบูธ แค่ถ่ายรูปแล้วก็โพสต์ลงเพจ ลูกสาวเขาก็พยายามสอน แต่แรก ๆ เราก็ยังไม่เข้าใจ เนื่องจากเราไม่ถนัดในเรื่องพวกนี้ ลูกสาวเขาก็เลยอาสาเป็นพี่เลี้ยงดูแลเพจให้ไปก่อนในช่วงแรก เวลาคุยโต้ตอบกับลูกค้าเขาก็จะถามเราว่าแม่จะตอบว่าอะไร แล้วเขาก็จะพิมพ์ตามเราพูดทั้งหมด”

แม้จะอยู่ไกลจากคำว่าเข้าใจ กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแม่อรจะไม่พยายามเรียนรู้ เธอคิดว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างที่ดีกว่าเดิมจริง ๆ เพราะไม่อย่างนั้นพ่อค้าแม่ค้ายุคนี้คงไม่หันมาบุกตลาดออนไลน์กันเป็นบ้าเป็นหลัง

“จากที่เราสร้างงานอย่างเดียวเราก็พยายามเรียนรู้การทำเพจไปด้วย อย่างน้อยถ้าเราทำเองได้เราก็จะเป็นคนคุยกับลูกค้าเอง เพราะถึงลูกจะพิมพ์ตามที่เราพูดทุกคำ แต่งานฝีมือบางอย่างมันมีรายละเอียดในการอธิบายมากกว่านั้น ”

ในที่สุดแอดมินเพจ Craft it on ก็ถึงคราวเปลี่ยนมือ

กว่าโลกจะกว้างก็ย่างเข้า 62

ในชีวิตจริงแม่อรไม่ใช่คนที่ร่ำเรียนมาสูงมากนัก ทว่าในโลกปัจจุบันของเธอกลับก้าวล้ำ ก้าวไกล และทันสมัยมากกว่าคนในวัยเดียวกัน

แม้จะอยู่ในวัย 62 แต่แม่อรก็มีความแคล่วคล่องว่องไวในโลกโซเชียลไม่ต่างจากวัยรุ่น ในขณะที่คนสูงวัยหลายๆ คนยังใช้โทรศัพท์มือถือแบบมีปุ่มกด แม่อรกลับใช้ได้ทั้งไลน์ ถ่ายรูปอัพลงเฟซบุ๊ก แถมด้วยการสถาปนาตนเองขึ้นเป็นแอดมินเพจ Craft it on อย่างเต็มตัว

“ต้องยกความดีความชอบให้ลูกสาว คือปกติเรื่องโซเชียลจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนแก่ แต่ลูกเราเขาสอนได้ดี คือเขาสอนเราจากง่ายไปยาก ทำให้เราไม่เบื่อที่จะเรียนรู้ เขาจะสอนเราง่ายๆ ก่อน อย่างเช่นถ้ามีลูกค้าถามมา ต้องกดดูตรงไหน ตอบตรงไหน พิมพ์ต่อยังไง แล้วเขาก็จะนั่งข้างๆ คอยทำให้ดู แล้วก็ให้เราทำตาม พอเราทำเรื่องง่ายๆ ได้เขาก็สอนในเรื่องที่ยากขึ้น อย่างเช่นการถ่ายรูป ลงรูป เขียนแคปชัน ซึ่งลูกเขาก็แนะนำว่าให้เขียนตามที่เป็นตัวเราเลย ไม่มีถูก ไม่มีผิด ตอนนี้เราก็ทำได้หมดทุกกระบวนการแล้ว เรียกว่าเราจัดการเองทุกอย่าง ลูกสาวไม่ต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงแล้ว”

การก้าวเข้ามาอยู่ในโลกโซเชียล ทำให้แม่อรสนุกกับเรียนรู้ในโลกใบใหม่ โลกทัศน์และความคิดของเธอเปิดกว้าง อะไรที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็ได้เห็น และแทนที่จะเป็นคนแก่ขี้เหงา เธอกลับกลายเป็นประหนึ่งวัยรุ่นที่ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

“ต้องบอกเลยว่ากว่าโลกจะกว้างก็ย่างเข้า 62 มันกลายเป็นว่าการเล่นโซเชียลของเรามันไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องงานคราฟท์อย่างเดียว แต่เรายังได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย คือบางเรื่องคนอื่นเขาอาจจะรู้มานานแล้ว แต่เราเพิ่งรู้ เราก็รู้สึกว่ามันใหม่สำหรับเรา แล้วความใหม่นี่แหละที่มันทำให้เราสนุก

“ขณะเดียวกันเราก็ได้พัฒนางานของเราไปด้วย อย่างเรื่องงานปักผ้า ลายบางลายถ้าเราดูด้วยตาเปล่าเราก็จะคิดว่ามันยาก แต่จริงๆ เราแค่ไม่รู้วิธี แต่พอเราเปิดยูทูบ เราได้รู้วิธีการ จึงได้รู้ว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด

“สุดท้ายถึงจะแก่แค่ไหน แต่เราเชื่อว่าไม่มีใครแก่เกินเรียนอยู่ดี”

ลดช่องว่างระหว่างวัย

หากงานคราฟท์คือสิ่งที่แม่อรรักและทุ่มเทชีวิต ในทางกลับกันสิ่งที่รักและทุ่มเทนี้ก็ตอบแทนแม่อรด้วยการนำพาให้ชีวิตของเธอได้พบเจอกับความสนุกมากกว่าความเงียบเหงา

“งานคราฟท์ที่เราทำ เขาพาเราไปพบกับสิ่งแปลกใหม่ทุกวัน เราได้รับความรู้ใหม่ๆ   ได้เจอผู้คนใหม่ๆ ได้มีสังคมใหม่ๆ นี่คือสิ่งที่เขามอบให้เราโดยที่เราเองก็ไม่เคยคิดมาก่อน”

ไม่ใช่แค่สร้างผลงานขึ้นมา แต่บ่อยครั้งที่แม่อรยังทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากทำงานฝีมือ ซึ่งในความจริงแม่อรไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้ให้ แต่มองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเสียมากกว่า

“ในช่วงหลังพองานของเราพัฒนามากขึ้น ก็จะมีการจัด workshop เกี่ยวกับงานคราฟท์แล้วก็ให้เราไปสอน ก็จะมีบรรดาเด็กรุ่นวัยรุ่นที่สนใจมาเรียนรู้จำนวนมาก ซึ่งเราก็สามารถที่จะสื่อสารกับพวกเขาผ่านการทำงานคราฟท์ แล้วก็เป็นการคุยกันที่สนุกและมีความสุขทั้งสองฝ่าย

“เราว่าจริงๆ แล้วที่คนแก่กับวัยรุ่นคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องหรือไม่ค่อยคุยกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาไม่มีสื่อกลาง ไม่มีเรื่องที่พวกเขาสนใจเหมือนกัน ที่เชื่อมโยงคนทั้งสองวัยมาหากันได้ แต่เรามีงานคราฟท์เป็นสื่อกลางทำให้ลดช่องว่างระหว่างวัยลงมา เรามีประสบการณ์อะไรก็ชี้แนะเขา ขณะเดียวกันเขามีเทคนิคอะไรใหม่ๆ เขาก็บอกเรา ซึ่งบางทีเราทำงานมานานเรายังไม่รู้เลย แต่เขารู้ เราว่ามันเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่ว่าเราให้เขาอย่างเดียว เด็กวัยรุ่นหลายๆ คนก็มาให้เราด้วยเหมือนกัน ”


ในบางช่วงที่ไม่ได้มีการจัด workshop แม่อรก็จะพูดคุยสื่อสารกับคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่เข้ามาดูงานคราฟท์ในเพจของเธออยู่ทุกวัน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานของ Craft it on มีความแปลกใหม่และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ

“การได้คุยกับคนรุ่นใหม่ทำให้เรารู้ว่าเขาคิดอะไร ความต้องการของเขาเป็นแบบไหน แล้วก็เราก็เอาสิ่งนั้นมาใส่ลงในงานของเรา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับความสุขใจที่เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มันทำให้ชีวิตของเราไม่เหงา แล้วก็ไม่เอ้าท์ทั้งที่อายุมากแล้ว”

หากเปรียบชีวิตและงานเป็นการเดินทาง งานของ Craft it on และชีวิตของแม่อรก็นับเป็นการเดินทางที่มีความสุขและสนุกอยู่ไม่น้อย จากงานที่ทำด้วยความรักอยู่กับบ้านผ่านการสื่อสารจนเป็นที่รู้จัก กระทั่งนำไปสู่เรื่องราวหลายสิ่งหลายอย่างที่ดีๆ ในชีวิต ถึงวันนี้แม่อรและงานคราฟท์ของเธอยังพร้อมจะเดินทางต่อไปเรื่อยๆ

“เรายังไม่หยุดง่ายๆ หรอก เรายังสนุกที่จะเดินทางต่อ เพราะนี่เป็นงานที่ตอบโจทย์เราแทบทุกอย่าง เป็นงานที่จรรโลงใจ บำรุงสมอง ไม่เหงา แถมได้เพื่อน ได้สังคมใหม่ๆ ถ้าเราจะหยุดก็คงเป็นเพราะถึงวันที่สายตาหรือร่างกายเราไม่ไหวจริงๆ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นเราก็คงทำหน้าที่เป็นผู้ ถ่ายทอดเพียงอย่างเดียว แต่ถึงวันนี้เรายังอยากออกเดินต่อ

“ขอยืนยันว่าชีวิตเรายังมีความสุขและสนุกกับการเดินทาง”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ