(ทำนองลำทางล่อง – ลพเต้ย)
‘โอ่ย… หันเอ๋ยหันมาฟังทางนี้หมอลำมีเรื่องราวฟ้าวบอกให้ฮู้ก่อน
เรื่องโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน
อันตรายต่อชีวิตพี่น้อง อย่ามองข้ามเบิ่งให้ดี
ฟ้าวป้องกันให้ถูกวิธี…ละน้า’
เสียงทำนองคำกลอนอีสานของ แม่ราตรี ศรีวิไล วัย 70 ปี นายกสมาคมหมอลำ แห่งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย จังหวัดขอนแก่น ยังคงกังวานแม้ในวันที่สถานการณ์โรคระบาดยัง ไม่ดีขึ้น กลอนหมอลำถ่ายทอดเรื่องราวของโควิด 19 ลงในโลกออนไลน์ มียอดไลก์ และแชร์มากกว่าหนึ่งหมื่นไลก์ในคืนเดียว
เมื่อหมอลำต้องปรับตัวสู่วิถี New Normal
“แม่เรียนหมอลำตั้งแต่อายุ 13 จนป่านนี้ อายุ 70 ปี ไม่เคยเห็นสถานการณ์ไหนรุนแรงเท่านี้มาก่อนเลย โรคระบาดโควิดไม่ได้แพร่ระบาดแค่ในประเทศไทยแต่ไปทั่วโลก ไม่มีใครไม่ลำบากในเหตุการณ์นี้ ทุกคนได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอาชีพที่ต้องพบปะผู้คนมากมายต้องหยุดทำงาน หลายคนล้ม อีกหลายคนท้อ”
“เราจึงเริ่มคิดว่าทำอย่างไรให้คนที่ล้ม คนที่ท้อ เขาสามารถลุกขึ้นมาพยุงตัวเองได้ เราก็บอกตัวเองว่าเรามีความรู้ในเรื่องกลอนลำภูมิปัญญาไทยอีสาน เราก็นำสิ่งที่ถนัดมาเผยแพร่ในช่องทางใหม่ๆ อย่างออนไลน์ แต่ช่วงแรกก็ติดปัญหาเรื่องเทคนิคว่าจะทำอย่างไรดี เพราะคนรุ่นเก่าจะให้มาใช้เทคโนโลยีทันทีก็ต้องปรับตัวกันบ้าง”
“ช่วงแรกก็มีความยาก แต่ถ้าเราจะลงมือทำอย่างจริงจังก็เชื่อว่าทำได้ และมีคนมากมายรอบตัวเราพร้อมช่วยเหลือ ยิ่งเขารู้ว่าสิ่งที่เราจะทำคือการร้องกลอนลำเพื่อให้ความรู้เรื่องโควิดและความสนุกสนาน เขายินดีมาช่วยเหลือทันทีเลย เรื่องเทคโนโลยีเด็กรุ่นใหม่เขาจะเก่งกว่าเรา ก็ให้บรรดาลูกศิษย์เขาช่วยดู เป็นสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์ไปพร้อมกัน”
“จะพูดว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย New Normal ไปด้วยก็ได้ กลอนลำถ้าแต่งเฉยๆ ไม่เผยแพร่ออกไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อเราร้องเพลงลำลงออนไลน์ ให้เขาเห็นสาระเนื้อหากลอนลำ เผื่อเขาอยากนำไปเผยแพร่ต่อ แล้วเราบันทึกเสียงออกไปเป็นไกด์ทำนอง ให้ผู้คนได้รู้ว่าเรา ร้องหมอลำ เกี่ยวกับโควิดเพื่อให้กำลังใจและให้ความรู้ไปพร้อมกัน อีกอย่างบันทึกลงออนไลน์ไม่เหมือนลงเทปสมัยก่อนที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เทปจะหาย แต่บันทึกลงออนไลน์ไม่ว่าจะกี่ปีก็ยังอยู่”
“คืนที่ลงคลิปร้องเพลงกลอนหมอลำไป ปรากฏว่ามียอดไลก์และแชร์ไปมากมาย แม่ก็ตกใจเหมือนกัน ขนาดคนรู้จักก็โทรมาทันทีเลยว่ากดแชร์ กดไลก์ให้แล้วนะ เราก็ดีใจที่มีคนหันมา สนใจศิลปวัฒนธรรมของไทยอย่าง กลอนลำและหวังว่าคนฟังได้ความรู้และความสนุกสนานไปด้วย”
( ลำเต้ยพม่า)
‘ขอเชิญพี่น้องทั่วไทย มาสร้างความเข้าใจเรื่องโควิดกันหนา
โควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ที่เรียกกันว่าโควิดโอไมครอน
ป้องกันไว้ก่อนเป็นดี ทำตามวิธีให้ถูกขั้นตอน
เบื้องต้นป้องกันไว้ก่อน คือเว้นระยะห่าง สวมแมสก์และล้างมือ’
ยิ่งเป็นหมอลำยิ่งต้องหนักแน่นในข้อมูล
“ในอีสานมีความเชื่อว่าหมอลำคือผู้มีความรู้ ไม่ว่าเราจะร้องจะใส่เนื้อหาอะไรในเพลงคนฟังเขาก็จะเชื่อ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นจุดที่แม่ให้ความสำคัญมาก ยิ่งในโลกออนไลน์ เป็นเหมือนดาบ 2 คม เพราะมีหลายข้อมูลที่บางอย่างอาจไม่ถูกต้อง แม่บอกตลอดว่าอาจจะต้องใจเย็นๆ ดูข้อมูลให้ถูกต้องก่อนจึงค่อยเชื่อ หรือทางที่ดีถามจากคนที่น่าเชื่อถือจะดีกว่า เพราะโลกออนไลน์เป็นสังคมที่รวดเร็ว บางข้อมูลจึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังก่อนจะเชื่อ”
“กลอนของแม่ที่แต่งเกี่ยวกับโควิดให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง โดยสิ่งแรกคือการ ให้ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง เราเป็นหมอลำจะพูดสิ่งผิดๆ ไปไม่ได้เด็ดขาด ปกติแม่แต่งกลอนให้กับทางหน่วยงานของจังหวัดเพื่อไปทำรณรงค์ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในกระแสสังคม เช่น การไม่กินอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย การใส่หมวกขับขี่ปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของข้อมูล เราต้องไปหาข้อมูลที่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสุขจังหวัด หรือ โรงพยาบาล เมื่อเสร็จแล้วเราก็ส่งให้ทางหน่วยงานตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่เราจะมาร้องเผยแพร่ออกไปในออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การใส่หน้ากากอนามัย การฉีดวัคซีน การดูแลตัวเอง เป็นต้น”
“ต่อมาคือความสนุกสนานของจังหวะแบบหมอลำ ที่ใครได้ยินมีอันต้องเซิ้ง ลุกขึ้นมาฟ้อนทุกราย อย่างน้อยช่วยให้คนฟังได้คลายเครียดให้ความบันเทิงเล็กๆ และ สิ่งสุดท้ายคือการปลอบใจและให้กำลังใจระหว่างกัน แม่เชื่อว่า 3 สิ่งนี้คือความสำคัญที่อยู่ในกลอนโควิดของแม่ทุกชิ้น”
(ปิดท้ายด้วย ลำเต้ยธรรมดา)
‘ถือเป็นกิจวัตรเอาไว้ อย่าพากันเข้าไปในชุมชนกลุ่มเสี่ยง
ให้เข้าใจอันใดควรหลีกเลี้ยง ป้องกันไว้ให้ฮู้ทั่วกัน
โควิดทุกสายพันธุ์ให้ ป้องกันไว้ก่อน เดียวนี้โอไมครอนมาแฮงฮ้าย…’
ทำไมศิลปินหมอลำต้องลุกมาทำทั้งๆ ที่ตัวเองยังคงลำบากไม่แพ้อาชีพอื่นๆ
“เพราะเราเป็นคนของสังคม เป็นศิลปินมีหน้าที่จรรโลงสังคม ให้ความสุขซึ่งเวลานี้ทุกคนกำลังทุกข์กับเรื่องโรคระบาด ดังนั้นถ้าเราสามารถช่วยสังคมตรงนี้ได้เราก็อยากทำ เราอยากใช้ความรู้ภูมิปัญญาที่เรามีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในส่วนที่เราพอทำได้ เราจึงอยากมอบความสุขเล็กๆ ที่พอช่วยได้ และพวกเขาก็จะได้รับฟังกลอนหมอลำสนุกสนานไปพร้อมกับได้รับความรู้การป้องกันโควิด ดีกว่าเรามานั่งอยู่เฉยๆ”
“ผลตอบแทนคือไม่หวังอะไรเลย แม่คิดตลอดว่าทำไปแล้วเราสบายใจก็พอแล้ว ตามที่คนโบราณว่า ทำอะไรแล้วสบายใจโดยไม่มีใครเดือดร้อนก็ทำ ยิ่งทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นยิ่งดี”
“แต่มีลูกศิษย์ที่ต่างจังหวัดเขาโทรมาบอกเราว่า มีคนมาจ้างงานเขาไปร้องหมอลำเพราะเห็นคลิปจากเราที่ร้องเพลงกลอนลำได้สนุกสนาน เขาจึงอยากจ้างลูกศิษย์เราไปร้องบ้าง อย่างน้อยเราก็สามารถสืบสานต่อลมหายใจของวัฒนธรรมหมอลำ เขาอาจจะไม่ต้องจ้างเราไปร้อง จ้างลูกศิษย์เราก็ได้ แค่นี้เราก็ดีใจมากแล้ว”
สิ่งที่แม่ครูบอกกับเราอยู่เสมอคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามขอให้มีความตั้งใจ และความตั้งใจจะตอบแทนโดยที่เราไม่รู้ตัว เหมือนกับความสิ่งที่แม่ครูมีความตั้งใจที่อยากจะเผยแพร่วัฒนธรรมหมอลำพื้นบ้านอีสานให้เป็นที่รู้จักขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะและความรู้ไปพร้อมกัน ให้กับคนดูการแสดงผ่านโลกออนไลน์ นั่นก็คือความสุขและความภาคภูมิใจของแม่ครูในวัยเกษียณคนหนึ่งแล้ว