‘โจ้ ปากน้ำ’ เส้นสีแห่งชีวิตของนักตกแต่งและออกแบบมอเตอร์ไซค์

หากจะให้นิยามอาชีพที่ทำอยู่ โจ้-ระพินทร์ มลิหอม ไม่รู้จะบอกว่ามันคืองานอะไรดี

“ตอนเราไปทำธุรกรรมที่ธนาคารแล้วเจ้าหน้าที่ถามว่าทำงานอะไร เราก็ไม่รู้จะบอกมันว่ามันคืออะไรเหมือนกัน เพื่อจะให้เขาเข้าใจในคำเดียวได้เลยเหมือนอย่างหมอ ตำรวจ ทหาร พยาบาล ครู ฯลฯ เราก็คิดอยู่สักพักก่อนจะตอบเขาไปว่าเรามีอาชีพตกแต่งและออกแบบมอเตอร์ไซค์ 

ในแต่ละปีทางบริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อต่าง ๆ จะจัดกิจกรรมโดยการชักชวนเจ้าของร้านจำหน่ายจักรยานยนต์มาร่วมกันออกแบบมอเตอร์ไซค์ประกวดแข่งขันกัน ซึ่งร้านมอเตอร์ไซค์ต่าง ๆ ก็จะมาจ้างทางโจ้-ระพินทร์ หรือที่ในวงการตกแต่งจักรยานยนต์รู้จักกันในนาม โจ้ ปากน้ำ ทำมันออกมา

“อย่างทางบริษัทมอเตอร์ไซค์เขาให้ Concept มาว่า Beyond the Max ทางร้านที่เข้าร่วมประกวดก็จะมาจ้างเราให้ออกแบบให้ เราต้องมาตีโจทย์ว่าจะออกแบบยังไงให้ถูกใจลูกค้าแล้วก็ตรงตาม Concept ที่บริษัทให้มา ซึ่งก็จะมีหลายร้านที่จ้างเราทำงานลักษณะนี้ นอกจากลูกค้าหลักที่เป็นบรรดาร้านมอเตอร์ไซค์แล้ว ก็มีลูกค้ารายย่อยทั่วไปด้วย เช่น คุณมีมอเตอร์ไซค์แต่อยากเปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนลายตัวถังใหม่ก็สามารถเข้ามาทำกับเราได้ บางคนอยากได้หมวกกันน็อคแบบใหม่ไม่เหมือนใครเขาก็มาจ้างเราทำ บางคนถ้าอยู่ใกล้ ๆ ก็เอารถหรืออุปกรณ์มาทิ้งไว้ที่ร้านเลย แต่ถ้าอยู่ไกลก็จะแยกชิ้นส่วนส่งไปรษณีย์มา

โจ้ ปากน้ำ ไม่ใช่คนที่ชื่นชอบรถจักรยานยนต์ และไม่ได้หลงใหลในสีสันของมันมาตั้งแต่เด็กหรือตอนเป็นวัยรุ่น เขาเพียงแต่เป็นเด็กที่ชื่นชอบศิลปะ รักการวาดรูป ทุกครั้งที่นั่งดูการ์ตูนอยู่หน้าจอทีวี เด็กชายโจ้จะนั่งวาดรูปตัวการ์ตูนที่ได้เห็นลงกระดาษทันที น่าเสียดายที่เมื่อโตขึ้นเขาไม่ได้ร่ำเรียนในด้านศิลปะอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตามที่ตัวเองมีความสามารถ หลังเรียนจบก็เข้าทำงานอยู่ในแผนกวิศวะของบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง มีหน้าที่ออกแบบการวางสายไฟในรถยนต์ให้เป็นระเบียบและสวยงาม ก่อนที่วันหนึ่งจะลาออกแล้วไปสมัครเป็นคนเขียนการ์ตูนในค่ายหนังสือการ์ตูนชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียงปีเดียวก็ต้องลาออกอีกครั้ง 

“เราซื้อการ์ตูนมาอ่านแล้วเห็นว่าทางค่ายเขารับสมัครนักวาดการ์ตูน เราก็เลยไปสมัคร คิดว่าน่าจะเป็นงานที่ถนัดและชอบแต่ปรากฏว่าอยู่ได้ 1 ปีก็ต้องลาออกเพราะค่าตอบแทนน้อยมาก ได้แค่สัปดาห์ละ 1,700 บาท ตกเดือนละไม่ถึง 7,000 บาท มันอยู่ไม่ได้จริง ๆ”

นอกจากชอบวาดรูปโจ้ ปากน้ำ ยังหลงใหลในการเสพงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นงานแนว Portrait หรือแนวแฟนตาซีกระทั่งวันหนึ่งได้เห็นผลงานของฮาจิเมะ โซรายามะ ศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวญี่ปุ่นผู้โด่งดังจากการออกแบบและดีไซน์หุ่นยนต์ Robot 

“เราเห็นงานของอาจารย์โซรายามะแล้วชอบมาก งานของอาจารย์จะมีทั้งการทำหุ่นยนต์ งานแนวแฟนตาซีแล้วก็ใช้เทคนิคการทำแอร์บรัช เราอยากทำได้บ้างก็เลยไปเรียนการทำแอร์บรัช จากนั้นก็เริ่มมีจ๊อบเพ้นท์ถัง แล้วก็ตัวถังรถมอเตอร์ไซค์เข้ามา เราก็รับทำไปเรื่อย ๆ จนตอนหลังเริ่มมีงานทยอยเข้ามามากขึ้นเลยตัดสินใจเปิดร้านเป็นของตัวเองเสียเลย

หลังจากเปิดร้านได้ไม่นานชื่อของโจ้ ปากน้ำก็เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการตกแต่งและออกแบบรถจักรยานยนต์ 

ชีวิตที่สิ้นเปลือง

โจ้ ปากน้ำเริ่มเปิดร้านเมื่อปี 2538 ก่อนจะขยับขยายมาเช่าตึก 2 คูหาในอีก 20 ปีต่อมา ลูกค้าหรือคนในวงการแต่งรถมอเตอร์ไซค์จะรู้กันเลยว่าหากต้องการงานแต่งรถที่เน้นสีสันฉูดฉาด เฟี้ยวฟ้าว โดนใจวัยรุ่นขาโจ๋ให้เอา 2 ล้อคู่ใจของท่านมาที่ร้านของเขาได้เลยรับรองไม่มีผิดหวัง 

“ตอนแรกที่เปิดลูกค้าก็มีบ้างยังไม่มากแต่เราอาศัยว่าเวลามีงานมอเตอร์ไซค์เขานัดมิตติ้งรวมตัวกัน เราก็เอานามบัตรไปแจกลูกค้าก็เริ่มมากขึ้น จนสุดท้ายเราก็เริ่มขยับขยายย้ายมาเช่าตึก 2 คูหาขนาด 4 ชั้นด้านล่างเปิดเป็นหน้าร้าน แยกห้องทำงานออกมา ด้านบนก็เป็นที่อยู่อาศัยของเราและครอบครัว”

แม้จะมีงานทยอยเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ แต่โจ้ ปากน้ำยอมรับว่าชีวิตของเขาแทบไม่มีเงินเหลือเก็บเนื่องเพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งค่าเช่าตึก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินอยู่ใช้จ่ายภายในครอบครัว ไม่นับค่าเทอมของลูก ๆ อีก 3 คน

“เดือนหนึ่งเราต้องหาให้ได้อย่างน้อย 50,000 บาท อันนี้แบบยืนพื้นเลย ถ้าช่วงไหนมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มขึ้นมาก็หนักหน่อย เราทำงานแทบไม่ได้พักผ่อนเลย เชื่อไหมว่าบางวันเราทำงานจนไม่ได้ออกไปเจอแสงแดดด้วยซ้ำ”

ด้วยความที่มีรายจ่ายรออยู่ข้างหน้าทำให้โจ้ ปากน้ำ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ค่าเฉลี่ยในการนอนต่อวันอยู่ที่ประมาณ 4-5 ชั่วโมง โดยจะตื่นมาตอน 7 โมงเช้ากว่าจะเข้านอนอีกทีก็ตี 2-3

“เราใช้ชีวิตได้สิ้นเปลืองมาก เปลืองเวลาไปกับการหารายได้ เปลืองสุขภาพที่ไม่ได้พักผ่อน แถมยังต้องคอยสูดกลิ่นทินเนอร์กลิ่นสารเคมีตลอดวัน บางเดือนรายจ่ายไม่พอก็ต้องหาทางรับงานเพิ่ม งานที่ทำอยู่ก็เอาแค่พอเสร็จไม่มีเวลาที่จะทำอย่างประณีตหรือเก็บรายละเอียดมากนัก เพราะทุกอย่างมันเป็นแบบนี้มันเท่ากับว่าเราเป็นกลายเป็นคนทำงานหนักแต่กลับ จน ไม่มีเงินเก็บ ใช้เงินเดือนชนเดือน แถมสุขภาพก็มีแต่ทรุดโทรม โชคยังดีที่ร่างกายยังไม่มีอาการหรือส่งผลอะไรผิดปกติ แต่เราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่ามันไม่ใช่ชีวิตที่ดี”

แม้จะรู้สึกได้ว่าตนเองและครอบครัวเริ่มเดินออกห่างจากชีวิตที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยความรักในงานศิลปะที่ทำอยู่จึงยังคงทำมันต่อไป แม้ไม่มีเงินเก็บเป็นทุนสำรองยามฉุกเฉินแต่อย่างน้อยก็เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของภรรยาและลูกๆ ทั้ง 3 คนให้กินอิ่มนอนหลับไม่ถึงกับขัดสนจนยาก 

“เรารับงานที่ทำอยู่นะ รักมาก มันเป็นชีวิตของเรา เราอยากทำมันไปตลอด เราไม่อยากทำไปทำอย่างอื่น ถึงไปทำเราก็ไม่ชำนาญไม่มีความรู้ และไม่มีความสุข เรากับแฟนเคยคุยกันนะว่าพออายุ 55 จะเกษียณ แล้วออกเดินทางไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ที่เราอยากไป อาจจะยังรับงานอยู่บ้าง แต่ก็จะเลือกชิ้นที่เราอยากทำจริง ๆ เหมือนกับว่าเราสามารถเลือกงานได้ขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตให้มีความสุข” 

นอกจากแผนการเกษียณดูท่าว่าจะไม่เป็นจริงแล้วยังทำให้โจ้ ปากน้ำ ไม่สามารถที่จะดำเนินกิจกรรมของเขาในเมืองหลวงได้อีกต่อไป เมื่อในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา รายได้แทบไม่มีเข้ามาแต่รายจ่ายกลับยังคงตัวเท่าเดิม 

“ความจริงมันเริ่มส่งสัญญาณมาก่อนหน้านั้นแล้ว เรารู้สึกว่าเริ่มทำงานตามรายจ่ายไม่ทัน เริ่มค้างค่าเช่า จ่ายไม่ตรงเวลา ยิ่งพอโควิด 19 เข้ามานี่หนักเลย เพราะงานของเรามันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย คนจะเอาเงินมาจ่ายตรงนี้ต้องเป็นเงินเย็นที่เหลือจากการใช้จ่ายในส่วนอื่นแล้ว แต่ในสถานการณ์โควิดที่คนใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังสินค้าอย่างเราน่าจะเป็นสิ่งแรก ๆ เลยที่คนปฏิเสธ เราก็เข้าใจได้นะ เพราะถ้าเป็นเราก็ทำแบบเดียวกัน สุดท้ายเมื่อทุกอย่างมันอยู่มาสุดทาง ก็ทำใจยอมรับว่ามันไปต่อไม่ได้”

ชายวัยครึ่งศตวรรษตัดสินใจยอมรับความจริง ก่อนเรียกทุกคนในครอบครัวมาปรึกษาหาทางออกและบอกกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าทุกคนต้องแยกย้ายกันอยู่ดีกว่าที่จะมาตายหมู่ด้วยกัน 

“ลูก ๆ เขาก็ช็อคอยู่นะ เพราะเราอยู่ด้วยกันมาตลอดไม่เคยแยกจากกัน พอต้องแยกกันอยู่มันก็ใจหาย แต่ถ้าเราต้องเช่าอยู่รวมกันเหมือนเดิมโดยที่ไม่มีงานไม่มีเงินค่าเช่าก็เท่ากับเราตายหมู่ เพราะฉะนั้นแยกกันไปแล้วไปหาลู่ทางใหม่ ๆ น่าจะดีกว่า

“ในเวลานั้นลูกชายคนโตเขาต้องไปอยู่หอพักแถวมหาลัยอยู่แล้ว ส่วนลูกสาวอีกสองคนเราก็เอาไปฝากไว้กับญาติ ส่วนเรากับแฟนก็ออกไปลุยหาพื้นที่และหนทางทำมาหากิน ตึกที่เคยเป็นทั้งบ้านและที่ทำงานของเราก็คืนเจ้าของเขาไป”

ช่วงเวลาดังกล่าวโจ้ ปากน้ำและภรรยาต้องเที่ยวขึ้นเทียวลงระหว่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่อยู่บ่อย ๆ เพื่อดูแลและเยี่ยมเยียนพ่อซึ่งป่วยอยู่ที่นั่น ทุกครั้งที่ได้มาเชียงใหม่เมื่อมีเวลาว่าง สองสามีภรรยาจะขับมอเตอร์ไซค์เที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ และยิ่งได้สัมผัสมากเท่าไหร่ก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็นจังหวัดที่น่าอยู่มากขึ้นเท่านั้น 

“เรารู้สึกว่าเชียงใหม่มันเป็นเมืองที่น่าอยู่มีทั้งธรรมชาติ มีทั้งศิลปะ คนที่ชอบศิลปะน่าจะชอบ ซึ่งก็รวมถึงเราด้วยช่วงเวลาที่ขึ้นมาเยี่ยมพ่อเราก็เลยทำบ้านที่นี่เอาไว้”

สิ่งเดียวที่โจ้ ปากน้ำล่วงรู้ในเวลานั้นก็คือเขาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองหลวงแห่งภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ 

แต่สิ่งที่เขายังคิดไม่ตกก็คือจะเลี้ยงชีพของตัวเองและครอบครัวด้วยการทำอะไรดี 

เริ่มต้นใหม่  

แม้ว่าทุกคนในครอบครัวจะต้องพบกับจุดเปลี่ยนในชีวิตอย่างที่ไม่คาดคิดแต่ รวิวาร มลิหอม ภรรยาคู่ชีวิตของโจ้ ปากน้ำ กลับมีความเชื่อว่าท้ายที่สุดสามีของเธอจะนำพาครอบครัวผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ และมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

“ถามว่าลำบากไหมในตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่ามันลำบาก แต่เราก็เชื่อว่าสุดท้ายเราจะไปรอด อย่างน้อยเราก็ประหยัดต้นทุนไม่ต้องเสียค่าเช่าตึก บ้านก็เป็นบ้านของเราเอง อีกอย่างก็คือเราเชื่อมั่นในตัวสามีของเราด้วย เราเชื่อว่าเขาจะพาเราทุกคนไปรอดได้ เขามีความสามารถ มีศักยภาพ แต่มันอาจจะมีอะไรบางอย่างที่ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง” 

แรกๆที่ขึ้นมาอยู่เชียงใหม่สองสามีภรรยาเริ่มต้นหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากการขายขนมปัง ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลายก็เริ่มกลับมาทำงานที่รักอีกครั้ง โดยโชว์ผลงานเก่า ๆ ผ่านทางโลกโซเชียล

“ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านเหมือนเก่า เราก็เลยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการทำเพจและ Facebook มากขึ้น ซึ่งเราก็มีฐานลูกค้าเก่าอยู่ไม่น้อย พอสถานการณ์โควิดเริ่มคลายตัวประกอบกับเขาเห็นผลงานเก่าๆ ที่เราอัพลงในเพจก็เริ่มมีลูกค้าสั่งงานเข้ามา 

เพจของโจ้มีชื่อว่า ‘ ART ROOM 24’ ขณะที่ Facebook ก็ใช้ชื่อตรงตัวไปเลยว่า ‘โจ้ ปากน้ำ’ จากที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไรตอนนี้กลายเป็นว่ามีงานทยอยเข้ามาไม่ขาดสาย และเป็นธุรกิจครอบครัวที่พ่อแม่ลูกล้วนมีส่วนร่วมในการทำงานด้วยกัน ซึ่งทุกคนก็ล้วนแล้วแต่มีบทบาทของตัวเองอย่างชัดเจน

“เราจะมีหน้าที่ในการออกแบบพ่นสี ส่วนลูกชายคนโตที่ตอนนี้เรียนจบแล้วย้ายขึ้นมาอยู่ด้วยกันจะเป็นคนทำงานเพ้นท์ ส่วนแฟนจะทำในส่วนของงานหลังบ้านทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับลูกค้า ติดต่อรายละเอียดงานต่างๆ ไปจนถึงเอางานที่เสร็จแล้วไปส่ง”

กระบวนการในการทำงานทั้งหมดจะเริ่มต้นจากการติดต่อเข้ามาของลูกค้าจากหลากหลายช่องทางทั้งเพจ Facebook รวมทั้งโทรศัพท์มาโดยตรง จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยในเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ ของงาน ลูกค้าต้องการให้ออกมาแบบไหน มีรูปลักษณ์เป็นอย่างไร 

“เมื่อตกลงกันได้แล้ว ทางเราก็จะบอกราคาไป ถ้าลูกค้าพึงพอใจก็จะวางมัดจำ จากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่การผลิตโดยเราจะออกแบบเป็นกราฟิกส่งให้ลูกค้าดู เขาก็จะบอกเราว่าต้องปรับแก้ตรงไหน จนกว่าจะพอใจแล้วจึงส่งของมาให้เราทำยกตัวอย่างเช่นหมวกกันน็อค เมื่อได้มาเราก็จะนำมาขัดด้วยกระดาษทรายก่อน เพื่อเป็นการเตรียมผิวให้สีที่เราจะลงไปสามารถเกาะกับพื้นงานให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงพ่นสีรองพื้น แล้วก็พ่นสีจริง เมื่อเรียบร้อยก็นำไปให้ลูกชายเพ้นท์ลาย ต่อมาก็เคลือบเงา แล้วก็เก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย เสร็จแล้วก็ถ่ายรูปส่งให้ลูกค้าดู ถ้าลูกค้าพึงพอใจก็โอนเงินส่วนที่เหลือ แล้วแฟนก็นำงานไปส่ง”

ทุกวันนี้โจ้ ปากน้ำยืนยันว่างานทุกชิ้นของเขานั้นมีคุณภาพมากกว่าเดิม เนื่องจากมีเวลาที่จะดูงานอย่างละเอียด โดยไม่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลาเพื่อที่จะหาเงินให้พอกับรายจ่ายที่รออยู่สิ้นเดือนเหมือนแต่ก่อน 

“พอมาอยู่เชียงใหม่มันไม่ได้มีรายจ่ายอะไรมาก ไม่ต้องเสียค่าเช่าตึก ค่าครองชีพก็ถูก ทำให้เราไม่ต้องเร่งทำงานให้เสร็จ เพื่อจะได้เอาเวลาไปทำงานชิ้นต่อไป เมื่อก่อนงานอะไรเข้ามาเรารับหมด ทำงานจนแทบไม่มีเวลากินเวลานอน เพื่อที่จะได้เงินมาให้มากพอกับรายจ่าย ไม่เหมือนตอนนี้ที่เราสามารถเลือกงานได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น งานทำตัวถังรถสีเดียวทั้งคันเราไม่รับ แต่จะแนะนำให้ไปทำกับลูกศิษย์ของเราแทน ทำให้มีเวลาให้กับงานแต่ละชิ้นแบบ 100% มีเวลาเก็บรายละเอียดทำให้งานออกมาดี หากเป็นเมื่อก่อนทำเสร็จแค่ 70-80% พอโอเคเราก็ส่งงานให้ลูกค้าแล้ว ไม่ได้มีคุณภาพมากพอเหมือนในปัจจุบัน” 

จะว่าไปไม่ใช่แค่คุณภาพของชิ้นงานทั้งหมดหรอกที่ดีมีมาตรฐานยิ่งขึ้น 

หากแต่คุณภาพชีวิตของชายวัย 53 และครอบครัวก็ดีและมีความสุขขึ้นเช่นกัน

ความสุขที่แท้จริง 

ชีวิตของโจ้ ปากน้ำในปัจจุบันช่างตรงกันข้ามกับเมื่อครั้งยังเปิดกิจการอยู่ในเมืองหลวงแบบคนละเรื่อง

จากที่เคยนอนตี 3 ตื่น 7 โมงเพื่อมาทำงาน ปัจจุบันชายในวัยต้นเลข 5 เข้านอนตั้งแต่ 2 ทุ่มแล้วตื่นนอนก่อนฟ้าสาง ตื่นมาก็รดน้ำต้นไม้ เดินออกกำลังกาย ดื่มกาแฟ ทานข้าว ก่อนจะเริ่มทำงานตอนสาย ๆ ทุกอย่างเป็นไปอย่างสบาย ๆ ไม่มีอะไรต้องรีบร้อน

“เราทำงานตอนสาย ทำไปเรื่อย ๆ จนถึงบ่าย ๆ เย็น ๆ ก็เลิก เสร็จแล้วก็ใช้เวลากับครอบครัวทานข้าวเย็นพอ 2 ทุ่มก็เข้านอน ชีวิตหมุนวนแบบอยู่แบบนี้ทุกวัน แต่เราไม่รู้สึกเบื่อเลย ตรงกันข้ามกับรู้สึกมีความสุขมากด้วย”

แม้จะไม่ต้องไม่ได้รับงานมากมายเหมือนแต่ก่อน รวมทั้งเลือกที่จะปฏิเสธงานบางประเภททิ้งไป หากแต่ในด้านตัวเลขค่าตอบแทนที่เข้ามา นอกจากจะไม่ขัดสนต้องใช้จ่ายเดือนชนเดือนเหมือนเก่าแล้ว เขายังมีเงินเหลือเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง ซึ่งเงินก้อนนี้โจ้ ปากน้ำตั้งใจว่าจะเอาไว้เดินทางท่องเที่ยวเมื่อถึงเวลาช่วงเกษียณของตัวเอง 

“พอทุกอย่างเริ่มลงตัวเราก็เริ่มคิดถึงแผนการเกษียณที่เคยวางไว้ว่าตอนอายุ 55 เรากับแฟนจะออกเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน ไปเรื่อยๆ คือไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกทำงานนะ เพราะมันก็เป็นงานที่เรารัก แต่เราตั้งใจว่าทำงานน้อยลงแล้วใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ให้มากขึ้น ซึ่งในเวลานั้นลูกค้าลูกคนเล็กคงเรียนจบแล้ว เราสองคนก็ไม่ต้องห่วงอะไรอีก”

ถึงเวลานั้นชีวิตหลังเกษียณของโจ้ ปากน้ำน่าจะเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ