หากคุณเป็นพ่อแม่สูงวัยที่เริ่มหมดหวังในการต่อสู้กับความเจ็บป่วย หรือเป็นลูกหลานที่ต้องวิ่งวุ่นหาค่ารักษาและคอยดูแลพ่อแม่ที่ป่วยจนใกล้จะหมดแรง
มนุษย์ต่างวัยชวนอ่านเรื่องราวการต่อสู้กับโรคร้ายอันยาวนานของคู่แม่ลูก คุณสังวรณ์ วงษ์จันทร์ตรี ผู้ป่วยโรคมะเร็งโคนลิ้น อายุ 60 ปี และ คุณแนน – กชนันท์ วงษ์จันทร์ตรี ผู้เป็นลูกสาว ซึ่งจะเป็นตัวแทนช่วยบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้โรคมะเร็งของคุณแม่ผ่านการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เนื่องจากคุณสังวรณ์เคยผ่าตัดเนื้อร้ายบริเวณกรามด้านล่างออกจึงไม่สามารถพูดได้ แต่ขอใช้วิธีเขียนข้อความบนกระดานเพื่อช่วยสื่อสารและให้คำตอบเสริมเท่าที่ทำได้แทน
ในความเจ็บป่วยอันยาวนาน ทั้งคู่ร่วมกันต่อสู้จนมาถึงวันนี้ได้ก็ด้วยพลังแห่งรักของครอบครัว มนุษย์ต่างวัยขอส่งกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากจากความเจ็บป่วยของคนในครอบครัวผ่านบทความนี้
ต่อสู้กับโรคมะเร็งโคนลิ้นยาวนานร่วม 10 ปี ผ่าตัดมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ใจสู้ไม่เคยถอย
“เริ่มแรกคุณแม่มีอาการคันยิบๆ เหมือนมีตัวอะไรอยู่ในปาก คุณพ่อเลยพาไป หา หมอโดยใช้สิทธิประกันสังคม คุณหมอก็แจ้งว่าเป็นกรดไหลย้อนตลอด ไปกี่ครั้งก็ไม่หายสักที คุณพ่อก็เลยพาไปหาหมอหูคอจมูกที่โรงพยาบาลเอกชน คุณหมอแค่จับคอแล้วคลำๆ ดู เขาก็เขียนใบส่งตัวมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเลย ถึงได้ตรวจเจอว่าคุณแม่เป็นมะเร็งโคนลิ้น
หลังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งโคนลิ้น คุณหมอได้ทำการผ่าตัดครั้งแรกบริเวณโคนลิ้นและเลาะต่อมน้ำเหลืองออก ซึ่งหลังการผ่าตัดครั้งนั้นคุณสังวรณ์ยังสามารถใช้ชีวิตและพูดได้ตามปกติ จนกระทั่งวันหนึ่ง อยู่ๆ คุณสังวรณ์ก็มีอาการปวดฟัน มีตุ่มฝีขึ้นบริเวณคาง พอฝีแตกก็กลายเป็นรูเนื้อขนาดใหญ่ และเริ่มลุกลามไปส่วนอื่นๆ คุณหมอจึงแจ้งว่าต้องทำการผ่าตัดครั้งที่ 2 โดยต้องผ่าตัดบริเวณกรามด้านล่างออกและใส่ชิ้นพลาสติกเข้าไปแทน ที่สำคัญคือหลังการผ่าตัดครั้งนี้จะทำให้เธอพูดไม่ได้ไปตลอดชีวิต!
“หลังจากผ่าตัดครั้งแรก เหมือนคุณแม่จะมีปัญหาเรื่องช่องปาก ปวดฟัน เจ็บฟัน ต้องไปพบหมอฟันที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตลอด ทีนี้อยู่ดีๆ เนื้อที่ตายแล้วมันเกิดใหม่ มะเร็งก็เลยเกิดขึ้นมาอีก ทำให้เป็นเนื้องอกปูดขึ้นมา จนต้องผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งหลังการผ่าตัดครั้งนี้จะทำให้แกพูดไม่ได้ ตอนผ่าตัดรอบ 2 ใช้เวลา 11 ชั่วโมง เข้าห้องผ่าตัด 9 โมงออกมาตีสอง นานมากจนเรากระสับกระส่ายไม่เป็นอันนอนเลย อย่างตอนที่ผ่าตัดรอบแรกก็นาน 18 ชั่วโมง”
แม้จะยอมสูญเสียความสามารถในการพูดเพื่อผ่าตัดรักษาชีวิตเอาไว้ แต่ใช่ว่าการผ่าตัดครั้งที่สองนี้จะเป็นจุดสิ้นสุดของการต่อสู้กับโรคมะเร็งโคนลิ้น เพราะเมื่อช่วงปี 2564 คุณสังวรณ์เริ่มมีติ่งเนื้อก้อนเล็กขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวขึ้นที่กรามอีกครั้ง ก่อนจะขยายใหญ่ขึ้น จนต้องเข้ารับการผ่าตัดเป็นครั้งที่ 3 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ เพราะต้องเลาะกรามข้างล่างออกทั้งหมด และหลังการผ่าตัดคุณสังวรณ์จำเป็นต้องให้สารอาหารผ่านทางหน้าท้องอีกด้วย
“หลังผ่าตัดครั้งที่สอง คุณแม่เหมือนจะหายแล้ว ใช้ชีวิตได้ตามปกติ อยู่ดีๆ ก็มาบ่นว่าปวด เราเลยเอาไฟฉายส่องเห็นติ่งออกมาเลยค่ะ แล้วภายในเดือนเดียวเนื้องอกก็ขึ้นมาที่กรามก้อนใหญ่มาก เลยต้องผ่าตัดครั้งที่ 3 ใช้เนื้อจากตรงช่วงขามาแปะเพิ่มอีกจากครั้งก่อน มีช่วงที่เขาเจ็บ หน้าตาจะออกว่าอมทุกข์มาก เขาบอกว่าเขาเจ็บข้างในเหมือนมันร้อนในปาก ทุกวันนี้ก็ต้องคอยเอาไซริงค์ (กระบอกฉีดยา) หยอดน้ำหรือเอาสเปรย์ฉีดน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ส่วนเรื่องอาหารก็ต้องกินผ่านทางหน้าท้อง คุณแม่เป็นคนเก่งมากค่ะ ใครเห็นก็ชม คือแกสู้มาก เพราะกลัวตาย”
สูญเสียสามี ลูกชาย และคุณแม่ภายในปีเดียวกัน แต่ยังมีลูกสาวและหลานเป็นกำลังใจสำคัญในการมีชีวิตอยู่
นอกจากการต่อสู้กับโรคมะเร็งโคนลิ้นที่เข้ามาเป็นบททดสอบของชีวิตอยู่เป็นระยะ คุณสังวรณ์ยังต้องก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากครั้งใหญ่ของชีวิต เมื่อต้องสูญเสียทั้งสามี ลูกชาย และคุณแม่ภายในปีเดียวกัน (พ.ศ.2559) โดยมีลูกสาวและหลานเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เธอยังอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
“ช่วงปี 2559 พ่อเสียก่อนตอนเดือนมีนา ตามด้วยพี่ชายตอนเดือนเมษา จากนั้นคุณยายก็เสียเดือนมิถุนาภายในปีเดียวกัน คุณยายอยู่ดีๆ ไอทีเดียวก็กระอักไปเลย ไม่มีวี่แววเจ็บป่วยมาก่อน ส่วนพี่ชายหัวใจวาย เหมือนเขาเป็นเส้นเลือดในสมองตีบแล้วล้ม เป็นอัมพาตครึ่งตัว พอเริ่มหายดีกลับมาเดินได้ อยู่ดีๆ เขาก็เหนื่อยแบบไม่มีสาเหตุ เลยพาไปโรงพยาบาล หมอตรวจเจอว่าหัวใจรั่ว แค่ครึ่งชั่วโมงก็ไปเลย ตายในอกคุณแม่เลย
“ส่วนคุณพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ ช่วงแรกเคยไปหาหมอ ที่ โรงพยาบาลเอกชนเขาก็บอกแค่ว่าเป็นริดสีดวง จนอาการเริ่มหนัก เราเลยยอมจ่ายเงินส่องกล้องตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่ง ถึงได้รู้ว่าคุณพ่อเป็นมะเร็งลำไส้แต่ก็เข้าระยะสุดท้าย จนเขาถ่ายเป็นเลือดไม่หยุด รักษาไม่ทันแล้ว หลังจากนั้นเราเลยต้องเป็นเสาหลักในการดูแลคุณแม่แทนคุณพ่อและพี่ชาย”
เมื่อเราถามคุณสังวรณ์ ว่าอะไรคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้ก้าวผ่านช่วงเวลาของการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักต่อเนื่องกัน โดยที่ยังมีจิตใจเข้มแข็งพร้อมต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อไปได้ คุณสังวรณ์เขียนตอบบนกระดานแบบไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน เพราะคำตอบนั้นก็คือ ‘หลาน’ และ ‘ลูกสาว’ นั่นเอง
เห็นคุณค่าของการเป็น “ผู้ให้” เพราะเคยเป็น “ผู้รับ” มาก่อน และจะส่งต่อ “การให้” ตามกำลังของตัวเองเมื่อมีโอกาส
การสูญเสียคุณพ่อจากโรคมะเร็งลำไส้ ทำให้คุณแนนรับรู้ถึงความสำคัญของการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่รวดเร็วและมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันการที่คุณแม่ของเธอสามารถต่อสู้กับโรคมะเร็งโคนลิ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็ทำให้เธอและคุณแม่เห็นคุณค่าของการเป็น “ผู้ให้” ที่ช่วยต่อชีวิตและลมหายใจให้คนคนหนึ่งได้มีโอกาสใช้ชีวิตกับครอบครัวที่รักต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ทั้งคุณแนนและคุณแม่จึงพยายามส่งต่อ “การให้” ตามกำลังความสามารถของตัวเองทุกครั้งที่มีโอกาส
“สำหรับแนน ถ้าเราได้มีโอกาสเป็นผู้ให้ชีวิตใหม่กับคนอื่น คงจะรู้สึกภูมิใจมาก เพราะขนาดเราเป็นผู้รับเรายังอยากเป็นผู้ให้บ้าง ถ้า ไม่ได้รับน้ำใจ ไม่มีคนมาบริจาคที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ คิดดูว่าเงินหลายพันหลายหมื่น แนนจะหาจากไหน ไม่ใช่แค่เรากับแม่ที่เห็นความสำคัญของการเป็นผู้ให้มากขึ้น อย่างแฟนแนนเอง พอเขาเริ่มมีรายได้มากขึ้น เขาก็จะบอกว่าเดี๋ยวช่วยไปทำบุญให้หน่อย อย่างช่วงโควิดก็ฝากทำบุญที่มูลนิธิฯ ถึงจะไม่ใช่เงินเยอะแยะก็ตาม
“เรากับแม่รู้ว่ายังมีผู้ป่วยอีกหลายคนที่ลำบากกว่า อย่างตอนที่คุณหมอรู้ว่าคุณแม่กินนมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง พอดีที่โรงพยาบาลมีคนเอามาบริจาคเยอะ ก็เลยถามคุณแม่ว่าจะเอาไหม เรากับแม่เลยบอกคุณหมอให้เก็บไว้ให้คนป่วยที่เขาไม่มีจริงๆ ดีกว่า เพราะแฟนเราก็ยังพอมีรายได้ช่วยซื้อนมซื้ออาหารเสริมให้คุณแม่ได้อยู่
“เวลามาหาหมอที่โรงพยาบาล ตอนที่คุณแม่ยังพูดคุยได้ แกก็จะคอยให้กำลังใจผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งด้วยกันระหว่างนั่งรอคุณหมอหน้าห้องตรวจ เพราะคุณแม่เป็นคนคุยเก่งก็จะชอบชวนคุย หลังๆ ก็เริ่มแลกไลน์ พิมพ์ถามไถ่กันว่าเป็นยังไงบ้าง หายหรือยัง ให้กำลังใจกัน แนะนำช่วยเหลือกันไปมา”
คำถามสุดท้าย เราถามคุณสังวรณ์ว่า ถ้าขอพรได้ 3 ประการอยากจะขออะไร ซึ่งคำตอบที่สังวรณ์เขียนบนกระดานก็คือ
“ขอให้หายป่วย”
“ขอให้กินอาหารทางปากได้”
“ขอให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นภาระของลูก”
ในขณะที่คุณแนนได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้กำลังใจลูกหลานที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วยเหมือนกับแนนว่าดูแลเขาเถอะค่ะ ดูแลให้ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน แล้วก็อย่าคิดว่าเขาเป็นภาระ คิดว่าเขาเป็นคนหนึ่งในครอบครัวที่เราต้องดูแล”
ผู้ที่สนใจสามารถร่วมสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิรามาธิบดีฯ และสนับสนุนโครงการนวัตกรรมการแพทย์เพื่อผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้ายให้เป็นต้นแบบแก่สถานพยาบาลทั่วประเทศ สร้างกระบวนการเรียนรู้ และฝึกอบรมบุคลากรการแพทย์ อาสาสมัคร คนในครอบครัว เพื่อผลิตผู้ดูแล (Care Giver) ที่มีความรู้เฉพาะทาง รวมทั้งสร้างโอกาสการเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและร่วมบริจาคสมทบทุนได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ
เพราะโรคของผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้าย ไม่ใช่เรื่องของคนสูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “เราทุกคน”