สมรสเท่าเทียม Aging as LGBT: Two Stories

มนุษย์ต่างวัย ชวนเปิดมุมมอง “ทำไมต้องสมรสเท่าเทียม” ผ่านเรื่องราวของผู้หญิงสองคนจากคลิปวิดีโอ Aging as LGBT: Two Stories ซึ่งจัดทำโดยโครงการ Movement Advancement Project (MAP) และ SAGE องค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกาที่อุทิศตนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่เป็น LGBT

สื่อดังกล่าวนำเสนอเรื่องราวเชิงเปรียบเทียบเพื่อสะท้อนปัญหาที่ผู้สูงอายุ LGBT ต้องเผชิญผ่านไทม์ไลน์ชีวิตของ Tina ตัวแทนผู้หญิงทั่วไป กับ Jackie ตัวแทนผู้หญิงที่เป็น LGBT ทั้งสองเกิดเมื่อปี 1947 ในรัฐเวอร์จิเนียเหมือนกัน แต่กลับมีชีวิตที่แตกต่างกันมาก เพียงเพราะ Jackie เป็น LGBT จึงถูกเลือกปฏิบัติมาตลอดชีวิต สูญเสียโอกาส ขาดการยอมรับจากครอบครัวและสังคม ไม่ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมตามกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหามากมายในบั้นปลายของชีวิต

เราลองไปติดตามดูกันว่า ตลอดเส้นทางชีวิต 69 ปีของ Tina กับ Jackie ตั้งแต่เกิดจนเข้าสู่วัยชรามีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างไร และเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น?

1947 – Tina กับ Jackie เกิดในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

1959 – Jackie ถูกบูลลีจากเพื่อนๆ ที่โรงเรียนและมักถูกครูลงโทษทางวินัย เพราะเป็น LGBT จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับวิทยาลัย

1962 – ครอบครัวของ Jackie ส่งเธอไปหาศิษยาภิบาลที่โบสถ์เพื่อบำบัดให้กลับใจมาเป็นผู้หญิงปกติ

1966 – Tina เรียนต่อด้านประวัติศาสตร์ที่วิทยาลัย ส่วน Jackie เริ่มทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งเพราะไม่มีวุฒิการศึกษา

1967 – Tina พบรักกับ Frank ส่วน Jackie พบรักกับ Frances ซึ่งเป็น LGBT เหมือนกัน

1969 – Tina แต่งงานกับ Frank เธอวางรูปแต่งงานไว้บนโต๊ะทำงานอย่างเปิดเผย ส่วน Jackie ไม่สามารถพูดถึงเรื่องราวความรักหรือวางรูปคู่ของเธอกับ Frances ในที่ทำงาน

1973 – Tina กับ Frank มีลูกด้วยกัน ขณะที่ Jackie ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของ Frances ในการคบหากันฉันคู่รัก

1976 – Jackie ได้งานตำแหน่งผู้จัดการ แต่วันหนึ่งมีเพื่อนร่วมงานเห็น Jackie ออกเดทกับ Frances หลังเลิกงานจึงไปบอกเจ้านาย ทำให้ Jackie ถูกไล่ออก ต้องหางานใหม่ตามโรงงานซึ่งได้ค่าตอบแทนน้อยลง

1981 – Jackie และ Frances ถูกไล่จากอพาร์ตเมนต์ที่พักอยู่ด้วยกัน พวกเธอไม่มีเงินออมมากพอที่จะซื้อบ้าน Frances จึงไปเช่าอพาร์ตเมนต์อีกแห่งเพียงลำพัง แล้วค่อยให้ Jackie ย้ายตามเข้ามาภายหลัง

1985 – Jackie กับ Frances รับลูกของพี่ชาย Frances ที่เสียชีวิตมาเลี้ยง แต่ไม่สามารถจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมาย

1993 – Frank และ Frances ป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล Tina สามารถเข้าเยี่ยมและตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษาทางการแพทย์แทน Frank ได้ ในขณะที่ Jackie ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม Frances เพราะมีเพียงสมาชิกในครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาต

2013 – Frank และ Frances เกษียณอายุหลังจากทำงานหนักมาหลายทศวรรษ Tina ได้รับสวัสดิการคู่สมรสจากประกันสังคม ส่วน Jackie หมดสิทธิ์รับผลประโยชน์เหล่านั้น เนื่องจากรัฐบาลกลางยังไม่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

2015 – Frank และ Frances เสียชีวิตก่อนที่เสรีภาพในการแต่งงานจะมีขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา Tina จัดการงานศพให้ Frank และได้รับผลประโยชน์ในฐานะคู่สมรสจากประกันสังคม รวมถึงเงินบำนาญและสิทธิ์ในการสืบทอดมรดกต่อจาก Frank ในขณะที่ Jackie ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะจัดการงานศพให้ Frances รวมทั้งไม่สามารถรับผลประโยชน์และทรัพย์สินใดๆ เนื่องจากเธอไม่ใช่คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย

2016 – Tina ได้รับการดูแลจากลูกๆ มีเงินจากสวัสดิการประกันสังคมและเงินบำนาญของ Frank ไว้ใช้จ่าย ส่วน Jackie พยายามขอเปลี่ยนสัญญาเช่าอพาร์ตเมนต์เป็นชื่อของเธอจากเดิมที่เคยเช่าในชื่อของ Frances แต่เนื่องจากรัฐที่เธออยู่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองการไม่เลือกปฏิบัติด้านที่อยู่อาศัย เธอจึงถูกขับไล่ออกจากอพาร์ตเมนต์นั้น

เมื่อ Jackie ไม่มีทั้งรายได้และที่อยู่อาศัย จึงต้องย้ายไปอยู่บ้านพักคนชราและอาศัย Medicaide (โครงการประกันสุขภาพแก่บุคคลที่มีรายได้น้อย) ในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลต่างๆ เธอกลัวการเลือกปฏิบัติแบบที่เจอมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งชีวิต จึงตัดสินใจที่จะไม่พูดถึงเรื่องราวความรักในอดีตของเธอกับ Frances อีกต่อไป

จะเห็นได้ว่า ผลจากอคติทางเพศและการไม่มีกฎหมายที่ให้สิทธิอันเท่าเทียมแก่คู่สมรสเพศเดียวกัน ทำให้ผู้สูงอายุที่เป็น LGBT ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพย่ำแย่ และการเลือกปฏิบัติแม้กระทั่งในบั้นปลายของชีวิต ลองมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วเช่นกัน อาจมีคู่รัก LGBT วัยชราที่ประสบปัญหาไม่ต่างจาก Jackie อยู่ในตอนนี้และอีกมากมายในอนาคต

นี่จึงอาจเป็นคำตอบว่า ทำไมจึงต้องผลักดันให้มี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นในประเทศไทย

เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องเพศ ทั้งการจดทะเบียนสมรส การเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่เท่าเทียมและไม่แตกต่างจากคู่สมรสชาย-หญิงทั่วไป

ขอบคุณภาพจาก : https://www.pexels.com

Credits

Author

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ