คุณเคยเปิดใจคุยเรื่อง “การเตรียมตัวตายกันในครอบครัว” บ้างไหม ?
สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตระยะสุดท้ายของเราคืออะไร และวางเป้าหมายอย่างไร
มนุษย์ต่างวัยชวนฟังประสบการณ์ของ “คุณพงศ์” ธรากร กมลเปรมปิยะกุล วัย 50 ปี อดีตคนทำโฆษณาผู้ผันตัวมาเป็นนักสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อสังคมที่ต้องดูแลพ่ออายุ 77 ปีที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว จนถึงวันที่ได้ส่งคุณพ่อให้จากไปอย่างสงบ
“พ่อผมป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังมาประมาณปีกว่า แต่ผมก็ไม่ได้คิดจะพาไปทำคีโมเพราะกลัวว่าพ่อจะโทรมลงอีก แต่หลังจากอาการป่วยรุนแรงขึ้น ผมเลยตัดสินใจพาพ่อไปทำคีโม
“ตอนนั้นหมอวางแผนให้พ่อทำเดือนละครั้งจนกว่าจะครบ 6 เดือน แต่เมื่อถึงเดือนที่ 5 เราก็เห็นว่าพ่ออ่อนแรงลงมาก และมีอาการปอดติดเชื้อเข้ามาแทรกซ้อนอีกจนต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ผ่านไปแค่ไม่กี่วันปอดของคุณพ่อก็ติดเชื้อไปกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ผมเลยเริ่มตระหนักว่าหลังจากนี้อาการของพ่อคงฟื้นตัวได้ยากแล้ว
“พอหมอบอกว่าต้องเจาะคอให้ออกซิเจนเพื่อยื้อชีวิต ผมก็รู้ว่านี่คือสัญญาณที่ควรหยุดรักษาได้แล้ว เนื่องจากพ่อเคยบอกกับคนในครอบครัวตั้งแต่แรกแล้วว่า ถ้าวันหนึ่งเขาต้องเจาะคอหรือต้องให้ลูกมาเสียเงินรักษาไม่รู้จบให้หยุดทันที เพราะพ่อไม่อยากอยู่แบบทรมาน แต่อยากตายที่บ้านหรืออยู่ในสถานที่สงบ ๆ โดยที่ลูกหลานไม่ต้องลำบากรักษาต่อ
“ตอนนั้นรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐ ข้อดีคือใกล้หมอ แต่ข้อเสียคือต้องนอนห้องรวม มีคนเฝ้าพ่อได้ไม่เกินสองคน และเวลาเยี่ยมก็มีจำกัด ทำให้ผมกลัวว่าตัวเองจะไม่ได้อยู่ข้าง ๆ ตอนพ่อเสีย เพราะเวลานั้นพ่ออาจจะจากไปตอนไหนก็ได้ ผมที่เป็นพี่คนโตเลยตกลงกับน้องชายคนกลางและน้องสาวคนเล็กว่า ควรย้ายพ่อออกจากโรงพยาบาลแล้วไปรักษาตัวที่อื่นได้แล้ว
คุณพงศ์เล่าว่า โชคดีที่น้องสาวคนเล็กเคยไปเป็นอาสาสมัครของกลุ่ม “I SEE YOU” ที่เรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้คุณพงศ์กับน้องสาวพาคุณพ่อไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่ “โรงพยาบาลคูน (KOON Hospital)” เพื่อดูแลพ่อแบบประคับประคองโดยเฉพาะ
“เพราะเราไม่ได้จะช่วยให้พ่อเอาชนะโรคที่เป็นแล้ว แต่เรามาหาสถานที่ส่งตัวคุณพ่อมากกว่า พอมาอยู่ในโรงพยาบาลที่เน้นเรื่องนี้ บรรยากาศมันเปลี่ยนไปเลย เพราะพ่อไม่ต้องต่อสายโยงสายยางอะไรมาก แค่ให้น้ำเกลือ กินยารักษาตามอาการ ปวดก็ใช้มอร์ฟีน และการดูแลของที่นี่ก็ไม่ทำให้บรรยากาศมันเศร้าจนเกินไป
“เวลานั้นผมเปิดเพลงกับบทสวดมนต์ให้พ่อฟัง พ่อก็พอโต้ตอบกับผมได้บ้างแม้จะเริ่มไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว แต่สิ่งที่ผมสัมผัสได้คือแววตาของพ่อมีความสงบลง เพราะคงรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่บ้าน ไม่ได้ดูกังวลเหมือนตอนอยู่ในกระบวนการรักษาที่โรงพยาบาล และโชคดีที่ ‘คุณชัย’ อรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘I SEE YOU’ เดินทางมาเยี่ยมเราและดูแลภาวะจิตใจของคนในครอบครัวเราถึงห้องพัก ทั้งแนะนำว่าผู้ดูแลต้องทำยังไงถ้าอาการของพ่อทรุดลง และควรเตรียมตัวเตรียมใจอะไรบ้างเมื่อวันสุดท้ายของพ่อมาถึง เพื่อไม่ให้จิตใจของคนที่ต้องดูแลตลอด 24 ชั่วโมงอ่อนล้าจนเกินไป ทำให้ผมยังประคองสติไว้ได้แม้รู้ว่าพ่อจะอยู่กับลูก ๆ ได้อีกไม่กี่วันก็ตาม
“อาการของพ่อแย่ลงเรื่อย ๆ จนในบ่ายวันหนึ่งเราสามพี่น้องก็รู้ว่าพ่อคงอยู่ได้ไม่เกินวันนั้น น้องสาวเลยเรียกให้ทุกคนเวียนกันเข้ามาพูดกับพ่อเป็นครั้งสุดท้าย แล้วจบที่พี่น้องทุกคนนั่งเอามือจับหน้าอกคุณพ่อด้วยกัน ตอนนั้นผมสัมผัสได้ว่าลมหายใจของพ่อลึกและนานขึ้น พวกเรานั่งอยู่อย่างงั้นเกือบสองชั่วโมงโดยผมท่องบทสวดมนต์ให้พ่อฟังตลอดเวลาและก็รับรู้ลมหายใจของพ่อไปเรื่อย ๆ จนเงียบลงในที่สุด
“ผมคิดว่าการที่ได้อยู่ส่งพ่อจนวินาทีสุดท้าย ช่วยให้สภาพจิตใจของผมและพี่น้องไม่ต้องเจ็บปวดจนเกินไป แน่นอนว่าพวกเราหัวใจสลายที่ต้องศูนย์เสียพ่อที่เรารัก แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ทำตามคำขอของพ่อที่ไม่อยากจากไปแบบทรมานได้สำเร็จลุล่วง ซึ่งผมก็มั่นใจว่าในวินาทีที่พ่อหมดลมหายใจพ่อต้องรู้สึกสงบโดยไม่เจ็บปวดแม้แต่น้อย แต่ถ้าผมดึงดันที่จะให้พ่ออยู่โรงพยาบาลแล้วรักษาต่อไปโดยไม่สนอะไรนอกจากความต้องการของตัวเอง พ่อก็คงจากไปแบบทรมานอย่างไม่จำเป็นซึ่งผมคงไม่มีวันทำใจได้แน่นอน
ในวันพิธีฌาปนกิจ คุณพงศ์ไม่อยากให้ญาติที่มาต้องเจอแต่ความเศร้า จึงได้ร่วมกับทีม I SEE YOU ตั้งกระดานเปล่า ๆ ขึ้นมาหนึ่งแผ่น แล้วให้ทุกคนเขียนความรู้สึกหรือสิ่งที่อยากระลึกถึงผู้เสียชีวิต ลงในโพสต์อิทคนละใบมาแปะไว้บนกระดาน เพื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีที่อบอุ่นในการรำลึกถึงคุณพ่อที่เสียชีวิต
“ผมก็ชื่นใจที่มีคนเขียนถึงสิ่งดี ๆ ที่คุณพ่อทำเอาไว้มากมายตอนมีชีวิตและได้รู้ว่ามีคนมากมายที่รักพ่อ โดยรวมเลยเป็นงานศพที่ดูไม่เศร้า แต่อบอวลไปด้วยบรรยากาศของความรักและความทรงจำดี ๆ จนจบงาน
“ผมว่าครอบครัวเราโชคดียิ่งกว่าถูกหวยเพราะเรากล้าคุยกันเรื่องความตายตั้งแต่แรก แต่ไม่ว่าลูกหลานหรือญาติพี่น้องจะคิดอย่างไรก็ตาม เราต้องเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วยมากที่สุดเพราะเขาเป็นเจ้าของชีวิต ถ้าเราพยายามยื้อมากเกินไปโดยไม่สนว่าคุณภาพชีวิตเขาจะเป็นยังไง ผมก็คงไม่ใช่ลูกที่ดีนัก
“หลังจากพ่อจากไป ผมไม่ฟูมฟายอยู่นาน แต่พร้อมที่จะใช้ชีวิตต่อไปเพราะผมดูแลพ่ออย่างดีที่สุดเท่าที่ลูกชายคนหนึ่งจะทำได้แล้ว