(คำเตือน: บทความเรื่องนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Plan75)
Plan 75 เป็นภาพยนตร์โดยจิเอะ ฮายาคาวะ ว่าด้วยประเทศญี่ปุ่นที่รัฐบาลนำเสนอโครงการ ‘Plan 75’ โครงการที่ให้ผู้สูงอายุวัย 75 ปีขึ้นไป สามารถเลือกพบความตายได้อย่างสงบและมีเกียรติภายใต้การการุณยฆาตที่สนับสนุนโดยรัฐบาล แถมยังได้รับเงินชดเชย 100,000 เยนให้นำไปจับจ่ายได้อย่างอิสระก่อนตาย และมีโปรโมชั่นเผาศพและฝังอัฐิให้อย่างครบครันอีกด้วย
‘ความตายที่เลือกได้และเลือกเอง’ ฟังดูแล้วก็เหมือนจะเป็นโครงการที่ไม่ได้เลวร้ายอะไรไม่ใช่หรือ?
เพราะในปัจจุบันก็เริ่มมีการถกเถียงกันขึ้นมาว่า หรือเราควรจะขยายขอบเขตการุณยฆาตให้ครอบคลุมถึงผู้สูงอายุที่ต้องการจากไปในระหว่างที่ร่างกายยังไม่เสื่อมถอยเกินไป โดยเฉพาะเมื่ออายุยืนยาว ไม่ได้เท่ากับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขเสมอไป ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีผู้คนออกมาแสดงความหวาดหวั่นต่อชีวิตในช่วงบั้นปลายและถกเถียงเรื่องการการุณยฆาตเช่นนี้กันอยู่เนืองๆ
นโยบายนี้จึงอาจตอบโจทย์ความกังวลของใครหลายๆ คนในตอนนี้เลยไม่ใช่หรือ? แถมเราไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไรเลยด้วย!
แต่โลก ‘ในหนัง’ ที่รัฐบาลออก ‘แคมเปญ’มารณรงค์ให้ผู้คนเลือกวันตายของตัวเองได้อย่างเหนือจริงเช่นนี้ จะเก็บซ่อนแง่มุมอะไรเกี่ยวกับโลกที่ ‘เป็นจริง’ ของพวกเราเอาไว้บ้าง? มนุษย์ต่างวัยอยากชวนคุณมาขบคิดไปด้วยกัน
ฉากหลังอัน ‘สมจริง’ ของ Plan75
โลกของหนัง Plan 75 ไม่ใช่โลกอนาคตอันโหดร้าย
ไม่ใช่โลกที่มีทรราชร้ายกาจ หรือ AI ที่จะยึดครองโลกอย่างในหนังไซไฟ แต่เป็นประเทศญี่ปุ่นแบบที่เราขึ้นเครื่องไปก็ถึงนั่นแหละ ไม่ใช่ประเทศญี่ปุ่นที่เหนือจริงแต่อย่างใด
แม้กระทั่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหนัง ก็เป็นความรุนแรงอันสมจริง
Plan 75 เปิดฉากด้วยการฆาตกรรมผู้สูงอายุในบ้านคนชราโดยชายหนุ่มคนหนึ่งที่กล่าวว่า ผู้สูงวัยเหล่านี้กำลังทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นลำบาก อีกทั้งยังไม่สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ ชีวิตของพวกเขาอย่างไรก็เต็มไปด้วยความทุกข์อยู่แล้ว เราสู้ทำให้พวกเขาและพวกเรา ‘พ้นทุกข์’ ไปเลยจะดีกว่าไหม
คดีฆาตกรรมที่ดูโหดร้ายเช่นนี้ดูยากจะจินตนาการได้ในความเป็นจริง แต่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศญี่ปุ่น
ในปี 2016 ชายวัย 26 ปีบุกเข้าไปสังหารผู้พิการกว่า 19 คนขณะหลับ ในบ้านพักคนพิการในเขตกรุงโตเกียว ด้วยเหตุผลที่ว่า “พวกเขาช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ได้ และไม่ทำประโยชน์ใดๆ ให้กับสังคม” ซึ่งถือว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญคดีหนึ่งของญี่ปุ่น
ฉะนั้นคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในหนังจึงไม่มีความเกินจริงแต่อย่างใด กลับเป็นความสมจริงจนผู้ชมต้องขนหัวลุก
Plan 75 ที่นำเสนอโดยรัฐบาล ก็ไม่ได้ดูเหนือจริงอย่างในหนังไซไฟ ที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าเมื่อคุณอายุ 75 ถือว่าคุณ ‘หมดอายุขัย’ และจำเป็นต้องเข้ารับการการุณยฆาตของรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ดูสมจริงในฐานะที่เป็นเพียงหนึ่ง ‘ทางเลือก’ ที่ผู้สูงอายุสามารถเลือกได้ หากวันหนึ่งคุณต้องการจากโลกนี้ไปอย่าง ‘สบายใจ’ ‘มีศักดิ์ศรี’ หรือแม้กระทั่ง ‘เพื่อปกป้องอนาคตของชาติ’ รัฐบาลก็มีโครงการนี้ที่พร้อมสนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ และคุณจะถอนตัวจากโครงการเมื่อไหร่ก็ได้ตามความสมัครใจ
ประเทศญี่ปุ่นในหนัง จึงเป็นประเทศญี่ปุ่นที่สมจริงอย่างเหลือเชื่อ สมจริงจนเราสามารถจินตนาการว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังคือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นในสังคมของพวกเราได้อย่างง่ายๆ
ความสิ้นหวังในช่วงบั้นปลาย – ความสิ้นหวังที่สังคมร่วมกันสร้าง
หนึ่งในคำโฆษณาของโครงการ Plan 75 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นในหนังเรื่องนี้ คือโครงการ Plan 75 เป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้จากโลกนี้ไปอย่างสบายใจ อย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการเลือกของพวกเขาเอง
มิจิ คาคุทานิเป็นหนึ่งในผู้สูงอายุที่เลือกทางเลือกนี้
เธอไม่มีสามี ไม่มีลูก เธอใช้ชีวิตอยู่คนเดียวด้วยการทำงานเป็นแม่บ้านโรงแรม และออกไปร้องเพลงกับเพื่อนๆ ในยามว่าง
จนกระทั่งวันหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นในชีวิตของมิจิ
เพื่อนสนิทที่สุดของเธอเสียชีวิต เธอถูกให้ออกจากงานที่ทำอยู่ เธอกำลังจะถูกไล่ออกจากห้องเช่า
มิจิในวัย 78 ต้องออกไปหางานใหม่ หาห้องเช่าใหม่
แต่ไปหาที่ไหนก็ไม่มีใครรับเธอเข้าทำงาน และหากไม่มีงาน ก็ไม่มีห้องเช่าที่ไหนยินดีให้เธออยู่
จนในที่สุด มิจิก็ลงชื่อเข้าร่วมโครงการ ‘Plan 75’
แต่เราพูดได้หรือไม่ว่าชีวิตก่อนเข้าร่วมโครงการ Plan 75 ของมิจินั้นไร้ศักดิ์ศรี? หรือตัวมิจิได้ ‘เลือก’ เข้าร่วมโครงการ Plan 75 ด้วยตัวเองจริงๆ?
ตลอดทั้งเรื่อง เราได้เห็นว่ามิจิไม่ได้มีชีวิตที่หรูหราอะไร เธอใช้ชีวิตของเธออย่างแข็งขันที่สุดเท่าที่จะทำได้ เธอตั้งใจทำงานอยู่เสมอ ไม่เคยปริปากบ่น เมื่อถูกให้ออกจากงาน สิ่งที่มิจิบอกกับเพื่อนคือ “อยากพยายามด้วยตัวเองก่อน”
แม้เพื่อนจะบอกให้เธอไปปรึกษาศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ แต่มิจิก็อยากหางานด้วยตัวเอง หาห้องเช่าด้วยตัวเองก่อน จนเมื่อหมดสิ้นหนทางแล้ว เธอจึงหันไปหาโครงการ ‘Plan 75’
เราพูดได้ไหมว่าชีวิตของมิจิที่ต้องถูกให้ออกจากงาน ถูกให้ออกจากห้องเช่านี้ช่างไร้ศักดิ์ศรี และโครงการ Plan75 เป็นทางออกที่ดีที่สุดจริงๆ ?
ยิ่งภายหลังเข้าร่วมโครงการ Plan 75 เราก็ได้เห็นมิจิพูดคุยกับโอเปอเรเตอร์สาวชื่อโยโกะ นาริมิยะ
หน้าที่ของโยโกะคือการโทรศัพท์พูดคุยกับผู้เข้าร่วมโครงการเป็นระยะๆ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่เปลี่ยนใจ
หลังมิจิได้คุยกับโยโกะ เราได้เห็นด้านที่ยังสดใสและมีชีวิตชีวาของเธอ เธอยังมีความสุขกับซูชิชุดพิเศษ ยังมีความสุขที่ได้พูดคุยเรื่องราวในอดีตกับโยโกะ เธอถึงขนาดชวนโยโกะไปโยนโบว์ลิ่งและกินครีมโซดาที่ร้านที่เธอไปเดทแรกกับสามีคนที่สองด้วยซ้ำ
ชีวิตมิจิมีความสุขและดูสดใสขึ้นมากเมื่อได้คุยกับโยโกะ จนอดคิดไม่ได้ว่า “ชีวิตของเธอมันน่าเศร้าและไร้ศักดิ์ศรีจริงหรือ?”
ลองนึกภาพว่าหากมิจิได้งานใหม่ ได้ห้องใหม่ และได้มีคนหนุ่มสาวอย่างโยโกะมาพูดคุยเป็นเพื่อนไปเที่ยวเล่น เราพูดได้เต็มปากหรือไม่ว่าเธอจะยังลงชื่อเข้าร่วมโครงการ Plan 75 ด้วยความสมัครใจ?
ในชั่วขณะแรก เราอาจรู้สึกว่าชีวิตของมิจิที่ต้องตกงาน ต้องถูกไล่ออกจากห้องเช่าช่างโหดร้าย จะหางานใหม่ที่ไหนก็ไม่ได้ จะหาบ้านใหม่ที่ไหนก็ไม่มี หากต้องใช้ชีวิตบั้นปลายในสภาพเช่นนี้ มันช่างโหดร้ายเหลือเกินไม่ใช่หรือ?
แต่เมื่อลองคิดดูแล้ว ความโหดร้ายนั้นมาจากความ ‘ชรา’ ของเธอ หรือมาจากสังคมที่ปฏิเสธเธอกันแน่?
ในเมื่อถึงสังขารของเธอจะโรยรา ถึงเธอจะเดินกระย่องกระแย่ง แต่มิจิก็ยังพยายามหางานใหม่อย่างถึงที่สุด พยายามแม้กระทั่งเป็นยามโบกรถกะดึกที่ต้องยืนทำงานกลางอากาศหนาว จนเมื่อหมดสิ้นหนทางจริงๆ เธอจึงหันไปหาโครงการ Plan 75
สิ่งที่ทำให้เธอหันไปหาโครงการ Plan 75 ไม่ใช่ร่างกายของเธอ ไม่ใช่อายุของเธอ แต่เป็นสังคมที่ไม่เคยแยแสต่อความพยายามของเธอต่างหาก
สังคมที่แม้เธอทำงานอย่างแข็งขัน แต่ก็ถูกให้ออกจากงานอย่างง่ายดาย เพราะขืนมาเสียชีวิตขณะทำงาน นายจ้างก็คงดูไม่ดี สังคมที่เธอพยายามหางานที่ไหนก็ไม่มีงานให้เธอ เพราะเธออายุขนาดนี้ คงทำงานอะไรไม่ไหวแล้ว สังคมที่ไม่มีใครสนใจเธอ จนกระทั่งเธอลงชื่อเข้าร่วมโครงการ Plan 75
พวกเรามักมองว่าวัยชราช่างเป็นช่วงวัยที่น่าหดหู่ น่าเศร้า ไร้อำนาจ ไร้พลัง ทำอะไรก็ไม่ได้ แต่พวกเราเคยถามตัวเองหรือเปล่า ว่าความหดหู่ ความเศร้า ความอ่อนแอไม่มีเสียงไม่มีพลังเหล่านั้น มาจาก ‘ความชรา’ หรือมาจาก‘การกระทำ’ ของพวกเราเองมากน้อยแค่ไหน?
เมื่อ ‘ค่า’ ของคนอยู่ที่ ‘ผล’ ของงาน
หนึ่งในฉากที่สั่นสะเทือนความรู้สึกที่สุดในหนังเรื่องนี้ อาจเป็นฉากที่โอคาเบะ หนึ่งในพนักงานหนุ่มของโครงการ Plan 75 เกิดสงสัยขึ้นมาว่าร่างของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ถูกนำไปจัดการอย่างไรกันแน่
เขาค้นพบว่า บริษัทที่ทางโครงการกำลังติดต่อให้มารับร่างของผู้เสียชีวิตไปจัดการ… คือบริษัทรีไซเคิล
ร่างของผู้เสียชีวิตจะถูกนำมารีไซเคิลเพื่อทำประโยชน์ให้ส่วนรวมต่อไป
หรืออีกฉากที่น่าจะกระแทกใจหลายคนไม่น้อย คงไม่พ้นฉากที่เสื้อผ้าและเครื่องประดับทั้งหลายถูกถอดออกจากร่างของผู้เข้าร่วมโครงการ ก่อนนำมากองรวมกันและคัดแยกเพื่อนำไปใช้ใหม่ ของบางอย่างถึงกับถูกเจ้าหน้าที่จิ๊กไปตั้งแต่ช่วงคัดแยกด้วยซ้ำ
“คนตายเอาไปใช้อะไรไม่ได้แล้ว เธอเอาไปใช้เถอะ”
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกก่อนยื่นนาฬิกาข้อมือของผู้เข้าร่วมโครงการให้มาเรีย หญิงชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานให้กับโครงการ
ฉากนี้บางคนเห็นแล้วอาจสร้างความปั่นป่วนในใจ การฉกฉวยสิ่งของจากผู้ล่วงลับไปแบบนี้ ช่างเป็นการไม่เคารพผู้ตายเอาเสียเลย!
แต่หากมาคิดดูแล้ว… สิ่งที่เจ้าหน้าที่คนนั้น ‘ผู้จิ๊กนาฬิกามาจากศพ’ พูด ผิดหรือ?
คนตายแล้ว ยังไงก็ไม่ได้ใช้ บางคนอาจไม่มีญาติมาสนใจด้วยซ้ำ จะเก็บไว้เพื่ออะไร? อย่างไรก็ต้องถูกนำไปให้คนอื่นใช้อยู่ดี จะเป็นเจ้าหน้าที่คนนี้หรือคนแปลกหน้าคนอื่น มันจะต่างกันตรงไหน? หากมีใครสักคนมารับช่วงนาฬิกาเรือนนี้ต่อ นั่นหมายความนาฬิกาเรือนนี้ยังทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องสูญเปล่าและกลายไปเป็นภาระต่อธรรมชาติเสียอีก
ประเทศญี่ปุ่นในหนังเรื่อง Plan 75 เป็นประเทศญี่ปุ่นที่คำนึงถึงอรรถประโยชน์ต่อส่วนรวมจนถึงที่สุด
ทุกอย่างต้องถูกนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อคนจำนวนมากที่สุด
แม้แต่ร่างของคนตายก็ถูกนำมารีไซเคิลเพื่อไม่ให้เสียของ
ข้าวของเครื่องใช้ของคนตายก็ถูกนำมาใช้ใหม่ต่อไป
ตัวโครงการ Plan 75 เอง ก็ยังถูกนำเสนอต่อผู้สูงอายุทั้งหลายว่า
“เข้าร่วมโครงการเพื่ออนาคตของประเทศชาติกันเถอะ”
“เข้าร่วมโครงการเพื่อปกป้องอนาคตของลูกหลานกันเถอะ”
การกระทำทุกอย่างเป็นไปโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ต่อคนหมู่มากที่สุด
ซึ่งฟังเผินๆ ก็อาจจะดูดีอยู่หรอก ก็ตอนนี้โลกของเรากำลังประสบปัญหาต่างๆ เพราะการบริโภคเกินควรไม่ใช่หรือ? โครงการนี้จะช่วยให้เราลดการใช้ทรัพยากรเกินควรได้แล้ว เพราะทุกอย่างจะถูกนำมาใช้ใหม่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อไป
แต่ความตลกร้ายคือเมื่อทุกอย่างตั้งอยู่บนหลักการ ‘ต้องก่อประโยชน์สูงสุดต่อคนหมู่มากที่สุด’ พอสิ่งๆ หนึ่งหมด ‘ประโยชน์’ นั่นหมายความว่า สิ่งนั้นก็จะไร้ความหมาย ไร้คุณค่าไปในทันทีเลยใช่หรือไม่?
หนังชวนให้เรากลับมาฉุกคิดว่า “เราจะมองชีวิตด้วยแนวคิดแบบนี้จริงๆ หรือ?”
แม้การคำนึงถึงประโยชน์ต่อคนหมู่มากจะเป็นเรื่องดี แต่คุณค่าของชีวิตคนเราควรถูกผูกติดอยู่กับประโยชน์ที่เราทำได้เท่านั้นหรือ? ประโยชน์อย่างการทำงาน จ่ายภาษี จับจ่ายใช้สอยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แล้วหากวันหนึ่งเราไม่สามารถทำประโยชน์เหล่านั้นได้อีกแล้ว คุณค่าของเราก็จะหดหายไปใช่หรือไม่?
ถ้าชีวิตของเรามีค่าเพียงประโยชน์ที่เราทำได้ ถ้าอย่างนั้นชีวิตของพวกเรามีคุณค่าจริงๆ หรือเปล่า?
หนังไม่ได้ให้คำตอบ แต่หนังชวนให้เราตั้งคำถามในโลกที่ดูเสมือนจริงจนเหมือนจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ของพวกเรานี้
หรือเอาเข้าจริง พวกเราอาจเข้าไปอยู่ในโลกใบนั้นครึ่งหนึ่งแล้วก็ได้
ในปัจจุบัน เมื่อเราพูดถึงสังคมสูงวัย เราพูดในมุมมองของ ‘ปัญหา’ ที่ต้องได้รับการแก้ไข มีไม่น้อยด้วยซ้ำที่พวกเราพูดถึงสังคมที่ผู้สูงอายุมากกว่าคนทำงานว่า
“คนหนุ่มสาวกำลังต้องแบกรับภาระของผู้สูงอายุ”
เรากำลังเข้าใกล้โลกใบนั้นที่คุณค่าของเราจะถูกผูกติดอยู่กับคุณประโยชน์ที่เราทำได้เท่านั้นหรือเปล่า? เมื่อคุณทำประโยชน์ไม่ได้แล้ว คุณก็เป็นแค่ ‘ภาระ’ เท่านั้น
แล้วเราได้ถามตัวเองหรือยัง ว่าสิ่งที่ผลักให้พวกเขาเป็น ‘ภาระ’ คืออะไรกันแน่?
คือสังคมที่ไม่แยแสความพยายามในการมีชีวิตอยู่ต่อของพวกเขาหรือเปล่า?
คือสังคมที่ไม่มีหนทางให้พวกเขาได้มีชีวิตต่อแล้วผลักพวกเขาว่าเป็นภาระหรือเปล่า?
หนังเรื่องนี้ไม่เพียงชวนให้เรามาขบคิดถึงการเผชิญความตายในช่วงบั้นปลายชีวิตของพวกเรา แต่ยังเป็นนาฬิกาปลุกปลุกให้เราตื่นมาดูด้วยว่ามุมมองต่อโลกที่ผู้สูงวัยกำลังมากขึ้นของพวกเราเป็นอย่างไร? แล้วพวกเรากำลังมุ่งไปในทิศทางแบบไหนกันแน่?
กำลังมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกับในหนังหรือเปล่า?