‘รางวัลชีวิต’ ของ ‘ป้าอ้อน-ปณิธินาด ขจรอรุณวงศ์’ นักวิ่งล่ารางวัลวัย 76 ปี

เรื่องราวชีวิตของคุณป้ายอดนักวิ่งวัย 76 ปี ผู้ผ่านการแข่งขันในรายการวิ่งต่างๆ มาแล้วกว่า 3,000 รายการ 169 มาราธอน

ว่ากันว่าที่บ้านของ ‘ป้าอ้อน’  ปณิธินาด ขจรอรุณวงศ์ มีที่ไม่พอจะเก็บถ้วยรางวัลแล้ว จากคนที่นั่งทำงานอยู่กับตัวเลข กลายเป็นนักวิ่งที่คว้าถ้วยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 500 ใบ ที่สำคัญ ทุกวันนี้ในวัยใกล้ 80 ป้าอ้อนยังตื่นเช้ามาวิ่งทุกวันและลงแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ป้าอ้อนบอกว่าเป้าหมายของเธอในตอนนี้คือการพาตัวเองไปถึงมาราธอนที่ 200 ให้ได้

เคล็ดลับอะไรที่ทำให้หญิงสูงวัยคนนี้ยังคงออกวิ่งทั้งที่คนในวัยเดียวกันหลายๆ คนต้องเดินไปไหนมาไหนโดยมีไม้เท้าเป็นขาที่สาม

ยืดเส้นยืดสายให้ดี เราจะพาคุณเริ่มต้นก้าวแรกไปด้วยกัน

ก้าวแรก

ชีวิตการเป็นนักวิ่งล่ารางวัลของป้าอ้อนเริ่มต้นจากความรู้สึกที่ว่าต้องการลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง

ป้าอ้อนเป็นคนจังหวัดมหาสารคาม เข้ามากรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 18 ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะได้งานเป็นพนักงานบัญชีในบริษัทแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เป็นสาวยันอายุ 40 กว่า ชีวิตของป้าอ้อนมีแต่งาน งาน แล้วก็งาน เรียกว่าวันทั้งวันเธอมีชีวิตอยู่กับการนั่งติดโต๊ะคอยทำบัญชีและตัวเลขจนแทบไม่คิดที่จะทำอย่างอื่น

“เราไม่คิดอะไรเลยนอกเหนือจากงาน ทำงานอย่างเดียว ไม่กินข้าวกินปลา เช้ามาก็กินแต่กาแฟ บางวันกว่าจะได้กินข้าวมื้อแรกก็ปาเข้าไป 6 โมงเย็น แต่ตลอดทั้งวันเราจะกินจุบจิบอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นขนมน้ำหวาน ฯลฯ”

เมื่อกินอาหารไม่เป็นเวลา ประกอบกับภาวะความเครียดจากการทำแต่งาน ก็ทำให้สิ่งไม่ดีเริ่มมาเคาะประตูชีวิต ป้าอ้อนเริ่มมีภาวะปวดท้องจากโรคกระเพาะ ขณะเดียวกันน้ำหนักก็พุ่งพรวด จากที่เป็นผู้หญิงเอวบางร่างน้อย ร่างกายเริ่มมีชั้นไขมันและห่วงยางเป็นของตัวเอง เสื้อผ้าและชุดที่ใส่อยู่คับตึงจนเกิดความรู้สึกอึดอัด กระทั่งในที่สุดจึงคิดว่าต้องหาทางทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ป้าอ้อนซึ่งขณะนั้นอายุ 43 ปี ตัดสินใจซื้อรองเท้า เดินทางไปยังสวนสาธารณะแถบท่าวาสุกรี และออกวิ่ง   การออกกำลังกายเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี

รอบสวนสาธารณะมีระยะทางประมาณ 500 เมตร ก่อนจะผูกเชือกรองเท้า ป้าอ้อนตั้งใจว่าวันนี้จะต้องวิ่งให้ได้ 10 รอบ หรือ 5 กิโลเมตร แน่นอนว่านี่เป็นระยะทางที่ยาวไกลมากสำหรับคนที่ไม่ใช่นักกีฬาและไม่เคยออกกำลังกายเลยมาเป็นทศวรรษ ซึ่งหลังจากออกวิ่งไปได้ยังไม่ถึงครึ่งรอบ เธอก็หอบราวกับวิ่งมาเป็นร้อยกิโล

“วิ่งไปแค่ 200 เมตร ก็หอบแล้ว เหนื่อยมาก ยังคิดในใจเลยว่าทำไมมันเหนื่อยอย่างนี้ แต่เราก็เป็นคนมีมานะ ถ้าตั้งใจว่าจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ สุดท้ายก็วิ่งได้ครบ 5 กิโลเมตร ตามเป้าหมายจริงๆ แต่อย่าถามถึงสภาพหลังกลับบ้านนะ ร้าวระบมไปทั้งตัว”

ถึงแม้ร่างกายจะปวดเมื่อยร้าวระบมไปหมด แต่วันต่อมาป้าอ้อนก็กัดฟันออกไปวิ่งที่สวนสาธารณะแห่งเดิม แถมยังเพิ่มระยะขึ้นเป็น 10 กิโลเมตร แน่นอนว่าขณะที่วิ่งร่างกายเหนื่อยล้าตามสภาพ และไม่ใช่ระยะแบบที่คนไม่เคยออกกำลังกายจะทำได้เลยอย่างปลอดภัย แต่จิตใจป้าอ้อนวันนั้นกลับเกิดภาวะเบาสบายอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน   หลังจากนั้นเธอก็เริ่มออกวิ่งทุกวันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“เรารู้สึกว่าเวลาวิ่งจิตใจของเรามันสบาย ไม่ต้องคิดอะไร ไม่มีความเครียดใดๆ เลย ผิดกับตอนนั่งโต๊ะทำงานแบบคนละเรื่อง เราก็เลยออกไปวิ่งทุกวัน พอไปวิ่งก็เริ่มมีสังคมมีกลุ่มเพื่อนที่มาวิ่งด้วยกัน มีทั้งหนุ่ม ทั้งแก่ ทั้งสาว เมื่อมีกลุ่มคราวนี้ก็เริ่มมีการให้ไปลงสมัครวิ่งในรายการต่างๆ ซึ่งรายการแรกในชีวิตที่เราลงสมัครเป็นงานวิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2536 เราลงรุ่นอายุ 45 ปีขึ้นไป ระยะ 8 กิโลเมตร ผลปรากฏว่าเราได้อันดับ 2”

ถ้วยรองชนะเลิศที่ได้รับจากการลงแข่งขันวิ่งรายการแรกก็สร้างความรู้สึกปลาบปลื้มให้กับป้าอ้อนอย่างมาก แต่ไม่ใช่แค่เพราะรางวัล จะด้วยร่างกาย ระบบหายใจ ฝีเท้า พรสวรรค์ หรืออะไรก็แล้วแต่   เธอเริ่มมีความสุขกับการวิ่ง หลังจากนั้นก็เริ่มลงสมัครตามรายการต่างๆ แทบทุกครั้งที่มีโอกาส รวมทั้งขยับระยะเพิ่มขึ้นจาก 8 กิโลเมตร เป็น 15, 16, 17, 21, 23, 25 ไปจนถึงมาราธอน 42.195 กิโลเมตร

“เราลงวิ่งฟูลมาราธอนครั้งแรกก็คือรายการกรุงเทพฯ มาราธอน ตอนปี 2539 ตอนที่มีอายุครบ 50 ปีพอดี”

สำหรับนักวิ่ง ว่ากันว่ามาราธอนแรกจะให้ความรู้สึกที่พิเศษและแตกต่างจากการวิ่งทุกครั้งที่ผ่านมาอย่างมหาศาล มันเป็นความท้าทายร่างกายและหัวจิตหัวใจว่าจะพาตัวเองไปถึงเส้นชัยยาวไกลนั้นได้หรือไม่

วิ่งล่ารางวัล พัฒนาตัวเอง

มาราธอนแรกของป้าอ้อนจบลงที่เวลา 5 ชั่วโมง 2 นาทีโดยประมาณ ในวัย 50 ปี เวลาขนาดนี้นับได้ว่ายอดเยี่ยมและน่าชื่นชม ทว่าในความรู้สึกลึกๆ คุณป้าเชื่อว่าตัวเองสามารถวิ่งได้ดีกว่านั้นอีก

“มันดีที่พาตัวเองเข้าเส้นชัยได้ แต่เราคิดว่าถ้าเราทำทุกอย่างได้ถูกต้อง เราจะทำเวลาได้ดีกว่านี้ แล้วร่างกายก็จะไม่ปวดไปทั่วทั้งตัวแบบนี้ เราพบว่ามี 3 จุดด้วยกันที่ส่งผลให้เราวิ่งได้ไม่ดีอย่างที่ควรเป็น อย่างแรกเลยคือเราซ้อมไม่ถึง เราก็ซ้อมทุกวันนะ แต่แค่วันละ 20 กิโลเมตร เราซ้อม 20 จะไปวิ่ง 40 กม. มันก็เหนื่อย ทำให้การวิ่งในช่วงท้ายมีปัญหา อย่างที่สอง เราก็กินไม่ดีอีก ก่อนวิ่งเรากินขนมปังไปแค่ 1-2 ชิ้น แต่การวิ่งนี่มันใช้พลังงานมหาศาล แทนที่เราจะวิ่งอย่างสบายๆ ก็กลายเป็นวิ่งด้วยความหิวโหย หมดแรง ส่วนข้อสุดท้ายก็คือเรายืดเหยียดน้อยเกินไป ส่งผลให้วันรุ่งขึ้นเราปวดเมื่อยระบมไปหมด กลายเป็นว่าเมื่อวิ่งเสร็จสภาพร่างกายเราแย่มาก”

จากนักวิ่งมือใหม่ ป้าอ้อนเรียนรู้ต่อเนื่อง วิเคราะห์ตัวเองออกมาเรียบร้อย ป้าอ้อนก็จัดการแก้ไขข้อผิดพลาดทันที เธอปรับแผนการซ้อม กินอาหารที่อิ่มท้องพอดีๆ และให้พลังงาน ขณะเดียวกันก็ให้เวลากับการยืดเหยียดและวอร์มร่างกายให้พร้อมที่สุดก่อนที่จะออกวิ่ง

หลังจากแก้ไขข้อผิดพลาด ป้าอ้อนก็ทำผลงานได้ดีขึ้นในการวิ่งทุกระยะ คุณป้าออกวิ่งไปทั่วทุกสารทิศในประเทศไทย และหากรายการดังกล่าวมีรางวัลสำหรับนักวิ่งรุ่นสูงอายุ น้อยครั้งที่เธอจะไม่ได้ถ้วยหรือเงินรางวัลกลับมา

“เรารักการวิ่งนะ แต่ทุกครั้งที่ลงสมัครในรายการวิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีค่าใช้จ่ายเสมอ ทั้งค่าเดินทางค่าที่พัก ค่าสมัคร ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ฯลฯ แล้วเราก็เป็นนักวิ่งที่มีเครื่องประดับต่างๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นปลอกแขน ปลอกขา ผ้าโพกหัว แว่นตา นาฬิกา ฯลฯ อะไรที่คิดว่าดูดีเราใส่หมด เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งเป้าหมายว่านอกจากพา ตัวเอง เข้าเส้นชัยแล้ว เราจะพยายามไปยืนอยู่บนโพเดียมรับรางวัลให้ได้ เพื่อที่อย่างน้อยการที่ได้เงินรางวัลกลับมาจะทำให้เราไม่ต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในการวิ่งมาก”

จากที่ตั้งเป้าหมายในช่วงแรกเพียงเพื่อจะไม่ให้ร่างกายย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่ มาวันนี้ป้าอ้อนก้าวไปไกลกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้มากๆ คุณป้ายอดนักวิ่งบอกว่าเคล็ดลับของเธอไม่มีอะไรมากมาย ทั้งหมดทั้งมวลตลอดก้าวแรกจนถึงวันนี้ สรุปแล้วมีอยู่เพียงข้อเดียวเท่านั้น

เคล็ดลับที่ว่านั้นมีชื่อว่า ความสม่ำเสมอ

นักวิ่งที่มีความสม่ำเสมอเป็นอาวุธ

ในวัย 76 ปี ป้าอ้อนยังคงตื่นเช้ามาวิ่งทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร

ป้าอ้อนบอกว่า สำหรับนักกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะการวิ่ง ความสม่ำเสมอคือสิ่งสำคัญ เรื่องของเทคนิค ระบบหายใจหรืออะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไปใส่เพิ่มเติมในภายหลังได้ แต่ความสม่ำเสมอทำซ้ำกันทุกวันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเป็นหัวใจหลักที่นักวิ่งที่ดีต้องมีมันก่อนอย่างอื่น

“ถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการวิ่งทั้งที่อายุมากขนาดนี้ สิ่งนั้นคือความสม่ำเสมอ ถ้าเราซ้อมบ้างไม่ซ้อมบ้าง หรือถ้าซ้อมหนักมากๆ วันหนึ่ง แล้วอีกวันหนึ่งไม่ซ้อม ร่างกายก็ไม่เคยชินเวลาไปวิ่งก็มีปัญหา แต่ถ้าเราซ้อมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน มันจะเกิดมาตรฐาน พอเรามีมาตรฐาน มันก็จะเกิดความแน่นอน หัวใจ กล้ามเนื้อ ทุกอย่างในร่างกายมันจะจดจำ มันจะจำแม้แต่จังหวะเร่ง จังหวะผ่อน ช่วงไหนที่เราต้องการเก็บแรง เราก็ผ่อน ช่วงไหนที่ต้องการเร่ง ร่างกายก็จะจัดการให้เราโดยที่ไม่เหนื่อย เพราะเราทำมันสม่ำเสมอจนชินแล้ว”

“ทุกวันนี้เราไม่เคยรู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยเลยนะที่ต้องตื่นมาวิ่งทุกวัน คือถ้าเรามีความสม่ำเสมอ ทุกอย่างมันจะเป็นอัตโนมัติของมันเลย มันกลายเป็นความคุ้นชิน ถ้าวันไหนไม่ได้วิ่งมันจะรู้สึกแปลกๆ เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง คิดดูว่าขนาดตอนโควิดระบาดเรายังตื่นมาวิ่งเลย แต่ก็ระวังเอา ใส่แมสก์แล้วก็พยายามอยู่ห่าง ไม่ไปวิ่งใกล้กับใคร”

เมื่อได้ความสม่ำเสมอเป็นอาวุธหลักแล้ว ป้าอ้อนจึงพัฒนาตัวเองด้วยการเสริมเรื่องเทคนิคเข้าไป โดยเธอได้รับคำแนะนำจาก พิทักษ์ และ สายพิณ พัดจุน คู่สามีภรรยาเป็นอดีตนักวิ่งทีมชาติ ว่าให้ลองยกเข่าให้สูง เพื่อที่เวลาวิ่งจะทำให้ก้าวเท้าได้ยาวขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นจะทำให้เวลาดีขึ้น

ปัจจุบันในวัยใกล้ 80 ป้าอ้อนลงแข่งรายการวิ่งต่างๆ ไปแล้วทั้งหมดกว่า 3,000 รายการ โดย 169 รายการในนั้นเป็นการวิ่งฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ซึ่งสถิติในการวิ่งมาราธอนเคยทำได้เร็วที่สุดอยู่ที่ 4 ชั่วโมงครึ่ง

อย่างไรก็ตามป้าอ้อนยอมรับว่าในช่วงหลังที่อายุเริ่มมากขึ้น การวิ่งเพื่อล่ารางวัลดังเช่นเมื่อหลายปีก่อนก็เริ่มลดน้อยลง รวมทั้งการวิ่งมาราธอนในบางครั้งก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการเดินเร็วแทน

“เดี๋ยวนี้เราได้ถ้วยยากขึ้น เนื่องจากเวลาเขากำหนดอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่คนที่ชนะเขาจะอายุ 60 ต้นๆ ส่วนเรานี่อีกไม่นานก็ 80 แล้ว การจะขึ้นโพเดียมก็จะไม่ได้บ่อยเหมือนเดิม ซึ่งเราไม่ได้ซีเรียสอะไรเลย ถ้าได้รางวัลมันก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว นักวิ่งทุกคนจะรู้ว่าขอเพียงแค่เข้าเส้นชัยแล้วก็ชนะตัวเองเรียบร้อยแล้ว”

การเอาชนะตัวเองนี่แหละคือชัยชนะที่แท้จริงของนักวิ่งทุกคน

รางวัลที่ดีที่สุด

สำหรับป้าอ้อน ทุกครั้งที่เข้าเส้นชัยและออกวิ่ง รางวัลที่ดีที่สุดไม่ใช่ถ้วยใบโตหรือเงินหลักหมื่นหลักแสนที่ไหน หากแต่คือสุขภาพดีที่ไม่ว่าจะมีเงินกี่บาท มีถ้วยกี่ใบก็เอาไปแลกมาไม่ได้

การวิ่งทำให้วันนี้ป้าอ้วนในวัย 76 ไม่มีโรคร้ายอะไรเลยสักโรคเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรคที่มักมาหาเมื่ออายุเริ่มเยอะอย่างความดัน เบาหวาน โรคเก๊าท์ หรือโรคร้ายแรงที่พร้อมพรากเอาชีวิตให้จบลงอย่างมะเร็ง โรคไตโรคหัวใจ ฯลฯ

ขณะที่เพื่อนฝูงร่วมร่วมรุ่นป่วยกระเสาะกระแสะ บางคนล้มหายตายจากกันไปแล้ว แต่ว่าป้าอ้อนยังออกวิ่งมาราธอนกับคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไม่เป็นรอง อีกทั้งน้ำหนักก็ลดลงมาเหลือเท่ากับสมัยตอนสาวๆ พร้อมกับรูปร่างหน้าตาที่ดูอย่างไรก็ไม่น่าเชื่อว่าจะอายุใกล้เลข 8

“ถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าตัดสินใจได้ถูกต้องที่สุดในชีวิต บอกได้เลยว่าคือการที่เราลุกขึ้นมาวิ่งเมื่อ 30 กว่าปีก่อน การวิ่งเปลี่ยนแปลงเราไปเยอะมาก เปลี่ยนเราจากคนที่เครียดกลายเป็นคนสุขภาพจิตดีเปลี่ยนเราจากคนที่อ่อนแอกลายเป็นคนแข็งแรงไม่มีโรค เปลี่ยนเราจากคนที่เอาแต่ทำงานกลายเป็นคนที่มีเพื่อนฝูง”

ที่สำคัญ มันเปลี่ยนจากเราจากคนที่ไม่เคยเล่นกีฬาและชนะอะไรเลยให้กลายเป็นคนที่ตื่นขึ้นมาแล้วเอาชนะตัวเองได้ในทุกๆ วัน

คำแนะนำ 7 ข้อจากป้าอ้อน สำหรับนักวิ่งมือใหม่ทุกเพศ ทุกวัย

  1. หัวใจต้องมาก่อนร่างกาย พยายามเอาชนะใจตัวเองให้ได้ แม้เหนื่อยก็อย่าถอดใจง่ายๆ วิ่งจนครบเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้  
  2. เมื่อพิชิตเป้าหมายได้ ใจจะเริ่มรู้สึกรักการวิ่งขึ้นมา เมื่อนั้นจึงให้ความสำคัญกับร่างกาย ออกวิ่งบ่อยๆ ฝึกให้ร่างกายเคยชินกับการวิ่ง ความเหน็ดเหนื่อยก็จะลดน้อยลง
  3. เมื่อลงแข่งให้เริ่มจากระยะสั้นๆ ก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปสู่การวิ่งระยะไกลขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นร่างกายอาจจะเกิดการบาดเจ็บ และจิตใจอาจเกิดความเบื่อหน่าย
  4. ทุกครั้งที่ออกวิ่งควรยืดเหยียดร่างกายอย่างน้อย 25-30 นาที
  5. เมื่อเริ่มจริงจังกับการวิ่งแล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน ควรกินอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมต่อร่างกาย
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสดชื่นในขณะออกวิ่ง
  7. เมื่อวิ่งแล้วควรมีสังคมและเพื่อนฝูง อย่างน้อยหากเราไม่ได้ถ้วยรางวัล เราก็ยังได้เพื่อน

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ