100 ปี ‘ซีอิ๊วตรารถยนต์’ แบรนด์ซีอิ๊วท้องถิ่นที่เหลือหนึ่งเดียวในภูเก็ต


ถ้าใครได้บุกไปถึงก้นครัวของชาวภูเก็ตแท้ๆ ก็จะพบเครื่องปรุงชนิดหนึ่งที่เป็นเพื่อนคู่ครัว และถือเป็นเคล็ดลับความอร่อยของอาหารขึ้นชื่อสไตล์ภูเก็ตมาอย่างยาวนาน 3 ชั่วอายุคน นั่นก็คือ “ซีอิ๊วตรารถยนต์” ที่ผลิตจากโรงงานซีอิ๊วจันทร์แสง เป็นซีอิ๊วสูตรฮกเกี้ยน หมักในโอ่งดิน ด้วยกรรมวิธีการแบบธรรมชาติ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการหมักเพื่อแจกจ่ายแบ่งกันในกลุ่มชาวจีนที่อพยพมาลงหลักปักฐานที่ภูเก็ต กระทั่งผ่านมา 3 ชั่วอายุคน

“ซีอิ๊วตรารถยนต์” กลายเป็นแบรนด์ซีอิ๊วท้องถิ่นแบรนด์เดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในจังหวัดภูเก็ต

มนุษย์ต่างวัยชวนลงใต้ไปยังเกาะภูเก็ต เพื่อฟังเรื่องราวการเดินทางของ “ซีอิ๊วตรารถยนต์” ตำนานความอร่อยที่มีอายุกว่า 100 ปี

เกียรติศักดิ์ จันทร์เวียงทอง ทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานซีอิ๊วแสงจันทร์ เล่าว่า ซีอิ๊วตรารถยนต์เริ่มต้นมาจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเขา ซึ่งเดินทางมาจากเมืองจีน อพยพเข้ามาในประเทศไทย มาแบบเสื่อผืนหมอนใบเพื่อมาหาลู่ทางในการทำมาหากิน ด้วยความที่ครอบครัวมีวิชาการหมักซีอิ๊วก็เลยทดลองนำมาหมักไว้ใช้เองในครัวเรือน จากนั้นก็เริ่มการแจกจ่ายให้คนจีนด้วยกันก่อน ในตอนนั้นแม้ไม่มีสื่อโฆษณาแต่ซีอิ๊วที่ครอบครัวของเกียรติศักดิ์ผลิตขึ้นก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แบบปากต่อปาก รสชาติถูกใจโดยเฉพาะในหมู่คนจีนในภูเก็ต เมื่อเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น จึงนำไปสู่การเปิดขายคู่กับการเปิดร้านขายของชำในสมัยนั้น ยุคเริ่มแรกของเราเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2482 ก็ประมาณ 80 ปีแล้ว แต่สูตรที่มาหมักคือถ่ายทอดวิชากันมาเป็นร้อยปี

“สำหรับชื่อซีอิ๊ว ‘ตรารถยนต์’ มาจากพาหนะที่คุณพ่อคุณแม่ของผมใช้เดินทางมายังประเทศไทย เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเดินทางจากถิ่นฐานบ้านเกิดสู่เมืองไทย ความจริงเราทำหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นซีอิ๊วที่มีโลโก้เป็น เครื่องบิน เรือกลไฟ อันนี้ก็มีที่มาจากพาหนะที่คุณพ่อโดยสารจากเมืองจีนมาภูเก็ตและจากภูเก็ตกลับเมืองจีนเพราะสมัยก่อนที่คนจีนจะมาไทยก็ต้องนั่งเรือกลไฟที่มีปล่องเป็นชั้นไม้ ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ทุกสัญลักษณ์ที่นำมาใช้เป็นโลโก้ล้วนเป็นเรื่องราวการเดินทางเพื่อระลึกถึงที่มาและผืนแผ่นดินถิ่นเกิด ซึ่งยี่ห้อที่ต่างกันก็เป็นสิ่งช่วยบอกเกรดคุณภาพของสินค้าที่ต่างกัน แต่ปัจจุบันที่นิยมก็คือตรารถยนต์ ในรุ่นแรกก็ใส่ขวดเบียร์ขายโดยใช้แป้งเปียกติดกับกระดาษฉลากและติดบนขวดเบียร์เป็นโลโก้ หมักขายกันหลังบ้านที่เป็นร้านของชำยังไม่ได้เป็นโรงงานที่เห็นกันจนถึงวันนี้”

“ในสมัยก่อนรุ่นที่ 1 เริ่มทำขายแต่ก็ยังไม่จริงจัง เพราะว่าช่วงนั้นที่บ้านขายของชำ ขายเหล้าเบียร์ไปด้วย แล้วก็มีอีกอาชีพคือทำสวนยาง การทำซีอิ๊วจึงเป็นเหมือนรายได้เสริมของครอบครัวที่ทำเล็กๆ น้อยๆ พอผมที่เป็นทายาทรุ่นที่ 2 เรียนจบก็เลยมีความคิดว่าเรามีชื่อเสียงด้านซีอิ๊วอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ทำขายจริงจังเป็นแบรนด์ของตัวเอง จากที่ขายเหล้าขายเบียร์เราก็ขายน้อยลง จนสุดท้ายเราก็ไม่ขายเลย เราก็มาเน้นที่ซีอิ๊วของเราอย่างเดียว เหมือนเริ่มทำตลาดจริงจังในรุ่นที่ 2

“พอคิดจะเริ่มทำจริงจังสิ่งที่ทำคือ เราเริ่มขับรถกระบะเร่ขาย ล่องไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ถ้าใครเคยได้ยินเสียงรถที่ขายน้ำปลาใส่ขวดตามบ้าน นั่นแหละครับคือวิธีการที่ผมใช้ในการขายของ สมัยนั้นเราขับรถกระบะบรรทุกซีอิ๊วเร่ขายไปกับภรรยาสองคน ขายได้ครั้งละ 1 ขวดบ้าง 2 ขวดบ้าง ตามบ้านเรือนต่างๆ ไม่ใช่ว่าขายดีโด่งดังทั่วภูเก็ตมาตั้งแต่แรก เราใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะเป็นที่รู้จัก ทุกอย่างมาได้ด้วยความตั้งใจและเวลาที่สะสมชื่อเสียง จาก 1 ขวด 2 ขวด ในวันนั้น ก็เริ่มขยายพื้นที่ไปที่ พังงา กระบี่ ตะกั่วป่า ขายจนเป็นที่รู้จักในนามของซีอิ๊วจากภูเก็ตที่ครองใจทั้งคนภูเก็ตและคนใต้ในอีกหลายจังหวัด”

“เราเป็นธุรกิจในครัวเรือน เพราะฉะนั้นเราก็สามารถควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ ตั้งแต่เริ่มต้นคือต้องต้ม ถั่ว เหลือง จากนั้นก็ผ่านกระบวนการหมัก ซึ่งการหมักเราก็ยังใช้สูตรแบบโบราณคือใช้น้ำตาลแท้ ไม่มีการเปลี่ยนไปใช้ไซรัป ซึ่งมีหลายบริษัทพยายามจะเข้ามาเสนอให้ใช้ไซรัปแทนน้ำตาลเพราะประหยัดกว่า เราก็ไม่เคยเปลี่ยนเลย ถึงแม้จะเป็นรุ่นลูกรุ่นที่ 3 ที่มารับช่วงต่อ อะไรที่เป็นสูตรตกทอดมาจากวันนั้นเป็นอย่างไรวันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม   สำหรับการหมักเราก็ใช้วิธีหมักในโอ่ง การหมักโอ่งเป็นกรรมวิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นอาม่า เหตุผลที่ยังคงใช่โอ่งเพราะจะทำให้ซีอิ๊วมีรสชาติและกลิ่นที่หอม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพราะฉะนั้นด้วยกระบวนการทุกอย่างจึงทำให้ความหอม ความสดใหม่ ความธรรมชาติ ยังคงอยู่ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป ซึ่งต้องหมักในโอ่งไว้ 1 ปี ถึงจะได้เป็นซีอิ๊วออกมาขาย แต่เราอาจจะมีปรับพวกเครื่องไม้เครื่องมืออยู่บ้างเพื่อทุ่นแรงและให้เข้ากับหลักอนามัย

“ตอนนั้นมีแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้วนะ แต่ที่ซีอิ๊วตรารถยนต์ได้รับความนิยมในภาคใต้ก็เพราะรสชาติที่ถูกปาก และเป็นความคุ้นชินของชาวบ้านด้วยที่ชินในรสชาติและอยู่คู่ครัวมานาน ที่สำคัญคือเราผลิตตามออเดอร์ เราไม่ได้มีสต๊อกล้นๆ เยอะๆ ลูกค้าสั่งมาเราถึงจะแพ็กแล้วก็ส่งไป ความสดตรงนี้จึงได้เปรียบกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สมัยก่อนซีอิ๊วเป็นที่นิยมมีโรงงานเกิดขึ้นมากมาย แต่สุดท้ายก็เหลือของเราโรงงานเดียวเป็นโรงงานสุดท้ายที่อยู่คู่ภูเก็ต เราเชื่อว่าเพราะสูตรของบรรพบุรุษที่เราพยายามรักษาไว้ซึ่งคุณภาพทุกกระบวนการทำให้เรามาได้จนถึงทุกวันนี้”

“เมนูประจำท้องถิ่นของภูเก็ตคือ หมูฮ้อง ซึ่งถ้าเป็นสูตรภูเก็ตแท้ๆ ต้องใช้ซีอิ๊วตรารถยนต์ ด้วยความที่ลูกค้าให้ความไว้วางใจและเรายังคงเน้นคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญตลอดการทำธุรกิจ ทำให้กลุ่มลูกค้าก็จะส่งต่อกันมาเป็นรุ่นต่อรุ่น จากปู่ ย่า ตา ยาย ใช้ก็มารุ่น พ่อแม่ สุดท้ายเด็กในยุคปัจจุบันก็ไม่มีบ้านไหนไม่เคยเห็นซีอิ๊วตรารถยนต์ เคยมีลูกค้าเค้าก็ตอบกลับมาว่าพอกินของยี้ห้ออื่นก็กินไม่ได้เลย เหมือนผิดสูตรที่เคยกินตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เค้าก็บอกว่ามันไม่เข้ากัน อะไรประมาณนี้ครับ สำคัญที่สุดคือรสชาติเราไม่เหมือนใคร เพราะของเรายังคงความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ส่งทอดมาเป็น 100 ปี”

วรรัช จันทร์เวียงทอง ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าต่อว่า “ผมตั้งใจรับช่วงต่อตั้งแต่ยังเรียนอยู่นี่แหละครับ เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่จะถามตลอดว่า ‘จะทำไหมซีอิ๊ว’ ผมไม่เคยลังเลและไม่เคยมีความคิดเลยที่จะไม่ทำ เพราะเวลาสมัยไปเรียนกลับมาบ้านก็มาคลุกคลีอยู่กับการทำซีอิ๊ว ไปเล่น ไปล้างขวด ไปยกขวดตาก เวลาคุณพ่อไปรับที่โรงเรียนก็เอาซีอิ๊วไปส่งด้วย เพราะฉะนั้นผมก็จะผูกพันกับโรงงานนี้มาก อีกอย่างหนึ่งคือถ้าเราไม่ทำธุรกิจท้องถิ่นประจำจังหวัดอย่างเช่นซีอิ๊วจะไม่มีเหลืออีกเลย รุ่นอากง อาม่า พ่อ แม่ สร้างมาเป็นร้อยปี เราไม่อยากจบประวัติศาสตร์ที่รุ่นเรา

“สำหรับผมในฐานะคนรุ่นที่ 3 หัวใจสำคัญที่ยังยึดในการทำธุรกิจคือ ผมจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงสูตรเพื่อลดต้นทุนเด็ดขาด ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ซีอิ๊วตรารถยนต์ จะยังคงรสชาติเหมือนเดิมแม้จะผ่านมาถึง 3 รุ่นแล้วก็ตาม แต่ก็มีการปรับในเรื่องของช่องทางการทำตลาดออนไลน์ ออกบูธ และขายในห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย”

Credits

Authors

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ