เผชิญความป่วยไข้ด้วยใจที่ปล่อยวาง คุยกับ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

“ความเจ็บป่วยมันคือความจริงที่เราหนีไม่พ้น นี่คือข่าวร้าย แต่ข่าวดีก็คือว่าแม้เจ็บป่วยก็ป่วยแต่ร่างกายได้ ไม่จำเป็นต้องป่วยใจตามไปด้วย”

มนุษย์ต่างวัยนำส่วนหนึ่งของธรรมบรรยายที่จะช่วยชุบชูใจหลายคนที่กำลังต่อสู้กับความทุกข์จากความเจ็บป่วยจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ในหัวข้อ “เผชิญความป่วยไข้ด้วยใจที่ปล่อยวาง” จากกิจกรรมธรรมะบำบัดความป่วย…ได้จริงหรือ? ครั้งที่ 48 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67 ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)

“เวลาที่คนเราป่วย เราไม่ได้ป่วยแต่กาย แต่เราป่วยใจด้วย เรากลัว วิตกกังวล โกรธ ดูเผิน ๆ อาจเหมือนว่าความป่วยใจเป็นผลมาจากความป่วยกาย แต่อีกด้านหนึ่งนั้นความป่วยใจนั่นแหละที่ไปซ้ำเติมให้ความป่วยกายรุนแรงขึ้น ดังนั้นการเยียวยาในยามเจ็บป่วย อย่านึกถึงแต่เรื่องการเยียวยาร่างกายให้ใส่ใจเรื่องจิตใจด้วย

“สิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างแรกคือยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเรายอมรับได้ เราจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าเราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เอาแต่คิดว่ามันไม่แฟร์ ไม่ควร ไม่น่าจะเกิด เราก็จะติดอยู่กับเหตุการณ์ในอดีต ไปต่อไม่ได้

“เวลาพูดถึงการปล่อยวาง คนเรามักจะนึกถึงการปล่อยปละละเลย นิ่งเฉย ไม่ทำอะไร จริง ๆ แล้วการปล่อยวางหมายถึงการกระทำที่ใจด้วยการปล่อยวางสิ่งที่เป็นตัวการซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับเรา ในทางพุทธศาสนาสอนให้ทำกิจและทำจิตควบคู่กัน เวลาเจ็บป่วยเราก็ต้องทำกิจ เช่น ไปหาหมอ กินยา ดูแลร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนทำจิตมีหลายด้านแต่ที่สำคัญก็คือการปล่อยวาง”

การปล่อยวาง 7 อย่างที่จะทำให้ความทุกข์จากความเจ็บป่วยเบาบางลง

ปล่อยวางความคิดว่ามันไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรมที่เราต้องมาเจ็บป่วย

“คนเราเวลาเจ็บป่วยจะมีความคิดหรือความรู้สึกรบกวนจิตใจ ซึ่งทำให้เกิดความหงุดหงิด ความรู้สึกแย่ ทำให้สุขภาพเลวร้ายลง

“การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหัวใจสำคัญของการหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์เพราะการสูญเสีย พลัดพราก หรือทุกข์เพราะความเจ็บป่วย เพราะมันทำให้เรารับมือกับความเจ็บปวดได้ดีขึ้น

“ผู้ชายคนหนึ่งเป็นมะเร็งใบหน้า ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทั้งกายและใจให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ในอเมริกาผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมากถึง 1 ใน 4 ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่แค่เพราะความเจ็บปวด แต่เป็นเพราะความอับอาย ความเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยว ต้องปลีกตัวจากคนอื่น ใช้ชีวิตปกติในที่โล่งไม่ได้ เพราะแผลมีความไวต่อแสงมาก ต้องอยู่ในห้องมีม่านบังแสงไว้

“วันหนึ่งหมอคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมผู้ป่วยมะเร็งใบหน้าคนนั้น ตอนแรกหมอเครียดมาก กลัวผู้ป่วยจะโมโห เกรี้ยวกราด อารมณ์ฉุนเฉียว แต่พอไปถึงผู้ป่วยกลับพูดคุยกับหมอดีมาก ไม่หงุดหงิด ฉุนเฉียว และยังเล่าเรื่องชีวิตของตัวเองให้หมอฟังว่าสมัยที่เขาเป็นหนุ่ม เขาสูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าเยอะ จนภรรยาทนไม่ไหวขอแยกทางแล้วพาลูกไปอยู่ด้วย เขาเล่าเหมือนกับว่าเขายอมรับได้ที่ตัวเองเป็นมะเร็งเพราะไม่ดูแลสุขภาพ แต่จริง ๆ แล้วเหตุผลที่ชายคนนี้ยอมรับการเป็นมะเร็งได้เป็นเพราะกิจวัตรประจำวันของเขา

“ในแต่ละวันเขาไม่ได้ทำอะไรนอกจากวาดรูปและดูโทรทัศน์ เขาชอบดูช่อง CNN ซึ่งเป็นสถานีข่าวและสารคดี 24 ชั่วโมง ซึ่งจะนำเสนอข่าวอาชญากรรม การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ และอุบัติเหตุต่าง ๆ ดูไปเรื่อย ๆ เขาก็คิดได้ว่าความทุกข์มันเป็นเรื่องธรรมดาของคนทุกชาติ ทุกภาษา ทุกสถานะทางสังคม ไม่ว่ารวยหรือจนก็ต้องเจอไม่ต่างกัน ความทุกข์ของเขาก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับทุกคนเหมือนกัน พอเขาเห็นว่าความทุกข์ ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา เขาก็เลิกบ่น เลิกตีโพยตีพาย ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เขาอยู่กับความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยได้ดีขึ้น”

ปล่อยวางภาพอนาคตที่ชวนให้วิตกกังวล

“คุณป้าคนหนึ่งเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้งโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร พอหมอบอกว่าเธอเป็นมะเร็งตับ อยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน เธอช็อก กลับบ้านไปก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เสื้อผ้า หน้า ผม ก็ไม่สนใจ อยู่อย่างไม่มีชีวิตชีวา มีแต่ความวิตกกังวลกับเรื่องที่จะเกิดขึ้น ปรากฏว่าเธออยู่ได้แค่ 12 วันก็เสียชีวิต ในขณะที่บางคนหมอบอกว่าเป็นมะเร็งตับอยู่ได้อีก 3 เดือนเหมือนกัน กลับอยู่ได้ 3 ปี 6 ปี

“เป็นธรรมดาที่เวลาป่วย คนเราก็มักจะอดนึกถึงภาพในอนาคตไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรจะไปหมกมุ่นกับมันมาก ปล่อยวางได้ยิ่งดี หรือเตือนใจตัวเองว่ามันอาจจะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดขึ้นก็อาจจะไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นก็ได้ แทนที่จะไปหมกมุนกับการปรุงแต่งภาพอนาคตในทางลบ ทางร้าย ก็หันมาสนใจปัจจุบัน ใช้ช่วงเวลานี้ทำสิ่งดี ๆ ที่ควรทำ ไปเที่ยวกับครอบครัว เข้าวัด ทำบุญ ปฏิบัติธรรม ใช้โอกาสนี้ทำดีต่อกัน มีความสุขร่วมกัน ถ้ารู้จักปล่อยวาง เราก็จะมีความสุขได้ง่าย แม้กายจะป่วยก็ตาม”

ปล่อยวางอดีต

“หลายคนเวลาป่วยก็จะคิดถึงความผิดพลาดในอดีต คิดถึงช่วงที่ยังแข็งแรง แต่ไม่สนใจดูแลลูก ไม่ได้ให้เวลากับพ่อแม่ ตีอกชกหัวตัวเอง จมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต นี่คือการซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง หลายคนพยายามต่อสู้กับความตาย แม้ร่างกายจะแย่ จะไม่ไหวก็ขอยื้อ เพราะอยากกลับไปแก้ตัว แก้ไขสิ่งที่เคยผิดพลาดให้ถูกต้อง

“การที่เราจมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต โบยตีตัวเอง มันไม่ได้ดีกับเราเลย นึกถึงทีไรก็โกรธ ก็ทุกข์ ซึ่งมันจะทำให้เราแย่ลง ไม่ว่าในอดีตเราจะเคยผิดพลาด เคยถูกทำร้าย เบียดเบียน หรือมีใครมาทำไม่ดีกับเรา ตอนนี้เราต้องรู้จักให้อภัย ทั้งอภัยให้ตัวเองและคนอื่น ไม่อย่างนั้นเราจะจมอยู่กับความผิดพลาดของตัวเองหรือความเลวร้ายของคนอื่น และความรู้สึกที่จะตามมาก็มีแต่จะทำร้ายจิตใจของเราเอง”

ปล่อยวางความอยากหาย

“เวลาคนเราป่วยความอยากหายจะรุนแรงมาก แล้วเราก็มักจะไม่รู้ตัวว่าความอยากหายนี่แหละที่เป็นตัวซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับจิตใจของเรา

“เวลาทุกข์ให้เราถามตัวเองว่าเราทุกข์เพราะความเจ็บป่วยหรือเราทุกข์เพราะความอยากหายกันแน่ แม้กระทั่งคนที่ไม่นอนหลับ ที่จริงเราทุกข์เพราะนอนไม่หลับ หรือทุกข์เพราะอยากนอนให้หลับ พอเราอยากหลับแล้วมันไม่หลับ ก็ยิ่งหงุดหงิด แล้วนอนหลับยากขึ้น เพราะฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมา แต่ถ้าเราลองวางความอยากนอนให้หลับ วางความวิตกกังวลต่าง ๆ ลง ความทุกข์มันจะหายไป แม้จะยังนอนไม่หลับอยู่ก็ตาม และสุดท้ายเราก็จะหลับไปเอง

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้ทำให้เราทุกข์เท่ากับความคาดหวังหรือความอยาก ถ้าเราวางความคาดหวังหรือความอยาก ความทุกข์ก็จะน้อยลง ถ้าปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็ทำให้เราทุกข์ การไม่ได้อะไรไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่การอยากได้แล้วไม่ได้ต่างหากที่ทำให้เราทุกข์ เพราะฉะนั้นต้องฝึกการวางความอยากเอาไว้”

ปล่อยวางความโกรธ

“คนเราเวลาป่วยมักจะโกรธตัวเองที่ไม่ดูแลสุขภาพ ไม่รักตัวเอง หรือโกรธคนอื่น บางครั้งโกรธแม้กระทั่งคนที่เขาไม่ป่วย เขาสุขสบายดี ไม่ทุกข์เหมือนกับเรา โกรธชะตาชีวิต โกรธคนใกล้ตัวที่เขาไม่ได้เป็นไปแบบที่เราคาดหวัง แม้บางครั้งความโกรธของเราอาจดูชอบธรรม สมเหตุสมผล แต่จริง ๆ แล้วมันทำร้ายเรา

“ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านม ได้รับการรักษา ฉายแสง ทำคีโมปกติ แต่ก็มักจะบ่นว่าปวดอยู่เสมอ วันหนึ่งพยาบาลมานั่งคุยกับเธอ แล้วเธอก็พูดวนเวียนถึงลูกชายกับสามี ที่ไม่มาดูแล มาเยี่ยมเธอ พยาบาลก็ตั้งใจฟัง ไม่ขัด ไม่แทรก ไม่แนะนำอะไรทั้งนั้น พอผู้ป่วยพูดจบ เธอก็ออกปากว่าความปวดของเธอน้อยลง ทั้ง ๆ ที่พยาบาลยังไม่ได้ให้ยาอะไร ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าความปวดก้อนใหญ่ของเธอมาจากความโกรธ พอเธอได้ระบาย ความโกรธก็ทุเลา ความป่วยก็เลยเบาบางลง”

ปล่อยวางภาพลักษณ์ ตัวตนเก่า ๆ

“หลายคนเวลาป่วยก็ยังติดอยู่กับภาพที่ตัวเองเคยดูดี สวย หล่อ พอมันไม่เหมือนเดิมก็รู้สึกแย่ทุกข์เพราะยังติดในภาพลักษณ์เก่า ๆ ที่เคยเดินไปไหนมาไหนเองได้ เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว เคยควบคุม บังคับร่างกายได้

“การยึดติดกับตัวตนเก่า ๆ มันทำร้ายเรา เพราะนั่นแปลว่าเรายังติดอยู่กับอดีต ไม่อยู่กับปัจจุบัน จริง ๆ มันไม่ได้เสียหายเลยที่ผิวเราจะโทรม จะแห้ง หรือเราจะไม่สวย ไม่หล่อเหมือนเมื่อก่อน ถ้าเรายังติดยึดกับภาพเก่า ๆ เราจะทุกข์มาก บางคนเคยช่วยตัวเองได้ วันนี้ต้องมีคนมาช่วยเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ มาคอยดูแล หลายคนไม่ได้ทุกข์เพราะความเจ็บป่วย แต่ทุกข์เพราะรู้สึกไม่ดีที่ให้คนอื่นต้องมาคอยดูแลตัวเอง เราต้องยอมรับ ถ้ายอมรับไม่ได้ก็เท่ากับเราซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ตัวเอง”

ปล่อยวางความเจ็บปวด

“คนเราไม่ชอบความเจ็บปวด แต่เวลาปวดตรงไหน ใจเราจะไปจดจ่อตรงนั้น ไม่ชอบเสียงแทรก เสียงรบกวน เช่น เสียงโทรศัพท์ดังเวลาฟังบรรยาย แต่เวลาที่มีเสียงดังขึ้น ใจมันพุ่งไปที่เสียงนั้น บรรยายดีอย่างไรไม่สนใจแล้ว สนใจแต่ว่าเสียงดังมาจากโทรศัพท์ของใคร ในเมื่อเราไม่ชอบเสียงรบกวน ไม่ชอบความเจ็บปวด เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง

“ผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นมะเร็งกระดูก เขาปวดมากถึงขนาดที่ให้มอร์ฟีนทุก 3 ชั่วโมงยังเอาไม่อยู่ ปวดจนนั่งไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ ปากซีด หมอก็เลยบอกให้ลองนั่งสมาธิเท่าที่ทำไหว พอนั่งสมาธิไปได้ประมาณ 50 นาที สีหน้าก็สดใสขึ้น เหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

“สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราปล่อยวางได้คือสติ สมาธิ และปัญญา เมื่อเรามีสติ ใจเราก็จะไม่ไปหลงอยู่กับอดีตและอนาคต ทำให้เราสามารถยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่ผลักไสและไหลตาม ส่วนสมาธิจะช่วยทำให้เราลืมความเจ็บปวด เพราะเราย้ายจุดโฟกัสของใจจากบริเวณที่เราเจ็บปวดกลับมาจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ และปัญญาจะทำให้เราเข้าใจความจริงของชีวิต ว่าการเกิด แก่ และความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนี้ความเมตตาและการให้อภัยก็จะช่วยให้เราปล่อยวางความโกรธที่มีต่อตัวเองและคนอื่นได้ รวมทั้งไม่ไปโกรธเคืองตัวโรคที่ทำให้เราเป็นทุกข์ด้วย”

ขอบคุณภาพจาก : สวนโมกข์กรุงเทพ

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ