ยิ่งเด็กไม่ได้ยิ่งดี นักกีฬาที่อายุน้อยอาจไม่ได้ ได้เปรียบเสมอไป
เราเชื่อว่าคนไม่น้อยมองการแข่งขันกีฬาเป็นสนามประลองความสามารถของคนหนุ่มสาววัย 10-20 กว่าปีเท่านั้น เพราะในบางกีฬา พอนักกีฬาเริ่มอายุเข้าเลข 3 ก็จะถูกมองว่าเป็นช่วงขาลงหรือเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตนักกีฬาแล้ว
หากย้อนดูสถิติในมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก ก็ยิ่งยืนยันความเชื่อดังกล่าว เพราะ 2 ใน 3 ของนักกีฬาที่เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกครั้งล่าสุด ณ กรุงโตเกียว อยู่ในช่วงวัย 20 ปีเท่านั้น และนักกีฬา 90% อายุน้อยกว่า 30 ปี
เห็นแบบนี้แล้วหลายคนที่อายุเลย 30 อาจรู้สึกว่าการแข่งกีฬาหรือแม้แต่การเล่นกีฬาดูเป็นเรื่องไกลตัว หากไม่นับเรื่องที่คนเราต้องออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว
แต่รู้หรือไม่? ไม่ใช่กีฬาทุกประเภทที่ ‘ยิ่งเด็ก ยิ่งดี’ เสมอไป เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์และกีฬา อาจกำลังช่วยเราทลายกำแพงของ ‘อายุ’ ได้ในอนาคต
ยิ่งเด็กไม่ได้ยิ่งดี ทักษะของกีฬาบางอย่างต้องใช้เวลาในการสร้าง
หากพูดถึงกีฬาที่คนมีอายุมากยังสามารถแข่งขันหรือฉายแสงได้ไม่แพ้เด็กๆ หลายคนอาจนึกถึงกีฬาที่ใช้แรงกระแทกน้อย ไม่ต้องอาศัยพลังกายมากไว้ก่อน เช่น กีฬาขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู
เมื่อดูตามสถิติแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง เนื่องจากกีฬาที่เน้นความแม่นยำ การวางแผน และไม่ต้องอาศัยแรงกายเข้าฟาดฟัน อย่างกีฬาขี่ม้า ยิงปืน หรือเรือใบ ล้วนเป็นประเภทกีฬาในโอลิมปิกที่ผู้เข้าแข่งขันมีอายุเฉลี่ยสูงสุด และมีช่วงอายุที่หลากหลาย เช่น นักกีฬาขี่ม้าประเภทชายมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ปี และหากนำอายุผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดมาเรียงกัน เพื่อหาอายุมัธยฐานที่อยู่ตรงกลางพอดี คือ 38 ปี โดยคนที่อายุน้อยที่สุดอายุ 20 ปีเท่านั้น ส่วนคนที่อายุมากที่สุดอายุ 62 ปี ซึ่งเขายังชนะเหรียญเงินและเหรียญทองแดงอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่อายุเฉลี่ยของผู้เข้าแข่งขันสูงกว่าประเภทอื่น แต่สามารถทำผลงานได้ดีอย่างสนใจ คือกีฬา ‘วิ่งมาราธอน’
โดยอายุเฉลี่ยและอายุมัธยฐานของนักกีฬาวิ่งแข่งระยะอื่น คือ 20 กว่าปี แต่อายุเฉลี่ยและอายุมัธยฐานของนักกีฬาวิ่งมาราธอนชายกลับอยู่ที่ 30 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยของนักวิ่งมาราธอนหญิงคือ 31 ปี และอายุมัธยฐานคือ 32 ปี
นอกจากนี้นักกีฬาที่อายุมากที่สุดในการแข่งขันวิ่งระดับโอลิมปิก ก็มักจะเป็นนักวิ่งมาราธอน โดยนักวิ่งมาราธอนชายที่อายุมากที่สุดในกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงโตเกียว มีอายุ 46 ปี ส่วนนักวิ่งมาราธอนหญิงที่อายุมากที่สุด มีอายุ 44 ปี
หากเรามองไปยังช่วงอายุที่นักกีฬาสามารถ ‘ทำผลงานได้ดีที่สุด’ การวิ่งมาราธอนก็ยังโดดเด่นกว่าการแข่งขันวิ่งประเภทอื่นๆ ด้วย
โดยเฉพาะการแข่ง ‘วิ่งระยะสั้น’ 100 เมตร หรือ 200 เมตร นักกีฬามักจะทำผลงานได้ดีที่สุดในช่วงวัย 20 กว่าปี แต่ในการแข่งขันวิ่งมาราธอน อายุที่ผู้เข้าแข่งขันทำผลงานได้ดีที่สุดคือ 32 ปีสำหรับผู้ชาย และ 34 ปีสำหรับผู้หญิง
แต่หากมองไปที่การแข่งขัน ‘อัลตรามาราธอน’ ระยะทาง 50 กิโลเมตร จะพบว่าอายุที่ผู้เข้าแข่งขันสามารถทำผลงานได้ดีที่สุด กลับสูงยิ่งกว่ามาราธอนเสียอีก โดยอายุที่ผู้เข้าแข่งขันหญิงสามารถทำผลงานได้ดีที่สุดคือ 40 ปี ขณะที่อายุที่ผู้เข้าแข่งขันชายทำผลงานได้ดีที่สุดคือ 39 ปี
นับว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจทีเดียว เนื่องจากภาพจำที่เรามีคือ นักกีฬายิ่งอายุมากขึ้น สมรรถภาพร่างกายก็น่าจะเริ่มเสื่อมลง รับแรงกระแทกมากๆ ไม่ไหว รวมถึงการเผาผลาญ การซ่อมแซมตัวเอง หรือแม้แต่การใช้ออกซิเจนของร่างกายก็น่าจะไม่ดีเท่าเด็กๆ
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการแข่งกีฬาที่ต้องอาศัยพละกำลังสูงในเวลาสั้นๆ อย่างการวิ่งระยะสั้น การทุ่มน้ำหนัก หรือการพุ่งแหลน มักต้องอาศัยประสิทธิภาพการเต้นของหัวใจ อัตรการใช้ออกซิเจนสูงสุด (VO2Max) และกล้ามเนื้อกระตุกเร็ว (Fast-twitch Muscle) ซึ่งนักกีฬาที่อายุน้อยมักจะได้เปรียบในเรื่องเหล่านี้
ในทางกลับกัน กีฬาที่ต้องใช้ความอึด (Endurance) อย่างการแข่งวิ่งมาราธอน มักต้องอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อกระตุกช้า (Slow-twitch Muscle) ซึ่งจะเกิดอาการเหนื่อยล้าได้น้อยกว่ากล้ามเนื้อกระตุกเร็ว และยังพบในนักกีฬาสูงวัยได้มากกว่านักกีฬาที่อายุน้อย นอกจากนี้การรับมือกับความเจ็บปวด การตัดสินใจ ประสบการณ์ชีวิต และการรักษาสภาพจิตใจ ล้วนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักวิ่งมาราธอนที่ต้องการทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งนักกีฬาที่มีอายุและประสบการณ์มากกว่ามักจะได้เปรียบในเรื่องเหล่านี้
ซันนี แม็คคี นักไตรกีฬาวัย 61 ปี ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ‘คนเหล็ก’ หรือ ‘Ironman Triathlon’ เป็นครั้งแรก โดยเป็นการแข่งขันที่ผสมการว่ายน้ำ 3.86 กิโลเมตร การปั่นจักรยาน 180.25 กิโลเมตร และการวิ่งมาราธอน 42.2 กิโลเมตร ภายในเวลาจำกัด เธอกล่าวว่า ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการแข่งกีฬาหลายประเภทช่วยให้เธอรับมือกับความยากลำบากในการแข่งขันคนเหล็กได้อย่างมาก ฉะนั้นการมีอายุน้อยจึงไม่ใช่ข้อได้เปรียบในการแข่งขันกีฬาทุกประเภทเสมอไป
ไม่เพียงเท่านั้น ผลการศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่านักกีฬาอายุมากกว่า 40 ปี ยังคงตบเท้าเข้าร่วมการแข่งขันคนเหล็กอย่างสม่ำเสมอ สอดคล้องกับสถิติการเข้าร่วมการแข่งขันคนเหล็กที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่ามีนักกีฬาอายุ 40 ปีขึ้นไปมาเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี
นอกจากนี้งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ยังพบว่าหากนักกีฬาฝึกฝนร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ต่อให้อายุจะเลยวัย 50 ปีไปแล้ว แต่ประสิทธิภาพและผลงานก็ไม่ได้ตกลงฮวบฮาบ โดยยังคงทำผลงานได้ดี และจบการแข่งขันในเวลาที่กำหนดได้
ซึ่งความจริงแล้ว แนวโน้มอายุผู้เข้าแข่งขันที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้มีให้เห็นแค่ในการแข่งขันคนเหล็กเท่านั้น แม้แต่ในการแข่งขันอย่างโอลิมปิก หรือเทนนิสแกรนด์สแลม อายุของผู้เข้าแข่งขันก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
นวัตกรรมการแพทย์และกีฬา กุญแจในการปลดล็อกขีดจำกัดทางอายุ
2 ใน 3 ของนักกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวอยู่ในช่วงวัย 20 ปีเท่านั้น และนักกีฬา 90% อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่อายุเฉลี่ยของนักกีฬาโอลิมปิกกำลังเพิ่มขึ้นในทศวรรษนี้
นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา อายุเฉลี่ยของนักกีฬาที่เข้าร่วมโอลิมปิกเพิ่มขึ้นจาก 25 ปี เป็น 27 ปี และอายุมัธยฐานเพิ่มจาก 23 เป็น 25 ปี อีกทั้งอายุเฉลี่ยของนักกีฬาที่เข้าร่วมก็มักจะใกล้เคียงกับอายุเฉลี่ยของนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัลด้วย
ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขเพียงเล็กน้อย แต่อายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้มีให้เห็นแค่ในหมู่นักกีฬาโอลิมปิกโดยรวมเท่านั้น ในการแข่งขันกีฬาอีกหลายประเภทที่โอลิมปิก อายุเฉลี่ยของนักกีฬาก็กำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อย่างเช่น ในกีฬาที่เราได้กล่าวว่าเหมาะสมกับนักกีฬาอายุน้อยกว่า อย่างการวิ่งแข่งระยะสั้น หรือการแข่งขันกรีฑาประเภทกระโดดต่างๆ อายุเฉลี่ยของนักกีฬาก็กำลังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับในการแข่งขันบาสเกตบอล ปั่นจักรยาน และมวยสากลสมัครเล่น
และจากการวิเคราะห์อายุเฉลี่ยของนักเทนนิส 100 อันดับแรกของโลก โดยศูนย์วิจัยประชากรสูงวัยของประเทศออสเตรเลีย พบว่าอายุเฉลี่ยของนักเทนนิสชายเพิ่มจาก 24 ปีในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 เป็น 28 ปีในปี 2564 และอายุเฉลี่ยของนักเทนนิสหญิงเพิ่มขึ้นจาก 22 ปีในปี 2534 เป็น 26 ปีในปี 2564
โดยสาเหตุที่อายุเฉลี่ยของทั้งนักกีฬาโอลิมปิกและนักเทนนิส 100 อันดับแรกของโลกเพิ่มขึ้น คาดว่าเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนความรู้ทางการแพทย์และกีฬาที่ทำให้การฝึก การรักษา และการฟื้นฟูสภาพร่างกายของนักกีฬาดีขึ้นอย่างมาก รวมทั้งทำให้อายุขัยของคนเราสูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
นอกจากนี้นวัตกรรมการประดิษฐ์อุปกรณ์กีฬาและรูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนไป ก็คาดว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อายุเฉลี่ยของนักกีฬาเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ไม้เทนนิสที่ผลิตขึ้นช่วงกลางทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา มีความทรงพลังกว่าไม้ที่ผลิตขึ้นก่อนหน้านั้น อีกทั้งรูปแบบการเล่นก็เปลี่ยนจากการเสิร์ฟและวอลเลย์ (Serve and Volley) ที่อาศัยพลังและความว่องไว มาเป็นการตีโต้กันจากท้ายคอร์ตที่ต้องอาศัยความอดทนมากกว่า นี่จึงอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้อายุเฉลี่ยของนักกีฬาค่อยๆ สูงขึ้นก็เป็นได้
แม้ว่าการแข่งขันกีฬาส่วนใหญ่จะเป็นการประลองกันของบรรดานักกีฬาอายุน้อย แต่อายุที่น้อยกว่าก็ไม่ได้เป็นกุญแจไปสู่ความได้เปรียบในทุกเรื่องอย่างที่คิด เนื่องจากประสบการณ์ สภาพจิตใจ และการตัดสินใจที่ต้องอาศัยเวลาในการสั่งสม ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการแข่งกีฬาเช่นกัน และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
เพราะอย่างที่เห็นจากงานวิจัยต่างๆ ว่า แม้สมรรถภาพของเราอาจน้อยลงในกีฬาบางประเภท แต่หากเราใส่ใจดูแลและฝึกฝนร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายก็จะรักษาสมรรถภาพไว้ได้ ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากเราใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีอยู่เสมอ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจผลักดันกำแพงของ ‘อายุ’ ในการแข่งขันกีฬาให้ไปได้ไกลขึ้นอีกในอนาคต
ขอบคุณภาพจาก: RUN4FFWPU (Pexels), Jonathan Chang (Unsplash) และ Chino Rosha (Unsplash)
เอกสารอ้างอิง
- What’s the prime of your life? , David Robson: www.bbc.com
- Human body: The ‘ultra-athletes’ aged 60+, David Robson: www.bbc.com
- Age-related changes in ultra-triathlon performances; Beat Knechtle, Christoph Alexander Rüst, Patrizia Knechtle, Thomas Rosemann and Romuald Lepers: www.ncbi.nlm.nih.gov
- Relative improvements in endurance performance with age: evidence from 25 years of Hawaii Ironman racing; Romuald Lepers, Christoph A Rüst, Paul J Stapley, Beat Knechtle: pubmed.ncbi.nlm.nih.gov
- Age of peak performance in elite male and female Ironman triathletes competing in Ironman Switzerland, a qualifier for the Ironman world championship, Ironman Hawaii, from 1995 to 2011; Christoph Alexander Rüst, Beat Knechtle, Patrizia Knechtle, Thomas Rosemann, and Romuald Lepers: www.ncbi.nlm.nih.gov
- 126 Running Statistics You Need to Know, Bojana Galic: www.livestrong.com
- Peak performance age in sport: the typical Olympian is getting older, Rafal Chomik and Michael Jacinto: cepar.edu.au