พาย-ภาริอร วัชรศิริ 11 ปีกับการดูแลแม่ที่ป่วย และดูแลใจตัวเองไปพร้อมๆ กัน

“เราก็บอกแม่เสมอว่า เราไม่เคยเหนื่อยที่จะดูแลแม่ ถ้าวันหนึ่งแม่อยากตาย ไม่อยากอยู่เพื่อตัวเองแล้ว แม่ก็น่าจะอยู่เพื่อใครสักคนที่แม่รักไหม”

“วินาทีแรกที่รู้ คือเราตัวชาไปหมด ไม่เชื่อว่ามันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ เพราะทุกอย่างในชีวิตมันราบรื่นมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ ก็เหมือนกับชีวิตตกหลุมแรงมาก เราช็อกไปสักพักหนึ่งเหมือนกัน แล้วเหมือนความจริงก็ค่อยๆ ซึมสู่ใจว่า แม่เราป่วยนะ แม่ไม่สามารถกลับมาทำงานเป็นเสาหลักให้กับเราได้แล้ว เขาจะกลายเป็นคนที่เราต้องดูแล ตั้งแต่วันนั้นก็เหมือนเราต้องสลับบทบาทกับแม่ จากที่แม่เคยดูแลเรา กลายมาเป็นเราดูแลแม่”

มนุษย์ต่างวัย คุยกับ พาย-ภาริอร วัชรศิริ ถึงประสบการณ์ 11 ปี กับการดูแลแม่ที่ป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ตั้งแต่วันแรกจนวันถึงสุดท้าย เธอจัดการกับภารกิจแห่งชีวิตนี้อย่างไร ทั้งการดูแลคนที่เธอรักให้ดีที่สุด และจัดการกับความรู้สึกเหนื่อย เครียด กดดัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูแลผู้ป่วยทุกคนต้องเผชิญ

เด็กสาวในวัยเพียง 16 ปีกับการดูแลแม่ที่ป่วยติดเตียง

“แม่ป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ตอนนั้นเราอายุ 16 ปี เรียนอยู่ชั้น ม .4 เรากับแม่สนิทกันมาก ด้วยความที่แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และก็เราเป็นลูกคนเดียว ครอบครัวเราเลยมีกัน 2 คน มีอะไรเราจะพูดคุยกับเขาตลอด แม่เราเป็นผู้หญิงทำงาน ขยัน มีพลังมาก ใช้ชีวิตเร่งรีบตลอด วันที่แม่ป่วย วันนั้นเขานั่งพิมพ์งาน อยู่ดีๆ แม่ก็ล้มลงไป ตัวแข็ง ลิ้นแข็ง มันไม่มีสัญญาณอะไรเตือนเลย เรารีบพาไปส่งโรงพยาบาล ถึงได้รู้ว่ามันเกิดจากความดันโลหิตสูง เลยทำให้หลอดเลือดในสมองแตกส่งผลให้แม่เราเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก

“ช่วงแรกที่แม่ยังต้องนอนรักษาตัวหลังการผ่าตัดที่โรงพยาบาล เราต้องกลับบ้านไปอยู่คนเดียว นอนคนเดียว ซึ่งเราไม่เคยมาก่อน วันนั้นเราจำได้ดีว่ามันเป็นวันที่สั่นไหวกับใจเรามากกับการกลับบ้านมาแล้วไม่มีแม่ เราเพิ่งรู้ว่าการมีอยู่ของแม่มันมีความหมายกับเรามากขนาดนี้

“พอออกจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้าน มันค่อนข้างหนัก เราไม่รู้เลยว่าการดูแลผู้ป่วยต้องเริ่มอย่างไร ทำอะไรบ้าง เพราะตอนอยู่โรงพยาบาลเรามีพยาบาลคอยมาดูแลตลอด แต่พอกลับบ้าน เราไม่ได้หิ้วพยาบาลกลับมาด้วย เราต้องเป็นพยาบาลเอง เพราะแม่ไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้ ขาดความสามารถในการใช้ชีวิตด้วยตัวเองไปแล้ว มันเลยค่อนข้างยากสำหรับเราบวกกับที่เรายังเด็กมากด้วย”

การดูแลผู้ป่วยที่เริ่มจากติดลบ

“ช่วงแรกที่เราอยู่ม.4 เราต้องตื่นเช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันมาก เราต้องรีบจัดการตัวเองให้เสร็จเรียบร้อย และต้องรีบลงมาอุ่นข้าว จัดยาให้แม่ ป้อนข้าวแม่ พอเสร็จก็ต้องเผื่อเวลาให้เขาได้นั่งย่อย รอทำกายภาพบำบัด แล้วค่อยได้ไปโรงเรียน พอไปเรียนเสร็จ ก็ต้องรีบกลับมาจัดการข้าวเย็น กายภาพกันต่ออีก ชีวิตวนลูปอยู่แค่นี้

“หลังจากกลับมาจากโรงพยาบาล เราก็พยายามจัดที่ทางให้เหมาะกับคนป่วยมากขึ้น เขาไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ เราจะต้องพยุงเขาขึ้นมา ต้องเดินไปเข้าห้องน้ำด้วยกัน เราต้องอาบน้ำให้แม่ เช็ดทำความสะอาดเวลาแม่ขับถ่าย หากมีเลือด น้ำเหลือง ก็ต้องรีบทำความสะอาด เรียกได้ว่าทำครบวงจร มันเหมือนกับการเลี้ยงเด็กนะแต่ยากกว่ามาก เพราะการเลี้ยงเด็กมันจะได้เห็นความเติบโต ความก้าวหน้า ตรงกันข้ามกับการดูแลผู้ป่วยที่จะเห็นแต่ความเสื่อมของร่างกาย

“สิ่งที่ยากในยุคสมัยนั้นอีกอย่าง คือเราไม่ได้มีที่ปรึกษามาก ไม่มีโซเชียล มีเดีย ไม่มีการแชร์กันว่าใครมีวิธีการดูแลพ่อแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงอย่างไร เพราะฉะนั้นเราเลยต้องลองผิดลองถูก เหมือนการเข้าคลาสเริ่มเรียนใหม่ ก็ปรับมาเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอวิธีที่เหมาะกับเราและแม่

“อย่างเรื่องช้อนกินข้าว เวลาแม่กินข้าว อาหารจะไหลออกจากปากตลอด เขาก็จะรู้สึกว่าทำไมกินข้าวทุกคำไหลออกทุกคำเลย ต้องลำบากให้เรามาเช็ด เราก็เลยลองเปลี่ยนวิธี เปลี่ยนช้อนกินข้าวปกติไปเป็นช้อนขนมหวาน เพราะคำมันเล็กลง เขาก็จะควบคุมได้ง่ายขึ้น มันคือการหาวิธีแก้ไข

“แม่เราเคยบอกว่าอยากตาย เพราะเขารู้สึกว่าเขาเป็นภาระ แค่จะเดินจะขับถ่ายยังทำด้วยตัวเองไม่ได้ เราจัดการกับอารมณ์นี้ของแม่ได้ยากมาก เพราะเวลาคนป่วยดาวน์ทีการจะขุดให้ขึ้น ต้องใช้พลังยอดมนุษย์อย่างมาก แต่เราก็บอกแม่เสมอว่า เราไม่เคยเหนื่อยที่จะดูแลแม่ ถ้าวันหนึ่งแม่อยากตาย ไม่อยากอยู่เพื่อตัวเองแล้ว แม่ก็น่าจะอยู่เพื่อใครสักคนที่แม่รักไหม

“การที่เราดูแลแม่ เราไม่ได้นึกถึงคำว่ากตัญญูเลยนะ เพราะเวลาที่แม่เลี้ยงเรามา  เขาไม่เคยพูดเลยว่าลูกต้องกตัญญูกับแม่นะ แต่แม่จะยืนอยู่ข้างเราเสมอ เขาทำให้เรารู้สึกว่า เราโดนเลี้ยงมาด้วยความรัก เพราะฉะนั้นถึงวันที่เขาเจ็บป่วย เราพร้อมที่จะกลับไปดูแลเขาเสมอ โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าฉันทำเพราะฉันอยากเป็นลูกกตัญญู ฉันทำเพราะสังคมบอกให้ฉันทำ มันคือความเต็มใจ ความรู้สึกที่อยากจะทำเพื่อคนที่เรารัก โดยไม่ได้สนใจว่าเขาเป็นพ่อแม่ เพื่อน ลูก สามีภรรยาของเรา เราทำเพราะเรารักเขา และเราเคยได้รับความรักนั้นมาก่อน มันคือแค่นั้นเอง มันเป็นสิ่งที่คนไปสรุปเรียกกันทีหลังว่าการตอบแทนนี้มันคือความกตัญญู”

ผู้ป่วย คนดูแลผู้ป่วย คนรอบข้าง

“เราในฐานะคนดูแลผู้ป่วย เราก็จะเครียดและกดดัน เพราะเราไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน หรือต่อให้มีโอกาสได้ทำแบบนั้น เราก็จะรู้สึกผิดไปด้วย เราจะคิดอยู่ตลอดว่าเรามีหน้าที่ดูแลคนป่วย เราได้รับอนุญาตให้ออกไปมีความสุขไหม

“คนรอบข้างมักจะมีคำถาม เมื่อเราออกไปข้างนอก อ้าว!  ไปไหน ไปข้างนอกเหรอ ปล่อยแม่อยู่คนเดียวเหรอ

“ช่วงแรกๆ เราอยากเดินหนี เลี่ยงการตอบคำถามแบบนั้นมาก แต่พอดูแลแม่ไปสักพักเราเห็นวงจรชีวิตตัวเอง การดูแลคนป่วยมันมีความหนักหนา มันต้องควบคุมทั้งพลังงาน อารมณ์ ความคิด ต้องใช้ความอดทนสูงมาก เพราฉะนั้นการทำแบบนี้ทุกวันมันหนัก เราก็อยากมีบางวันใน 365 วัน ที่สามารถใช้ชีวิตปกติเหมือนคนวัยเดียวกันได้ เวลามีคนรอบข้างเข้ามาพูด เราก็เลือกที่จะไม่เอาเสียงนั้นเข้ามาเพิ่มความกังวลใจ

“คนรอบข้างที่เขามองเข้ามา เขาไม่ได้เห็นว่าเราเช็ดอึเช็ดฉี่ เราดูแลตลอด เขาไม่ได้มาอยู่กับเรา เพราะฉะนั้นเขาก็จะไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้ เพราะงั้นเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเอาความคิดเห็นนั้นมาทำให้เราอึดอัด ลำบากใจมากไปกว่าเดิม เพราะสิ่งที่เรารับผิดชอบอยู่มันก็หนักอยู่แล้ว

“เราเชื่อว่าสายป่านของการทำให้เราดูแลคนป่วยได้ในระยะยาว มันต้องไม่ใช่การบอกตัวเองว่ามันเป็นหน้าที่ แต่บอกตัวเองว่านี่คือความเต็มใจที่ฉันอยากจะทำ แต่ในขณะเดียวกันอย่าได้หลงลืมตัวเองที่จะได้ออกไปใช้ชีวิต มันเหมือนกับการโปรยขนมปังมาระหว่างทาง เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้ตามรอยตัวเองกลับไปได้ ว่าตัวตนหรือความต้องการของเราคืออะไร”

ปัจจุบัน พาย-ภาริอร วัชรศิริ เป็นนักเขียน เจ้าของผลงาน How I love My Mother หนังสือที่เล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วันแรกที่แม่ป่วย ตามมาด้วย How I Live My Life   และ  How Lucky I am เธอยังเป็นหนึ่งในผู้ได้รับเลือกเป็นสปีกเกอร์บนเวที TEDx BANGKOK 2017  

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ