‘แป้งร่ำ บุ๊ก แอนด์ คาเฟ่’ พื้นที่ของคนรักหนังสือและของเก่า ที่เก็บความทรงจำตั้งแต่สมัยยายยังสาว ตายังหนุ่ม

เมื่อพูดถึงย่านนางเลิ้ง หลายคนอาจนึกถึงตลาดเก่า ของกินอร่อย ๆ อาคาร บ้านเรือนสมัยโบราณ หรือตำนานของพระเอกดังรุ่นใหญ่ อย่างมิตร ชัยบัญชา แต่ถ้าเดินเลยขึ้นมาหน่อย ตรงสี่แยกถนนจักรพรรดิพงษ์ตัดกับถนนนครสวรรค์

คุณจะเจอร้านหนังสือมือสองเล็ก ๆ ตกแต่งสไตล์วินเทจ ที่เต็มไปด้วยของเล่น ของสะสมเก่า ๆ ทั้งโทรศัพท์สาธารณะ วิทยุ ตู้เพลง รถของเล่น ป้ายโฆษณา และป้ายหาเสียงยุคเก่าตั้งแต่สมัยที่เราอาจจะยังไม่เกิด

ที่แห่งนี้คือร้านแป้งร่ำ บุ๊ก แอนด์ คาเฟ่ ร้านหนังสือมือสองของ ‘แป้งร่ำ’ ภานุชนาถ สังข์ฆะ วัย 31 ปี หญิงสาวผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์และรักการอ่านหนังสือเก่ามาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2566 คอยต้อนรับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาทักทายมากมายหลายชาติ หลายภาษา ทั้งคนที่ชอบหนังสือเก่า ชอบของเก่า ชอบบรรยากาศเก่า ๆ หรือคนที่ผ่านเข้ามานั่งเล่น จิบกาแฟ แชร์เรื่องราวต่าง ๆ ให้เธอฟัง

จากหนังสือเก่าสู่เรื่องเล่าใหม่

“ตอนแรกเราก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเปิดร้าน ช่วงที่เรียนจบเราก็ไปทำงานอยู่พักหนึ่ง แต่รู้สึกไม่ค่อยโอเค ก็เลยตัดสินใจลาออก ช่วงที่ลาออกก็เอาหนังสือที่เก็บสะสมไว้ออกมาขาย ปรากฏว่ามันขายได้ เราก็เลยทำเป็นอาชีพ

“เราขายหนังสือออนไลน์มาเรื่อย ๆ พอหมดช่วงโควิด ก็เริ่มอยากหาที่สำหรับเปิดร้าน เพราะเราเองก็เก็บสะสมหนังสือเก่าไว้เยอะ ส่วนแฟนก็ชอบของเก่า เขาจะเก็บพวกของเล่น โมเดลรถ เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่า ๆ ตอนนั้นคิดว่าเราก็สะสมของพวกนี้กันมานานแล้วก็เลยอยากเปิดร้านให้คนที่ชอบของเก่า หนังสือเก่า ได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน พอดีมาได้ที่ตรงนี้ ก็เลยเปิดร้าน ‘แป้งร่ำ บุ๊ก แอนด์ คาเฟ่’ ของส่วนใหญ่เราได้มาจากตลาดของเก่า บางอย่างก็มีลูกค้าเอามาให้ ถ้าชิ้นไหนที่ชอบเป็นพิเศษ หรือหาไม่ได้แล้ว เราก็จะไม่ขาย แต่จะเก็บไว้แล้วนำมาจัดแสดงในร้านแทน

“ที่ร้านมีหนังสืออยู่ 3 หมวดใหญ่ ๆ  คือ วรรณกรรมไทย วรรณกรรมต่างประเทศ และประวัติศาสตร์ ช่วงหลัง ๆ มีลูกค้าชาวต่างชาติเยอะ เราเลยเพิ่มมุมหนังสือต่างประเทศเข้ามาด้วย

“หนังสือในร้านส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงปี 2520 – 2540 ถ้าเก่ากว่านั้น เราจะเก็บไว้ ไม่ได้เอาออกมาขาย ของที่เก่าที่สุดในร้านน่าจะเป็นหนังสือที่อยู่ในช่วงปี 2483 เป็นหนังสือเกี่ยวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

“หลัก ๆ เราจะขายหนังสือกับโปสการ์ด ส่วนของเก่าจะขายแค่บางชิ้น ที่ไม่ขายแน่ ๆ คงเป็นวิทยุทรานซิสเตอร์ที่แฟนสะสม เพราะตอนนี้เริ่มหาแบบที่สภาพที่สมบูรณ์ได้ยากแล้ว”

เด็กหญิงแป้งร่ำ 

“ตอนเด็ก ๆ ที่บ้านมีหนังสือของคุณตาอยู่ เราก็เลยขอคุณยายหยิบมาอ่าน เพราะแถวบ้านไม่ค่อยมีที่ให้ไปเที่ยวเล่น เราก็เลยจะอยู่บ้าน อ่านหนังสือ เราไม่ค่อยมีเพื่อนวัยเดียวกันด้วย มันก็เลยเหมือนกับว่าเรามีหนังสือเป็นเพื่อน

“เราเริ่มอ่านหนังสือจริงจังช่วงประมาณ 8-9 ขวบ แล้วก็ชอบมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพ คิดว่าอยากเก็บไว้เป็นงานอดิเรกมากกว่า อาจเป็นเพราะที่บ้านชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว คุณยายกับคุณแม่ก็เลยสนับสนุนให้เรารักการอ่านด้วย ช่วงงานสัปดาห์หนังสือ เขาก็จะพาไปซื้อหนังสือใหม่ ถ้าเราสนใจอะไร คุณยายจะสนับสนุนตลอด อยากอ่านหนังสือเขาก็จะพาไปหอสมุด อยากดูของเก่าเขาก็จะพาไปพิพิธภัณฑ์ แต่เพราะบ้านเราอยู่ไกล ส่วนมากเลยจะได้ไปช่วงปิดเทอม

“ช่วงแรก ๆ เราจะชอบหนังสือประวัติศาสตร์ แต่พอเริ่มเก็บเงินได้เอง ก็ขยับมาอ่านหนังสือวรรณกรรมไทยบ้าง วรรณกรรมต่างประเทศบ้าง สมัยเรียนเราต้องไปต่อรถที่สนามหลวง แถวนั้นจะมีตลาดของเก่าอยู่ เราก็จะไปเดินดูหนังสือ ไปบ่อยมาก จนคนขายให้เราเอาหนังสือกลับไปอ่านก่อน แล้วค่อยกลับมาจ่ายตังค์ทีหลัง เราก็เอาหนังสือกลับไป พอไปอีกรอบก็เอาตังค์ไปจ่าย แล้วก็ได้เล่มใหม่กลับมาด้วย รู้ตัวอีกทีเราก็มีหนังสือเป็น 100 เล่มแล้ว”

เก่าของใคร ก็คือเรื่องราวใหม่ของเรา 

“เรารู้สึกว่าหนังสือเก่ามีเรื่องราวบางอย่างที่น่าค้นหา มีที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน บางเล่มก็จะบอกเรื่องราวในสมัยนั้น ๆ ที่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว บางเล่มก็จะบอกที่มาของเจ้าของหนังสือ บางเล่มก็มีคำกลอน หรือตราประทับเฉพาะอยู่

“บางเล่มอยู่กับเรา เราก็เก็บไว้อย่างเดียว ไม่ได้อ่าน เพราะบางครั้งแค่เราเห็นว่ามันเก่าเราก็ซื้อแล้ว เพราะส่วนมากเราจะไปเจอหนังสือตามตลาดหนังสือมือสอง แล้วถ้าเราไม่ซื้อมา หนังสือพวกนั้นมันก็จะถูกย่อยเป็นเศษกระดาษ ไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้าเราเอามาเก็บไว้ วันหนึ่งมันก็อาจจะมีคนที่เห็นคุณค่าเอาไปดูแลรักษาต่อ

“เราเคยเจอหนังสือเก่าที่มันขาดกะรุ่งกะริ่ง สภาพยับเยินมาก ตอนแรกเราก็ว่าจะไม่เอามา แต่ว่ามันยังพอพลิกอ่านได้ ปรากฏว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพของบุคคลสำคัญสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งพอเราเอามาไว้ที่ร้านก็มีคนมาเปิดดูเยอะ แต่ไม่มีใครเอากลับไป จนวันหนึ่งมีลูกค้าคนหนึ่งเข้ามาดู เขาเปิดดูและฟังเราเรื่องเรื่องหนังสือเล่มนั้นแค่นิดเดียว เขาก็ซื้อกลับไป

“ส่วนหนังสือเล่มที่ชอบและอยู่ในความทรงจำของเรามาตลอด ก็คือ หนังสือประวัติศาสตร์ไทยของคุณเทพชู ทับทอง ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกที่คุณยายซื้อให้ตอนไปเดินหอสมุดแห่งชาติ เขาจะเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ทั้งสภาพถนน คลอง บ้านเมืองสมัยก่อน เรารู้สึกว่ามันทำให้เราเห็นภาพในอดีต เหมือนมันพาเราย้อนกลับไปในช่วงที่เราไม่สามารถกลับไปได้”

แรร์ไอเทม

“ถ้าใครแวะมาที่ร้าน เราอยากให้มาดูวิทยุโบราณที่มีรูปถนนราชดำเนินสมัยก่อนอยู่บนหน้าปัดวิทยุ เครื่องนี้น่าจะอยู่มาตั้งแต่ปี 2500 ต้น ๆ ส่วนหนังสือที่อยากให้ลองอ่าน คือ ‘เด็กหญิงแป้ง ๒๔๘๙’ ของอิสรี เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงปี 2489 ที่อาศัยอยู่แถวตลาดนางเลิ้ง ตอนแรกที่เราเก็บเล่มนี้ไว้ก็เพราะชื่อเหมือนตัวเอง แต่พอได้อ่านจริง ๆ มันสนุกมาก เขาถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนสมัยก่อนได้ดีมาก สภาพบ้านเมืองตอนนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มันทำให้เราเห็นอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในยุคนั้น

“อีกเล่มก็คือ ร่มวิเศษ เป็นแบบเรียนของเด็กคล้าย ๆ กับ แมรี่ ป๊อปปินส์ (Mary Poppins) เมืองไทย เล่าเรื่องพี่เลี้ยงที่ถูกลมพัดแล้วลอยผ่านสถานที่ต่าง ๆ เช่น เสาชิงช้า สวนลุมฯ เป็นอีกเล่มที่มีคนเคยมาขอซื้อ แต่เราขายให้ไม่ได้ เพราะเป็นเล่มที่หาไม่ได้แล้ว

“หนังสือบางเล่มก็มีที่มาที่ไปแปลก ๆ อย่างเรื่องการจัดการแข่งเรือของพนักงานเทศบาลของจังหวัดกรุงเทพและจังหวัดธนบุรีในช่วงปี 2509 ซึ่งทุกวันนี้มันไม่มีภาพพวกนี้ให้เห็นแล้ว เหมือนมันเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องราวตอนนั้น เราเคยไปลองค้นข้อมูลเรื่องนี้ที่อื่นก็หาไม่เจอ”

แรงดึงดูด

“การเปิดร้านให้โอกาสเราได้รู้จักกับผู้คนใหม่ ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือ การเดินทาง แล้วก็ความคิด ทำให้เรามีเวลาอยู่กับสิ่งที่เรารัก เราชอบมากขึ้น เหมือนหนังสือพาเพื่อนใหม่และเรื่องราวใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตเรา เราคิดว่าถ้าเรารักอะไรสิ่งนั้นมันจะดึงดูดคนที่เหมือน ๆ กันเข้ามา

“อย่างหนังสือเจ้าชายน้อยภาษาพม่า เราได้มาตอนที่เปิดร้านครั้งแรก พอดีลูกค้ามากินกาแฟ แล้วเขาเห็นหนังสือเจ้าชายน้อยในตู้ เขาก็เลยถามว่ามีภาษาพม่าหรือยัง เขามีอยู่ เดี๋ยวมาครั้งหน้าจะเอามาให้ แล้วเขาก็เอากลับมาให้เราจริง ๆ

“พอมีลูกค้าเอาฉบับภาษาพม่ามาให้ หลังจากนั้นก็มีลูกค้าคนอื่นเอาฉบับภาษาอื่น ๆ เข้ามาให้เรื่อย ๆ เขาบอกว่าอยากให้หนังสือพวกนี้อยู่กับเรา บางครั้งก็มีลูกค้าฝากหนังสือเก่ามาให้ เพราะเขาคิดว่าถ้ามันอยู่กับเรามันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

“เคยมีชาวจีนมาหา ถือตุ๊กตาแพนด้ามาให้ เขาบอกว่าเพื่อนเขาเป็นศิลปินชาวไต้หวัน เคยมาวาดรูปที่ร้าน พอได้มาเมืองไทย เขาก็เลยแวะมาหาเรา แล้วก็เคยมีชาวเยอรมันเข้ามาที่ร้าน แล้วเขาเห็นของเล่นที่วางอยู่ เป็นกล้องส่องภาพวิวสมัยก่อนที่ผลิตที่ประเทศเยอรมนี เขาก็บอกว่าเคยเห็นของชิ้นนี้ตอนเด็ก ๆ แต่ตอนนี้ที่ประเทศเขาไม่มีแล้ว”

เรื่องราวใหม่ เพื่อนใหม่ที่ได้จากหนังสือเก่า 

“เราคิดว่าที่นี่เป็นที่ที่คนมาตามหาความทรงจำ เวลาคิดถึงเขาก็กลับมาดู บางคนก็บอกว่าแค่ได้เห็นของเก่า ๆ เขาก็มีความสุขแล้ว บางคนก็มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องหนังสือ เรื่องการเดินทาง มีชาวต่างชาติหลายคนที่เคยแวะมาที่ร้านแล้วเขาก็กลับมาอีกหลายครั้ง บางคนก็กลายเป็นเพื่อนกันไปเลย

“เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมให้กับคนที่ชอบการอ่านหนังสือ หรือชอบของเก่า ของสะสม ถ้ามีใครมาขอใช้พื้นที่เราก็ยินดี ทุกวันนี้ก็มีคนมาขอใช้พื้นที่จัดบุ๊กคลับบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นน้อง ๆ จากมหาวิทยาลัย ซึ่งเราก็ดีใจที่เด็ก ๆ ยังสนใจอ่านหนังสืออยู่

“สำหรับคนที่มีความฝัน เราอยากบอกว่าทุกอย่างมันต้องใช้เวลา อาจจะมีอุปสรรคบ้าง ช้าบ้าง แต่เราเชื่อว่าทุกคนทำได้ แค่ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ตั้งกฎเกณฑ์อะไรกับมัน ลงมือทำดูก่อน มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็รอดู จริง ๆ เราก็ไมได้คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จอะไรขนาดนั้น แต่แค่ได้อยู่กับสิ่งที่รัก ที่ชอบ มันก็คือความสำเร็จสำหรับเราแล้ว”

แป้งร่ำ บุ๊ก แอนด์ คาเฟ่ 

เปิดทุกวัน 9.00 – 18.00 น.

พิกัด: https://g.co/kgs/EsdyUW

โทร. 082 498 9883

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ