มากกว่าการออกแบบแพคเกจจิ้ง แต่คือการสร้างสรรค์สิ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้น
จบไปแล้วสำหรับงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่” ที่ SCGP และ มนุษย์ต่างวัยได้จัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ Gen Z ได้เข้าใจ Insight และปัญหาของผู้สูงวัยกับการใช้แพคเกจจิ้งประเภทต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้นำข้อมูล ความรู้ โจทย์ปัญหาต่าง ๆ ไปออกแบบแพคเกจจิ้งที่โดนใจทั้งรุ่นใหญ่และตอบโจทย์ด้านการตลาด
นอกจากความรู้ที่เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ได้กลับไปเพื่อใช้ต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีประสบการณ์ทดลองเผชิญสภาพปัญหาด้านร่างกาย ในแบบที่ผู้สูงวัยกำลังเผชิญอยู่ มนุษย์ต่างวัยได้รวบรวมภาพบรรยากาศรวมถึงเรื่องราวที่น่าสนใจไว้ จะเป็นอย่างไร ชวนไปชมกันครับ
สำหรับใครที่พลาดโอกาสไปงาน สามารถรับชมไลฟ์ย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/manoottangwai/videos/1449043062528082
เปิดเวทีด้วยวงเสวนาแรกกับหัวข้อ “เจาะ Insight ให้ลึกถึงใจ แพคเกจจิ้งแบบไหนที่คนรุ่นใหญ่ต้องการ” เวทีที่พาทุกคนไปฟังข้อมูลแบบเจาะลึกจากผู้ใช้จริงโดย แม่อร-อรสา ดุลยยางกูล, คุณใบเตย-รพิดา อัชชะกิจ, และผศ. พญ.ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์ ตัวแทนของผู้สูงอายุ ผู้ดูแล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย แบบเปิดหมดใจไม่มีกั๊ก ชวนคุยโดยคุณประสาน อิงคนันท์ Founder เพจมนุษย์ต่างวัย
การออกแบบแพคเกจจิ้งที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่การใช้งานง่าย แต่ต้องช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วย ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ คือ เรื่องขนาดของตัวหนังสือ เน้นให้เห็นข้อมูลชัดเจน อ่านง่าย สบายตา บอกคุณสมบัติจำเป็นที่ควรรู้ ข้อต่อมาคือต้องเปิดง่าย ใช้งานสะดวก เพราะข้อนิ้วมือ และกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของผู้สูงอายุไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว ส่วนของวัสดุที่นำมาใช้ ก็ไม่ควรเป็นวัสดุที่ตกแตกง่าย น้ำหนักเบา ยิ่งถ้าสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ยิ่งถูกใจสายรักษ์โลกด้วย การออกแบบแพคเกจจิ้งให้ผู้สูงอายุสามารถหยิบจับ ใช้สอยเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น แต่ยังช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขา เสมือนเป็นการฮีลใจผู้สูงวัยไปด้วย เมื่อปู่ย่าตายายใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ลูกหลานก็จะมีความสุขไปด้วย
มาต่อที่วงเสวนาที่ 2 ที่พูดถึงหัวข้อ “Design for Aging ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิต และธุรกิจ” วงเสวนาที่แบ่งปันข้อมูลสำคัญที่เหล่านักออกแบบมือใหม่อาจนึกไม่ถึง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย นำทีมโดย ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล, หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณสุริยา พิมพ์โคตร Food and Beverage Packaging Designer, SCGP และคุณอรปวีณ์ บวรพัฒนไพศาล Food and Beverage Graphic Designer, SCGP ที่จะมาเผยเคล็ดลับแบบ Insight ให้ทุกคนเข้าถึงการออกแบบ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนทุกวัยไปพร้อมกัน
การออกแบบไม่ได้เริ่มที่แพคเกจจิ้ง แต่เริ่มที่คนใช้แพคเกจจิ้ง ในทางการตลาดไม่ว่าจะผลิตหรือออกแบบอะไร ก็ตามจะต้องทำให้เกิดคุณค่า 4 อย่าง คือ
1. Functional Value ให้คุณประโยชน์ในการใช้สอย
2. Emotional Value ให้อารมณ์ ความรู้สึกที่ดี
3. Social Value ให้คุณค่าทางสังคม ความรู้สึกร่วมสมัย ไม่ตกยุค และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
4. Spiritual Value ให้คุณค่าทางจิตวิญญาณ สิ่งที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกภูมิใจ มีคุณค่า อย่างการที่ผู้สูงวัยสามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองได้
ในวันที่เราเข้าสู่สังคมสูงวัยและต้องดูแลคนกลุ่มนี้ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เราจะต้องเข้าใจอะไรบ้าง ?
สิ่งที่ผู้สูงวัยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ก็คือเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับแพคเกจจิ้งบรรจุอาหาร ที่ต้องใช้ง่าย เหมาะกับผู้สูงอายุ
ในส่วนของพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะตัดสินใจซื้อด้วยตัวเอง โดยจะซื้อแค่พอใช้ หรือซื้อเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ ไม่ซื้อตุน และจะซื้อเพื่อใช้ส่วนตัว หรือใช้ในครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบขนาดของแพคเกจจิ้งด้วย รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น การออกแบบตัวหนังสือให้อ่านง่ายและเปิดง่าย ใช้งานสะดวก
พฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงอายุ คือ ความต้องการซื้อสินค้าประเภทนม อาหารสัตว์ ข้าว รังนก ซุปไก่สกัด และเครื่องดื่มบำรุงร่างกายเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าประเภทครีมเทียม ไข่ไก่ ผงชูรส น้ำมัน บะหมี่ กึ่งสำเร็จรูปจะลดลง
สำหรับช่องทางการสื่อสารหรือทำการตลาดกับผู้สูงอายุที่ยังได้ผลตอบรับดีที่สุด คือ เฟซบุ๊กและโทรทัศน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ยังนิยมซื้อของแบบออฟไลน์มากกว่าออนไลน์ เพราะอยากเห็น อยากเลือกของ อยากลองจับ ลองสัมผัสจริง ๆ และที่สำคัญคืออยากออกไปพบเจอผู้คนด้วย
มาถึงโซนกิจกรรมด้านนอก บอกเลยว่าน่าสนใจไม่แพ้เนื้อหาบนเวทีด้านใน เพราะกิจกรรมนี้เปิดโอกาส ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองสวมบทบาทผู้สูงอายุจำเป็นในช่วงสั้น ๆ เพื่อจำลองสถานการณ์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย และทำความเข้าใจในปัญหาที่ปู่ย่าตายายของเราต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเปิดขวดน้ำ อ่านฉลากยา เดินขึ้นบันได ไปจนถึงอุปสรรคในการสื่อสาร นั่นก็คือ “กิจกรรมลอง…เป็นรุ่นใหญ่” ที่จัดโดย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภายในบูธกิจกรรมมีอุปกรณ์ให้ทดลองใช้ในการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมด 6 ชิ้น ประกอบด้วย สนับข้อศอก สนับเข่า ที่ใส่แล้วจะทำให้การเคลื่อนไหวบริเวณข้อศอก แขน ขา และเข่าติดขัด ถุงถ่วงข้อมือและ ถุงถ่วงข้อเท้า ที่จะทำให้การยกมือ การใช้แขน และการก้าวเดินไม่คล่องตัว แว่นจำลองสายตารูปแบบต่าง ๆ ที่ใส่แล้วจะทำให้การมองเห็นไม่ชัด เบลอ พร่ามัว และหูฟังลดการได้ยิน ที่จะทำให้ได้ยินเสียงที่เบาลง หรือแทบไม่ได้ยินเสียงเลย
งานนี้ทุกคนที่ได้ร่วมกิจกรรมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เข้าใจผู้สูงอายุที่บ้านมากขึ้น รู้สึกเลยว่าการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุนั้นยากลำบากขนาดไหน จะลุก จะนั่ง จะเดินก็ติดขัด มองตัวหนังสือเล็ก ๆ ก็ไม่ค่อยชัด ใครพูดอะไรก็ได้ยินไม่ค่อยถนัด ปวดหลัง ปวดแขน ปวดขาไปหมด ได้ลองเป็นผู้สูงอายุเองสักครั้ง เรียกได้ว่าซึ้งเลยทีเดียว จะมีอะไรที่ทำให้เข้าใจมากไปกว่านี้ ไม่มีอีกแล้ว
ฎีการัช ธรรมรัตนกุล (หนูดี) 22 ปี นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4
“เรียนทางด้านการออกแบบอยู่แล้ว ก็เลยสนใจโครงการฯ รู้สึกว่ามันเป็นความท้าทายใหม่ ๆ ที่การออกแบบพูดถึงประเด็นสังคมสูงวัยแบบนี้ เพราะจริง ๆ มันก็เป็นเรื่องใกล้ตัว บ้านหนูดีเองก็เคยมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย พ่อแม่เราเองก็กำลังก้าวสู่การเป็นผู้สูงวัยในอนาคต วันหนึ่งที่เราต้องดูแลเขา เราอาจจะนำสิ่งเหล่านี้ที่เรามีไปปรับใช้กับที่บ้านเราก็ได้
“การมาวันนี้เป็นประโยชน์มาก เรามาฟัง Insight ทำให้ได้รู้ข้อมูลบางอย่างที่เราอาจจะนึกไม่ถึง ได้เห็นมุมมองใหม่ ทั้งในส่วนของผู้สูงวัยและผู้ดูแลด้วย เห็นว่ามันมีเงื่อนไขและความท้าทายเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเฉพาะในด้านความรู้สึกของผู้ใหญ่ที่เราอาจจะมองข้ามไป
“ถ้าพูดถึงประเด็นความสนใจในงานออกแบบ ส่วนตัวสนใจเรื่องวิธีการแกะของ เพราะไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัยเท่านั้นที่พบปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาของคนทุกวัยที่ดูใกล้ตัวและน่าสนใจ อยากทำให้ผลิตภัณฑ์เฟรนด์ลี่กับคนทุกวัยมากขึ้น”
อภิรตา บุญนาค (แพรวา) 20 ปี นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ชั้นปีที่ 3
“มางานวันนี้เพราะว่าอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อคนรุ่นใหญ่หรือผู้สูงวัย เพราะคุณพ่อ คุณแม่เราเองก็เริ่มอายุมากแล้ว เริ่มมีปัญหาการมองเห็นตัวหนังสือบนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ไม่ชัด เราสนใจประเด็นเรื่องการออกแบบเพื่อช่วยในเรื่องการมองเห็นของ ผู้สูงวัย และอยากทำให้ผลิตภัณฑ์เปิด-ปิดได้ง่ายขึ้นด้วย
“ที่บ้านคุณป้าทำมะม่วงกวนอยู่แล้ว เวลาเขาเอามาให้ชิม เราก็รู้สึกว่ารสชาติมันอร่อยมาก แต่ตัวแพคเกจจิ้ง อาจจะยังดูไม่ค่อยน่าสนใจมากนัก เราเลยอยากทำให้มันแปลกใหม่ขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งในแง่ของการใช้งาน และใช้สีสันเข้ามาช่วยในเรื่องของความรู้สึกด้วย”