ร้านแรกแห่งย่านศาลาเฉลิมกรุง
ออน ล๊อก หยุ่น ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2476 ในยุค เทงชาง แซ่หลี บิดาของเฮียช้าง-สมบัติ ทยานุกูล อพยพมาจากเมืองจีนกับญาติพี่น้องและเพื่อนๆ และมาปักหลักอยู่ที่ย่านศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งปัจจุบันติดกับ
ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า โดยพี่น้องส่วนใหญ่ไปเปิดร้านเพชรอยู่ย่านหัวเม็ด และย่านบ้านหม้อ
ขณะที่พ่อเฮียช้างกับเพื่อนอีก 2 คน มาลงทุนเปิดร้านกาแฟแบบสิงคโปร์ ขายกาแฟ ไข่ลวก ไข่ดาว หมูแฮม ขนมปัง เป็นอาหารเช้า ซึ่งยังไม่มีใครทำเลยในยุคนั้น
ตลอด 90 ปีที่ผ่านมา ร้านยังคงตั้งอยู่ที่เดิม เมนูเดิม โต๊ะ ตู้ ประตู ยังเดิมๆ บรรยากาศเหมือนเดิมทั้งหมด เมื่อก่อนขายชั้นล่าง และชั้นสองเป็นที่นอน ซึ่งย่านนี้ในอดีตถือว่าเจริญมาก
“เกิดมาผมก็เห็นพ่อขายกาแฟแล้ว ผมก็ช่วยเสิร์ฟกาแฟ ช่วยเก็บแก้วมาตั้งแต่เด็ก ลูกค้าเราสมัยก่อนจะเป็นคนมีฐานะหน่อย คนกินไข่ดาวเป็นจะต้องเคยไปเมืองนอกมา บางทีก็มีข้าราชการ แต่นานๆ จะมาที ต่อมาก็มีร้านเอี๊ยะแซที่เยาวราช ขายกาแฟ ไข่ลวก ขนมปัง แต่ไม่มีอาหารเช้า เป็น ร้าน คนละสไตล์กัน ทุกวันนี้ร้านก็ยังอยู่ แล้วก็ร้านไต้จงที่บางลำภู เมื่อก่อนขายกาแฟ ซึ่งคนสมัยก่อนรู้จักดี แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาขายอาหารตามสั่งแล้ว” เฮียช้าง-สมบัติ ทยานุกูล ทายาทรุ่นที่สองเล่าให้มนุษย์แห่งวัยฟัง
เฮียช้างเล่าต่อว่า พ่อยังคงขายกาแฟต่อมาเรื่อยๆ แบบพอขายได้ แต่ก็ไม่ค่อยดี เพราะคนไทยยุคนั้น
ยังนิยมกินข้าวแกงกัน พอเห็นท่าไม่ค่อยดี เพื่อนๆ เลยปรึกษากัน และสรุปลงความเห็นว่า ไม่ไหวแล้ว ขอไม่ทำต่อ แต่แม่ของเฮียช้าง (กาญจนา ทยานุกูล) ตัดสินใจทำต่อเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา
“แม่สอนว่าเติมน้ำแข็งให้ลูกค้า ดีกว่าปล่อยให้ละลาย”
“แม่ก็ช่วยพ่อผมทำร้านต่อ หลังจากนั้นไม่นาน พ่อก็เสียชีวิต ตอนนั้นผมเพิ่งจะ 7 ขวบ แม่กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูก 6 คน ผมเป็นคนที่ 5 และมารู้ทีหลังว่า ช่วงนั้นแม่เครียดมาก มีลูกค้าเก่าแก่มาเล่าให้ฟังว่าแม่ไปปรึกษา
เขาว่า จะทำต่อไหวไหม เขาก็บอกแม่ว่าอดทนนะเจ๊ เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง”
ในยุคนั้น ออน ล๊อก หยุ่น เมนูหลักๆ ที่ขายคือกาแฟ ไข่ลวก ขนมปัง แต่ไข่ดาว แฮม เบคอน ไส้กรอก ยังไม่เป็นที่นิยม เมื่อขายแต่กาแฟ รายได้จึงไม่มากนัก เพราะกาแฟแก้วละหนึ่งสลึง ลำพังแค่เงินเดือนลูกจ้างก็แทบไม่พอ แต่แม่เฮียช้างยังพยายามทู่ซี้ ขาย มาเรื่อยๆ อาศัยว่ามีลูกค้าประจำเยอะ
“แม่เป็นคนพูดจาดี บริการสุดยอดมาก เดินเติมน้ำชาให้ลูกค้าทั้งวัน น้ำชาลูกค้านี่ต้องไม่ให้พร่อง น้ำแข็งเติมฟรี แม่จะสอนเสมอว่าเติมน้ำแข็งให้ลูกค้าดีกว่าปล่อยให้น้ำแข็งละลายทิ้งไป”
แม่เฮียช้างกัดฟันสู้มาตลอดจนถึงช่วงปีพ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีแฮมเบอร์เกอร์ และอาหารฟาสต์ฟู้ดเข้ามา ให้คนเริ่มกินไข่ดาวขนมปัง และกินอาหารฝรั่ง เพราะยุคสมัยเริ่มเปลี่ยน ยุคนั้นมีสยามสแควร์แล้ว มีแมคโดนัลด์แล้ว ทำให้ร้านเริ่มได้รับความนิยมจนอยู่ได้
“ตึกแถวนี้ สมัยนั้นเช่าเดือนละ 300 บาท โดยเช่าจากหม่อมเกื้อ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง เพราะเป็นย่านธุรกิจ แต่หม่อมใจดี ให้ราคานี้ตลอด ท่านทำพินัยกรรมไว้ไม่ให้ขึ้นค่าเช่า แม่ผมไปกราบท่านทุกปี จนท่านเสีย แม่ก็ขอซื้อต่อ ค่อยๆ ผ่อน จนร้านเป็นของเราแล้ว”
จากร้านกาแฟสู่ “สภากาแฟ”
ออน ล๊อก หยุ่น ยุคแม่ของเฮียช้างบริหารเติบโตด้วยดี เพราะร้านเปิดตั้งแต่ตีห้าถึงสามทุ่ม ตอนเช้าจะเป็นพวกคอการเมือง กลางวันก็เป็นพวกเซียนพระมาส่องพระกัน จนเฮียช้างส่องกับเขาด้วย ช่วงเย็นๆ ค่ำๆ ก็เป็นคนทำงาน ไม่รู้จะไปไหนก็มานั่งคุยกันเรื่องการเมือง พอค่ำๆ คนจะมาดูหนังก็มานั่งกินแฟกัน นั่งจีบกัน
“พลเอกชาติชาย และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ท่านมาพบรักกันที่นี่ ตั้งแต่ท่านยังเป็นหนุ่มเสาว พลตำรวจเอกมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ที่ท่านเฉลิมเรียกติดปาก
สภากาแฟๆ ก็หมายถึงร้านผมนี่ละ สภากาแฟคือ นั่งดื่มกาแฟ กินขนมปัง ไข่ลวก สูบบุหรี่ และ พูดคุยเรื่องการเมืองกัน”
ในยุคนั้น ก่อนหนังรอบค่ำฉายที่โรงหนังเฉลิมกรุง จะมีดนตรีก่อน แล้วค่อยฉายหนังตอนสามทุ่ม จึงมีนักร้องลูกทุ่ง และดาราดังๆ อย่าง สมบัติ เมทะนี สรพงศ์ ชาตรี เศรษฐา ศิระฉายา หรือดาวตลกอย่างล้อต๊อก มานั่งดื่มโอเลี้ยง กินขนมปัง ส่วนตัวประกอบก็จะมานั่งตรงต้นมะขามหลังโรงหนัง เพื่อรอแมวมองมามอง
“ค้าขายแบบไม่ทอดทิ้งกัน”
เฮียช้างซึ่งเป็นรุ่นที่สอง เข้ามารับช่วงบริหารต่อกับพี่ชายตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 โดยยังคงดำเนินธุรกิจตามรอยพ่อแม่ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันแม่เฮียช้างอายุมากกว่า 90 กว่าปีแล้ว และย้ายไปอยู่ตึกแถวฝั่งตรงข้าม ทำให้สามารถขยายร้านไปบนชั้นสองได้
เฮียช้างเล่าเคล็ดลับความสำเร็จของร้านว่า คือความเหมือนเดิม โดยทุกวันนี้ยังคงสั่งกาแฟจากเจ้าเดิม ยี่ห้อเดิม แล้วนำมาคั่วเอง คนขายกาแฟก็รุ่นต่อรุ่นเหมือนกัน เป็นกาแฟจากทางใต้ สั่งมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว ส่วนขนมปังก็ยังใช้เจ้าประจำ เช่นเดียวกับสังขยา ไส้กรอก หมูแฮม นมข้น นมสด น้ำตาล ฯลฯ ซึ่งเป็นการค้าขายแบบไม่ทอดทิ้งกัน แม้ราคาอาจสูงกว่าไปซื้อห้างก็ตาม แต่เฮียช้างยึดมั่นในความผูกพันคุ้นเคยเสมือนญาติ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนานเช่นนี้ตลอดไป
“ยุคสมัยเปลี่ยน แต่ตัวตน และจิตวิญญาณไม่เปลี่ยน”
“ผมไม่คิดจะเปลี่ยนอะไรเลย จะเปลี่ยนทำไมในเมื่อดีอยู่แล้ว ที่สำคัญตัวลูกค้าเองก็ย้ำว่าอย่าเปลี่ยนแปลงอะไรนะ ถ้าเปลี่ยนจะไม่มานะ ขนาดเบาะเก้าอี้ขาด ผมแค่เปลี่ยนเบาะนั่ง เพราะมันแตก ลูกค้ายังบอกเลยว่าปลี่ยนทำไมเนี่ย”
เฮียช้างยังคงยึดมั่นในตัวตน และจิตวิญญาณของออน ล๊อก หยุ่น “เสน่ห์” ที่ไม่มีใครเหมือน จนดึงดูดใจคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งผลักดันให้ร้านโด่งดังแบบฉุดไม่อยู่ เมื่อสังคมเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของการรีวิว เริ่มจากคนญี่ปุ่นเขียนแนะนำลงในสื่อบ้านเขา รวมทั้งลงนิตยสารบนเครื่องบิน ทำให้ออน ล๊อก หยุ่น เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย และต่างชาติ
“ที่พวกเขาชอบร้าน เพราะรสชาติอาหารถูกปาก และราคาไม่แพง เราใช้แต่ของดีๆ ทั้งนั้น ไข่ไก่เน้นสดทุกวัน เลยไม่คาว ไข่ก็สั่งเจ้าประจำอีก ถ้าคาวนี่จะตีกลับเลย คนมากิน ถ้าเขาชอบก็จะโพสต์ลงเฟซบุ๊ก จนร้านรู้จักในวงกว้าง และคิวยาวเหยียด เพราะยืนออกันเต็มหน้าร้าน เสาร์อาทิตย์นี่ยาวทั้งปีกซ้ายปีกขวาเลย ตอนแรกๆ ใช้จำว่าใครมาก่อนมาหลัง ตอนหลังต้องแจกบัตรคิว ซึ่งก็เห็นใจคนรอมาก ยืนนานเป็นชั่วโมงก็ยังรอ แล้วเราโชคดีที่เพื่อนบ้านใจดี ยินดีให้ลูกค้ายืนรอหน้าร้านได้ เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันมาตลอด ตรุษจีน ปีใหม่ ก็มีของขวัญมอบให้กันเสมอ ถ้าเรามีเพื่อนบ้านไม่ดี เรามาไม่ได้ขนาดนี้หรอก”
“ลูกค้ามีตั้งแต่รุ่นพ่อยันรุ่นลูกหลาน”
นับตั้งแต่สืบทอดกิจการต่อจากแม่ จนวันนี้เฮียช้างทำมาเกือบ 30 ปีแล้ว ในวัย 61 ก็ยังคงสนุก ยังรักงานค้าขาย และให้บริการลูกค้าไม่เปลี่ยนแปลง โดยให้ความสนิทสนม และรักใคร่ลูกค้าเหมือนเพื่อน ซึ่งพอได้คิดถึงวันเก่าๆ ก็ทำให้มีความสุข
“เมื่อก่อนพอใกล้ถึงเวลาถ่ายทอดสดเขาทรายต่อยมวย ผมก็ยกทีวี 14 นิ้ว มาตั้งหน้าเคาน์เตอร์เลย ดูมวยกับลูกค้าทั้งร้าน ตอนนั้นร้านเราปิดสามทุ่ม มวยต่อยทุ่มตรง พอฟุตบอลก็ดูอีก เชียร์บอล เชียร์มวย ลุ้นกันมันเลย การมงการเมือง วิจารณ์กันสนั่น ความสนุกตอนนั้นคือลูกค้าโตมาพร้อมกับเราด้วย ทุกคนจึงเป็นเพื่อนกันหมด ลูกค้าเก่าแก่ ลูกค้าประจำของเรานี่ มากินกันตั้งแต่รุ่นพ่อจนรุ่นลูกรุ่นหลาน ขนาดย้ายไปอยู่ปทุมธานี ยังกลับมากิน ไกลแค่ไหนก็มากัน ที่จะไม่มาก็เพราะคิวยาวนี่ละ (หัวเราะ) ลูกค้าเก่าผมบ่นกันน่าดูเลย”
“ไม่คิดเกษียณ”
เฮียช้างยังพูดถึงการปรับตัวสู่สังคมยุคใหม่ด้วย เริ่มจากเฟซบุ๊กของร้านที่ลูกสาวเข้ามาจัดทำ รวมทั้งการทำเดลิเวอรี่กับแอปพลิเคชันต่างๆ ขณะที่เฮียช้างเองก็ยังไม่วางมือ เพราะชอบค้าขาย และบริการ จะเรียกว่าได้เลือดแม่มาเต็มๆ ก็คงได้ “แม่ผมทำไว้ดีมาก ลูกผมเองก็เห็นจากอาม่ามาตั้งแต่เด็ก ไม่ต้องบอก ไม่ต้องสอน”
เนื่องจากเฮียช้างทำกิจการกับพี่ชายจึงแบ่งหน้าที่กันดูแล โดยพี่ชายจะบริหารเป็นหลัก คอยดูแลเรื่องการเงิน ส่วนเฮียช้างดูแลลูกค้า ในอนาคตลูกสาวก็จะเข้ามารับช่วงต่อ และเมื่อถึงวันนั้นคงจะเพิ่มเมนูให้มากขึ้น ส่วนเมนูเดิมๆ ก็ยังคงไว้ โดยจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก เพราะอย่างไรก็ยังเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งเปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึงบ่ายสองครึ่ง และหนึ่งปีจะหยุดแค่ช่วงตรุษจีน และสงกรานต์เท่านั้น
“ผมเองมีความสุขนะ และไม่คิดจะเกษียณ แต่คงต้องดูแลสุขภาพมากขึ้น นอนให้เร็วขึ้น เพราะผมยังมีไฟอยู่ ตราบใดที่ใจยังรัก ใจยังชอบ ผมก็ยังมีความสุขกับการบริการ เพราะการคุยกับลูกค้านี่สนุกที่สุดแล้ว”
กว่าเฮียช้างจะสนทนากับ “มนุษย์ต่างวัย” จบลง ก็เป็นเวลา 16.00 น. ซึ่งเลยเวลาปิดร้านแล้ว เรายืนมองเฮียช้างปิดประตูเหล็กยืดบานเก่าบานเดิมด้วยความทะมัดทะแมงกระฉับกระเฉง ขณะที่ลูกสาวก็ช่วยเก็บกวาดเช็ดถูร้าน ถัดจากนี้ต่อไป เฮียช้างบอกว่า ต้องขึ้นไปตัดขอบขนมปังปอนด์ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญเฉพาะตัว จนถึงประมาณหนึ่งทุ่มครึ่ง เพื่อเตรียมขายในวันพรุ่งนี้ เป็นอย่างนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน เหมือนเมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ ในบรรยากาศเดิมๆ เมนูเดิมๆ เครื่องดื่มเดิมๆ และความสุขแบบเดิมๆ