‘Nymheart’ งานดีไซน์ผนึกอัฐิ เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำระหว่างกัน

“เราทำงานผนึกอัฐิมา 7 ปี ผนึกมาแล้วกว่า 1,000 ชิ้น ฟังเรื่องราวความสูญเสียมาค่อนข้างมาก หลายครั้งที่ลูกค้าส่งอัฐิมาให้ก็จะแนบกระดาษโน้ตข้อความมาด้วย เคยมีเคสลูกค้าที่คุณแม่มาสั่งทำจี้ผนึกอัฐิของคุณพ่อที่เสียไปแล้วให้ลูก น้องก็เขียนข้อความมาว่า ‘คุณพ่อเพิ่งเสีย ฝากคุณพ่อด้วยนะคะ’ หรืออย่างลูกค้าบางคนที่เขาเลี้ยงนกแล้วผูกพันกันมาก พอนกเขาเสีย เขาก็ส่งขนมาให้เราช่วยผนึกให้

เพราะการสูญเสียและการจากลาเป็นเรื่องที่เราต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในวันที่ความสูญเสียเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่หลายคนเลือกจะเก็บไว้คือเถ้ากระดูกหรืออัฐิของคนที่จากไป เพื่อเป็นอนุสรณ์แทนความทรงจำสุดท้ายไว้ระลึกถึง ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเห็นรูปแบบของการเก็บอัฐิไว้ในโกศ โถ หรือภาชนะที่มีฝาปิด แต่ทุกวันนี้เรามีชิ้นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งเปลี่ยนวิธีเก็บอัฐิให้กลายเป็นของแทนใจที่ประเมินค่าไม่ได้ ทั้งสวยงาม ทันสมัย พกพาง่าย และเก็บไว้ได้อย่างยาวนานอีกด้วย

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ ‘โมโม เปลี่ยนกาล ไตรคุ้มพันธุ์’ วัย 32 ปี และ ‘ปาล์ม ธีรพล ธนมณฑล’ วัย 32 ปี เจ้าของแบรนด์ Nympheart (นี๊ม-ฮาร์ท) แบรนด์ไลฟ์สไตล์ โปรดักต์ที่อยากให้ผู้คนสนใจเรื่องรัก(ษ์)โลก แต่อยู่ ๆ ก็จับพลัดจับผลูได้มาทำงานที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสียของผู้คน ด้วยการเปลี่ยนเครื่องประดับและของตกแต่งบ้านที่อาจเคยเป็นแค่ของสวยงามให้มีคุณค่าและความหมายทางใจมากขึ้น ด้วยการนำอัฐิของทั้งคนและสัตว์เลี้ยงที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับมาผนึกไว้กับเศษไม้เหลือใช้และเคลือบด้วยอีพ็อกซี เรซิน กลายเป็นโกศอัฐิสมัยใหม่ที่มีความสวยงาม พกพาง่าย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จุดเริ่มต้นที่เกิดจากความบังเอิญที่กลายมาเป็นงานหลักของแบรนด์

‘Nympheart’ (นี๊ม-ฮาร์ท) เกิดจากการรวมกันของคำว่า ‘Nymph ที่แปลว่า นางไม้’ และคำว่า ‘Heart ที่แปลว่า หัวใจ’ รวมกันเป็น ‘หัวใจนางไม้’ หมายถึงการนำความสวยงามของไม้มาใช้สร้างสรรค์ชิ้นงานต่าง ๆ

“สิ่งที่แบรนด์สร้างสรรค์คือการนำเศษไม้ที่เหลือใช้จากการทำเฟอร์นิเจอร์มาประกอบกับอีพ็อกซี เรซิน (วัสดุที่มีส่วนผสมของยางไม้และธรรมชาติในปริมาณค่อนข้างมาก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ในอนาคต) มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เคสโทรศัพท์มือถือ และของตกแต่งบ้าน

เมื่อทำแบรนด์ไปได้สักประมาณ 3 ปี ผลิตภัณฑ์ก็ถูกต่อยอดด้วยความบังเอิญจากเครื่องประดับและของตกแต่งบ้านธรรมดาให้เป็นงานผนึกอัฐิของผู้วายชนม์ รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

โมเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานผนึกอัฐิให้เราฟังว่า “เราไม่ได้ทำงานผนึกอัฐิมาตั้งแต่แรก แต่เราเริ่มการทำแบรนด์จากการใช้เศษไม้เหลือใช้กับอีพ็อกซี เรซิน ด้วยตัวคุณสมบัติของเรซินชนิดนี้ มันสามารถเติมสี หรือใส่วัสดุต่าง ๆ เข้าไปได้ ช่วงนั้นเราเริ่มมองหาวัสดุใหม่ ๆ มาใช้ในคอลเลกชันเครื่องประดับ เราก็เลยริ่มใส่มอส ใส่แร่ควอตซ์เข้าไปในชิ้นงานของเรา พอลูกค้าเห็นเขาก็ทักมาถามว่าถ้าเปลี่ยนจากแร่ควอตซ์เป็นอัฐิได้ไหม

“ตอนแรกเราไม่แน่ใจเลยว่าจะรับทำดีไหม ความรู้สึกแรกเลยคือเราไม่อยากทำงานบนความเสียใจของคนอื่น เราพยายามบอกลูกค้าถึงความเสียหายที่มันมีโอกาสเกิดขึ้นกับชิ้นงาน ด้วยความที่มันเป็นงานชิ้นแรก เราไม่เคยทำงานอัฐิมาก่อน แต่ลูกค้าเขาก็บอกไม่เป็นไร เขาไว้ใจเรา ให้ทำได้เลย”

ปาล์มเล่าต่อว่า “พอคุยกันได้ประมาณหนึ่ง เขาก็เดินทางมาหาเราถึงสตูดิโอ เอาอัฐิมาให้ดู มาเลือกไม้ เลือกสี เลือกแบบกันถึงหน้าโต๊ะทำงานเลย ช่วงแรกที่รับทำค่อนข้างเครียด เพราะมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางใจ ซึ่งเราไม่เคยทำและมันมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย ถึงแม้ว่าเราจะรู้วิธีแก้ไขแล้วสกัดเอาอัฐิกลับมาในสภาพเดิมได้ ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้น แต่เราก็ไม่อยากให้มันไปถึงจุดนั้น”

สร้างสิ่งที่มีความหมายแบบที่ดีต่อใจและดีต่อโลก 

ปาล์มเล่าถึงขั้นตอนการทำงานให้เราฟังว่า “เมื่อเราได้อัฐิมาแล้ว เราจะนำมาจัดวางบนชิ้นไม้ตามที่ลูกค้าเลือก จากนั้นก็นำมาเข้าโมลเพื่อทำการหล่อชิ้นงาน แล้วนำมาขัดขึ้นรูป เช็กดูว่ามีเสี้ยนไม้ที่หลุดระหว่างการขัดบ้างไหม แล้วขั้นสุดท้ายเราก็เก็บงานด้วยการเคลือบผิวไม้ ขัดน้ำ แล้วเคลือบซ้ำอีกครั้ง

“จริง ๆ แล้วตัวอีพ็อกซี เรซิน สามารถใช้หล่อกับทุกอย่างได้ เช่น ร่างอาจารย์ใหญ่ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ ฯลฯ ข้อดีคือมันสามารถรักษาสภาพเดิมไว้ได้ วันข้างหน้าถ้าหากลูกค้าอยากเปลี่ยนรูปแบบ หรืออยากให้เอาชิ้นอัฐิออกมาจากตัวเรซิน เราก็สามารถสกัดมันออกมาได้ โดยที่รูปแบบยังเหมือนเดิม”

โมเล่าต่อว่า “อัฐิแต่ละชิ้นจะมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เราก็เลยคิดว่าอยากนำอัฐิมาผนึกทั้งชิ้นโดยที่ไม่ตัดแต่ง หรือแปรสภาพใด ๆ หรือไม่ก็พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด

“การผนึกอัฐิก็เหมือนการสตาฟวัตถุไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิม เรายังไม่เคยเห็นว่าอัฐิที่เราผนึกแล้วเกิดความเสียหาย อย่างน้อย ๆ ก็มั่นใจได้ว่างานของเราจะอยู่ไปอีกเป็น 10 หรือ 20 ปี โดยไม่เปลี่ยนสภาพ อย่างมากที่สุดถ้าโดนความร้อนหรือแดดนาน ๆ ตัวอีพ็อกซีที่เราเคลือบไว้ด้านนอกก็จะซีดและเหลือง แต่ตัวอัฐิที่อยูข้างในจะยังคงสภาพเดิม ไม่เปลี่ยน อีกอย่างการที่เรานำอัฐิมาผนึกไว้จะช่วยลดโอกาสที่ความชื้น หรืออากาศจะเข้าไปได้มากกว่าการเก็บไว้ในโกศอัฐิทั่วไป

“ไม้ที่เราใช้ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของขอบไม้ด้านนอก ซึ่งจะมีความตะปุ่มตะป่ำ และเป็นไม้เหลือใช้จากการทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหมือนดีเอ็นเอของแบรนด์เรา ไม่ได้เป็นไม้ที่ตัดตรงเหมือนพวกไม้สำเร็จรูป ซึ่งปกติไม้พวกนี้ ถ้าเราไม่ได้เอามาใช้ทำงานนี้ ก็มักจะถูกเอาไปทำเป็นฟืน หรือไม่ก็ถูกทิ้งไว้ ไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไรต่อ

“ช่วงเริ่มต้นแบรนด์เป็นช่วงที่งานคราฟต์อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก ตอนแรกเราคิดว่าอยากผลิตให้ได้ครั้งละเยอะ ๆ มีโอกาสนำไปวางขายตามห้างสรรพสินค้า และทำให้งานมันเป็นอุตสาหกรรมมากกว่านี้ แต่พอทำจริง ๆ เราก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะงานเราทำได้ทีละชิ้น และต้องใช้เวลาในการทำ

“สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับเราคือการอธิบายให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่างานของเราคืออะไร ทำไมต้องตั้งราคาค่อนข้างสูง ทำไมถึงต้องรอนาน เพราะเราทำแบรนด์กันอยู่ 2 คน โมเป็นคนรับลูกค้า คุยกับลูกค้า ปาล์มเป็นคนทำ จะมีแค่กระบวนการบางส่วน เช่น การสลักข้อความหรือตัวอักษรบนชิ้นงานที่เราให้คนข้างนอกมาช่วย

“ด้วยความที่ตลาดของเราเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม พอเขาประทับใจ เขาก็จะบอกต่อกันปากต่อปาก ลูกค้างานผนึกอัฐิส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าทางออนไลน์เกือบทั้งหมด จะมีบ้างบางครั้งที่ลูกค้าไปเจอเราเวลาไปออกบูทข้างนอกตามงานต่าง ๆ แล้วมาสั่งทำ

“ส่วนใหญ่ลูกค้าจะนิยมสั่งทำเป็นเครื่องประดับพกติดตัว หรือถ้าเป็นชิ้นใหญ่ก็จะเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะ หรือของตั๊งโต๊ะที่ใช้สำหรับวางบนแท่นบูชาแทนโกศแบบปกติ”

แทนความหวังและกำลังใจให้ก้าวต่อไปในช่วงเวลายาก ๆ ของชีวิต

“บางครั้งก็มีลูกหลานติดต่อเข้ามาตั้งแต่ตอนที่คุณพ่อ คุณแม่ของเขายังอยู่ในห้อง ICU แต่รู้แน่ ๆ แล้วว่าท่านกำลังจะจากไป หรือบางทีก็มีลูกค้าทักมาในระหว่างพิธีฌาปนกิจ เพื่อถามว่าถ้าจะส่งอัฐิมาผนึกจะต้องเตรียมอัฐิอย่างไร

“สิ่งที่เราทำมันช่วยปลอบประโลมความเสียใจของเขาได้ หรืออาจจะช่วยให้เขามีกำลังใจมากขึ้น อย่างลูกค้าบางคน เขามีเพื่อนที่เลี้ยงน้องหมาแล้วรักน้องมาก ผูกพันกันมานาน ตอนที่น้องป่วยก็ดูแลกันจนถึงนาทีสุดท้าย พอน้องหมาเสียไป เขาก็ยังพกโกศอัฐิติดตัวไว้ตลอด ซึ่งมันก็อันใหญ่มาก ทำให้ไม่ค่อยสะดวก พอมาเจอร้านเรา เขาก็รู้สึกว่าสิ่งนี้มันตอบโจทย์เพื่อนเขาได้ในการที่จะช่วยให้พกพาอัฐิไปได้ทุกที่ในรูปแบบที่สะดวกสวยงาม และไม่ได้ดูน่ากลัว

“เราทำงานกันมา 10 ปีแล้ว สิ่งที่เราหวังคือการที่แบรนด์มันยังไปต่อได้เรื่อย ๆ และเราได้ส่งต่อบางอย่างที่มีคุณค่าต่อไป เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำยังมีคนต้องการมันอยู่ เคยมีลูกค้ามาบอกเราว่าดีใจที่มีร้านเรา และขอบคุณที่เราทำสิ่งนี้”

งานที่ไม่ซ้ำใครและทำได้ทีละชิ้น

ปาล์มเล่าถึงมุมมองการขยายโอกาสและการเติบโตทางธุรกิจของเขาว่า“จริง ๆ เรามีหลายช่องทางในการกระจายข้อมูล หรือเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น เพราะเราก็อยู่ใกล้วัดพระศรีมหาธาตุฯ แต่เรายังไม่ทำ เพราะทุกวันนี้กำลังการผลิตชิ้นงานต่อเดือนมันชนเพดานแล้ว เดือน ๆ หนึ่งเฉพาะงานผนึกอัฐิ รวม ๆ แล้วก็อยู่ที่ประมาณ 50-60 ชิ้น​ ซึ่งงานทุกชิ้นผมทำเองทั้งหมด ถ้าเป็นงานผนึกอัฐิ เราไม่กล้าให้ใครมาทำแทนเลย เพราะเคยมีประสบการณ์การไปจ้างให้คนผลิตชิ้นงานทั่วไป แล้วคุณภาพมันไม่ได้ตามมาตรฐานที่เราตั้งไว้ พอเป็นอัฐิเราเลยยิ่งให้ใครทำแทนไม่ได้

“เราไม่ค่อยอยากตะโกนออกไปว่าเราทำงานแบบนี้ เราไม่อยากทำงานกับความสูญเสียของคนอื่น เราคิดว่าอยู่แบบนี้แล้วรับลูกค้าเท่าที่เราไหว ทำงานที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณน่าจะดีกว่า บางครั้งลูกค้าสั่งของเข้ามา เราก็ต้องบอกลูกค้าตรง ๆ ว่า เขาอาจจะต้องรอนานหน่อย เพราะเราต้องใช้เวลาทำ ซึ่งงานที่เขาได้รับไปมันถึงจะออกมาตามมาตรฐานที่ตั้งใจ แม้รูปร่าง แซ้ำละสีอาจจะคล้ายคลึงกันบ้าง แต่งานทุกชิ้นจะมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และไม่กันแน่นอน” โมย้ำ

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากการทำงานผนึกอัฐิ 

“พอเราอยู่กับงานอัฐิ ได้ฟังเรื่องราวความสูญเสียแทบทุกวัน มันทำให้เรารู้สึกว่าการสูญเสียมันเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ และมองความตายเป็นเรื่องธรรมชาติมากขึ้น ถ้าถามว่ากลัวไหมก็คงต้องยอมรับว่ายังกลัวอยู่ แต่มันก็ทำให้เรากลับมาโฟกัสเรื่องการประนีประนอมในความสัมพันธ์มากขึ้น เพราะเราไม่รู้เลยว่าความสูญเสียมันจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร

“ทุกวันนี้ถ้ามีโอกาสก็จะกลับไปหาคุณปู่ คุณย่าบ่อยขึ้น พยายามใช้เวลาให้มีคุณค่า หรืออย่างเราเลี้ยงน้องหมา เราก็อยากให้เวลากับเขาทุกวัน ถ้ามีโอกาสไปไหน ก็อยากพาเขาไปกับเราด้วย”

ทำทุกช่วงเวลาให้มีความหมายในวันที่ยังมีโอกาสได้อยู่ด้วยกัน

ทุกวันนี้ Nympheart ไม่ได้รับผนึกแค่อัฐิของคนและสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ยังรับผนึกความทรงจำสุดท้ายอีกหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ฟัน เส้นผม เส้นขน เกล็ดของสัตว์เลี้ยงแสนรัก ไปจนถึงเครื่องกระตุ้นหัวใจและสายสะดือ เรียกได้ว่าใครมีความทรงจำอะไรที่อยากเก็บรักษาก็ลองทักมาสอบถามที่นี่ก่อนได้ เพราะพวกเขารู้ดีว่าหลายสิ่งที่ถูกทิ้งไว้ยังคงมีความหมายกับใครสักคนเสมอ

“จากการทำงานที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่ลูกค้ามักจะพูดถึงบ่อย ๆ เวลาที่เขามารีวิวก็คือ ‘น่าจะทำแบบนี้ตั้งแต่ตอนที่เขายังอยู่’ หรือ ‘รู้แบบนี้น่าจะพาแม่ไปเที่ยวด้วยกันตั้งแต่วันที่เขายังแข็งแรงอยู่ดีกว่า’ จริง ๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่มักจะมองข้ามไป หรือไม่ได้ใส่ใจกับมันเท่าที่ควร

“อยากให้ทุกคนกลับมาให้ความสำคัญกับการใช้เวลาด้วยกันให้ดีที่สุดในตอนนี้ ตอนที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ เพราะวันหนึ่งที่มีใครต้องจากไป ต่อให้เรามีของแทนใจอะไรก็ตามมันก็คงไม่สามารถเทียบได้กับช่วงเวลาที่เรายังมีโอกาสได้อยู่ด้วยกันจริง ๆ”

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Nympheart 

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ