ตาม “กิตติ สิงหาปัด” ไปสำรวจชีวิตของผู้ลี้ภัยในโมซัมบิก 

บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เป็นที่พักพิง หลบแดด ฝน รวมทั้งสร้างความรู้สึกมั่นคงทั้งทางกายภาพและจิตใจให้กับใครหลายคน แต่จากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น บวกกับปัญหาความขัดแย้ง สงคราม และการสู้รบที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ทำให้หลายล้านชีวิตก็ยังต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤตอย่างไม่มีวันจบสิ้น พวกเขาต้องอพยพออกจากบ้านของตัวเอง โดยที่ไม่รู้เลยว่าจะมีโอกาสได้กลับไปอีกหรือไม่ 

UNHCR จึงริเริ่มแคมเปญ NOWHERE TO RUN หรือวิกฤตที่ไม่มีทางออกขึ้นในปี 2566 เพื่อระดมทุนช่วยเหลือและหาทางออกให้กับเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจากสงคราม ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

เครดิตภาพถ่าย : ©UNHCR

มนุษย์ต่างวัยมีโอกาสได้คุยกับคุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ ที่เดินทางไปทำภารกิจลงพื้นที่สำรวจที่อยู่อาศัยและระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศโมซัมบิก ร่วมกับทาง UNHCR ในครั้งนี้ด้วย

โมซัมบิกที่คิด

“ผมเป็นเด็กที่เติบโตมาในยุคสงครามอินโดจีน สมัยก่อนก็ดูข่าวผู้ลี้ภัย แต่พอโตขึ้น มีโอกาสได้เป็นนักข่าว ก็ไม่ทันได้ทำประเด็นนี้ มันเลยเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจว่าครั้งหนึ่งในชีวิตน่าจะได้ทำประเด็นพวกนี้ ได้ทำเรื่องมนุษยธรรมบ้าง พอดีทาง UNHCR มีแคมเปญ “Nobody Left Outside เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” ที่ไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เลบานอน แล้วอยากให้ทางข่าว 3 มิติไปร่วม ผมก็เลยตอบรับทันที นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ทำงานร่วมกับทาง UNHCR  

“ก่อนไปลงพื้นที่ครั้งนี้ผมพอรู้จักโมซัมบิกอยู่บ้าง พอจะเดินทาง ก็เลยศึกษาข้อมูลของโมซัมบิกเพิ่มเติม ตอนแรกคิดว่าโมซัมบิกน่าจะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ผู้คนอยู่กันอย่างยากลำบาก ยิ่งพื้นที่ที่เราไปเป็นค่ายผู้อพยพที่ผู้คนหนีภัยทั้งจากสงครามและภัยธรรมชาติมา ก็คิดว่าสถานการณ์คงจะแย่พอควร

“บ้านเมืองเขามีพื้นที่พอที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ไม่ค่อยมีแหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ ช่วงฤดูฝนก็ไม่นาน ปริมาณน้ำฝนไม่มาก พอหมดฝนก็จะแล้ง จุดนี้อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเขายังประกอบอาชีพได้ค่อนข้างลำบาก”

โมซัมบิกที่ได้เห็น 

“เรานั่งรถจากเมืองนัมปูลาไปค่ายผู้ลี้ภัยแรก ระยะทางแค่ 60 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาตั้ง 3 ชั่วโมง สภาพถนนแทบจะไม่เป็นถนน พื้นเป็นทราย พอฝนตกถนนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ขับไปถึงจุดหนึ่งถนนน่าจะต้องถูกตัดขาด เพราะเห็นชาวบ้านกำลังตัดต้นไม้มาถมเพื่อให้รถวิ่งได้พอดี 

“พอวิ่งไปสักพักก็เห็นเด็กนักเรียนเดินอยู่ข้างถนน บางคนก็ซ้อนจักรยานพ่อแม่ เราก็สงสัยว่าเขาจะเดินไปไหน เพราะเรานั่งรถมาตั้งไกล ยังไม่เห็นอะไรอยู่ข้างหน้าเลย ปรากฏว่าขับไปสักพักถึงเห็นโรงเรียน แปลว่าเด็ก ๆ ต้องเดินกันหลายกิโลกว่าจะไปถึง เพราะขนาดเรานั่งรถยังต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่กว่าจะเจอโรงเรียนสักแห่ง

เครดิตภาพถ่าย : ©UNHCR

ชีวิตผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในโมซัมบิก

“การลงพื้นที่ครั้งนี้เราไปกัน 5 วัน ไปเพื่อให้เห็นว่าบ้านเมืองของเขาเป็นอย่างไร อยู่กันแบบไหน โดยที่แรกที่เราไปคือศูนย์พักพิงคอร์รานี ที่รัฐบาลโมซัมบิกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 ซึ่งรับผู้คนที่อพยพมาจากภัยสงครามทางตอนเหนือของประเทศ คือเมืองคาร์โบ เดลกาโด การสู้รบในประเทศของเขาค่อนข้างรุนแรงถึงขนาดที่คนอยู่ไม่ได้จนต้องหนีมาอยู่ศูนย์พักพิง และกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ

“การจัดที่อยู่อาศัยเขาจะแบ่งที่ดินออกเป็นล็อก ๆ ประมาณเกือบ 200 ตารางวาต่อครอบครัวเหมือนกับบ้านจัดสรร ให้เป็นที่อยู่ชั่วคราวและทำการเกษตรเล็ก ๆ ได้ 

“นอกจากนี้ UNHCR ก็หาแนวทางที่จะทำให้ผู้ลี้ภัยอยู่ได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาสังคมภายนอก จึงมีการสอนทำการเกษตร และฝึกอบรมอาชีพ อาทิ ทำขนมปัง งานช่าง เย็บปักถักร้อย ฯลฯ มีผู้ลี้ภัยบางส่วนที่ตั้งร้านค้าเล็ก ๆ อุดหนุนกันเองในค่ายด้วย 

“ปัจจุบันมีผู้พลัดถิ่นจำนวนหนึ่งได้กลับบ้านของตัวเองบ้างแล้ว แต่ก็ยังเหลือผู้พลัดถิ่นกว่า 5,000 คนที่ยังอยู่ที่ศูนย์พักพิงแห่งนี้ 

“อีกจุดที่เราไปคือค่ายผู้ลี้ภัยมาราทานี ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ตั้งอยู่มาเกือบ 20 ปีแล้ว รับผู้คนจากประเทศรอบ ๆ โมซัมบิก 10 กว่าประเทศ เช่น คองโก ซูดาน บุรุนดี และอีกหลายประเทศ ที่หนีภัยสงครามเข้ามา ในค่ายมีโรงพยาบาลและโรงเรียนในค่าย เด็ก ๆ ที่นั่นจะแบ่งกันเรียน 3 ช่วง กลุ่มแรกเรียน 8 โมง – 11 โมง กลุ่มที่ 2 เรียนช่วง 11 โมง – บ่ายโมง อีกกลุ่มก็จะเรียนช่วงหลังบ่ายโมงเป็นต้นไป เรียนเสร็จก็กลับบ้านเลย เพราะครูไม่พอ ห้องเรียนไม่พอ บางคลาสครูก็ต้องยืนสอนอยู่ใต้ร่มไม้ ลูกหลานชาวบ้านรอบ ๆ ค่ายก็มาเรียนร่วมผู้ลี้ภัยด้วย

“ที่พวกเขาต้องอยู่นานขนาดนี้เพราะว่าบ้านเมืองเขายังไม่สงบ ยังกลับบ้านตัวเองไม่ได้ บางคนที่เราได้สัมภาษณ์เขาก็บอกว่าโอกาสยังเป็นศูนย์ เพราะพื้นที่ที่เขาอยู่ยังมีการสู้รบ เขาไม่กล้ากลับไป แต่ที่ศูนย์พักพิงคอร์รานีนั้นเป็นค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ คนกลุ่มนี้คงจะมีโอกาสได้กลับบ้านในวันที่การสู้รบในประเทศเขาสงบลง

“จริง ๆ ผมไปโมซัมบิกครั้งนี้ ทำงานอยู่แค่ 2 วัน อีก 3 วันคือเวลาเดินทาง แต่แปลกที่กลับมาเป็นอาทิตย์ 2 อาทิตย์แล้ว ก็ยังคิดถึงโมซัมบิก เพราะผมได้เห็นมิตรภาพดี ๆ ระหว่างชาวบ้านรอบ ๆ ค่ายกับผู้ลี้ภัย รวมทั้งความใจดี และเป็นมิตรของผู้คนในชุมชนที่นั่น ทำให้รู้สึกว่าถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปอีก

“ผมประทับใจในความช่วยเหลือ ความเอื้อเฟื้อของหน่วยงานที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่นั่น ความมีน้ำใจชาวโมซัมบิกทุกคน รวมทั้งความใจสู้ของผู้ลี้ภัยด้วย 

“ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้ลี้ภัยคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้พิการ และเคยมีความฝันที่จะเป็นผู้พิพากษา แม้ความจริงในวันนี้เขาจะกลับบ้านไม่ได้ และไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เขาก็พยายามหาหนทางที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปในฐานะผู้ลี้ภัยให้ดีที่สุด

“แม้หลายคนจะอยู่แบบมองไม่เห็นอนาคต แต่เราก็เห็นว่าพวกเขายังมีกำลังใจและความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น ระหว่างอยู่ที่ค่ายก็ได้ฝึก ได้เรียนรู้ เพื่อรอชีวิตในวันข้างหน้า

“จริง ๆ แล้ว สิ่งที่หัวใจของผู้ลี้ภัยทุกคนต้องการมากที่สุดก็คือการกลับบ้าน ทุกคนอยากอยู่ในที่ที่ปลอดภัย และได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ”

เครดิตภาพถ่าย : ©UNHCR

บ้าน 1 หลังต่อความหวังให้อีกหลายชีวิต

“โมซัมบิกเป็นพื้นที่เปราะบางที่ต้องเจอกับพายุไซโคลนทุกปี และไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเข้ามาในทิศทางไหน และรุนแรงแค่ไหน ผู้คนที่นั่นหนีสงครามมาจากที่หนึ่งแต่กลับต้องมาเจอกับวิกฤตภัยธรรมชาติซ้ำเติมเข้าไปอีก

“ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้ที่จะต้องแก้ไขเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติซ้อนวิกฤตที่ผู้ลี้ภัยเผชิญอยู่ คือเรื่องที่อยู่อาศัย ถึงแม้ว่าที่ที่เขาอยู่ตอนนี้จะไม่ได้เป็นเต็นท์แล้ว แต่ก็เป็นแค่บ้านดินที่เอาไม้ไผ่ขัดไว้แล้วเอาดินโปะ เพราะเป็นวัสดุที่หาง่าย ราคาถูก

“ทาง UNHCR อยากให้มีบ้านที่ทนทานต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศแบบนี้เพื่อไม่ให้บ้านของผู้ลี้ภัยเสียหายหนักเวลาเจอต้องเจอกับภัยธรรมชาติ โดยจะเปลี่ยนจากบ้านดินให้เป็นบ้านผนังคอนกรีต ซึ่งต้องใช้เงินสนับสนุนประมาณ 10 ล้านบาท เลยอยากขอแบ่งปันน้ำใจจากคนไทยคนละ 10 บาท เพื่อสร้างบ้านให้ได้จำนวน 100 หลัง

เครดิตภาพถ่าย : ©UNHCR

“UNHCR พยายามเข้าถึงชุมชน และทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่รอบ ๆ ค่าย ทำให้พวกเขาไม่ต่อต้านผู้ลี้ภัย เวลาให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ก็ช่วยคนในชุมชนรอบ ๆ ค่ายไปด้วย สร้างบ้านให้ผู้ลี้ภัยแล้ว ก็สร้างให้ชาวบ้านเหมือนกัน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่สร้างให้ผู้ลี้ภัย ชาวบ้านก็มาใช้งานด้วยได้ ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนบ้านกัน

เครดิตภาพถ่าย : ©UNHCR

จุดเริ่มต้นของของสงครามอาจมาจากการไม่ยอมรับความแตกต่างอย่างเข้าใจ 

“สิ่งที่เห็นในโมซัมบิกทำให้เราย้อนกลับมานึกว่าถ้าเป็นประเทศไทยต่อให้มีปัญหาเลวร้ายแค่ไหนก็ไม่ถึงกับต้องมีผู้พลัดถิ่นในประเทศ ต่อให้เจอภัยธรรมชาติ สึนามิเข้า บ้านพังถล่มทลาย  ก็ยังได้อยู่ในพื้นที่ ไม่มีผู้ลี้ภัยออกมาจากพื้นที่ของตัวเอง แต่ที่โมซัมบิก การที่ผู้คนต้องหนีกันออกมาจากพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ แสดงว่าสถานการณ์ในประเทศของเขาคงรุนแรงมาก 

“สงครามที่มันเกิดขึ้นมาตลอด จริง ๆ ก็ไม่เคยมีใครได้อะไรจากมัน พื้นที่ใดก็ตามที่มีปัญหาความขัดแย้ง สิ่งแรกที่จะตามมาคือคนข้างนอกจะไม่เข้าประเทศ นักท่องเที่ยวไม่เข้า เงินไม่เข้า ทรัพยากรต่าง ๆ ก็ไม่เข้าไป เพราะมันอันตราย สภาพเศรษฐกิจจะแย่ลง และผู้คนก็จะลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ 

“โลกมันหมุนไปเรื่อย ๆ เราต้องส่งต่อสิ่งที่เราทำให้กับคนในรุ่นต่อไป ไม่ใช่ไปยึดหรือหวงแหนกติกาที่เคยสร้างไว้ ใครเป็นคนอยู่เขาก็ต้องสร้างกติกาของตัวเอง บางครั้งเรามองจากมุมเรา เราอาจจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ถ้าไม่ลองเอาใจเข้าไปคิดในมุมของคนอื่นบ้าง เราจะเข้าใจสิ่งที่คนอื่นคิดได้อย่างไร

“เรามีตัวอย่างมามากเกินพอแล้วว่าการเกิดสงครามส่งผลเสียอย่างไรบ้าง เราต้องเรียนรู้จากอดีต เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียที่ยาวนานไม่จบสิ้น”

ร่วมสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจากความขัดแย้ง และวิกฤตภัยพิบัติจาก Climate change ในแคมเปญ NOWHERE TO RUN วิกฤตที่ไม่มีทางออก ช่วยสร้างที่พักพิงที่แข็งแรงให้พวกเขาปลอดภัยจากทั้งภัยสงครามและภัยพิบัติได้ที่

  • ร่วมบริจาคคนละ 10 บาท ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เลขที่ 004-225-8596 ชื่อบัญชี UNHCR Special Account 
  • หรือร่วมบริจาคผ่านเว็บไซต์ของ UNHCR ที่ https://unh.cr/666014a4a

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ