‘นพชูส์’ ร้านรองเท้าทำมือที่ทำด้วยหัวใจ  

หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่บอกไว้ว่า ‘รองเท้าที่ดีมักจะพาเราไปอยู่ในที่ที่ดี’ ถ้าเรามีรองเท้าดี ๆ ที่สวย ถูกใจ ใส่สบาย และไม่กัดเท้า มันก็จะทำให้เราก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ในช่วงเวลาพิเศษที่มีความหมายกับชีวิต รองเท้าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่หลายคนพิถีพิถันและตั้งใจเลือกเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น วันรับปริญญา วันทำงานวันแรก วันแต่งงาน หรือแม้แต่วันที่ลูกไปโรงเรียนวันแรก ฯลฯ บางคนไปเลือก ไปลองอยู่หลายร้าน บางคนไปสั่งตัดขึ้นเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นรองเท้าจึงไม่ได้แค่ทำหน้าที่ปกป้องเท้าของเราไม่ให้ได้รับอันตราย แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางก้าวใหม่ด้วย

มนุษย์ต่างวัยพาไปรู้จักร้านรองเท้าหนังเก่าแก่ที่ยังคงใช้วิธีการตัดเย็บรองเท้าด้วยมือเกือบทุกขั้นตอน ที่ชาวสามย่านหลายคนอาจคุ้นหู คุ้นตา หรือเป็นลูกค้าประจำที่เคยไปอุดหนุนมาแล้ว เรากำลังพูดถึงร้าน ‘นพชูส์’ ของ นพพร ลีเลิศยุทธ์ และ นาตนภา ลีเลิศยุทธ์ เจ้าของร้าน วัย 73 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำรองเท้าจากรุ่นปู่ และยังคงยึดอาชีพทำรองเท้าเป็นอาชีพมาจนถึงทุกวันนี้ด้วยความผูกพันและความกังวลว่าถ้าหากปิดกิจการไปลูกค้าเก่าแก่ที่เคยอุดหนุนกันมานานจะหาร้านตัดรองเท้าแบบนี้ได้ยาก ก็เลยอยากทำร้านกันต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว

ตั้งแต่จำความได้ชีวิตของลุงนพพรก็อยู่กับรองเท้ามาตลอด เขาช่วยงานพ่อมาตั้งแต่เด็ก ๆฝึกฝนจนชำนาญและยึดอาชีพช่างทำรองเท้าเป็นอาชีพเดียวในชีวิตมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้ แม้ระหว่างทางจะพบเจอกับอุปสรรคมากมายทั้งคำดูถูกจากเพื่อนฝูง หรืออาการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองจนต้องหยุดทำรองเท้าไปพักใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ทำให้ลุงนพพรถอดใจและเลิกทำอาชีพที่เขารัก

ด้วยความใส่ใจในคุณภาพ ความพิถีพิถันในการตัดเย็บรองเท้า บวกกับความซื่อสัตย์และความจริงใจที่มีต่อลูกค้ามาโดยตลอด ทำให้ร้าน ‘นพชูส์’ แห่งนี้ ยังคงมีลูกค้าให้ความไว้วางใจและอุดหนุนกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

“อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ตำรวจมาตัดที่นี่กันเยอะ ลูกค้าบางคนเขามาตัดรองเท้าใส่ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา พอเขาเป็นอาจารย์ เขาก็ไปแนะนำลูกศิษย์ต่อ ส่วนตำรวจบางคนก็มาตัดตั้งแต่เป็นร้อยตรีจนตอนนี้เป็นนายพลไปแล้ว เขาก็พาลูกน้องมาตัด”

กว่าจะเป็นนพชูส์ 

“เมื่อก่อนเมืองไทยจะมีโรงงานรองเท้าอยู่เจ้าเดียว คนเป็นช่างเขาก็ไปทำกันที่นั่น พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ออกมาทำร้านกันเอง” ลุงนพพรเล่า

ป้านาตนภาขยายความถึงจุดเริ่มต้นของกิจการให้เราฟังว่า “บรรรพบุรุษเรามาจากเมืองจีน มีอาชีพทำรองเท้า เราเป็นลูกหลานก็ช่วยพ่อแม่ทำมาตั้งแต่เด็ก ถ้านับกันจริง ๆ ครอบครัวก็ทำรองเท้ามา 100 กว่าปีแล้ว ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ มาถึงรุ่นนี้ก็เป็นรุ่นที่ 3

“สมัยก่อนร้านเราจะอยู่ใกล้ ๆ สาธิตจุฬาฯ เพิ่งย้ายมาอยู่ตรงนี้ได้ประมาณ 20 ปี เมื่อก่อนเวลาทำรองเท้าจะเย็บมือทั้งหมด พอมารุ่นพ่อเขาทำก็เริ่มมีเครื่องจักรเย็บพื้นแล้ว

“การทำรองเท้ามีขั้นตอนเยอะมาก เริ่มจากเอาแบบรองเท้าที่ร่างไว้มาให้ช่างตัดแบบ แล้วเอาแบบมาวาดลงบนหนังเป็นชิ้น ๆ ให้ช่างหน้าปอกแล้วก็มาเย็บให้เป็นหน้ารองเท้า เสร็จจากช่างหน้าก็เอาไปให้ช่างพื้นเอาเข้าบล็อกทำให้เป็นรูปรองเท้าขึ้นมา ใส่ขอบ ใส่พื้น แล้วส่งไปให้เขาใช้เครื่องเย็บพื้นให้ พอเย็บพื้นเสร็จแล้ว เราก็ต้องเอากลับมาใส่ส้น เจียขอบ แล้วเก็บรายละเอียดอีกที”

ร้านที่มีรองเท้าสำหรับทุกคน 

“เมื่อก่อนสามย่านเป็นตลาด เป็นเหมือนศูนย์รวมทุกอาชีพ ร้านทำประตูเหล็ก ซ่อมรถ อู่แท็กซี่ มีหมด สมัยก่อนแถวนี้มีคนอยู่เยอะ แต่เดี๋ยวนี้คนเก่าแก่หายไปกันหมด ส่วนใหญ่มีแต่นักศึกษา สมัยก่อนแถวนี้ร้านรองเท้าเยอะ แต่เขาเลิกทำกันไปหมด เหลือร้านเราแค่ร้านเดียว การทำรองเท้ามันก็ลำบาก ต้องมีช่างหน้า ช่างพื้น มีคนเก็บรายละเอียดงาน ขัดกาว ทาเงา มันใช้หลายคนทำ ไม่ได้ใช้คนคนเดียวทำทุกอย่าง

“ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา อาจารย์ แล้วก็ตำรวจ มาจากหลายที่ ส่วนใหญ่เขาจะบอกต่อ ๆ กัน มาจากที่ไกล ๆ ก็เยอะ ทางภาคตะวันออก ภาคใต้ก็มี

“ที่นี่รับตัดรองเท้าคู่ใหญ่ ๆ เบอร์ 49 เบอร์ 50 ก็มี หรือรองเท้าผู้ชายที่คู่เล็กมาก ๆ อย่างเบอร์ 32 เบอร์ 33 เราก็ยังมีอยู่ มาที่นี่มีทุกเบอร์”

ลุงนพรเล่าเสริมว่า “รองเท้าขนาดใหญ่ที่สุดที่เราเคยตัด คือ เบอร์ 53 เป็นรองเท้าของเด็กหญิงมาลี เด็กผู้หญิงสูง 2 เมตรกว่า (เจ้าของสถิติเด็กหญิงที่สูงที่สุดในประเทศไทยและในโลก) ตอนนี้เขาไม่อยู่แล้ว แล้วก็เคยตัดรองเท้าที่ตัดยากที่สุดในชีวิต คือ รองเท้าของลุงเก้า ที่เขามีนิ้วเท้าข้างหนึ่ง 8 นิ้ว อีกข้างหนึ่ง 9 นิ้ว”

ป้านาตนภาเล่าต่อว่า “สมัยก่อนเรารับทำทุกอย่าง เอาแบบมาเราก็ตัดให้ เท้าไม่ปกติ เราก็รับทำให้หมด แต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ลุงนพพรป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง ตั้งแต่นั้นมาเราก็เลยเลิกทำ”

ปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา 

ลุงนพพรเล่าว่าที่ร้านมีรองเท้าหลายแบบ บางแบบก็ทำขึ้นใหม่ เมื่อก่อนลุงจะตัดแบบเอง แต่ช่วงหลังอายุมากขึ้นก็ไปจ้างคนอื่นสร้างแบบให้

“แบบรองเท้ามันเป็นแบบโบราณ บางทีอยู่มาเป็น 100 ปี เราก็เอามาปรับ รองเท้าแบบเก่าไม่มีใครเขาใส่กันแล้วนอกจากนักเรียนแพทย์พระมงกุฎฯ เขาจะใส่หัวแบบโบราณเลย เด็กนักเรียนโรงเรียนเซนคาเบรียล อัสสัมชัญก็มาซื้อรองเท้าที่นี่เยอะ เราทำมานานจนรู้ว่าเด็กโรงเรียนไหน ใส่แบบไหน”

ป้านาตนภาเล่าต่อว่า “คนรุ่นใหม่เขาไม่ใส่รองเท้าหัวโต ๆ กลม ๆ กันแล้ว เขาจะใส่แบบหัวแหลมยาวบ้าง หัวตัดยาวบ้าง

“ส่วนใหญ่รองเท้าที่ร้านเราจะใช้หนังแท้ ถ้าเป็นส่วนของพื้น หรือส้นรองเท้าก็จะใช้ยางแท้ รองเท้าสมัยใหม่ส่วนใหญ่เขาจะใช้เครื่องทำอย่างเดียว ซึ่งมันจะเร็วมาก แต่ของเราทำได้ช้า อาทิตย์หนึ่งเย็บได้ 10 คู่ก็เหนื่อยแล้ว

“ความแตกต่างของหนังแท้กับหนังเทียมคือหนังแท้จะทน ใส่แล้วไม่ร้อนเท้า แต่ถ้าเป็นหนังเทียม เวลาใส่ไปโดนแดดก็จะร้อน มีอายุการใช้งานไม่นาน พอหมดอายุมันก็เปื่อย หรือไม่พื้นก็หลุดออกมาเลย”

แม้ทำยากแต่ก็ยังอยากทำ

“สมัยก่อนก็มีเพื่อนดูถูกนะว่าเราทำอาชีพต่ำ แต่เราไม่ได้ไปสนใจ เราก็ทำงานของเราไปเรื่อย ๆ เราคิดว่าเราทำด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ซี้ซั้วทำ มันก็อยู่ได้

“เราอยู่ได้เพราะรองเท้า การทำรองเท้าเป็นอาชีพเดียวที่ทำกันมาตลอด เราช่วยพ่อแม่ทำกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ลูกค้าที่ใส่รองเท้าเรา เขาก็บอกว่าอย่าเพิ่งเลิกนะ เราก็คงทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว” ลุงนพพรเล่าถึงอาชีพที่เขารัก

ป้านาตนภาเสริมว่า “การทำรองเท้ามันยากนะ เราเห็นมาเยอะว่าเพื่อนหลายคนเปิดร้านใหญ่มาก ทำส่งเยอะมาก สุดท้ายก็เสียหาย เวลาเราซื้อหนังมา เราคิดราคาเป็นเซนติเมตร ถ้าไปจ้างเขาทำ โดยที่เราไม่ได้คอยดูแล เขาก็วาดแบบไม่ประหยัดหนัง พื้นก็ใช้บ้าง ทิ้งบ้าง แทนที่ทำแล้วรองเท้าคู่นั้นจะได้กำไร สุดท้ายก็ขาดทุน

“สมัยนี้มีรองเท้าสำเร็จรูปเยอะ ถูกด้วย สวยด้วย คนส่วนหนึ่งเขาก็จะใช้รองเท้าแบบนั้น แต่ก็มีคนอีกกลุ่มที่เขาใส่รองเท้าสำเร็จรูปไม่ได้ ขนาดไม่พอดีบ้าง อะไรบ้าง หรือบางคนเขาอยากได้รองเท้าแฮนด์เมด เขาก็ยังกลับมาอุดหนุนเราอยู่ เพราะสินค้าแบบนี้ คุณภาพแบบนี้ เขาใช้แล้วคุ้ม

“ส่วนใหญ่ลูกค้าจะบอกว่ารองเท้าเราใส่สบาย ราคาไม่แพง แล้วก็ใช้ทน หลายคนบอกว่าใส่ทนมาก มันไม่เสียสักที จะทิ้งก็เสียดาย เพราะมันทนเกินไป เราก็ต้องรอกันหลายปีกว่าลูกค้าจะกลับมาซื้อซ้ำ

“ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไรก็ตามแต่ เราต้องมีความอดทน ต้องซื่อสัตย์ และใจต้องรักด้วย ถ้าใจเราไม่รัก เจอความลำบากหน่อยก็ไปแล้ว เลิกแล้ว

“ทุกวันนี้เราแยกส่วนกันทำงาน เราเป็นช่างหน้า เฮียเขาเป็นช่างพื้น เพราะทำรองเท้าคู่หนึ่งมันไม่ใช่ว่าคนเดียวทำได้จบ ถ้าวันหนึ่งต้องเลิกทำไปก็คงเสียดายอยู่เหมือนกัน

เราคุยกันว่าจะอยู่จนกว่าจุฬาฯ เขาจะเอาที่คืนนั่นแหละ ถึงตอนนั้นค่อยเลิกทำ ถ้ามันจำเป็นเราอาจจะต้องย้ายไปที่อื่น หรือไม่ก็ขายผ่านเพจเฟซบุ๊กแทน ถ้าเลิกไปก็คงห่วงลูกค้าจะไม่มีร้านตัด เพราะบางคนเขาก็ยังอยากตัดรองเท้าแบบนี้อยู่ แต่ร้านแบบนี้หายากแล้ว เราก็คงจะทำกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าใครสักคนจะไมไหว

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ