ร้านขนมเปิดขายท้ายรถของเจ๊นา-อังคณา เลิศธรรมธีรกุล และเฮียโรจน์-ธรรมรงค์ เลิศธรรมธีรกุล ผู้เป็นสามี ที่ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นเพดั้งเดิมของเจ๊นาเป็นคนอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ส่วนเฮียโรจน์เป็นคนอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ทั้งสองขึ้นมาอาศัยอยู่กับญาติที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยฝ่ายหญิงมีอาชีพเย็บผ้า ส่วนฝ่ายชายเป็นช่างไม้
เจ๊นาและเฮียโรจน์คบหากันอยู่ 3 ปีก่อนตัดสินใจแต่งงานกันเมื่อปี 2531 แม้จะสมหวังในชีวิตรักแต่ชีวิตการทำงานกลับไม่ค่อยสู้ดีเท่าไรนัก โดยเฉพาะหากคิดไปถึงวันข้างหน้าในอนาคต
“เรารู้สึกว่างานช่างไม้ที่เฮียโรจน์ทำอยู่มันเป็นงานที่ใช้พลังเยอะ ไหนจะยกไม้ ตัดไม้ เลื่อยไม้ เวลามีงานใหญ่ ๆ ยิ่งใช้เวลาทำนานตลอดทั้งวัน ไหนจะเรื่องความปลอดภัยอยู่กับเลื่อยกับของมีคม ไหนจะสูดเอาพวกขี้เลื่อยไม้เข้าไปอีก ดูระยะยาวแล้วเราว่ามันไม่โอเค
“ส่วนงานเย็บผ้าที่เราทำอยู่ เราว่ามันเป็นงานที่ไม่ค่อยได้เห็นเงิน ต้องรอทุก 15 วันถึงจะได้จับเงินเสียที ยิ่งต่อมาไม่ค่อยมีงานเงินที่ได้ก็น้อยลงไปอีก
“เราก็เลยมานั่งคุยกันว่าควรจะทำอะไรดี ก็คิดเหมือนกันว่าค้าขายดีกว่าเพราะมันเป็นงานที่เห็นเงินทุกวัน แล้วจะขายดีขายไม่ดี มันก็ขึ้นอยู่กับเราเอง”
ทั้งเจ๊นาและเฮียโรจน์ตกลงกันว่าจะค้าขาย แต่สิ่งที่ยังไม่รู้ก็คือจะขายอะไร จนกระทั่งพ่อของเจ๊นามาแนะนำให้ขายขนม
“ตอนแรกคิดว่าจะขายซาลาเปา แต่พ่อขายขนมอยู่ เขาแนะนำว่าให้ลองขายขนมอย่างเขาดูสิ เราก็ได้สูตรจากพ่อแล้วก็เริ่มเปิดร้านเลย โดยขายแต่ขนมเบื้องกับขนมบ้าบิ่นก่อน”
ร้านที่เจ๊นาหมายถึงก็คือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่ต่อเติมออกมาทำเป็นที่ขายของเล็ก ๆ เจ๊นาวัย 57 และเฮียโรจน์สามีวัย 66 ปี ยังจำได้ว่าวันแรกที่ออกไปขายขนมนั้นทุลักทุเลมาก สถานที่ขายก็ดูไม่ดี พ่อค้าซึ่งเป็นคนทำขนมก็ยังไม่ชำนาญ แลดูประหม่า ร้อนถึงแม่ค้าต้องคอยเจรจาบอกลูกค้าให้ใจเย็น ๆ
“เราไปขายหลังเทศบาลตลาดเมืองใหม่ ข้าง ๆ กันเป็นกองผักที่เขาเอามาทิ้ง แล้วด้วยความที่เพิ่งมาค้าขายเป็นวันแรก เฮียเขาก็ยังทำอะไรไม่ถูก ทำช้า พอทำช้าลูกค้าเขาก็จะกดดันให้ทำให้เร็ว ๆ เฮียเขาก็ยิ่งสั่น เราก็เลยต้องคุยกับลูกค้า ยิ้ม แล้วบอกให้เขาใจเย็น ๆ พ่อค้าเพิ่งขายวันแรก เพิ่งเปลี่ยนอาชีพใหม่ ต่อไปเดี๋ยวคล่องแน่นอน เขาก็เข้าใจ หลังจากวันแรกพอทำไปทุกวันก็เริ่มคล่องและชำนาญยิ่งมากขึ้น”
นอกจากจะพัฒนาความเร็วในการทำขนมจนคล่องแคล่ว คู่รักนักขายขนมหวานยังปรับปรุงสูตรให้รสชาติถูกปากลูกค้ามากขึ้นอีกด้วย เรียกว่าใครที่ได้ลิ้มลองล้วนต้องมาอุดหนุนซ้ำสองแทบทุกราย
“เวลาผ่านไปสักพักเราก็เอาสูตรของพ่อมาปรับ อย่างของพ่อเขาจะซื้อมะพร้าวที่ขูดจากตลาดมาแล้วใส่เลย แต่เราว่าแบบนั้นมันรสชาติไม่ดี แล้วมันก็เก็บได้ไม่นาน แต่เรามาคัดมะพร้าวดี ๆ มาขูดกระต่ายเอง จากนั้นก็จะนำมาผัดใส่ไข่แดง ใส่เกลือเล็กน้อยแล้วก็สีผสมอาหารให้ดูน่าทาน กลิ่นก็หอม รสชาติก็ดี แล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเสีย ลูกค้าถ้าไม่อยากทานทันทีก็เก็บไว้ได้
“หลังจากขายบ้าบิ่นกับขนมเบื้องไปได้สักพัก ลูกค้าก็แนะนำว่าน่าจะลองขายขนมโตเกียวดู เขาไปหาสูตรมาให้แต่มันยังไม่ดี เราเลยไปซื้อหนังสือมาแล้วก็ลองทำตามหนังสือ จากนั้นก็ปรับสูตรมาเรื่อยจนลงตัว โดยโตเกียวของเราจะมีด้วยกัน 4 ไส้คือสังขยา ครีม เผือก และไส้กรอก ก่อนที่ต่อมาเราจะเพิ่มขนมมันปิ้งเข้าไปด้วย แล้วก็ขายมาจนถึงทุกวันนี้”
เมื่อเริ่มมีรายได้มากขึ้น เจ๊นาและเฮียโรจน์ก็เริ่มปรับปรุงหน้าร้านโดยการเปลี่ยนจากมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างมาเป็นรถกระบะแล้วต่อเติมทำเป็นที่สำหรับเปิดท้ายทำให้ขายขนมได้สะดวกและกว้างขวางขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนสถานที่มาขายที่ถนนห้วยแก้วบริเวณทางขึ้นดอยสุเทพยิ่งทำให้ขายดีมากยิ่งขึ้นไปอีก
จากอาชีพใหม่ที่เริ่มต้นมาพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตคู่ ชั่วเวลาไม่กี่อึดใจวันเวลาก็หมุนผ่านมากว่า 35 ปี จากวันแรกที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น กดดัน ทุลักทุเล มาวันนี้ร้านขนมของเจ๊นาและเฮียโรจน์กลับกลายเป็นที่ถูกใจของผู้คนที่แวะมาลิ้มลองฝากท้องจนกลายเป็นลูกค้าประจำ
ทุกวันนี้แม้จะอายุมากแล้วแต่ทั้งคู่ยังตื่นขึ้นมาทำงานอย่างมีความสุขทุกวันโดยไม่เคยรู้สึกเบื่อเลย
หน้าที่ในหนึ่งวัน
ทุกวันเจ๊นาและเฮียโรจน์จะตื่นนอนตั้งแต่ตี 4.30 น. ล้างหน้าล้างตาเสร็จก็มานั่งทานกาแฟและไข่ต้มไข่ลวก หลังจากนั้นต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง
เจ๊นาจะออกวิ่งประมาณ 40 นาที ส่วนเฮียโรจน์ก็จะไปตลาดแล้วกลับมาทำขนมเตรียมเอาไว้แต่เนิ่น ๆ เนื่องจากขนมบางอย่างใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน หากให้สั่งแล้วค่อยทำลูกค้าจะต้องรออีกหลายนาที อีกอย่างก็คือเมื่อไปถึงจะมีลูกค้ามารอที่หน้าร้านอยู่ก่อนแล้ว
“เราจะทำขนมบ้าบิ่นให้เสร็จจากที่บ้านไปก่อน เนื่องจากเป็นขนมที่ใช้เวลาทำนานมากกว่าอย่างอื่น ถ้าไม่เตรียมไปเลย รอให้ลูกค้ามาสั่งจะรอนาน ทีนี้พอคนมายืนรอความวุ่นวายมันจะเกิดขึ้นทันที ทุกอย่างจะกลายเป็นความเร่งรีบ นอกจากบ้าบิ่นก็จะทำโตเกียว ขนมเบื้องเตรียมไว้สักชุดหนึ่งแต่ไม่มาก เพราะเมื่อเราไปถึงจอดรถจะมีลูกค้าส่วนหนึ่งมารอซื้อตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดร้าน” เฮียโรจน์กล่าว
ส่วนเจ๊นาสาเหตุที่ต้องออกวิ่งทุกวันก่อนไปขายขนมก็เพราะว่าเธอป่วยเป็นเบาหวาน ในช่วงเข้มข้นตัวเลขค่าน้ำตาลในเลือดเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 380 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งค่าปกติ ทั่วไปควรอยู่ที่ 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรเท่านั้น
“เราวิ่งมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วแต่ไม่จริงจัง บางวันก็วิ่ง บางวันก็หยุดอยู่บ้าน กระทั่งปี 2562 เราป่วยหนักมีอาการติดเชื้อและเป็นฝีในปอดต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเบาหวานที่เราเป็นอยู่ ตอนนั้นค่าน้ำตาลเราพุ่งไปถึง 380 เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้วถึงเวลาต้องหันมาดูแลตัวเองจริง ๆ เสียที”
หลังจากออกจากโรงพยาบาลเจ๊นาออกวิ่งหลังตื่นนอนทุกวัน วันละ 5-6 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 30-40 นาทีพร้อมกับควบคุมอาหารอย่างจริงจัง จนปัจจุบันค่าน้ำตาลลงมาเหลือที่ 103 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สูงกว่าค่าปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งพออายุมากขึ้นยิ่งละเลยไม่ได้ คิดดูว่าต่อให้เราทำขนมอร่อยยังไง มีลูกค้าอุดหนุนมากแค่ไหน ประสบความสำเร็จอย่างไร แต่ถ้าคุณเจ็บป่วยลุกขึ้นมาทำงานไม่ได้ทุกอย่างก็จบ ส่วนพระเอกของเราโชคดีที่เขาไม่มีโรคอะไรมาก จะมีก็แค่ความดันสูงเล็กน้อย แล้วการที่เขาได้ทำขนมทุกวันมันเหมือนเป็นการได้ขยับร่างกาย ออกกำลังกายไปในตัวอยู่แล้ว” เจ๊นาพูดได้น่าคิดก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการแซวสามีคู่ชีวิต
เมื่อเตรียมตัวและทำทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย เจ๊นาและเฮียโรจน์จะออกจากบ้านประมาณ 9 โมง กว่าจะได้เปิดท้ายขายขนมก็ร่วม 10 โมงกว่า ทั้งสองจะแบ่งหน้าที่กันชัดเจน เฮียโรจน์จะเป็นคนลงมือทำขนม ส่วนเจ๊นาจะมีหน้าที่คอยเป็นลูกมือรวมทั้งทำงานเล็กงานน้อยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคอยหยิบขนมใส่ถุงให้ลูกค้า รับเงิน ทอนเงิน ไปจนกระทั่งถึงคอยเจรจากับลูกค้าทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความรื่นเริง
คู่รักนักขายขนมหวานใช้เวลาแค่เพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้นก็ขายหมด ราวบ่ายสามเป็นอันเก็บร้านกลับบ้านถึงบ้านราว 4 โมง กินกาแฟคุยกันเล็กน้อย เจ๊นาก็ไปทำงานบ้าน ส่วนเฮียโรจน์ก็เตรียมวัตถุดิบสำหรับทำขนมในวันต่อไป กินข้าวกินปลาเสร็จประมาณ 3 ทุ่มก็เข้านอน
“ชีวิตเรามันหมุนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนี้ทุกวัน แต่เชื่อไหมมันเป็นสิ่งที่เราชอบและเราไม่เคยรู้สึกเบื่อมันเลย ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นหนทางที่เราเลือกแล้ว แต่ที่สำคัญก็เพราะเรามีลูกค้าคอยอุดหนุนอยู่ทุกวัน สำหรับเราลูกค้าคือคนที่สำคัญมาก “เพราะถ้าไม่มีเขา ก็ไม่มีเราในวันนี้”
ลูกค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้
ขนมในร้านของเจ๊นาและเฮียโรจน์เป็นขนมที่รสชาติและราคาเดินสวนทางกัน ทุกอย่างล้วนอร่อยถูกปากแต่ราคากลับถูกจนไม่น่าเชื่อ
“ขนมเบื้อง บ้าบิ่น และมันปิ้งจะอยู่ที่ 4 ชิ้น 10 บาท มีเพียงโตเกียวที่เราขายชิ้นละ 5 บาท ที่เราเลือกที่จะขายในราคานี้ก็เพราะต้องการให้คนทุกระดับกินได้ เข้าถึงได้ ทั้งคนจนคนรวย ลูกค้าของเราจึงมีตั้งแต่คนขับรถเบนซ์ไปจนถึงคนเดินดินธรรมดา ไม่ใช่ว่าจะต้องมีรายได้สูงเท่านั้นถึงจะได้กิน” เจ๊นากล่าว
หากคุณเดินตรงมายังท้ายรถกระบะของสองคู่รักวัยเกษียณ ขอแค่กำเหรียญสิบอยู่ในมือเพียงเหรียญเดียวก็สามารถทานขนมเลิศรสแสนอร่อยได้ในทันที แต่ถ้ามี 20-30 ก็เรียกว่ากินได้จนอิ่มท้อง ไม่เพียงเท่านั้นคนยากคนจนบางรายที่ไม่มีเงินติดตัว เจ๊นา-เฮียโรจน์ก็เอาขนมใส่ถุงให้กินฟรีโดยไม่คิดแม้แต่สตางค์เดียว
“อย่าว่าแต่คนมีรายได้น้อยกินได้เลย บางครั้งเราเห็นคนจร คนที่เขาไม่มีเงิน ไม่มีข้าวกิน มาขอกินเรายังให้เขากินฟรีเลย การทำแบบนี้มันอาจจะไม่ได้กำไรเป็นตัวเงินหรอก แต่มันได้ความอิ่มใจ เชื่อไหมว่าการเป็นผู้ให้มันมีความสุขกว่าการเป็นผู้รับเสียอีก
“ที่ผ่านมาก็มีหลายคนถามนะว่าขายราคานี้แล้วเมื่อไหร่จะรวย แต่เราคิดว่าเราขอรวยความสุขแบบนี้ดีกว่าการที่ต้องไปขายราคาแพง เอากำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็พอแล้ว เพราะถ้าลูกค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”
ถึงวันนี้เจ๊นาและเฮียโรจน์มองว่าการตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมาขายขนมคือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตเพราะนี่คืองานที่ให้ทั้งรายได้ ความสุข รวมทั้งทำให้ทั้งคู่ไม่ต้องกลายเป็นคนแก่ที่นั่งเหงาอยู่กับบ้าน
“ถามว่าถ้าเราถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 แล้วจะหยุดขายขนมไหม ตอบได้ทันทีเลยว่าไม่หยุด หยุดอยู่บ้านเฉย ๆ เราว่ามันเหงานะ แต่มาขายขนม เรายังมีอะไรทำ ได้คุยกับลูกค้า แถมยังได้เงินเพิ่มด้วย ลูกค้าบางคนนี่คุยกันทุกวันจนเหมือนเป็นเพื่อนสนิทกันไปแล้ว บางครั้งมานั่งคุยกันเฉย ๆ ไม่ได้ซื้อก็มี”
แม้ปัจจุบันอายุของเจ๊นากำลังเดินเข้าใกล้เลข 6 และสามีกำลังเดินไปสู่เลข 7 แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่มีความคิดที่ว่าจะเลิกทำหรือเกษียณตัวเองจากการเป็นนักขายขนม
“ความคิดจะเลิกไม่เคยมีอยู่ในหัวเลย บอกไม่ได้เลยว่าเมื่อไหร่ เวลาที่เหนื่อยบางครั้งอาจจะมีหยุดบ้าง 1-2 วัน แต่เรื่องที่จะเลิกเลยแล้วมานั่งให้ลูกชายคนเดียวคอยเลี้ยงนี่ไม่มีความคิดแบบนั้นเลยจริง ๆ หยุดได้ยังไงในเมื่อเราทั้งคู่ยังมีความสุขและรักมัน มันมีไม่มากหรอกนะที่เราจะได้อยู่กับงานที่รักและลงตัวกับเรา “งานที่เราทำทนโดยที่ไม่ต้องทนทำ”
มีคู่ดี ชีวิตก็ดี
เจ๊นายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอเป็นผู้หญิงที่โชคดีที่ได้ผู้ชายอย่างเฮียโรจน์เป็นคู่ชีวิต
“ความโชคดีของเราไม่ใช่แค่ว่าเราได้ทำงานอย่างที่ต้องการ มีรายได้และความสุข แต่สิ่งหนึ่งที่เราโชคดีมาก ๆ เลยก็คือเราได้คู่ชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ หรือเจ้าชู้ แต่เวลาเราเจ็บป่วยเฮียเขาจะคอยดูแลตลอด ทั้งประคองเข้าห้องน้ำ เช็ดเนื้อเช็ดตัว หาหยูกหายา ข้าวปลาให้กิน เพราะเหตุนี้ด้วยเราถึงหันมาดูแลร่างกาย ไม่อยากเจ็บป่วยเพราะเมื่อเราป่วยเขาเองก็ต้องเดือดร้อน”
หากดูจากบุคลิกภายนอกเจ๊นากับเฮียโรจน์นั้นมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย ภรรยาวัย 57 เป็นแม่ค้าที่พูดเก่ง ช่างเจรจา สดใส ร่าเริง และมีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา ขณะที่สามีวัย 66 เป็นพ่อค้าที่เงียบขรึม พูดน้อย และสื่อสารทุกสิ่งทุกอย่างด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด
อย่างไรก็ตามแม้จะแตกต่างกันอย่างไร แต่ทั้งสองก็อยู่กันได้อย่างลงตัวและมีความสุข และรู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่ในตอนนี้เหมือนได้รับของขวัญนั้นทุก ๆ วัน
“ถ้าถามว่าชีวิตของเราสองคนในตอนนี้มีความสุขไหม บอกได้เลยว่าโคตรมีความสุข ความสุขของเราไม่ได้วัดค่าจากวัตถุหรือตัวเงิน แต่มาจากความรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ข้าง ๆ กัน
“คนอื่นจะเป็นอย่างไรไม่รู้แต่สำหรับเราสองคนแค่ตื่นมาแล้วออกไปขายขนมด้วยกันทุกวันเพียงเท่านี้ชีวิตก็มีความสุขมาก ๆ แล้ว”