ในวันที่การแพทย์และการสาธารณสุขไทยมีความก้าวหน้า ล้ำสมัย และเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการรักษาและดูแลสุขภาพของคนไทยมากขึ้น แต่หากย้อนกลับไปในยุคร้อยปี พันปีก่อน ตอนที่เรายังไม่รู้จักการผลิตยาจากเคมี ไม่รู้จักการผ่าตัด และยังไม่มีโรงพยาบาลอย่างจริงจังนั้น บรรพบุรุษของเราใช้การสังเกต เรียนรู้ และนำส่วนต่าง ๆ ของพืชพรรณธรรมชาติ สัตว์ หรือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้ในดูแลสุขภาพและการรักษาโรคจนเกิดเป็นตำรับยาต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมาเรื่อย ๆ
จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2466 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างมาตรฐานให้กับวิชาชีพแพทย์แผนไทยขึ้นในด้วยการตรากฎหมายพระราชบัญญัติการแพทย์ฉบับแรกของไทย เพื่อยกระดับหรือสร้างมาตรฐานการแพทย์ การสาธารณสุขของไทยให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับตะวันตก
ในปีพ.ศ. 2467 หรือ 1 ปีหลังจากนั้น ‘หมอหวาน รอดม่วง’ แพทย์แผนโบราณ 4 แผ่นดิน ผู้เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีชีวิตอยู่จนถึงรัชกาลที่ 8 ก็ได้สร้าง ‘บ้านหมอหวาน’ หรืออาคาร ‘บำรุงชาติสาสนายาไทย’ ขึ้น เพื่อให้เป็นทั้งที่พักอาศัย สถานที่ปรุงยา และร้านขายยา และเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาแพทย์แผนไทยและยาไทยให้คงอยู่ท่ามกลางกระแสความนิยมในแพทย์แผนตะวันตกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตอนนั้น
กว่า 15 ปีที่ทายาทรุ่นที่ 4 ของบ้านหมอหวานอย่าง ‘เอ๊ะ ภาสินี ญาโณทัย’ ได้รักษากิจการร้านยาไทยที่เป็นความตั้งใจของบรรพบุรุษให้อยู่มาได้จนถึง 100 ปี ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย และความยากลำบากในการหาวัตถุดิบในการปรุงยาให้ได้ครบถ้วนตรงตามตำรับและกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม เพื่อรักษามาตรฐานและสรรพคุณของยาไทยทุกตัวให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของคนไทย รวมทั้งพัฒนาและสร้างสรรค์ยาไทยในรูปแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันมากขึ้น
“ก่อนหน้าที่จะมาอยู่ตรงนี้ หมอหวานเปิดร้านขายยาไทยชื่อร้านขายยาตราเฉลว เป็นห้องแถวอยู่ตรงแถวถนนเจริญกรุงตัดกับถนนอุณากรรณหรือบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสามยอดในปัจจุบัน ส่วนเหตุผลที่ทำให้หมอหวานเลือกที่จะย้ายมาอยู่ตรงนี้ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะที่ตรงนี้เป็นทางสามแพร่ง เป็นที่ที่คนไม่นิยมมาปลูกบ้านเรือนหรือพักอาศัย เพราะเชื่อว่าจะมีแต่ความเดือดเนื้อร้อนใจ แต่เป็นฮวงจุ้ยที่เชื่อว่าเหมาะกับกิจการที่ต้องทำการซ่อม การรักษา หรือกิจการที่ต้องใช้ของมีคมในการหั่นหรือสับ
“ส่วนการตั้งชื่ออาคารว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” นั้นก็เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าต่อให้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตามก็จะดำเนินกิจการต่อไป เพื่อรักษาแพทย์แผนไทยและยาไทยเอาไว้
“เรามองว่าการสร้างบ้านหมอหวานมันคือความพยายามปรับตัวเพื่อรักษาวิชาชีพแพทย์แผนไทยให้คงอยู่ต่อไปได้ ด้วยการสร้างตัวบ้านหรืออาคารให้มีความทันสมัย หน้าตาคล้ายร้านขายยาตะวันตก ส่วนตัวยาที่ใช้ปรุงก็ยังใช้แบบเดิมอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบจากยาต้ม ยาผง ให้เป็นยาเม็ด เพื่อให้มีความสม่ำเสมอหรือสร้างมาตรฐานของปริมาณยาที่รับประทานมากขึ้น มีการนำวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือแพทย์แผนตะวันตกมาใช้ในการตรวจรักษา เช่น หูฟัง ปรอทวัดไข้ นอกจากนี้ ในร้านก็ยังมีขวดยาฝรั่งอยู่ด้วย เพื่อผสมผสานศาสตร์ความเป็นแพทย์แผนตะวันตกและแพทย์แผนไทยไว้ด้วยกัน
ยาหอม 4 ตำรับ แบบฉบับหมอหวาน
“จริง ๆ ตำรับยาของบ้านหมอหวานนั้นมีหลายชนิด แต่ตำรับยาที่โดดเด่น คือ ยาหอม ซึ่งหมอหวานปรุงไว้เกือบ 100 ตำรับ แต่ที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้เหลืออยู่ 4 ตำรับเท่านั้น คือ ยาหอมสุรามฤทธิ์ ยาหอมอินทรโอสถ ยาหอมประจักร์ และยาหอมสว่างภพ เป็นยาที่อยู่ในรูปแบบเม็ดปิดทองทั้งหมด ที่เราทำในรูปแบบนี้ เพราะอยากให้ปริมาณการกินยาในแต่ละครั้งมีความสม่ำเสมอ ส่วนเหตุผลที่ปิดทองคำเปลวไว้ เพราะทองคำจัดเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่ง มีฤทธิ์เย็น ช่วยบำรุงผิวพรรณ และเป็นยาอายุวัฒนะ
“ยาหอมทั้ง 4 ตำรับนี้มีสรรรพคุณหลัก ๆ เหมือนกัน คือช่วยบำรุงหัวใจให้ทำงานได้ดี แต่ยาหอมแต่ละตำรับนั้นจะมีสมุนไพรประมาณ 10 – 50 ชนิด ทำให้มีสรรพคุณปลีกย่อยต่างกัน อย่างเช่น
“ยาหอมสุรามฤทธิ์ – ใช้แก้อาการใจสั่น เป็นลมเฉียบพลัน ช่วยบำรุงหัวใจโดยตรง เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือต้องการบำรุงหัวใจเป็นพิเศษ มีตัวยาชื่อคุลิก่าที่มีสรรพคุณช่วยขับเสลดหางวัว ซึ่งเป็นเสมหะที่มักจะเกิดในคนไข้หนักที่ใกล้จะสิ้นใจ คนสมัยก่อนนิยมนำคุลิก่ามาปรุงกับยาให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายกิน เพื่อช่วยละลายเสลดหางวัวให้หลุดออกมา และยืดเวลาในการสั่งเสียของลูกหลาน
“ยาหอมอินทรโอสถ – มีวัตถุดิบสำคัญคือเห็ดนมเสือ หรือเห็ดที่เกิดจากน้ำนมเสือโคร่งแม่ลูกอ่อน ช่วยบำรุงกำลัง บรรเทาอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย แก้ไอ และช่วยขับเสมหะที่ไม่เหนียวหรือข้นมาก
“ยาหอมประจักร์ – มีตัวยาเหมือนกับยาหอมอินทจักร์ซึ่งเป็นตำรับยาสามัญประจำบ้าน แต่มีการปรับสูตรเล็กน้อยตามแบบฉบับของบ้านหมอหวาน ช่วยขับลม และบรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียด
“ยาหอมสว่างภพ – บรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้สติตรึกตรองมากจนเกินส่วน หรือผู้ที่มีความเครียด ช่วยบำรุงสมอง และช่วยในการมองเห็นของผู้สูงอายุ
“ยาหอมเป็นยาที่ปรุงจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม เป็นยาว่างของคนโบราณ สามารถกินได้ แม้ไม่ได้เจ็บป่วย มีสรรพคุณหลัก ๆ คือ ช่วยแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย แน่นท้อง ไม่สบายท้อง กินแล้วจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า”
จากยาในรั้วในวังสู่ยาสามัญประจำบัาน
“ยาหอมเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคที่มีการติดต่อซื้อขายสมุนไพรกับชาวต่างชาติ ทำให้หมอไทยในยุคนั้นได้รับอิทธิพลในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือ อายุรเวทแบบอินเดียที่เชื่อว่าร่างกายคนเราจะเจ็บป่วยเมื่อธาตุต่าง ๆ ในร่างกายไม่สมดุล จึงมีการนำสมุนไพรของไทย จีน และอินเดียมาปรุงรวมกันเป็นยาหอม เพื่อบำรุงธาตุลม บำรุงหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานได้ดี เมื่อเลือดลมไหลเวียนได้ดี ระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็จะทำงานได้ดีตามไปด้วย
“แม้ในยุคนั้นจะมียาหอมเกิดขึ้นแล้ว แต่ยาหอมยังถูกจำกัดการใช้ให้อยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงหรือเจ้านายในวังเท่านั้น จนเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่โปรดให้มีการตั้งโอสถศาลาตามหัวเมืองต่าง ๆ ทำให้ตำรับยาต่าง ๆ เริ่มแพร่กระจายออกมาสู่สามัญชนทั่วไป และยาหอมก็เป็นยาที่มีสรรพคุณพื้นฐานในการดูแลสุขภาพ ให้ความสดชื่น ช่วยบำรุงหัวใจ หมอไทยที่รับตำรับยาจากในวังมาก็มีการปรับสูตรให้เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง จนทำให้ยาหอมได้รับความนิยมและกลายเป็นของฝากที่มอบให้กันแทนคำอวยพรให้มีสุขภาพดี เป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกปรารถนาดีที่มีต่อกัน
“เคยมีงานวิจัยที่เขียนถึงวัฒนธรรมการใช้ยาหอมของสังคมไทย ซึ่งมีการสัมภาษณ์หลายคนที่ใช้ยาหอม มีคำพูดหนึ่งที่หลายคนพูดตรงกันเกี่ยวกับอาการที่เขาใช้ยาหอมว่า ‘บอกไม่ถูก มันรู้สึกไม่ดี’ ถ้าหากเรามีอาการแบบนี้แล้วเดินไปบอกเภสัชกรที่ร้านขายยาให้ช่วยจัดยาให้ เภสัชกรก็อาจจะไปไม่ถูกเหมือนกัน แต่ยาหอมสามารถตอบโจทย์อาการแบบนั้นได้
“แต่เดิมยาหอมมักจะอยู่ในรูปแบบผง โดยปกติเวลาใช้จะต้องละลายน้ำ ต่อมามีการปรับรูปแบบให้เป็นยาเม็ด ส่วนยาหอมของบ้านหมอหวานนั้นจะเป็นยาเม็ดปิดทองคำเปลว เวลากินก็จะแช่กับน้ำต้มสุกให้น้ำท่วมเม็ดยา จากนั้นก็บดให้ละเอียด แล้วจิบในแก้วเล็ก ๆ หรือจะเคี้ยวแล้วอมไว้ก็ได้ แต่ถ้าไม่สะดวกจริง ๆ ก็สามารถกินแบบยาฝรั่งได้ คือกลืนเม็ดเข้าไปแล้วดื่มน้ำตามได้เลย”
กว่าจะเป็นยาหอมหนึ่งเม็ด
“สิ่งที่ยากที่สุดในการทำยาหอมคือการหาวัตถุดิบให้ได้ครบถ้วนและตรงตามสูตร อย่างตอนนี้ยาหอมบางตำรับที่เราหาวัตถุดิบไม่ได้ เราก็จะหยุดทำไปก่อน เราต้องเคร่งครัดในการปรุงให้ถูกต้องตรงตามตำรับ เช่น การคัดเลือกสมุนไพรที่ต้องเลือกให้ถูกส่วนที่จะใช้ ถ้าตำราบอกให้ใช้ราก เราก็ต้องใช้รากจะใช้ส่วนอื่นแทนไม่ได้ ส่วนขั้นตอนและกระบวนการในการปรุงเราก็ต้องทำแบบเดิม
“ตอนแรก ๆ ที่เรามาทำร้านต่อจากคุณป้า ราคาวัตถุดิบบางตัวอยู่ในหลักพัน แต่พอทำไปเรื่อย ๆ มันขึ้นเป็นหลักหมื่น ถามว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถปรุงยาให้ได้สรรพคุณเหมือนเดิม คุณป้าจะสอนเลยว่าเราจะไม่ลดปริมาณวัตถุดิบลงเด็ดขาด เคยใช้เท่าไรก็ให้ใช้เท่านั้น เราลดคุณภาพลงไม่ได้ เวลาจะปรับราคาแต่ละครั้งเราก็เกรงใจลูกค้ามาก แต่เราก็ค่อย ๆ อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงความจำเป็นของเรา
“ในส่วนของขั้นตอนการทำก็ต้องใช้ความละเอียดค่อนข้างมาก ถึงแม้ขั้นตอนมันจะเยอะ แต่เราต้องทำให้ดีทุกขั้นตอน พอเราได้สมุนไพรมาแล้วเราจะบดให้เป็นผงละเอียด แล้วกรองผงยาด้วยผ้าขาวบางอีกที เพื่อให้ได้ผงที่ละเอียดที่สุด หลังจากนั้นเราก็จะนำยาที่บดเป็นผงแล้วมาปรุงรวมกับยาที่บดเป็นก้อนหยาบ ๆ แล้วนำมาผสมรวมกันให้เป็นก้อน หลังจากนั้นก็หั่นเป็นแท่งแล้วอบให้แห้ง จากนั้นก็มาแกะออก แล้วปั้นให้เป็นเม็ด ปิดทอง แล้วนำไปอบอีกครั้ง สมัยก่อนที่ยังใช้วิธีตากแดด ก็ต้องคอยเก็บเข้าเก็บออก เพราะถ้าแดดร้อนเกินไปจะทำให้กลิ่นหอมมันหายไป แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนมาใช้วิธีอบหมดแล้ว”
พลิกโฉมยาหอมไทยให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
“จริง ๆ ยาหอมเป็นยาที่มีสรรพคุณที่ดีต่อคนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่ายาหอมเป็นยาของผู้สูงวัยหรือเป็นยาที่ใช้เมื่อมีอาการเป็นลมเท่านั้น เราก็เลยรู้สึกว่ามันเสียโอกาสที่คนจะใช้ยาหอมในการดูแลสุขภาพ ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ยาหอมสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
“เราก็เลยเริ่มจากโจทย์เรื่องการปรับรสชาติ ทำให้ความขมน้อยลง กินง่ายขึ้น ไม่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังกินยาอยู่ เลยทำยาหอมให้ออกมาในรูปแบบของยาอม และตั้งชื่อว่า ‘ลูกอมชื่นจิตต์’ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของยาหอมที่ปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนและคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบของนวัตกรรมสมุนไพรจากสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรมด้วย
“ลูกอมชื่นจิตติ์มีสรรพคุณในการช่วยย่อย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไอ ช่วยขับเสมหะสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ขับลมในเส้น บรรเทาอาการปวดเนื้อตัว ซึ่งอาจเกิดจากวัยทอง มีส่วนประกอบสำคัญ คือ โกฐเชียง อบเชย ชะเอมเทศ เหง้าขิง เกล็ดสะระแหน่ น้ำตาล และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมหรือขายดีที่สุดของบ้านหมอหวานรองจากน้ำมันทาเส้น”
มากกว่าธุรกิจแต่คือความผูกพัน
“ช่วงส่งต่อกิจการระหว่างรุ่นคุณยายมารุ่นคุณป้า เขาเคยคุยกันว่าจะเลิกทำดีไหม แต่ตอนนั้นมีลูกค้าเก่าแก่กลุ่มหนึ่งมาขอร้องให้ทำต่อ เขาบอกว่าถ้าทำออกมาแล้วไม่มีใครซื้อ เขายินดีจะรับซื้อไว้ทั้งหมด นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้คุณป้าตัดสินใจว่าจะทำบ้านหมอหวานต่อไป ไม่ใช่ในแง่ของการทำเพื่อเป็นธุรกิจแต่ทำเพราะความผูกพันต่อลูกค้า
“ช่วงเริ่มต้นในการกลับเข้ามาสานต่อกิจการ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุอยู่ แต่พอเราเริ่มมีการสื่อสาร สร้างแบรนด์ เริ่มไปออกบูทจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยลงเข้ามา ซึ่งไม่ได้เป็นแค่กลุ่มคนที่สนใจในเรื่องสุขภาพ แต่เป็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวด้วย
“เราพัฒนาสินค้ามาเรื่อย ๆ จนเริ่มมีลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เข้ามา โดยเฉพาะตอนที่ทำลูกอมชื่นจิตติ์แล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าคนที่เขาแวะมาเที่ยวแถวนี้ แล้วอยากซื้ออะไรสักอย่างเป็นของติดไม้ติดมือ เป็นที่ระลึก อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นกลุ่มที่เคยมาซื้อยาไปฝากญาติผู้ใหญ่ แล้วพอมันหมดเขาก็ฝากให้กลับมาซื้อให้อีก ก็เลยทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามันขยายวงได้กว้างขึ้น พอช่วงโควิด-19 เรามีเวลาได้กลับมาโฟกัสการขายในช่องทางออนไลน์มากขึ้น ก็เลยทำให้มีกลุ่มลูกค้าคนไทยที่อยู่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นด้วย”
100 ปีแห่งการสืบสานคุณค่าของยาไทย
“เราโตมาที่นี่ เห็นบรรยากาศการปรุงยามาตั้งแต่เด็ก ๆ มันก็ซึมซับ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้มีความตั้งใจว่าโตขึ้นมาฉันจะทำแบบนั้นบ้าง แน่นอนว่าเวลา 100 ปี ที่บ้านหมอหวานอยู่มาจนถึงทุกวันนี้มันไม่ได้ราบรื่นไปทั้งหมด เรื่องของอุปสรรคหรือความยากลำบากนั้นเป็นสิ่งที่มีมาทุกรุ่น อย่างรุ่นของหมอหวานที่มีเรื่องของพระราชบัญญัติการแพทย์เกิดขึ้น เราคิดว่าคุณทวดก็คงพยายามปรับตัวและสู้มาอย่างหนักเพื่อรักษากิจการไว้
“พอมาถึงรุ่นคุณยายเขาก็ต้องสู้ในฐานะลูกสาวคนเดียวของหมอหวาน ที่ต้องพยายามปรุงยาให้ได้ตามมาตรฐานที่คุณพ่อสร้างไว้และดูแลครอบครัวไปพร้อมกันด้วย ส่วนความยากลำบากในรุ่นคุณป้าก็คงเป็นเรื่องการตัดสินใจว่าจะสานต่อกิจการนี้ต่อไปหรือไม่ แต่คุณป้าก็ตัดสินใจทำต่อเพราะความผูกพัน
“ตอนที่เราบอกว่าจะลาออกจากงานมาสานต่อกิจการ คนในครอบครัวก็ไม่ได้มีใครเห็นด้วยหรือสนับสนุนให้ทำเลย แต่ตัวเราเองในฐานะลูกหลานที่บรรพบุรุษทิ้งกิจการไว้ให้ก็รู้สึกเสียดาย ยิ่งเราเห็นหลาย ๆ กิจการที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ค่อย ๆ ปิดตัวลงไป ประกอบกับตอนนั้นคุณป้าก็เริ่มอายุมากแล้ว เราก็เลยคิดว่าเราควรจะเข้ามาดูแลรักษากิจการให้อยู่ต่อไปตามแบบที่เราสามารถทำได้
“ช่วงแรกเราไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรยากเลย ทุกอย่างมันออกมาเป็นอย่างที่คิดไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบ้านหมอหวานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ผ่านมามันเหมือนเราเอาภาพที่อยู่ในหัวมาทำ ซึ่งมันก็ทำให้เรามีความสุขอยู่แล้ว แต่พอช่วงเวลา 4 ปีแรกผ่านไป เราเริ่มไม่สนุกแล้ว มันมีความยากที่จะต้องคิดในสิ่งที่ไม่ใช่ความถนัดของเราแล้ว
“เราไม่เคยคิดถึงชีวิตการเป็นเจ้าของกิจการมาก่อนเลย พอมาทำจริง ๆ เราก็รู้แล้วว่ามันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น มันมีเรื่องจุกจิก ปลีกย่อย มีปัญหาที่เข้ามาทุกวัน ถึงแม้ว่าทำแล้วเราจะภูมิใจ หรือมีคนคอยชื่นชม แต่การมาอยู่ตรงจุดนี้มันก็เอาพลังชีวิตเราไปพอสมควร
“เรายังจำความรู้สึกตอนที่เรียนปรุงยากับคุณป้าได้ดีว่ามันสนุกและมีความสุขแค่ไหน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากเรียกความรู้สึกแบบนั้นกลับคืนมา แต่มันทำไม่ได้ เพราะเรามีหมวกของเจ้าของกิจการอยู่ ถ้าเลือกได้เราก็อยากเป็นแค่ลูกหลานที่รักษามรดกของบรรพบุรุษไว้เท่านั้น
“สิ่งที่เราทำอยู่ เราพยายามจะรักษาไว้ แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มันจะคงอยู่เหมือนเดิม มันต้องเปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างคือสัจธรรม เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ไม่กดดันตัวเอง เราได้เรียนรู้แล้วว่า เราต้องฝึกปล่อยวางความสมบูรณ์แบบ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่จะให้ทุกอย่างคงอยู่เหมือนเดิมตลอดไป ด้วยการปรับลดความคาดหวังให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อรักษาสมดุลพลังชีวิตให้มีความสุข”
“ในฐานะลูกหลาน ถึงแม้ว่าคุณทวดจะไม่เคยฝากฝังหรือบอกอะไรไว้ แต่เราก็ขอบคุณที่เขาทิ้งมรดกที่แสนจะมีคุณค่าไว้ให้ ขอบคุณคุณยายกับคุณป้าที่สานต่อกิจการไว้จนมาส่งต่อมาถึงเรา เราเห็นคุณค่าและภูมิใจกับสิ่งที่เราทำ มันก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจที่จะสานต่อกิจการนี้ให้คงอยู่ต่อไป
“ขอบคุณลูกค้าที่ยังเห็นคุณค่าของยาไทย คอยให้กำลังใจเรา ชื่นชมเรา ทุกวันนี้เราเองก็มีความกังวลว่าเราจะทำไปได้แค่ไหน แต่เราก็จะทำให้สุดมือ อยากให้บ้านหมอหวานทำหน้าที่สื่อสารถึงคุณค่าของยาไทยได้ และกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินของคนที่แวะมาเที่ยวแถวนี้
“เราคิดว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้บ้านหมอหวานอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ คือ ความพยายามในการปรับตัวเพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของยาไทย ความรู้สึกเห็นคุณค่าและศรัทธาในตำรับยาไทย รวมทั้งความจริงใจและซื่อตรงกับผู้บริโภค เพื่อรักษาสิ่งที่มีคุณค่าทางใจสำหรับเราให้คงอยู่ต่อไป”