อ้างอิงภาพจาก www.mtec.or.th
คุณรู้ไหมว่า….ผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีอาการขั้นรุนแรงจนใช้ภาษาพูดสื่อสารไม่ได้แล้ว พวกเขายังเหลือ “ความทรงจำ” และสองอย่างสุดท้ายที่เราจะยังจำได้ คือ ความทรงจำในเชิงความรู้สึก (emotional memories) กับความทรงจำในเชิงกระบวนการ (procedural memories) การกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสโดยเฉพาะบริเวณปลายนิ้วมือ ความทรงจำระดับลึกอาจจะค่อยๆ ผุดขึ้นมาผ่านความทรงจำสุดท้ายเหล่านี้จนผู้ป่วยบางคนสามารถพูดบางประโยคออกมา ทั้งๆ ที่ไม่สามารถพูดสื่อสารได้นานแล้วก็ตาม
บทความชิ้นนี้เราจะพาคุณไปรู้จักสองนวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีแรงบันดาลใจลึกซึ้งเกินกว่าความล้ำหน้าของเทคโนโลยี เกมโมนิก้า (Monica) และผ้าอะกิโกะ (Akiko) นวัตกรรมที่ไม่เพียงกระตุ้นสมองผู้สูงวัย แต่ยังกระตุ้นหัวใจคนในครอบครัวให้กลับมาอบอุ่นได้อีกครั้ง
เกมฝึกความทรงจำระยะสั้น
ขึ้นชื่อว่าเกม คนเล่นย่อมได้ฝึกสมองประลองปัญญา ทุกวันนี้มีเกมออนไลน์ให้เล่นนับไม่ถ้วน แต่เกมส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งรูปแบบเกม และการเข้าถึง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงใช้เวลาหมดไปกับการนั่งๆ นอนๆ ดูทีวี ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว เซลล์สมองที่ขาดการปฏิสัมพันธ์จึงค่อยๆ อ่อนแรงลง เหมือนคนไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้บางส่วนของสมองไม่ได้ถูกใช้งาน
ทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงช่วยกันพัฒนาเกมฝึกความจำระยะสั้นที่มีชื่อว่า “โมนิก้า” ขึ้นมา เกมง่ายๆ แต่ท้าทายสมองผู้เล่นให้จดจำภาพในเวลาจำกัด โดยเปรียบเทียบภาพก่อนหน้าและภาพถัดไปว่าเป็นภาพเดียวกันหรือไม่ ถ้าใช่ก็กดปุ่มสีเขียวจะมีเครื่องหมายถูก ถ้าไม่ใช่ก็กดปุ่มสีแดงจะมีเครื่องหมายกากบาท โดยมีการแบ่งระดับความยากออกเป็น 6 ระดับ
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมแป้นกดขนาดใหญ่ เมื่อเชื่อมต่อมือถือที่มีเกม โมนิก้า กับจอโทรทัศน์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะทำให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนกำลังเล่นในรายการเกมโชว์ เพิ่มความสนุกและมีกองเชียร์ช่วยลุ้นไปด้วยกันได้ ครอบครัว สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือคลินิกผู้สูงอายุก็สามารถนำไปใช้ทำกิจกรรมแทนการปล่อยให้ผู้สูงวัยนั่งดูทีวีเพียงลำพังอย่างเดียว
วิธีการดาวน์โหลดเกมสามารถเข้าไปโหลดฟรีเหมือนแอพพลิเคชั่นทั่วไป แต่ถ้าต้องการใช้อุปกรณ์เสริมแป้นกดขนาดใหญ่จะต้องซื้อเพิ่มผ่านบริษัทดิจิตอล ปิกนิก จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับทางเอ็มเทค ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาเกมใหม่ๆ ที่สามารถใช้กับแป้นกดเดียวกันเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เวลาว่างฝึกสมองกับเกมให้มากขึ้น
ดร.สิทธา สุขกสิ ทีมวิจัยจากเอ็มเทค กล่าวถึงประโยชน์ของเกม โมนิก้า ว่า “เกมนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการฝึกความจำระยะสั้นและสมาธิ ทั้งคนทั่วไปและผู้สูงอายุที่ต้องการกระตุ้นสมอง รวมถึงผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมในระดับเริ่มต้น ในกรณีของผู้ป่วยที่สมองเสื่อมขั้นรุนแรง การเล่นเกม โมนิก้า อาจจะยากเกินไป เราจึงได้ออกแบบนวัตกรรมอีกชิ้นหนึ่งสำหรับการใช้งานในกลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อมที่เริ่มสูญเสียความทรงจำมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางคนใช้ภาษาพูดสื่อสารไม่ได้แล้ว นวัตกรรมนี้มีชื่อว่า ผ้าอะกิโกะ
ผ้าอะกิโกะ ผ้ากระตุ้นความทรงจำ
คุณยาย อะกิโกะ เป็นคุณยายของภรรยา ดร.สิทธา ชาวแคนาดาเชื้อสายญี่ปุ่นวัย 95 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมระดับรุนแรงจนไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้นานแล้ว
ดร.สิทธาเล่าว่า “ทุกๆ ปีเราจะกลับไปเยี่ยมคุณยายที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โดยเราลองนำภาพเก่าๆ ที่คุณยายผูกพัน เช่น ภาพบ้านพักตากอากาศที่ไปทุกปี ตอนจะลากลับ จู่ๆ คุณยายก็หลุดประโยคว่า “ฉันก็อยากกลับบ้านเหมือนกันนะ” แสดงว่า ความทรงจำในเชิงความรู้สึก ยังคงทำงานอยู่ จึงไปกระตุ้นสมองในส่วนภาษาให้ทำงานอีกครั้งในรูปแบบประโยคสั้นๆ เพราะคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมขั้นปลายจะคล้ายกับติดอยู่ในห้องกระจกมองเห็นคนภายนอกเคลื่อนไหวไปมาแต่โต้ตอบได้ไม่ทัน แต่ความทรงจำบางอย่างสามารถหลุดออกมาได้บ้างขณะที่ได้รับการกระตุ้นความรู้สึก ณ นาทีนั้น
“ข้อมูลงานวิจัยด้านสมองเสื่อมพบว่า ความทรงจำที่มักจะหายไปช้ากว่าความทรงจำส่วนอื่น คือ ความทรงจำในเชิงความรู้สึกกับความทรงจำในเชิงกระบวนการ เราจึงนำข้อมูลนี้มาออกแบบนวัตกรรมผ้ากระตุ้นสมอง และตั้งชื่อให้ว่า อะกิโกะ
“ตัวอย่างของความทรงจำในเชิงกระบวนการ เช่น ถ้าคนเคยเย็บผ้าเก่งเป็นโรคสมองเสื่อมจะจำไม่ได้ว่าเคยเย็บผ้าแบบไหนมาบ้าง แต่ถ้าเอาเข็มกับด้ายให้ ผู้ป่วยจะรู้วิธีสนด้ายเข้าไปในเข็มโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นความทรงจำเชิงกระบวนการที่เคยทำซ้ำๆ มาตลอดชีวิต ส่วนตัวอย่างของความทรงจำในเชิงความรู้สึก เช่น ผู้ป่วยอาจจำชื่อคนในครอบครัวไม่ได้ แต่พอเห็นภาพสมาชิกในครอบครัวบ่อยๆ จะจำได้ว่ามีความรู้สึกที่ดีกับคนคนนี้”
ดร.สิทธาเล่าถึงรูปแบบการใช้ผ้ากระตุ้นสมองที่มีในต่างประเทศว่า “เราเรียกการใช้ผ้ากระตุ้นสมองว่า ผ้ากระตุ้นประสาทสัมผัส (sensory quilt) เช่น เอาผ้าห่มมาเย็บติดกระดุมหรือใส่ซิปให้รูดขึ้นรูดลง เพราะบริเวณปลายนิ้วจะมีปลายประสาทรับรู้ส่งสัญญาณไปที่สมอง การกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยผ้าที่อ่อนนุ่มจะช่วยลดความกระวนกระวาย อยู่ไม่นิ่ง เพราะไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้ บางคนเป็นมากก็จะเกิดอาการประสาทหลอน เช่น จินตนาการว่ามีของตกอยู่ที่พื้น แล้วก้มไปเก็บก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุ การให้เอามือจับบนผ้าช่วยให้จิตใจจดจ่อ”
เกมกระตุ้นประสาทสัมผัส ไม่จำกัดวัย
เนื่องจากโรคสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดอายุ และแต่ละคนมีความเสื่อมของสมองแตกต่างกันไป การออกแบบผ้ากระตุ้นสมองที่มีรูปแบบตายตัวจะทำให้การใช้งานจำกัด ทีมนักวิจัยจึงช่วยกันคิดค้นผ้ากระตุ้นสมองที่สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบด้วยการจัดทำเป็นโมดูล (Module) หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนในการใช้งานได้
ลักษณะการทำงานของ ผ้าอะกิโกะ จะมีผ้าสองส่วน คือ ส่วนแรกเป็นผ้าผืนใหญ่ที่นำมาแบ่งเป็นตารางขนาดช่องละประมาณ 5X5 นิ้ว ส่วนที่สองเป็นผ้าชิ้นเล็กเท่ากับขนาดของช่องตารางที่แบ่งไว้ โดยผ้าทั้งสองส่วนจะสามารถนำมาประกบติดกันได้ด้วยกระดุม
ผ้าผืนเล็กแต่ละชิ้นก็จะใช้งานได้หลากหลายแตกต่างกัน อาทิ พื้นผิวผ้านิ่ม ผ้าเรียบ ผ้ามีเส้นใย ผ้าเย็บขรุขระ เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสปลายนิ้วมือที่แตกต่าง หรือเย็บให้เป็นช่องใส่รูปภาพกระตุ้นความทรงจำ หรือเป็นกระเป๋าซ่อนสำหรับใส่ของสำหรับกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น ใส่สมุนไพรหรือสิ่งของเล็กๆ ที่คุ้นเคย เป็นต้น
นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยนี้ ดร.สิทธาผู้ออกแบบมีแนวคิดที่จะตอบโจทย์สำคัญสามข้อ “ข้อแรก คือ การพึ่งพาตัวเองได้ เพราะไม่มีผู้สูงอายุคนไหนอยากรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระ หรือต้องพึ่งพาลูกหลาน นวัตกรรมที่เราคิดขึ้นมาจึงพยายามทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเล่นได้ด้วยตนเองอย่างปลอดภัย ข้อสองคือความเป็นตัวเอง เพราะแต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเองและความชอบที่แตกต่างกัน และข้อสามคือการเชื่อมโยงความรู้สึก เพราะผู้สูงวัยมักต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในครอบครัวทั้งย้ายออกไปอยู่ที่อื่น หรือตายจากไป การออกแบบของเราต้องการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมให้ดีขึ้นด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับนวัตกรรมเหล่านี้ แต่เนื่องจากโรคนี้รักษาไม่หาย ในทางการแพทย์จึงทำได้แค่กระตุ้น บำบัดให้เสื่อมช้าลง แต่ไม่ใช่การรักษา”
รับมือสมองเสื่อมด้วยนวัตกรรมและปฏิสัมพันธ์ใหม่
ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ อดีตพยาบาลโรงพยาบาลกลาง และที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรม RISC ซึ่งทำกิจกรรมกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เล่าถึงวิธีการใช้ เกมโมนิก้าและผ้าอะกิโกะ ว่า “เราจะใช้ ผ้าอะกิโกะ ทำกิจกรรมระหว่างคนไข้นั่งรอหมอเพราะคนไข้บางคนจะจิตใจจดจ่อกับการรอพบหมอ แล้วไปยืนกดดันหน้าห้องหมอ ทำให้หมอเสียสมาธิ ถ้าเราชวนมาทำกิจกรรมด้วยกัน คนไข้ก็ได้กระตุ้นสมองไปด้วย วิธีชวนทำกิจกรรม เราจะดูพฤติกรรมของคนไข้แต่ละคนว่าเขาสนใจอะไรมากเป็นพิเศษ เช่น บางคนเห็นภาพหม้อหุงข้าว กระทะ เขาก็จะเล่าว่า อันนี้เอาไว้หุงข้าว เอาไว้ทำกับข้าวให้ลูกกิน เราก็ให้เขาเล่าเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในอดีตที่เขาจำได้ หรือเคยเอาไปใช้กับพี่สาวเป็นอัลไซเมอร์อายุ 90 ปี หลังจากลูบๆ คลำๆ ผ้าที่เราใส่ภาพพ่อแม่ไว้ในนั้นอยู่หลายวัน มีวันหนึ่งเขาก็พูดขึ้นมาว่า..นี่พ่อ..
“ลองสังเกตดูคนไข้อัลไซเมอร์จะชอบจับอะไรนิ่มๆ ชอบจัดตู้เสื้อผ้า บางคนไปอยู่ตรงโต๊ะรับแขก ไม่รู้ทำอะไรจนกระจกแตก แต่ถ้าเล่น ผ้าอะกิโกะ ไม่มีความแหลมคม มันช่วยได้ดีจริงๆ แต่การใช้ผ้าอะกิโกะ ต้องมีคนมาช่วยนำกิจกรรมก็จะได้ประโยชน์เยอะขึ้น”
การเลือกใช้ เกมโมนิก้าและผ้าอะกิโกะ จะมีความแตกต่างกันไปตามระดับความเสื่อมของสมอง น.ส. สุภาพร หันชัยเนาว์ อดีตพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์ผู้สูงอายุสุขกายสุขใจ ซึ่งเป็น สถานดูแลผู้สูงอายุแบบเช้าไปเย็นกลับ สถาบันประสาทเล่าว่า
“เกมโมนิก้า เป็นเกมที่เหมาะกับผู้สูงอายุระดับสมองยังไม่เสื่อมมาก ต้องใช้ความสามารถนิดหน่อย เขาต้องดูจอ แล้วเข้าใจด้วยว่า ต้องกดยังไง ถ้าสมองเสื่อมมาก เขาจะไม่รู้เรื่อง ผ้าอากิโกะจะเล่นได้หลากหลายกว่า ปรับระดับความยาก และปรับกิจกรรมได้ตามอาการป่วย ใช้ได้ทั้งกิจกรรมกลุ่มและกิจกรรมเดี่ยว”
จุฑาพร สามารถกิจ ผู้ช่วยพยาบาลจากศูนย์เดียวกัน กล่าวเสริมว่า การเล่น เกมโมนิก้าและผ้าอะกิโกะ สามารถช่วยประเมินอาการและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยได้ด้วยเหมือนกัน
“เกมโมนิก้า มีประโยชน์ในเรื่องฝึกสมาธิ ความจำระยะสั้น ฟื้นฟูสมอง ทำให้เพลิดเพลิน ทำให้มีกิจกรรมร่วมกันกับผู้อื่น ส่วนการใช้ ผ้าอะกิโกะ สามารถช่วยทำความเข้าใจภาวะทางอารมณ์ของคนไข้ในแต่ละวัน เช่น ถ้าวันนี้เลือกเฉดโทนเย็นก็แสดงว่าอารมณ์ดี ถ้าเลือกโทนร้อนก็แสดงว่าอารมณ์กำลังร้อน ไปโกรธใครมาหรือเปล่า คนไข้บางคนเดินวุ่นวายไปมา เราก็จะชวนเขามาเล่นผ้า ยิ่งเป็นผ้าไทยที่เขาชอบ บางคนเล่นได้นานครึ่งชั่วโมง เพราะเขาชอบย้ำคิดย้ำทำอยู่แล้ว พอทำแล้วก็อารมณ์ดี บางคนติดมากก็ให้ยืมกลับบ้านได้ เพราะบางทีในครอบครัวก็ไม่รู้จะทำกิจกรรมอะไรกับผู้สูงอายุ ผ้าตัวนี้ก็จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ดีขึ้นด้วย”
ชะลออาการสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
แม้ว่า ผ้าอะกิโกะ จะสามารถใช้งานได้หลากหลาย แต่ปัญหาที่พบคือ ต้นทุนการผลิตที่ยังสูง เนื่องจากกระบวนการเย็บผ้าค่อนข้างยุ่งยากเพราะผ้าแต่ละชิ้นมีลูกเล่นแตกต่างกัน การใช้งานในปัจจุบันจึงยังใช้จำกัดอยู่ตามศูนย์ดูแลผู้สูงอายุบางแห่งเท่านั้น โดยต้องสั่งพรีออเดอร์ล่วงหน้ามาทางทีมนักวิจัย หากมีการขยายตลาดให้กว้างขึ้น และลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลง ผ้าอะกิโกะ ก็จะกลายเป็นของเล่นกระตุ้นสมองที่ช่วยชะลออาการเสื่อมของสมองและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้นตามไปด้วย
จุฑาพร พยาบาลประจำศูนย์ดูแลผู้สุงอายุ แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในสังคมไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่า “คนสมัยนี้มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่กรรมพันธุ์ วิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียด ความกดดัน อาหารการกิน และการทำกิจกรรมเดิมๆ ไม่มีเวลาผ่อนคลายด้วยกิจกรรมใหม่หรืองานอดิเรก การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมด้วยการบริหารสมองจากการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เคร่งเครียดจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด”
ถ้าบ้านไหนมีผู้สูงอายุที่ใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี ลองโหลด เกมโมนิก้า มาบริหารสมองกันดูวันละนิด เป็นกองเชียร์ให้ผู้สูงวัยทำคะแนนให้ได้เพิ่มขึ้นเพื่อความจำที่ดีขึ้น หรือหากใครมีอุปกรณ์เย็บผ้า อาจลองนำแนวคิดของ ผ้าอะกิโกะ ไปทำผ้าห่ม ปลอกหมอน หรือชุดตุ๊กตาสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่นกระตุ้นความทรงจำผู้สูงวัยกันดู (มีวิธีการทำแนะนำอยู่ในช่องยูทูป)
การชะลอความเสี่ยงของสมองเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกคนในครอบครัว ก่อนทุกอย่างจะถูกลืมเลือน และเราจะกลายเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน ลองหยิบนวัตกรรมเหล่านี้มาเป็นตัวช่วย ให้เราได้รำลึกความหลังและใช้เวลาด้วยกันได้อีกครั้ง