“อย่าตั้งเป้าหมายชีวิตเป็นตัวเลขทางการเงิน แต่ให้ตั้งเป้าหมายทางการเงินโดยอิงกับเป้าหมายชีวิต”
“มนุษย์ต่างวัย” สรุปเนื้อหาส่วนหนึ่งจากเวที FUTURE STAGE หัวข้อ “Money – Life Balance เหนื่อยวันนี้ สบายวันไหน” โดย “โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์” โค้ชการเงิน จาก Money Coach จากงาน “CREATIVE TALK CONFERENCE 2024” หรือ CTC2024 ณ ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“การเงิน” เป็นเรื่องปัจเจก คำว่า ”บาลานซ์” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หาเป้าหมายทางการเงินของตัวเองให้เจอ สำรวจว่าเราได้ก้าวข้ามความลำบากและความไม่แน่นอนทางการเงินมาแล้วหรือยัง
สร้างความมั่นคงทางการเงิน
ชีวิตคนเราไม่แน่นอน มีขึ้นมีลง คนที่บริหารจัดการเงินให้อยู่รอดปลอดภัยได้คือคนที่คิดเสมอว่าทำอย่างไรการเงินของตัวเองจะไม่สะดุด เพราะถ้าปล่อยให้สะดุด บางครั้งอาจจะไม่สามารถกลับมาได้อีก และต้องแบกภาระทางการเงินไปจนวันสุดท้ายของชีวิต
1. จัดการสภาพคล่อง – มีกิน มีใช้ มีเหลือเก็บ ต่อยอดได้
พอเริ่มมีเงินเหลือเก็บ คำถามในหัวก็จะเปลี่ยนจากเงินไม่พอใช้ หาที่ไหนดี เป็นมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง จะเอาไปทำอะไรดี
2. จัดการความเสี่ยง
ชีวิตมีเรื่องที่เป็นความเสี่ยงอยู่ตลอด เราต้องทบทวนความเสี่ยงของชีวิตเสมอ ทั้งเรื่องการเงิน สุขภาพ ทรัพย์สิน เวลาจะใช้จ่าย ไม่ใช่คิดว่าจะกู้อย่างไรให้ผ่าน แต่ต้องคิดว่าจะผ่อนอย่างไรให้จบ
สิ่งสำคัญคือการตั้งเป้าหมายการเงินขั้นพื้นฐาน จัดสรรรายได้ให้เพียงพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สามารถเติมเต็มความสุขให้ชีวิตได้ตามกำลัง พร้อมรับมือทุกความเสี่ยงทางการเงินที่อาจจะขึ้น และมีเงินเพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งสู้กับเกมการเงินยากขึ้นเรื่อย ๆ
3. สะสมความมั่งคั่ง – มุ่งสู่อิสรภาพการเงินก่อน 60
เมื่อชีวิตเริ่มมีเงินเหลือเก็บ เราจะเริ่มคิดเรื่องการสร้างความมั่งคั่งให้ชีวิตได้ โดยมี 2 แนวคิดหลักที่ใช้บ่อย คือ
แนวคิด F. I. R. E. หรือ สะสมความมั่งคั่งสุทธิให้เป็น 25 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำปี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงิน 25 ล้านบาท แล้วถอนมาใช้ปีละ 1 ล้าน ก็เท่ากับว่าเราจะมีเงินใช้ไปอีก 25 ปี
- ออมและลงทุนให้มากที่สุด อาจจะมากถึง 70%
- ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างประหยัด
- ชำระหนี้ให้หมด
- หารายได้เพิ่ม เพื่อนำมาออมและลงทุนเพิ่ม
แนวคิดอิสรภาพทางการเงินแบบสร้าง Passive Income ประกอบด้วย
Plan A – สร้างรายได้จากทรัพย์สิน 4 รูปแบบ แล้วนำรายได้ส่วนนี้ไปลงทุนต่อ
ต้นไม้เงิน สะสมทรัพย์สินเพื่อสร้างดอกเบี้ยและเงินปันผล
ค่าเช่าจากทรัพย์สิน ปล่อยเช่าทรัพย์สินที่เรามีให้คนอื่นใช้ประโยชน์แล้วเก็บค่าเช่า
OPT สร้างธุรกิจและให้ระบบสร้างกำไร บริหารกำไรให้เป็น เมื่อวางระบบมั่นคงแล้ว ก็วางมือและวางใจให้คนอื่นทำด้วย
ค่าลิขสิทธิ์ เปลี่ยนงานเป็นทรัพย์สินที่สร้างรายได้มากกว่า 1 ครั้ง เช่น การอัดวิดีโอเพื่อใช้สอนพิเศษ การถ่ายภาพแล้วอัปโหลดลงในเว็บไซต์ให้คนมาซื้อไปใช้ต่อ
Plan B – เกษียณ 60 ทยอยสะสมไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบร้อน
Plan C – เก็บเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของรายจ่าย และแบ่งเงินเก็บออมอย่างน้อย 10%
ถึงแม้ว่ารายได้จากทรัพย์สินจะทำให้เรามีรายได้โดยไม่ต้องทำงาน แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างไม่ได้อยู่ไปตลอด เราอาจจะไม่ได้มีรายได้เท่าเดิมไปตลอด หรือบางครั้งอาจมีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์พลิกผันได้สิ่งที่เคยทำแล้วได้กำไร อาจขาดทุน ทางที่ดีควรมีทั้งสองอย่าง เพราะรายได้จาก “การทำงาน” สร้าง “คุณค่า” แต่รายได้จากทรัพย์สินช่วย “ผ่อนแรง” ให้เราได้
เงิน กับ ชีวิต จะบาลานซ์ได้ดี ก็ต่อเมื่อเราควบคุมชีวิตตัวเองได้
คุยกับตัวเองให้ชัดว่าเป้าหมายชีวิตเราเป็นแบบไหน คิดถึงตัวเองและครอบครัวเป็นหลัก ไม่ต้องเปรียบเทียบ หรือแข่งขันเพื่อเอาชนะใคร จากนั้นเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตเป็นเป้าหมายการเงิน ดูว่าเป้าหมายชีวิตแบบที่เราอยากได้ต้องใช้เงินเท่าไร หลังจากนั้นเป้าหมายการเงินจะถูกเปลี่ยนเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ เราจะชาเลนจ์ชีวิตของเราให้สนุก คิดถึงสิ่งที่เราอยากทำ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ทำแล้วสร้างรายได้ก็ได้ เพียงแค่ทำแล้วมีความสุขก็พอ
สุดท้ายชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องดูกันยาว ๆ ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก ตั้งเป้าหมายการเงินของตัวเองให้ชัด ใช้จ่ายอย่างมีสติ ต่อยอดสร้างอนาคตจากแผนการเงินที่วางไว้ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ต้องไม่ลืมเรื่องดูแลสุขภาพและการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อมีมากพอแล้ว ก็คิดเรื่องการแบ่งปันกลับคืนสู่สังคมด้วย