ฮีลใจกันและกัน ในวันที่แม่ป่วย

“แม่ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ทั้ง ๆ ที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี แน่นอนว่าตอนนั้นมันหนักมาก เหมือนเรามีจานใบใหญ่ ๆ กำลังจะไปตักอาหารบุฟเฟ่ต์อย่างเพลิดเพลิน แล้วอยู่ ๆ ก็มีคนเอาอาหารที่เราไม่ได้อยากกินมาเทกลางจานของเรา แล้วมันก็เป็นน้ำไหลปนกันเลอะเทอะไปหมด”   

มนุษย์ต่างวัยมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมธรรมะบำบัดความป่วย…ได้จริงหรือ? ครั้งที่ 48 และนำส่วนหนึ่งจากหัวข้อเสวนา “ภาระ พาสุข บทบาทของหมอ-ลูก-ผู้ดูแล” โดย “หมอบัว” ดร.พญ. ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และเจ้าของเพจ “สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)

หมอบัวเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของบทบาทการเป็นผู้ดูแลว่าตอนนั้นหมอกำลังจะเรียนจบปริญญาเอก หน้าที่การงานกำลังไปได้ดี แต่อยู่ ๆ บทบาทผู้ดูแลก็เข้ามาทักทายชีวิตแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ใช้เวลาอยู่พอสมควรกว่าจะยอมรับและเริ่มต้นทำความคุ้นเคยกับบทบาทใหม่ของชีวิตได้

“ช่วงเเรก ๆ จิตใจว้าวุ่นมาก กว่าทุกอย่างจะสงบ กว่าจะตั้งสติยอมรับความจริง กว่าจะจัดการทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางได้ แล้วค่อย ๆ ลำดับความสำคัญไปทีละอย่างว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนั้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การรักษาแม่ อาชีพ หน้าที่การงานที่ต้องรักษาไว้เพื่อให้มีเงินไปใช้ในการรักษา เพราะมะเร็งเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง และสุดท้ายคือเรื่องเรียน ก็คิดว่าอย่าทิ้งเลย มันจะจบแล้ว ถ้าโชคดีแม่ได้เห็นเรารับปริญญา อาจจะเป็นกำลังใจให้แม่ดีขึ้นก็ได้”

บทบาทที่ไม่มีโอกาสให้เตรียมตัว

“ทุกคนอาจจะเคยคิดว่าเดี๋ยวพ่อแม่เราก็แก่ลง มีความเสื่อมของร่างกาย เขาอาจจะต้องเป็นโรคอะไรสักอย่าง แต่เวลามันเกิด อยู่ ๆ ก็ตรวจเจอมะเร็งปอดระยะที่ 4 เลย หรือบางคนก็ปุบปับนอนติดเตียงภายในข้ามคืน ส่วนใหญ่เลยจะเตรียมตัวกันไม่ค่อยทัน

“หมอเองช่วงแรก ๆ ก็ไม่ค่อยไหว นั่งตรวจคนไข้ไป น้ำตาก็จะไหล แต่ด้วยอาชีพเรา เราต้องไหว ต้องรับฟังคนไข้ได้ปกติ แต่ตอนนั้นความรู้สึกในใจมันท่วมท้นมาก เรารู้สึกว่าเราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า เราเป็นหมอด้วย ถ้าย้อนกลับไปได้ เราต้องเจอว่าแม่เป็นมะเร็งกว่านี้ไหม แล้วจะเรียนให้จบปริญญาเอกหรือเปล่า หรือจะทิ้งไปเลย มันมีเรื่องให้คิดเยอะมากว่าเราจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร

“ช่วงนั้นเราทุกข์จริง ๆ กลับบ้านไปเจอแม่ ก็ทำหน้าไม่ถูก เวลาตรวจคนไข้ก็ร้อนรุ่มไปหมด ชีวิตตัวเองก็ไม่ได้ดูแลอะไรเลย พอเลิกงานเราก็จะไปนั่งที่วัดประจำ เพราะที่อยุธยามีวัดเยอะมาก ไปนั่งมองผู้คนเขาไปปฏิบัติ เวลาไปนั่งก็จะได้ฟังเสียงตามสายที่เปิดคำสอนของหลวงพ่อที่อยู่ที่วัด พอเสียงตามสายเงียบลง ทุกอย่างมันก็เงียบไปหมด ทำให้เราสงบลงแล้วได้เริ่มคิด การได้อยู่กับตัวเองสำคัญมากในการที่เราจะจัดลำดับสิ่งที่มันกำลังตีกันเละเทะอยู่ให้เป็นระเบียบ

สุดท้ายเราก็เลยไปสวดมนต์ ทำวัตรเย็นกับเขา ฟังบทสวดมนต์ที่มีคำแปลไปด้วย ซึ่งเนื้อหาเหล่านั้นก็ตอบเราหมดว่าความเกิด แก่ เจ็บ และต้องตายเป็นธรรมดา พอเราพูดเรื่อย ๆ พูดทุกวัน ใจมันจะเริ่มสงบลง และรู้สึกว่าทุกอย่างในชีวิตมันกำลังจะถูกจัดการแล้ว

“หลังจากนั้นเราก็เข้าไปจัดการทุกอย่างโดยเรียงลำดับตามความสำคัญที่จะต้องทำ แล้วก็รู้สึกว่าถ้าเราทำอะไรเพิ่มเติมจากที่ทำอยู่ได้ มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ก็เลยเริ่มทำเพจ ‘สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง’ เพื่อให้ความรู้ผู้ป่วยมะเร็งปอด เพราะตอนนั้นคนเริ่มมะเร็งปอดกันเยอะขึ้น และมันก็เป็นความใหม่ที่ใครมาเป็นผู้ดูแลก็จะต้องเจอสิ่งเดียวกันกับเรา เจอทุกอย่างปะทะเข้ามาทุกด้าน ทั้งภาระและความทุกข์ คิดว่าเราจะได้มีเพื่อนไว้พูดคุย ได้เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ของเราด้วย”

เราย้อนเวลากลับไปไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้า

“มีอยู่วันหนึ่งเราหาเวลาคุยกับแม่ บอกเขาว่ามันรู้สึกผิดจนไม่ไหว เราไม่ดีพอ เราไม่เก่งพอหรือเปล่า ถึงรู้ว่าแม่ป่วยช้าขนาดนี้ ขอโทษแม่ บอกแม่ไปว่าเราผิดเหลือเกิน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ถ้าเราพาแม่ไปหาหมอเร็วกว่านี้ มันอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ แต่ด้วยความรักของแม่ แม่ก็บอกเราว่า ไม่เห็นต้องรู้สึกผิดเลย เพราะแม่ไม่ได้มีอาการอะไรออกมาเด่นชัด ถ้าแม่เป็นอะไรชัดเจน มีอะไรปูดออกมา แล้วแม่เรียกแล้วเรียกอีก แต่เราไม่พาไปหาหมอค่อยรู้สึกผิด เพราะเรื่องนี้ลูกก็คาดคะเนไม่ได้ บางทีมันอาจเป็นชะตาของแม่ ให้ตัดตรงนี้ไปเลยได้ไหม แล้วจะให้แม่ทำอะไรก็บอก

“พอได้ยินแม่พูดแบบนั้นก็เหมือนมันปลดล็อกไปเลย มันรู้สึกเหมือนมีพลังอะไรบางอย่างขึ้นมา รู้สึกว่าเราไม่ต้องรู้สึกผิดอะไรแล้ว เพราะเราย้อนเวลากลับไปไม่ได้แล้ว เราทำได้แค่ปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้าเรา กับอนาคตใกล้ ๆ ว่าเราจะต้องทำอะไรต่อ หลังจากนั้นแม่ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาซึ่งมีความเข้มข้นมาก ทั้งเจาะชิ้นเนื้อตรวจ ทำเคมีบำบัดภายในเวลาไม่กี่วันติด ๆ กัน หลังจากนั้นก็มีการให้ยารักษาต่อ

“ในส่วนของกระบวนการฮีลใจของแม่ เขาอ่านหนังสือความรู้เกี่ยวกับมะเร็ง แล้วก็เริ่มมีความเข้าใจและสงบในแบบของเขา บางครั้งก็สวดมนต์บ้าง อ่านหนังสือธรรมะบ้าง ถ้ารู้สึกไม่ไหวก็นอน เราก็มีหน้าที่เตรียมบางอย่างให้เขาผ่อนคลาย พาเขาไปพักผ่อน ไม่ต้องนึกว่าตอนนี้กำลังป่วยอยู่ หรือรออะไรอยู่ แม่เขาเป็นคนที่ชอบทำงานฝีมือ งานศิลปะ เย็บผ้า เวลาที่เขาได้อยู่กับตัวเองมันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขาลืมอย่างอื่นไป หรือบางครั้งก็ทำให้เขาได้ใคร่ครวญมากขึ้น”

ยอมรับ ลำดับความสำคัญ โฟกัสปัจจุบันแล้วไปต่อ

“บนเส้นทาง 10 ปีนี้ มันไม่ได้ราบรื่นเลย เป็น 10 ปีที่ช่วงแรกก็ทำเคมีบำบัด ให้ยา แล้วก็เกิดผลข้างเคียง ผ่านไปอีกปีหมอก็จะให้ฉายแสง และทุกปีก็ต้องทำซีทีสแกนทุก ๆ 3 เดือน กว่าจะผ่านไปได้แต่ละปี เป็นเส้นทางที่ยาวนานมาก แต่ในขณะเดียวกันท่ามกลางภาระที่เราทำอยู่ มันก็รู้สึกถึงอิสรภาพได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เป็นระยะ ๆ เวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง

“นอกจากเรื่องฮีลใจ อีกเรื่องที่ต้องเตรียมก็คือเตรียมรับมือกับการจากลาที่ไม่รู้ว่ามันจะมาถึงเมื่อไร แต่สิ่งที่มันต้องเกิดขึ้นเวลาที่เราต้องใช้พละกำลัง ใช้เรี่ยวแรงบนเส้นทางที่มันไกลมาก ๆ คือความรู้สึกเบิกบานในจิตใจ ความรู้สึกเหนื่อยแต่ว่ายังไปต่อได้ เพราะมันยังมีความสุข มีเรื่องราวระหว่างทางให้พบเจอ ให้เราได้แบ่งปันกับคนอื่น หรือเรื่องราวที่คนอื่นแบ่งปันให้เรา ทำให้เรารู้สึกว่าหลาย ๆ เรื่องช่วยเยียวยาจิตใจเราได้

“การทำเพจก็เป็นอีกเรื่องที่ช่วยฮีลใจ เมื่อก่อนเวลาถ่ายรูปแม่ แม่ไม่ชอบเลย แต่เดี๋ยวนี้แม่สะกิดเลยว่าไม่ทำคอนเทนต์เหรอ วันนี้มาชอปปิงนะ บางครั้งก็ต้องขอบคุณแฟนเพจด้วยที่เข้ามาคอมเมนต์ส่งกำลังใจ ฮีลใจกันและกัน ทำให้เรารู้ว่าบนเส้นทางนี้ไม่ได้มีแค่เราคนเดียว

“ในอนาคตหมอเชื่อว่าคนจะป่วยโรคเรื้อรังเยอะขึ้น โรคบางอย่างที่เคยไปเร็ว ปุบปับ ก็จะอยู่ได้นานขึ้น บางคนอาจจะบอกว่าดี แต่บางคนก็บอกว่าไม่ดี ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เลย สิ่งที่เราต้องทำก็คือการฝึกฝนและเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ ทั้งในส่วนของการที่เราอาจจะต้องเป็นผู้ดูแล หรือแม้แต่การที่เราจะต้องเป็นผู้ป่วยเอง อย่างน้อยวันหนึ่งที่มีอะไรเกิดขึ้น หมอจะช่วยวินิจฉัยได้ว่าเราเป็นโรคอะไร มีแนวทางการรักษาอย่างไร แต่แนวทางการตั้งสติ การวางใจ การลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องที่เราเตรียมได้ตั้งแต่วันนี้ การเป็นผู้ดูแลจะทำได้เพียงไม่กี่เรื่องที่สำคัญจริง ๆ เท่านั้น เลือกให้ดีแล้วไปต่อ

“สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ ให้ดูแลกันด้วยความรัก เพราะความรักสำคัญมาก ดูแลด้วยความรู้ เพราะปัจจุบันหลาย ๆ อย่างต้องใช้ความรู้ หลังจากที่เรารู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในการรักษา ซึ่งอาจมีเทคโนโลยีการรักษาต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ให้พยายามทำความเข้าใจ และสุดท้ายต้องดูแลด้วยความเข้าใจ สัมพันธภาพ การยึดโยงภายในจิตใจ โดยเฉพาะสายใยในครอบครัวอย่างแม่กับลูกนั้น บางครั้งเราไม่ต้องพูดอะไรมาก แค่มองตาก็เข้าใจกันแล้ว และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ทุกคนมีความหวังและกำลังใจที่ดีเสมอ”

ขอบคุณภาพจาก : สวนโมกข์กรุงเทพ

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ