‘Midlife crisis’ วิกฤตวัยกลางคน ของคน Gen ลูก (ทำไมยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิต)

ใช้ชีวิตปกติมาตั้งนาน แต่ทำไมเมื่อเข้าสู่หลักกิโลชีวิตที่ 3 – 4 เริ่มรู้สึกและมีคำถามมากมายสารพัดว่าทำไม…

‘ไม่มีความสุขกับชีวิต’

‘รู้สึกชีวิตไม่มั่นคง’

‘ทำไมชีวิตไม่ก้าวหน้าเหมือนเพื่อนคนอื่น’

‘มีคำถามกับชีวิตว่าเราอยู่เพื่อไปเพื่ออะไร’

‘พ่อแม่ต้องดู ลูกก็ต้องเลี้ยงพยายามทำเต็มที่แต่ทำไมพวกเขาก็ยังดูไม่มีความสุข’

หากกำลังรู้สึกเช่นนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าอยู่ในช่วง ‘วิกฤตวัยกลางคน’ (Midlife Crisis)

ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มมีลักษณะเหมือนในเช็คลิสต์ ลองมาทำความรู้จักกับ ‘Midlife Crisis’ หรือ วิกฤตวัยกลางคน และทำความเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยกลางคน กับ อ.ดร. กุลวดี ทองไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘Midlife crisis’ วิกฤตวัยกลางคน

“ปัญหา คือสิ่งที่พบได้ในทุกช่วงวัยและตลอดชีวิตของมนุษย์ทุกคน แต่ปัญหาที่วัยกลางคนมักพบอยู่เสมอคือเรื่องของ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต จนกระทั่งหลายปัญหาก่อตัวเป็นคลื่นถาโถมเข้ามารวมกัน จาก ‘ปัญหา’ กลายเป็นเป็น ‘วิกฤต’ และหากไม่สามารถบริหารจัดการอารมณ์และความรู้สึกท่ามกลางวิกฤตเหล่านั้น ย่อมส่งผลต่อการแสดงออกรวมถึงภาระหน้าที่การงานที่รับผิดชอบจนทุกสิ่งพังทลายลงจมกองอยู่ใต้ปัญหาที่เข้ามา รุมเร้า”

จากทฤษฏีของ อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ กล่าวว่าในแต่ละช่วงวัยต่างมีจุดมุ่งหมายความต้องการใช้ชีวิตและพบเจอปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ในวัยเด็กเป็นวัยแห่งการอยากรู้ทดลองสำรวจสิ่งต่างๆ ส่วนอายุ 21-35 เป็นช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น มีจุดมุ่งหมายคือสร้างรากฐานชีวิต เริ่มมีคู่ชีวิตและสร้างครอบครัว ส่วนในวัยผู้ใหญ่ตอนกลางหรือที่หลายคนมักเรียกว่า ‘Midlife’ อายุ 35-50 ปี เริ่มมีการตั้งคำถามกับการใช้ชีวิต เพราะตัวเองเริ่มพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงกายภาพร่างกายและสังคมรอบข้าง ที่ไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

“ช่วงวัยกลางคนหรือผู้ใหญ่ตอนกลาง มักมีอะไรหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทั้งบทบาท ความคิดและความรู้สึก ประกอบกับ จุดมุ่งหมายของคนในช่วงวัยนี้เริ่มมีความคิดว่า ‘เราได้ทำอะไรคืนให้สังคมแล้วบ้าง’ เริ่มเกิดการตั้งคำถาม ว่าฉันคือใคร แล้วจะไปต่อข้างหน้าอย่างไร นี่คืองานที่ฉันอยากจะทำจริงรึเปล่า ฉันอยากใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ตรงนี้ไหม หากคำตอบว่า เราไม่ได้ทำตัวเป็นประโยชน์ จะมีความรู้สึกว่าตัวเองหยุดนิ่งและว่างเปล่า รู้สึกเหมือนชีวิตไม่มีความหมาย ไม่ก้าวไปข้างหน้า แนวคิดเช่นนี้ทำให้ชีวิตติดหล่มจนเป็นวิกฤตในที่สุด”

อาจารย์ยกตัวอย่างตนเอง ก่อนหน้าจะมาเป็นนักจิตวิทยา ในวัยอายุ 37 ปี ทำงานเป็นนักกฎหมายมาก่อน ปรากฏว่าในช่วงนั้นเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงต่อประเทศไทยคือ ‘สึนามิ’ ตัวอาจารย์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำอะไรอยู่ เพราะอยากลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มากไปกว่าการบริจาคเงิน อาจารย์เริ่มมองหาสิ่งที่อยากเป็นจริงๆ อยากทำอะไรที่มีประโยชน์กับคนอื่นมากกว่าที่เป็นอยู่ใน จึงตัดสินใจเรียนจิตวิทยาเพื่อมาบรรเทาด้านจิตใจให้ผู้คนที่ประสบความทุกข์ในเรื่องต่างๆ

“ในช่วงนั้นคำถามในหัวเต็มไปหมดเลย สิ่งที่เราทำดีจริงหรือ เราจะทำเช่นนี้ไปจนร่างกายไม่ไหวได้ไหม เรามีความสุขจริงๆ ไหม จนสุดท้ายตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกในสิ่งที่เราตั้งใจตอนอายุ 40 ปี”

มีการสำรวจในประเทศออสเตรเลียระบุว่าคนส่วนใหญ่จะมีความพึงพอใจกับชีวิตน้อยที่สุดในช่วงวัยกลางคน และสำนักงานสถิติแห่งชาติของออสเตรเลียก็ระบุว่าคนในช่วงอายุดังกล่าว มีทัศนคติในทางลบต่อการใช้ชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่ม ‘แซนด์วิชเจนเนอเรชั่น’ ที่ต้องแบกรับภาระดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า พร้อมกับดูแลบุตรหลาน และยังต้องมีภาระรับผิดชอบการงานที่เพิ่มมากขึ้น ขยับขยายตำแหน่งที่ต้องใช้ความรับผิดชอบมากขึ้นตามลำดับ กลุ่มนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและปัญหาที่เข้ามาประเดประดังกับชีวิตได้ชัดเจนที่สุด

“เมื่อทำงานมาระยะเวลาหนึ่งจะเริ่มเปลี่ยนบทบาท จากลูกน้องขึ้นมาเป็นหัวหน้า เริ่มมีความรับผิดชอบและหน้าที่ที่สูงขึ้น ส่วนบางคนต้องหันกลับมาดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ จากที่เคยเป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้นกำลังสนุกสนานสร้างเนื้อสร้างตัว พอถึงวัยหนึ่งพ่อแม่เจ็บป่วยไม่สบาย เราก็ต้องหันกลับมาดูแลพ่อแม่ บทบาทเราก็ต้องเปลี่ยนไป ในขณะที่ลูกของเราเองก็เริ่มออกจากรัง ไปมีครอบครัว ไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยไม่อยู่ที่บ้านอีกต่อไป เราจึงเกิดการตั้งคำถามว่าแล้วเรากำลังทำอะไรอยู่ในตอนนี้”

แต่ใช่ว่าทุกคนจะต้องตกลงในหลุมแห่งปัญหาและไม่สามารถก้าวผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้ หลายคนสามารถจัดการแก้ไขและก้าวพ้นวิกฤตที่เข้ามารุมเร้าไปได้ในที่สุด ทำให้นักวิชาการทางจิตวิทยาหลายคนเชื่อว่า ‘วิกฤตวัยกลางคน’ มักเกี่ยวข้องกับลักษณะนิสัยส่วนบุคคลและปัญหามาก-น้อย ที่เข้ามา ไม่เพียงแต่เรื่องของช่วงวัยเท่านั้น

“ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมี midlife crisis ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่เข้ามากระทบคือปัญหาส่วนตัวมากกว่า บางคนก็ผ่านไปได้ ไม่ได้นำไปสู่ภาวะขั้นวิกฤต แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับภาวะส่วนบุคคล เนื่องจากบางคนมีภาวะส่วนบุคคลที่ค่อนข้างดีมีต้นทุนที่ดี สามารถจัดการปัญหาได้อย่างดี แต่กลับกันในคนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากเกิดความเครียด กังวลมากๆ อาจส่งผลต่อปัญหาด้านจิตใจจนพัฒนาเป็น โรคซึมเศร้า ได้ในที่สุด”

จับสัญญาณ ‘วิกฤต’

“การเปลี่ยนไปของร่างกายหรือลักษณะนิสัยที่นำไปสู่ความผิดปกติมักมีสัญญาณบางอย่างบ่งบอกอยู่เสมอ ถ้าเรารู้ใจตัวเองหรือสังเกต เห็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในคนใกล้ตัว จะเป็นเรื่องที่ช่วยชี้ชัดถึงระดับของวิกฤตที่เขาหรือเธอเผชิญอยู่และสามารถหาวิธีรับมือแก้ไขโดยเร็ว”

สัญญาณแรกคือ มีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและความรู้สึก จากที่เคยร่าเริงอาจจะรู้สึกว่างเปล่า เหมือนชีวิตนี้ไม่มีความหมาย หรือเริ่มตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตของตัวเอง ประกอบกับเริ่มคิดถึงอดีตที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำให้เมื่อมองมายังปัจจุบันจึงมักเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอยู่เสมอ

“คนในช่วงอายุระดับนี้ความทุกข์ที่เจอมากคือความทุกข์ที่มาจากการเปรียบเทียบ ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ทำไมเราทำได้แค่นี้ เราไม่สามารถทำได้ขนาดเขา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณว่าอาจจะมีปัญหาการจัดการแก้ไขในเรื่อง midlife crisis ได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะในช่วงที่โซเชียลมีเดียเป็นโลกทางสังคมที่สำคัญอีกใบหนึ่ง สามารถพบเห็นผู้คนที่ประสบความสำเร็จได้มากมาย นำมาสู่การคิดย้อนกลับถึงตนเองในช่วงนี้ว่ามีอะไรบ้าง”

อาจารย์ชี้แจงว่า โลกโซเชียลเป็นเหมือนดาบสองคม ให้ทั้งคุณประโยชน์มากมายมหาศาลในขณะเดียวกันถ้าเข้าไปหลงใหลจนรู้สึกว่าโซเชียลเป็นโลกความจริงอีกใบ ก็มีโทษที่อันตรายเช่นกันโดยเฉพาะเรื่องของความคาดหวัง ที่เห็นผู้คนมากหน้าหลายตาต่างประสบความสำเร็จ บ้างเป็นคนใกล้ตัว บ้างก็ไร้ซึ่งตัวตน ทำให้ใจเราคิดว่าสักวันต้องทำได้ตามที่คาดหวังไว้ จนกระทั่งเกิดการกดดันตัวเองที่มากจนเกินไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

“ความคาดหวังที่เกิดขึ้นทั้งต่อตัวเองและสังคม คาดหวังว่าในวัยนี้คุณต้องก่อร่างสร้างตัวได้ ในวัยนี้คุณต้องมีลูก คุณต้องทำหลายอย่างได้ จึงมีการเปรียบเทียบว่าคนอื่นทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้ แล้วเกิดความรู้สึกสงสัยในตัวเอง ว่าความสามารถในตัวเอง ศักยภาพที่ตัวเองมีเหมาะสมไหม เมื่อคิดเช่นนี้ทุกวันความกดดันนั้นจะไปทำลายสุขภาพจิตใจของตัวเราเอง”

“อีกด้านพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือ มีการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งช่างใจ บางคนออกไปชอปปิงซื้อของแบรนด์เนมให้อินเทรนด์ตลอดเวลา บางคนอาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ โดยอยู่ภายใต้ความคิดว่าทำอย่างไรตัวเราฮิต เป็นที่ชื่นชอบเหมือนในอดีต บางคนอาจเริ่มไปทำศัลยกรรมในช่วงนี้ เพราะไม่พอใจที่ร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ”

อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ความรู้สึกที่อยากให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ อยากแต่งตัวหรือออกกำลังกายให้แข็งแรง นั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ในกรณีที่เป็นปัญหาคือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจนกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน

สัญญาณต่อมาคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในเรื่องต่างๆ เรามักได้ยินว่าเมื่อ ‘วัยกลางคน’ ความสัมพันธ์หลายอย่างเริ่มส่อแววสะบั้นลง ความสัมพันธ์เรื่องเพื่อนที่เริ่มเหินห่างเพราะมีภาระเรื่องครอบครัวและหน้าที่การงาน หรืออาจเป็นความสัมพันธ์ด้านคู่รัก อยากทำอะไรท้าทาย นอกกรอบ การเดตกับคนที่อายุน้อยกว่า เพราะมีความรู้สึกว่า ยังมีความเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ เราเลยอยากทำเช่นนั้นเพื่อโหยหาความใส่ใจ ความรู้สึกที่เคยได้รับ เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง ซึ่งในบางคนที่แต่งงานแล้ว อาจจะนำไปสู่ปัญหาครอบครัวได้ หรือเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยกะทันหันความสัมพันธ์จากเพื่อนกลายเป็นหัวหน้า-ลูกน้อง และความคาดหวังในองค์กรกับภาระงานที่มากขึ้น หรือการออกจากงานเองก็ตาม

“เวลามองเรื่อง midlife crisis บางครั้งเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ส่วนบุคคลด้วย บางคนผูกอัตลักษณ์ตัวเองไว้กับการทำงานด้วย การงานทำหน้าที่บ่งบอกซึ่งตัวตนของเขาว่าเขาเป็นใคร เมื่อ ไม่มีงาน กลายเป็นว่ามีความรู้สึกว่างเปล่า เลยย้อนกลับไปตั้งต้นที่คำถามว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร ใช้ชีวิตไปทำไม ย้อนกลับมาคุยกับประสบการณ์ที่ผ่านมา เลยอาจมีความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง”

สัญญาณสุดท้ายคือเริ่มพึ่งพาอบายมุข ใช้สารเสพติดที่มากเกินไปเพื่อโหยหาความสุขที่ขาดหายไป แน่นอนว่าการใช้สารเสพติดเกินปริมาณที่ร่างกายรับได้ย่อมกระทบต่อสุขภาพโดยตรงซึ่งอาจรุนแรงถึงทำลายสมองและเสียชีวิตได้ ที่สำคัญคือกระทบต่อครอบครัวและสังคม

ควรทำอย่างไรให้ โตไปไม่เจอวิกฤต

ในวันหนึ่งเจเนอเรชั่นถัดไปย่อมเติบโตขึ้นและเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนกลางตามช่วงเวลาของชีวิต แต่คำถามที่สำคัญคือจะสามารถอยู่ร่วมกับปัญหา เข้าใจที่มาและสาเหตุ ตลอดจนสามารถแก้ไขก้าวข้าม ‘ วิกฤต ’ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร แน่นอนว่าใน Gen ที่กำลังประสบปัญหาย่อมต้องการทางออกไม่แพ้กัน แต่จะดีกว่าไหมหากในทุกเจนเนอเรชั่นที่เติบโตมาต่างได้เรียนรู้และวิธีแก้ไขโดยใช้เวลาบ่มเพาะตั้งแต่วัยเด็ก ค่อยๆ ฝึกปรับเปลี่ยนไปทีละนิดเพื่อเตรียมจิตใจให้พร้อมรับมือกับปัญหาที่พร้อมจะถาโถมเข้ามาในชีวิต

๐ การสังเกตความคิดและอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ

เริ่มด้วยการรู้เท่าทันความคิด หมั่นสังเกตอารมณ์ตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์เศร้า ท้อแท้หรืออารมณ์ใดก็ตาม เมื่อรู้ทันความคิดแล้วให้ลองมองย้อนกลับไปว่าเรากำลังทำอะไรอยู่และจะทำสิ่งใดต่อไป หากไม่รู้ว่าต้องทำอะไรลองปรึกษาตัวเอง สมมุติว่าเราเป็นเพื่อนกับตัวเอง แล้วมีคนที่มีนิสัยเหมือนเราทุกประการมาขอคำปรึกษา เราจะให้คำปรึกษาว่าอย่างไร แล้วนำคำดังกล่าวนั้นมาใช้กับตัวเอง

“ เชื่อว่าหลายคนเคยให้คำปรึกษากับคนอื่นมากมาย แต่เรากลับไม่เคยนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้กับตัวเองเลย ใจดีกับตัวเองยอมรับฟังตัวเองก่อน และต้องเรียนรู้ตามอารมณ์ให้ทัน ”

๐ ความคิด ไม่เท่ากับ ความเป็นจริง

ความคิดมัก ล่อลวง ให้เราหลงเชื่อว่าสิ่งนั้นจริง และต้องรู้สึกเช่นนั้นเสมอ แต่หากเรารู้และเข้าใจว่า ในบางครั้งความคิด ในหัวเราไม่ได้เป็นความเป็นจริงเสมอไป เพราะเรามีอารมณ์ความรู้สึกวิตกกังวล มีความคิดด้านลบ ปัญหามากมายทำให้จิตใจพะว้าพะวังกับความเศร้าและทุกข์ตลอดเวลาจนบางครั้งลืมไปว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ในชีวิตจริงที่เราทำได้ดี

“เพราะคนเราเวลาอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกด้านลบมักจะมีอารมณ์ร่วมที่มากกว่า บางครั้งจึงเลือกที่จะไม่รับในด้านบวก เราจะแกล้งมองไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จนอาจจะลืมไปว่าสิ่งที่เราคิดเป็นเพียงสิ่งที่เราจินตนาการขึ้นในสมองของเรา”

“ให้พยายามมองความคิดเป็นเพียงความคิด อย่าไปยึดติด คือมนุษย์ทุกคนตามธรรมชาติเวลามีความคิดขึ้นมามักจะเชื่อความคิดดังกล่าวว่าเป็นความจริง เช่น ความคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เมื่อเราคิดร่างกายและจิตใจจะรู้สึกว่าไม่เก่งจริงๆ เราจึงควรตระหนักว่า ความคิดไม่เท่ากับความจริง”

๐ มีสติอยู่เสมอ

“สติช่วยได้เสมอ ทำให้เราดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เรามองอนาคตมากเกินไปจนเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ที่มันมีความสุขความพึงพอใจที่มีอยู่แล้ว อนาคตต้องมองบ้างอยู่แล้วเพื่ออนาคตแต่บางทีเรามองจนกังวลมากเกินไป พอกังวลก็เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ทำนายไม่ได้ไม่แน่นอน พวกนี้ทั้งหมดทำให้เกิดความกังวล เพียงเราคิด เราก็นำอนาคตมาอยู่กับปัจจุบันแล้ว กังวลมากเกินไป มีคำกล่าวคำหนึ่งว่า เรื่องใหญ่ที่สุดในวันนี้ พอถึงพรุ่งนี้ก็เป็นเรื่องเล็กนิดเดียว ถ้าเรามีสติพึงรู้และเข้าใจ”

“ทุกสิ่งที่เข้ามาหาตัวเราเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แม้กระทั่งอารมณ์ ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์มาแล้วก็ไป เมื่อค่อยๆ เรียนรู้กับชีวิตจะพบว่าไม่มีอะไรจริงแท้และถาวร ความคิดอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกัน ห้ามความคิดยากที่สุดแต่เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้ สร้างความสัมพันธ์ที่มันไม่มีอิทธิพลเหนือเรา”

๐ ไม่ตำหนิตัวเอง สร้างความรู้สึกขอบคุณและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ

พลังบวกย่อมดีกว่าพลังลบเสมอ วิธีหนึ่งที่อาจารย์แนะนำคือการสร้าง ‘ความรู้สึกขอบคุณ’   ในทุกสรรพสิ่งรอบตัว (gratitude emotional) ที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมี ‘ความสุข’ และวิธีที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘พูดให้กำลังใจตัวเอง’ อยู่เสมอ ไม่ตำหนิและตัดสินตัวเองในวันที่เหนื่อยและอ่อนแอ เพื่อให้อย่างน้อยร่างกายและหัวใจรับรู้ว่าตัวเราเองยังภาคภูมิใจและรักชีวิตของตัวเอง ไม่ต่างจากรักสิ่งอื่นๆ ภายนอก

“เรามีสิทธิ์คิดในแง่ลบได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งความคิดเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดอย่างไรก็ได้ แต่เราจะจัดการบริหารอย่างไรกับความคิดดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เราตำหนิตัวเองเยอะไปหรือไม่ บางทีคนเราใจดีกับคนอื่นตลอดเวลาเป็นเรื่องง่ายแต่เมื่อถึงช่วงต้องใจดีกับตัวเองกลับยากและลำบากที่สุด”

๐ เปรียบเทียบไปก็เหนื่อยทั้งกายและใจ

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด ‘ วิกฤตในวัยกลางคน ’ คือการมีความคิดเปรียบเทียบอยู่เสมอ ‘โฟกัสในสิ่งที่เราขาด’ ก็ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข แต่หากเราถอยออกมาจะพบว่าแต่ละคนต่างมีทิศทางของชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนมีพื้นฐานทางชีวิตที่ดีเป็นทุนเดิม เขาจึงประสบความสำเร็จได้เร็ว หากเรียนรู้ที่จะเข้าใจและพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี มองเห็นความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวก็จะช่วยได้ไม่น้อย

“มีคำกล่าวในภาษาอังกฤษว่า the grass is always greener on the other side หมายความว่าหญ้าข้างบ้านมักจะเขียวกว่าบ้านตัวเอง การเปรียบเทียบเช่นนี้ทำให้เราไม่อยู่กับปัจจุบัน เมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา เรามองเห็นแต่สิ่งที่เราขาด แต่เราไม่ได้มองว่าสิ่งที่เรามีคืออะไร อะไรที่เรามีรวมถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านั้นทำให้เรามีความสุข”

๐ วิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

บางครั้งความตั้งใจและความคาดหวังที่มีมากจนเกินไป อาจบดบังการมองเห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสิ่งที่เกิดขึ้นบางอย่างไม่ได้ขึ้นกับการตัดสินใจของตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ โดยรอบเป็นปัจจัยควบคุมเช่นกัน เช่น การที่เราคาดหวังไว้สูง เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จตกลงมาย่อมเจ็บ แต่เจ็บนั้นไม่ใช่กาย แต่คงเป็นใจที่บอบช้ำ ดังนั้นการรู้และเข้าใจสถานการณ์ว่าในความเป็นจริงบางเรื่องก็ได้เพียงเท่านี้ อาจไม่ประสบผลสำเร็จไปเสียทุกด้านแต่อย่างน้อยก็มีหลายอย่างที่ประสบผลสำเร็จ

๐ สมุดบันทึก ‘ความสำเร็จ’

ลองโน้ตบันทึกความสำเร็จในรายวัน เพื่อให้เห็นความสุขจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น อย่าเพียงมองแต่ความสำเร็จชิ้นใหญ่ ให้มองเรื่องเล็กสุดแสนธรรมดาบ้างก็ได้ เช่น นาฬิกาปลุกแล้วเราลุกขึ้นมาทันที จัดเตียงออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าก็เป็นอีกความสำเร็จแล้ว

“หากเรามองหาแต่สิ่งใหญ่ๆ ที่ต้องเห็นชัดๆ แต่เราละเลยกับสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน สำคัญมากที่จะหล่อเลี้ยงใจตนเองให้อยู่กับสิ่งๆ ดีๆ ที่มีในทุกวัน”

๐ ถ้าไม่ไหวการไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

อีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาคือ เข้าไปพบผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้โดยตรง เพื่อที่จะได้รักษาหรือแก้ไขได้อย่างถูกต้อง

“บางปมปัญหา เราแก้คนดียวอาจจะยากเกินไป การพึ่งพาผู้อื่นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เปิดใจให้หมอหรือผู้เชี่ยวชาญค่อยๆ ลำดับความคิดเพื่อหาทางออกของปัญหา หรือในบางรายอาจมีความเครียดสะสมจนต้องใช้ยารักษาตามอาการ ดังนั้นการมาหาหมอจึงเป็นสิ่งที่ดีและควรทำอย่างรวดเร็วถ้ารู้ว่าตัวเองเริ่มมีอาการ”

อาจารย์ฝากทิ้งท้ายว่า การแก้ไขวิธีง่ายที่สุดในเรื่อง midlife crisis คือเรียนรู้และค่อยๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนที่เข้าใจถึงปัญหาและทางออก รู้ทันความคิดอยู่เสมอ ทำทุกวันให้เป็นวันที่ดีสุด ลดการตำหนิตัวเอง ฟังเสียงในหัวโดยมีสติเข้าใจ เพียงพอที่จะรู้ว่าภายในของเราคืออะไรค่อยๆ ฝึก จนสุดท้ายเชื่อว่าทุกคนสามารถก้าวข้ามเกลียวคลื่นแห่งปัญหาไปได้อย่างแน่นอน

เป็นปกติที่เกลียวคลื่นแห่งปัญหาเข้าถาโถม แต่ทุกคลื่นย่อมมาและจากไป บางคลื่นใหญ่บางคลื่นเล็ก แต่ทุกยอดคลื่นที่เข้ามากระทบคือการเรียนรู้ เริ่มจากอาการเซค่อยๆ ไถล สุดท้ายย่อมฝ่าวิกฤตไปได้ เหมือนคนที่สามารถโต้อยู่เหนือคลื่นแห่งชีวิต

Credits

Authors

  • อธิวัฒน์ อุต้น

    Author & Drawชื่อแดนซ์, ยังคงตามหาว่ามีใครใช้ชื่อซ้ำกันไหมและหวังว่าจะพบในสักวัน บางครั้งก็จับกีตาร์ บางครั้งก็จับปากกา บางครั้งก็จับกล้อง (แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่ไล่จับความฝัน)

  • สุกฤตา ณ เชียงใหม่

    Author & Drawรับบทเป็นกราฟิกสาววัยเบญจเพส เป็นคนชอบศิลปะ จับปากกา แต่พอโตขึ้นมาเพิ่งจะรู้ว่าชอบเธอ ฮิ้ววว :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ