รู้หรือไม่? ถ้าเข้าสู่วัยทองก่อนวัย 45 ปี ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
“บุพการีที่เคารพ” คู่มือการดูแลพ่อแม่ของคน #Genลูก คุยกับ นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ (หมอโอ) แพทย์ผู้ชำนาญการสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เจ้าของเพจ “การแพทย์แปดนาที” ที่จะมาให้ความรู้ว่าวัยทองคืออะไร อาการแบบไหนที่เข้าข่ายวัยทอง และวิธีการรับมือที่ถูกต้องของตัวเองและคนรอบข้าง
เมื่อไรถึงเริ่มเข้าสู่วัยทอง
อาการวัยทองของผู้หญิงจะเริ่มนับในช่วง 1 ปีหลังจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการช่วงอายุ 49-50 ปี และจะมีอาการอยู่ประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี ส่วนวัยทองของผู้ชายจะเริ่มพบในช่วงอายุประมาณ 60-65 ปี ขึ้นไป
การเข้าสู่วัยทองนั้นหลายคนไม่มีอาการ บางคนมีอาการไม่มาก ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องทำการรักษา อาการวัยทองนั้นจะต้องรักษาก็ต่อเมื่อมันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง
เช็กลิสต์สัญญาณอาการวัยทอง
อาการเบื้องต้นที่เป็นสัญญาณการเข้าสู่วัยทองของผู้หญิง คือ ร้อนวูบวาบ ขาดประจำเดือน ช่องคลอดแห้ง คันยุบยิบ ตกขาวผิดปกติ ไอจามจนปัสสาวะเล็ด ปวดตามข้อ ตาแห้ง และหลง ๆ ลืม ๆ
ส่วนผู้ชายจะไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ถ้าหากสงสัยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการประเมินและรักษาต่อไป
สำหรับวิธีการรักษาก็มีทั้งแบบที่ใช้ยาและไม่ใช้ยา ถ้าไม่อยากรักษาด้วยการกินยาหรือวิตามิน ก็อาจจะลองออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ปรับพฤติกรรมด้วยการใส่เสื้อผ้าที่ช่วยระบายความร้อนได้ดี ไม่กินอาหารรสจัด หรืออาหารที่ออกร้อน เช่น พริกไทย นอกจากนั้นก็พยายามมีสติ ฝึกหายใจ ถ้าสามารถทำได้ก็ไม่ต้องกินวิตามินหรือกินยา เพราะจริง ๆ แล้วการทานยากลุ่มนี้นาน ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้
เข้าสู่วัยทองก่อน 45 อันตรายกว่าที่คิด
ถ้าหากอาการวัยทองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเข้าสู่วัยทองก่อนอายุ 45 ปี จะต้องเข้ารับการรักษา เพราะมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน และเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ มีโอกาสที่จะเสียชีวิตค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น เพราะการขาดฮอร์โมนจะทำให้หลอดเลือดแข็ง และมีความเปราะได้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ ถ้าหากสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่เข้าข่ายวัยทองหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวิจนิจฉัยและรักษาต่อไป
11 ข้อที่ผู้หญิงวัย 50 ควรทำก่อนหมดประจำเดือน
- หัดนั่งสมาธิ เพราะเวลาเข้าวัยทองจะคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
- ออกกำลังแบบ aerobic เช่น เดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ กระโดดเชือก หรือ เต้นแอโรบิก จะช่วยเรื่องความแข็งแรงของหัวใจ ปอด และกระดูก
- ออกกำลังแบบ anaerobic เช่น ยกน้ำหนัก ออกกำลังแบบสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยป้องกันการหกล้ม
- รับแสงแดดยามเช้า เพราะวิตามินดีจะช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรง
- กินแคลเซียมให้เพียงพอ กระดูกคนเราจะสมบูรณ์เต็มที่ก่อนอายุสามสิบ หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เสื่อมลง
- ตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปี เพราะมะเร็งปากมดลูกยังเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของผู้หญิง ทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้าพบตั้งแต่ระยะต้น ๆ โอกาสในการเสียชีวิตจะต่ำมาก
- ตรวจแมมโมแกรมทุกสองปี เมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เพื่อหาความผิดปกติของเต้านม
- คุมอาหาร เพราะยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งลดน้ำหนักยาก
- เล่นซูโดกุ เพื่อช่วยฝึกเรื่องความจำ
- ฝึกขมิบช่องคลอด เพราะพอเข้าสู่วัยทอง อาการน้องสาวหย่อนคล้อยจะเริ่มถามหา
- ตรวจวัดสายตา เพราะค่าสายตาจะเริ่มเปลี่ยน ทำอะไรไม่สะดวก และบางครั้งอาจนำไปสู่อาการปวดศีรษะได้
ข้อมูลบางส่วนจากเพจ การแพทย์แปดนาที
ฟังสัมภาษณ์แบบเต็ม ๆ ได้ทาง บ้านจะแตก “แม่” เริ่มเป็นวัยทอง ทำไงดี? ใน บุพการีที่เคารพ Season 3 EP. 27