แม้ภาชนะที่มีรอยร้าวหรือแตกไปแล้วจะไม่สามารถประกอบร่างให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้ แต่ก็ใช่ว่ามันจะต้องถูกโยนทิ้งไปอย่างไร้ความหมาย เพราะมันอาจกลายเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมที่ยังคงมีคุณค่าและความสวยงามให้ชื่นชม
มนุษย์ต่างวัย ชวนทุกคนไปชมนิทรรศการรูปแบบใหม่ที่เราจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างผลงานนั้นแล้วนำไปจัดแสดงร่วมกับผลงานของผู้เข้าชมนิทรรศการคนอื่น ๆ โดยที่ชิ้นงานศิลปะนี้ไม่ได้สร้างจากกระดาษ สี พู่กัน หรือวัสดุสวยงามใด ๆ หากแต่สร้างจากเศษจาน ชาม ถ้วยแตกหักกระจัดกระจายที่วางกองอยู่บนโต๊ะ ที่มีชื่อว่า ‘Mend Piece’
Mend แปลว่า ‘ซ่อม’ ส่วน Piece แปลว่า ‘ชิ้นส่วน’ นิทรรศการนี้จึงชวนทุกคนมาต่อ ตัด มัด แปะ ชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กลายเป็นรูปร่างขึ้นมาใหม่ ซึ่งมันสามารถเป็นอะไรก็ได้ โดยไม่มีกรอบหรือกฎเกณฑ์ใดมาจำกัด
ซ่อมแซมเพื่อสร้างสรรค์
นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของบางกอก คุนส์ฮาเลอ ที่คงคอนเซ็ปต์การสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากการซ่อมแซมสิ่งเก่าเพื่อเผยความหมายใหม่ให้พื้นที่ เนื่องจากอาคารแห่งนี้เคยเป็นโรงพิมพ์เก่าที่เคยถูกไฟไหม้เสียหายแล้วถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ เหมือนกับผลงานศิลปะชิ้นนี้ของโยโกะ โอโนะ ศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชาวญี่ปุ่น ที่มีแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานจากการโอบรับความไม่สมบูรณ์และประวัติศาสตร์ของวัตถุซึ่งมีความเชื่อมโยงกับแนวคิด “คินสึงิ” ศิลปะการซ่อมแซมถ้วยชามของชาวญี่ปุ่นที่ว่าด้วยการโอบรับความไม่สมบูรณ์หรือแตกสลายเพื่อที่จะเผยความงดงามขึ้นใหม่อีกครั้ง
คำว่า ‘คินสึงิ’ เป็นคำประสมภาษาญี่ปุ่นระหว่างคำว่า ‘คิน’ ที่แปลว่า ‘ทอง’ กับคำว่า ‘สึงิ’ ที่แปลว่า ‘การประสาน’ รวมกันเป็นคำว่า ‘การประสานด้วยทอง’ ศิลปะแบบคินสึงิ มีอีกชื่อเรียกว่า ‘คินสึคูโรอิ’ หมายถึง ‘การซ่อมแซมด้วยทอง’ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการที่ละเอียดอ่อน และใช้เวลายาวนานในการซ่อมแซม
วิถีแห่งคินสึงินั้นเป็นการซ่อมแซมทีละขั้นตอน ประกอบด้วย การแตกหัก ประกอบขึ้นมาใหม่ รอเวลา เยียวยา เผยความงาม และเปี่ยมคุณค่า
ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน ไม่มีใครที่ชีวิตสมบูรณ์และไม่เคยผิดพลาด เราต่างมีช่วงชีวิตที่ต้องพบเจอกับปัญหา ความยากลำบาก ความผิดหวัง การสูญเสีย การเปรียบเทียบ แต่ชีวิตเราล้วนเติบโตได้จากความผิดพลาด ความล้มเหลว หรือความผิดหวังเช่นเดียวกัน
งานศิลปะที่ทำให้เราย้อนกลับมาดูความรู้สึกตัวเอง
ภายใต้ตึกเก่าที่บรรยากาศข้างในไม่ได้เงียบสงบหรือเสียงดังจนเกินไป โต๊ะ เก้าอี้สีขาวที่ถูกจัดไว้ชวนให้เรานั่งลงปล่อยใจสบาย ๆ แล้วค่อย ๆ เลือกเศษชิ้นส่วนเซรามิกที่กระจัดกระจายมาซ่อมแซมให้กลายเป็นรูปร่างบางอย่างที่มีความหมายเฉพาะในแบบของเรา โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์ง่าย ๆ ไม่กี่อย่าง คือ เชือก กาว กรรไกร และสก๊อตช์เทป
ตอนที่เราเลือกเศษชิ้นส่วนเซรามิกที่วางกระจายอยู่บนโต๊ะ เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะออกมาเป็นรูปอะไร เราแค่หยิบชิ้นส่วนที่คิดว่ามันน่าจะปะติดปะต่อกันได้มาวางรวมกัน ในใจก็ยังนึกอยู่ตลอดว่ามันจะบาดมือเราไหม ก็เลยค่อย ๆ หยิบเศษเซรามิกที่วางอยู่ตรงหน้าอย่างระมัดระวัง
เมื่อได้ชิ้นส่วนเซรามิกมาจำนวนหนึ่งพอที่จะต่อกันได้ ภาพบางอย่างก็แวบเข้ามาในหัว และเราคิดว่าอยากจะต่อให้มันออกมาเป็นรูปร่างตามนั้น ชิ้นไหนที่วางต่อกันเเล้วไม่สวย ไม่ได้ตามรูปร่างที่เราคิดไว้ เราก็วางกลับคืนเข้าไปในกองแล้วหยิบชิ้นใหม่มาต่อ ระหว่างที่ทำก็เก้ ๆ กัง ๆ อยู่นาน คิดว่าทำไมมันต่อแล้วไม่ได้รูปร่างอย่างที่อยากได้สักที แปะสก๊อตช์เทปก็แล้ว ใช้เชือกมัดก็แล้ว มันก็ยังไม่อยู่ หรือเราจะเลิกต่อแค่นี้แล้วเอาเท่าที่ได้ แต่เราก็รู้อยู่ว่าภาพในใจของเราคืออะไร ซึ่งถ้าเราหยุดแค่นี้มันก็จะไม่ออกมาเป็นรูปร่างอย่างที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก
ตอนนั้นมันทำให้เราเห็นเเล้วว่าใจเราเริ่มไม่เป็นสุข หงุดหงิด เพราะรู้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นมันไม่ได้ดั่งใจไปสักอย่าง จะบีบกาวมันก็แข็งจนบีบไม่ออก ดึงสก๊อตช์เทปมาแปะไขว้ไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็ยังไม่อยู่ นี่คงเป็นตัวอย่างของความอยากควบคุมให้ทุกอย่างออกมาเป็นอย่างที่ใจคิด แล้วถ้ามีอะไรที่ผิดไปจากที่ตั้งใจไว้ มันก็กลับกลายเป็นว่าสิ่งนั้นไม่ได้มีความหมายหรือถูกต้องในความคิดหรือความรู้สึกของเรา แม้จุดมุ่งหมายของนิทรรศการนี้จะบอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า “ศิลปะสามารถเป็นอะไรก็ได้”
สวยงามแม้ไม่สมบูรณ์
การประกอบร่างชิ้นส่วนเซรามิกมันสะท้อนให้เราได้กลับมามองเห็นความจริงบางอย่างอีกครั้ง สิ่งนั้นก็คือการที่เราต้องยอมรับสิ่งที่มันอยู่ตรงหน้าให้ได้อย่างเข้าใจว่าแม้เราจะอยากให้มันดีกว่านี้มากสักแค่ไหน แต่ด้วยปัจจัยและองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีอยู่ตอนนี้ ผลที่มันออกมาก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่อยู่ตรงหน้าเราแล้ว
ในวันที่เราอาจรู้สึกว่าเราสูญเสีย ผิดหวัง แตกสลาย ขอให้เชื่อมั่นว่ามันจะมีสักวันหนึ่งที่เราจะกลับมาแข็งแรงและยืนหยัดได้อีกครั้งเสมอ เหมือนกับเศษเซรามิกที่ถูกทุบจนแตกกระจายที่แม้มันจะไม่สามารถกลับไปเป็นถ้วย จาน ชามเหมือนเดิมได้ แต่มันก็กลายเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ที่มีคุณค่าและความสวยงามในแบบของตัวเอง
สำหรับใครที่มองหากิจกรรมบางอย่างที่จะทำให้เรามีเวลาได้กลับมาอยู่กับตัวเองอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แค่ไม่กี่นาที แต่มันอาจทำให้เราได้หยุดทบทวนบางอย่าง และช่วยนำทางเราให้ค่อย ๆ ได้กลับมาสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของตัวเองอีกครั้งว่า ณ ขณะที่เราอยู่กับเศษชิ้นส่วนเซรามิกตรงหน้านั้น เราอยู่กับมันจริงหรือไม่ และใจเรากำลังคิดถึงอะไรอยู่บ้าง ไม่แน่ว่าการได้ซ่อมแซมเศษเซรามิกที่แตกหักครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้เราได้สำรวจและซ่อมแซมจิตใจของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน
นิทรรศการ Mend Piece
จัดแสดงระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 ธันวาคม 2567
ทุกวันพุธ-อาทิตย์
เวลา 14.00 – 20.00
ที่ Bangkok Kunsthalle
เข้าชมฟรี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Bangkok Kunsthalle