เพราะการ “เกษียณ” ไม่เท่ากับ “การหยุด”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมนุษย์ต่างวัย วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ SCB Academy จัดโครงการเสริมสร้างทักษะผู้ประกอบการสูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการเกษียณมีดี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้สูงอายุในเขตยานนาวาและชุมชนใกล้เคียง ให้มีความรู้และทักษะใหม่ ๆ ไปต่อยอดและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง สามารถสร้างรายได้และอาชีพใหม่หลังเกษียณ เป็นการสร้างความภาคภูมิใจ และลดภาวะพึ่งพิงต่อสังคมของผู้สูงอายุ
โดยครั้งนี้มีคุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยายจากโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาเข้าร่วมกว่า 60 คน และมีวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมให้ความรู้ คำแนะนำ และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับผู้สูงอายุ เช่น การเรียนรู้เรื่องการปรับตัว และทัศนคติเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีความสุข การเรียนรู้เรื่อง Story Telling เพื่อนำไปใช้ในการทำสื่อออนไลน์ในการแนะนำผลิตภัณฑ์ หรือโฆษณาสินค้า หลักการตลาดขั้นพื้นฐานในการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ามากขึ้น
ผู้สูงอายุทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมต่างมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ กันอย่างเต็มที่ นอกจากสาระความรู้ดี ๆ แล้ว เชื่อว่าคุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยายยังได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างสนุกสนาน และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่นและน่าประทับใจมาก ๆ ครับ
“การมาเรียนรู้ในวันนี้ทำให้เราเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของสื่อกับผู้สูงอายุ และเห็นว่ามันเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีความมั่นใจในการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น ได้เห็นว่าแม้จะอยู่บ้านก็สามารถสร้างรายได้ได้ ไม่ต้องมีหน้าร้านเหมือนสมัยก่อน และไม่จำเป็นต้องตุนสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก
“ด้วยความที่ผู้สูงอายุแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกันก็เลยรู้สึกประทับใจที่วิทยากรมีความอดทน พยายามที่จะใช้คำพูดง่าย ๆ หรือวิธีการนำเสนอง่าย ๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความเชื่อมั่นในตนเองว่าทุกคนก็ยังสามารถทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคยได้
“ความสุขในวัยนี้ก็มีแค่การได้เรียนรู้ ได้ท่องเที่ยว และยังมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่ คนเราก็เหมือนเครื่องจักร ถึงแม้เกษียณไปแล้ว เราก็ยังต้องทำสิ่งต่าง ๆ อยู่ รถยนต์ที่ถูกจอดทิ้งไว้นาน ๆ เครื่องยนต์ยังพัง นับประสาอะไรกับเราที่เป็นมนุษย์ เราก็ยังต้องทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ระบบอวัยวะในร่างกายยังทำงานต่อไปได้เหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องหนัก อาจจะเป็นกิจกรรมเบา ๆ เช่น การท่องเที่ยว หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กับเพื่อนวัยเดียวกัน
“เราเดินทางมาถึงวัยนี้ มีความพร้อมหลาย ๆ อย่าง และเคยสร้างทักษะต่าง ๆ มาแล้ว อย่าอยู่เฉย ให้ลองทำสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ในตอนที่เรายังทำงานอยู่ อย่างตัวเราเองเป็นคนเมืองโดยกำเนิด ทำงานบริหารมาตลอด ทำให้เราไม่ถนัดในเรื่องการเกษตร ตอนนี้ก็เลยคิดว่าอยากจะเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น คิดว่าถ้าปลูกอะไรสักอย่างได้สำเร็จ เราก็คงภูมิใจ”
“ช่วงก่อนที่จะเกษียณก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ไอที พอเกษียณแล้วก็รู้สึกว่าอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อไปทำอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มได้ ก็เลยมาสมัครเรียนที่โรงเรียนผู้สูงอายุ
“กิจกรรมในโครงการฯ ครั้งนี้ ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับ Story Telling รู้วิธีการคำนวณราคาขายที่เหมาะสม ถ้าวันหนึ่งเข้าที่เข้าทาง มีโอกาสได้ลองขายจริง ๆ ก็อยากขายทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม นอกจากนี้เราก็ยังได้เรียนรู้เรื่องภัยออนไลน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทำให้เราระมัดระวัง และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่าง ๆ ก่อนทุกครั้ง เวลาที่เรากลับไปเจอเพื่อน ๆ ในชุมชน เราก็ได้แบ่งปันความรู้ที่เราเรียนมาให้เขาฟังด้วย ซึ่งเพื่อน ๆ ก็บอกว่าถ้ามีโอกาสก็อยากมาลองเรียนบ้าง
“ตอนนี้เรามีเวลาว่างแล้วมันก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะออกไปเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เรายังไม่เคยรู้ และทำให้เราได้เจอเพื่อน ๆ ด้วย ทุกวันนี้เราก็มาเป็นจิตอาสาช่วยทำความสะอาดวัดทุกเดือน เป็นการช่วยทำสาธารณประโยชน์และได้ออกกำลังกายด้วย”
“เราทำบัญชีในบริษัทเอกชนมาประมาณ 18 ปี หลังจากนั้นก็ไปอยู่ต่างประเทศ และกลับมาทำธุรกิจส่วนตัวต่อ พอช่วงโควิด-19 ก็ต้องปิดกิจการไป เลยใช้โอกาสนี้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้วก็ได้มาเข้ากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เลยได้เรียนรู้เรื่องการทำกระเป๋าสานจากผักตบชวา
พอได้ลองทำเห็นว่าเป็นประโยชน์ เราก็มาศึกษาด้วยตัวเองต่อ และตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อเรียนรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะคิดว่ามันเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกในกลุ่ม ช่วยฝึกสมาธิ และที่สำคัญคือช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ก็เลยทำมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ ‘ชวาสาน’ อย่างทุกวันนี้
“กิจกรรมครั้งนี้ทำให้เราได้รื้อฟื้นความรู้เก่าเกี่ยวกับมาร์เกตติ้ง พอเราได้มาจับสินค้าก็ทำให้เรามองเห็นภาพสิ่งที่เราจะไปทำต่อได้ ตอนนี้เรากำลังจะออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมากขึ้น โดยจะใช้ศิลปะลายไทยเข้ามาผสมผสานด้วย และจะพยายามสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา รวมทั้งปรับรูปแบบหน้าเพจใหม่ ใช้คนในการตอบข้อความแทนการใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วย
“การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด อย่าพยายามเป็นน้ำเต็มแก้ว มีอะไรเข้ามาเราก็ต้องรับเอาไว้ แล้วถ้าเราช่วยสานต่อได้ก็ต้องทำ อย่างน้อยก็เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับคนรุ่นต่อไป การทำงานสานกระเป๋าจากผักตบชวามันดีกับเรามาก เวลาที่เราได้เห็นรอยยิ้มจากสมาชิกในกลุ่มที่มาทำงาน มานั่งเล่น พูดคุยกัน มันก็ทำให้เรารู้สึกดีไปด้วย การได้ให้คนอื่น มันก็เหมือนเราได้ความสุขกลับมาเช่นกัน”