คุยกับ Masako Wakamiya นักพัฒนาแอปฯ วัย 89 ปี “เราควรจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศ และเชื้อชาติ”

“เดือนเมษายนที่จะถึงนี้ฉันจะอายุครบ 90 ปี  Audrey Tang อดีตรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวันเคยบอกว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีคนเรียกฉันว่าเป็นนักพัฒนาแอปฯ ที่อายุมากที่สุดในโลก เพราะเราควรจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศ และเชื้อชาติ เราควรเลิกสนใจเรื่องอายุไปเลย”

มนุษย์ต่างวัย ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณยาย “มาซาโกะ วากามิยะ” (Masako Wakamiya) นักพัฒนาแอปพลิเคชันชาวญี่ปุ่นในโอกาสที่เธอเดินทางมาร่วมการประชุมครั้งที่ 20 ของ The Active Aging Consortium in Asia Pacific (ACAP) ที่เมืองฟุกุโอกะ ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ “Towards Global Active Aging: Lesson Learned from Fukuoka” เมื่อวันที่ 17-19 มีนาคม ที่ผ่านมา

คุณยายมาซาโกะเริ่มลงมือพัฒนาแอปพลิเคชันเกมเป็นครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 81 ปี เป็นแอปพลิเคชันเกม “ฮินะดัง” (Hinadan) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เทศกาลฮินะมัตสึริ หรือ เทศกาลวันเด็กผู้หญิง ซึ่งผู้เล่นจะต้องจัดเรียงตุ๊กตาฮินะ (Hina dolls) ให้ถูกต้องตามตำแหน่ง คุณยายพัฒนาเกมได้สำเร็จตอนอายุครบ 82 ปี ซึ่งนอกจากจะเป็นเกมที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีแล้ว เกมนี้ยังเป็นเกมสำหรับครอบครัว โดยคุณยายมาซาโกะเล่าถึงที่มาของการหัดทำแอปฯ ด้วยตัวเองให้เราฟังว่า

“ในญี่ปุ่นมีเกมอยู่เยอะ แต่ไม่มีเกมไหนออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุเลย เล่นยังไงก็แพ้แน่นอน เพราะปัญหาของผู้สูงอายุเวลาใช้สมาร์ทโฟนก็คือมือแห้ง ทำให้ไม่สามารถกดหรือเลื่อนหน้าจอไปมาได้สะดวก ตาก็ไม่ไวเท่า ฉันเลยอยากเขียนโปรแกรมขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงวัยได้เล่น เกมนี้เป็นเกมสำหรับผู้หญิงซึ่งผู้ชายหรือคนรุ่นใหม่ไม่ถนัด ถ้าเล่นเกมนี้ เราเอาชนะเด็ก ๆ ได้แน่ ๆ”

คุณยายมาซาโกะ เกิดเมื่อปี 1935 และทำงานในธนาคารมายาวนานถึง 43 ปี ตั้งแต่ยุคที่ยังใช้ลูกคิดในการทำงาน หลังเกษียณแทนที่จะหยุดพักผ่อน เธอกลับใช้ช่วงเวลานี้ในการเริ่มต้นหัดใช้คอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัว ด้วยความที่เป็นคนชอบอะไรแปลกใหม่ การหัดใช้คอมพิวเตอร์จึงถูกใจคุณยายมาก ไม่ใช่แค่ใช้งานทั่วไป แต่ยังทำงานศิลปะด้วยโปรแกรม Excel จนไปถึงการเขียนแอปพลิเคชันด้วยตัวเอง

“ตอนเขียนแอปพลิเคชัน ก็ต้องใช้เวลานาน เพราะเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขียนโค้ดเอง เวลาติดขัดปัญหาอะไรขึ้นมา ก็ต้องเขียนอีเมลไปสอบถามจากผู้รู้ ซึ่งก็ค่อนข้างจะต้องใช้เวลา”

เมื่อถามว่าการเริ่มต้นเป็นโปรแกรมเมอร์ในวัย 81 ปี เป็นการเริ่มต้นชีวิตที่ 2 หรือ Second life สำหรับคุณยายหรือไม่ คุณยายบอกว่า ตอนอายุ 60 ถึง 70 เป็นช่วงเวลาที่ต้องฝ่าฟัน ไม่มีเวลาให้ได้มามองตัวเองอย่างจริง ๆ จัง ๆ แต่พออายุ 80 เป็นช่วงวัยที่สมบูรณ์พร้อมทำให้เธอได้มีเวลามองชีวิตตัวเองว่าต้องการอะไร

แม้ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ คุณยายมาซาโกะจะมีอายุครบ 90 ปีบริบูรณ์ แต่เธอก็ยังออกเดินทางไปบรรยายทั่วประเทศ รวมไปถึงอีกหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และก่อนหน้านี้ก็เคยได้รับเชิญให้ไปร่วมในงาน Apple Worldwide Developers Conference (WWDC)

“หัวข้อที่ฉันมักจะได้รับเชิญไปพูดคือเรื่องการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเรียนรู้ ตอนนี้ฉันก็พูดถึงเรื่อง AI ที่จะมาแทนที่คน ทำอย่างไรที่เราจะอยู่รอดในยุคของ AI” เมื่อถามว่า ใช้ AI บ้างหรือเปล่า คุณยายตอบว่าเธอใช้ Chat GPT และ Gemini เพื่อถามคำถามที่ไม่รู้ เช่น ให้ AI อธิบายให้คนอายุ 90 เข้าใจว่าเซมิคอนดักเตอร์คืออะไร

“เพื่อนคนหนึ่งของฉันเคยขอคำแนะนำจาก AI ว่า เมื่อสามีตายไปเราควรจะใช้ชีวิตอย่างไร เธอบอกว่า AI ใจดีกว่าคนเสียอีก” พอเราถามว่าแล้วยังมีอะไรอยากจะเรียนเพิ่มไหม คุณยายตอบมาว่าตอนนี้ยังนึกไม่ออก แต่เชื่อว่า อีกหน่อยก็น่าจะมี และถ้ามีก็จะรีบลงมือเรียนรู้ทันที

คุยกันมาถึงตรงนี้ ทีมมนุษย์ต่างวัยก็อดสงสัยไม่ได้ว่าความสุขของคุณยายในวัยใกล้ 90 ปี คืออะไร

ฉันเป็นคนที่มีความสุขมาก จนไม่เคยตั้งคำถามนี้เลยว่า ความสุขคืออะไร ถ้าฉันตายไปได้เจอกับพระเจ้าคงจะขอบคุณท่าน ที่ให้ชีวิตที่ดีกับฉัน และถ้าได้พบจริง ฉันคงต้องเตรียมตัวแต่งตัวให้สวยกว่านี้

ทีมมนุษย์ต่างวัยขอขอบคุณ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟุกุโอกะ ตลอดจน Prof. Takeo Ogawa และทีมงาน สำหรับการสนับสนุนการเดินทางและการจัดทำเนื้อหา

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ