“พ่อเคยบอกว่า มาราธอน คือ ชัยชนะเล็ก ๆ ที่ทำให้พ่อได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เขาอยากจะวิ่งไปเรื่อย ๆ และเก็บสนามมาราธอนไปด้วยกันอีกหลายสนาม ทุกวันนี้เขายังไหว เขาก็อยากให้พาเขาไปวิ่ง ดีกว่าวันหนึ่งที่เขาไม่ไหวแล้ว ผมต้องเข็นรถพาเขาไปนั่งดูคนอื่นวิ่งอีกที”
มนุษย์ต่างวัยคุยกับ ‘โบ๊ท’ ธนภูมิ กนกพิสิฐ ลูกชายวัย 33 ปี ที่ชวนคุณพ่อ ‘พ่อชล’ ชล กนกพิสิฐ วัย 66 ปี ให้หันมาดูแลสุขภาพด้วยการวิ่งเพราะอยากให้พ่อแข็งแรงและอยู่ด้วยกันไปนาน ๆ แต่พอวิ่งไปเรื่อย ๆ พ่อก็เริ่มติดใจและลุกขึ้นมาหยิบรองเท้าไปวิ่งทุกวันโดยไม่ต้องรอให้ใครบอก จนสุดท้ายพ่อชลก็สามารถพิชิตมาราธอนแรกได้สำเร็จในวัย 66 ปี โดยมีลูกชายอยู่ข้าง ๆ ตลอดเส้นทางตั้งแต่กิโลเมตรแรกไปจนถึงเส้นชัย
เริ่มก้าวแรกเพราะอยากดูแลสุขภาพ
“จุดเริ่มต้นในการชวนพ่อวิ่งมันเริ่มมาจากการวิ่งของตัวเองก่อน เมื่อก่อนผมก็ใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่น ดื่มเหล้า ปาร์ตี้ สูบบุหรี่ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย วันหนึ่งก็รู้สึกว่าสุขภาพมันเริ่มแย่ลง ก็เลยตัดสินใจว่าอยากกลับมาดูแลสุขภาพ เลยเริ่มต้นจากการเลิกบุหรี่ และเริ่มออกกำลังกายด้วยการวิ่ง
“ก่อนหน้านี้ผมเองก็ป่วยบ่อย เป็นภูมิแพ้ เจ็บหน้าอก บ้านหมุน สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่พอผมออกกำลังกายไปได้สักพัก สุขภาพเริ่มดีขึ้น ผมเลยลองไปสมัครงานวิ่งกับเพื่อน พอกลับมาก็รู้สึกประทับใจ ชอบบรรยากาศในงานวิ่งที่มีแต่คนรักสุขภาพ กลับมาก็เลยลองชวนคุณพ่อไปลงงานวิ่งด้วยกัน
“ตอนแรกพ่อเขาก็ยังไม่ได้ตกลงว่าจะไป แต่พอพ่อเขาเห็นว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันกับเขาเริ่มป่วย เป็นโรคร้าย เสียชีวิต บวกกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีเวลาว่าง ออกไปไหนไม่ได้ เพราะอยู่ในช่วงโควิด-19 ด้วย ก็เลยหากิจกรรมทำกันที่คอนโด โดยที่ไม่ต้องออกไปเจอคนเยอะ ๆ เริ่มจากชวนพ่อเดินรอบคอนโดวันละครึ่งชั่วโมง พอผ่านไปสัก 2-3 อาทิตย์ก็เริ่มจ็อกกิง
“พอซ้อมไปได้สักระยะก็พาพ่อไปลงงานวิ่งครั้งแรกที่หัวหิน เริ่มจากระยะ 10 กิโลเมตรก่อน พอพ่อเขาทำได้ เขาก็ดีใจว่าอายุขนาดนี้แต่เขาทำได้ เขายังวิ่งไหว แล้วเขาก็ภูมิใจในตัวเองที่เขาได้เลิกบุหรี่และหันมาออกกำลังกายแบบนี้”
วิ่งเปลี่ยนชีวิต
“พ่อเขาใช้ชีวิตค่อนข้างหนักมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ พอเขาอายุมากขึ้น ผมก็เห็นว่าเขาดูไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร ครอบครัวเรามีกันแค่ 3 คน พ่อ แม่ ลูก มีอะไรก็คุยกันได้ทุกเรื่อง ผมก็อยากให้เขาอยู่กับเราไปนาน ๆ ตอนนั้นคิดว่าการชวนวิ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เขากลับมาดูแลสุขภาพตัวเองได้
“ช่วงวัยรุ่นผมอาจจะไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัวเท่าไร ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่พอเริ่มมีการวิ่งเข้ามา เราก็จะได้เจอกันบ่อยขึ้น ผมจะนัดเวลาไปซ้อมวิ่งกับพ่อ ปกติจะซ้อมกันตลอดอยู่แล้ว ถ้าไปวิ่งข้างนอกคอนโด เช่น สวนลุมฯ สวนรถไฟ ผมจะเป็นคนพาพ่อไปทุกครั้ง
“ปกติผมจะสนิทกับพ่ออยู่แล้ว แต่การวิ่งยิ่งช่วยให้เราสนิทกันมากขึ้น พอมาวิ่งด้วยกัน ก็มีหัวข้อสนทนาเพิ่มขึ้น เช่น ไปวิ่งงานไหนดี ไปซื้อรองเท้ากันไหม ฯลฯ ส่วนเรื่องสุขภาพ เราเห็นชัดมากว่าจากที่พ่อเขาต้องคอยพ่นยา กินยา แก้ภูมิแพ้ ทุกวันนี้พ่อก็ไม่ได้กินยามาจะ 2 ปีแล้ว
“ผมไม่เคยมีภาพพ่อที่จบมาราธอนอยู่ในหัวเลย ดีใจมาก ๆ ที่เห็นพ่อเขาแข็งแรงได้ขนาดนี้ จากคนที่เคยสูบบุหรี่ นั่งดูทีวี กินขนม นอนดึก กลายเป็นคนที่หยิบรองเท้าออกไปวิ่งทุกวันแบบนี้ ตอนแรกกะจะชวนเขาวิ่งเล่น ๆ สนุก ๆ 10 กิโลเมตร 21 กิโลเมตร ไม่เคยคิดเลยว่าพ่อจะวิ่งได้ไกลถึงระยะมาราธอน มองย้อนกลับไป ถ้าวันนั้นผมไม่ตัดสินใจเลิกบุหรี่ แล้วหันมาออกกำลังกาย ตอนนี้ภาพกิจกรรมของผมกับพ่อก็อาจจะยังเป็นการนั่งชนแก้วเหล้าด้วยกันอยู่”
มาราธอนครั้งแรกของพ่อ
เวลาที่อยู่ในสนามวิ่งหลายคนจะมีช่วงเวลาที่ท้อจนอยากจะถอดใจ แต่สำหรับโบ๊ทการที่เขาหันไปแล้วเจอพ่อวิ่งอยู่ข้าง ๆ เสมอ มันทำให้เส้นทางที่ดูยาวไกลนั้นไม่ได้ยากลำบากจนเกินไป และทำให้เขามั่นใจว่าตัวเองจะสามารถเข้าเส้นชัยไปพร้อมกับพ่อได้แน่ ๆ
“ผมเคยพาพ่อไปวิ่งในระยะมาราธอนมา 2 สนามแล้วคือ ที่พัทยา กับ บางแสน แต่ผมประทับใจสนามแรก คือ Pattaya Marathon 2024 มากกว่า เพราะมันเป็นมาราธอนครั้งแรกของพ่อก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นโมเมนต์ที่พิเศษ
“จริง ๆ ตอนนั้นผมมีอาการบาดเจ็บช่วงระยะประมาณกิโลเมตรที่ 25 มันเจ็บเข่าด้านซ้ายมาก ๆ จนเหมือนจะไปต่อไม่ไหว แต่พ่อก็ดูแลผม ค่อย ๆ วิ่งไป ประคองไป แล้วไปขอยาจากหน่วยปฐมพยาบาลมาให้ พอได้ยาแล้วสักพักผมก็กลับมาดีขึ้นแล้ววิ่งต่อได้ มันก็เลยเป็นความประทับใจเล็ก ๆ ว่าเราตั้งใจที่จะพาพ่อไปจบมาราธอน แต่จริง ๆ แล้วกลับกลายเป็นพ่อที่พาให้ผมจบมาราธอนครั้งนั้นมาได้”
เส้นทางที่มีพ่อข้าง ๆ อุ่นใจกว่าเสมอ
“พอวิ่งมาเรื่อย ๆ ทุกวันนี้เหมือนพ่อเขาจะแข็งแรงกว่าเราแล้ว เวลาไปวิ่ง ผมก็เลยมักจะเห็นพ่อวิ่งอยู่ข้างหน้า เหมือนว่าเขาคอยนำทางให้เราเข้าเส้นชัยได้เสมอ การได้วิ่งกับพ่อ หรือการที่พ่อวิ่งอยู่ข้าง ๆ เราในทุกสถานการณ์นั้น มันต่างจากเวลาที่เราวิ่งคนเดียวหรือวิ่งกับคนอื่นเยอะ เพราะมันทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ แบบว่าพาพ่อมาวิ่งนะ จะได้แข็งแรงไปด้วยกัน ได้ช่วยเหลือ หรือผลัดกันดูแลเวลาที่ใครสักคนล้มลงในสนาม
“งานไหนที่ไปวิ่งคนเดียว มันอาจจะมีโมเมนต์ที่ท้อ หรือต้องกัดฟันบ้าง แต่เวลามีพ่ออยู่ข้าง ๆ มันอบอุ่นหัวใจมากกว่า อย่างเวลาที่เราล้ม เราเจ็บ พอหันไปแล้วเห็นพ่อวิ่งอยู่ข้าง ๆ เรา ใจมันก็ฮึกเหิมขึ้นมาว่าเราจะผ่านมันไปได้ เพราะพ่อก็อยู่กับเรา และเราก็อยู่กับพ่อตรงนี้”
อยากให้พ่อแข็งแรงไปด้วยกัน
“ผมมองพ่อเป็นฮีโรมาตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อเขาเลี้ยงผมเหมือนเป็นเพื่อน ก็เลยทำให้เราสนิทกัน ทุกอย่างที่เขาทำ เราก็อยากจะทำตาม พ่อเขาจะไม่ได้คอยมาบอกให้เราทำนั่นทำนี่ แต่เราจะเป็นคนเลือกในสิ่งที่เราอยากจะทำตามด้วยตัวเอง แต่ถ้ามีปัญหา หรือเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับชีวิต หันไปตอนไหน เราก็จะเจอเขาอยู่ข้าง ๆ คอยซับพอร์ตและให้กำลังใจเราอยู่เสมอ
“ถ้ามีพรสักข้อที่ขอให้พ่อได้ผมคงอยากจะขอให้พ่อมีสุขภาพที่ดี อยู่ทะเลาะกัน รักกันอย่างนี้ไปนาน ๆ ตราบเท่าที่จะเป็นไปได้”
ขอบคุณภาพจาก เพจวิ่งมาราธอน
ติดตามเรื่องราวและภาพความประทับใจเพิ่มเติมได้ที่ วิ่งมาราธอน