Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

ถอดบทเรียน มนุษย์ต่างวัย Talk “ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า…” ตอนที่ 2

ชีวิต ‘ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล’ บอกให้รู้ว่า…ความรักเป็นจุดอ่อนของคนทุกวัย

เมื่อพูดถึงดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล เชื่อว่าทุกคนคงนึกเธอในบทบาทของกูรูด้านความรักที่ให้คำปรึกษาและคลี่คลายปัญหาหัวใจให้แก่ผู้คนมากมายมานานกว่า 10 ปีแล้ว ผ่านรายการชื่อดังอย่าง Club Friday ของคลื่นวิทยุ Greenwave แต่งานนี้พี่อ้อยไม่ได้มาพูดถึงเรื่องความรักของวัยหนุ่มสาว แต่เลือกมาเล่าถึงอีกบทบาทหนึ่งในชีวิตที่ไม่ค่อยมีใครรู้ นั่นก็คือการเป็นลูกสาวคนหนึ่งซึ่งต้องคอยดูแลคุณพ่อคุณแม่ ที่เริ่มแก่ชราและเจ็บป่วย เธอได้เรียนรู้อะไรจากการทำหน้าที่ในบทบาทนี้บ้าง เราสรุปมาให้แล้ว

“ความรักเป็นจุดอ่อนของคนทุกวัย ไม่มีใครหมดวัยอกหัก”

เพราะความรักไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นแฟนกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราให้ความสำคัญกับใคร คนๆ นั้นจะมีผลต่อหัวใจของเราเสมอ ยิ่งเป็นคนที่รักยิ่งมีโอกาสที่เราจะทำให้เขาน้อยใจ เช่น เราตั้งใจไปต่อแถวซื้อของที่คิดว่าอร่อยที่สุดมาฝากแม่ แต่แม่กินแล้วไม่ชอบ เราก็รู้สึกเสียใจเหมือนอกหัก ในทางกลับกันเวลาแม่เตรียมทำอาหารเย็นสุดฝีมือเพื่อรอลูกกลับจากทำงานมากิน แต่พอลูกถึงบ้านบอกว่าแม่หนูเหนื่อยมากเลยขอนอนก่อนนะ แม่ก็จะน้อยใจ

“มีอะไรคุยกันไม่สำคัญเท่ามีอะไรฟังกันหรือเปล่า”

บางคนอาจจะรู้สึกว่าแม่ขี้บ่น อยากให้ทุกคนเข้าใจว่านี่เป็นคุณสมบัติประจำตัวของคนวัยนี้ และการอยู่กับคนสูงวัยหรือวัยไหนก็ตาม ถ้าไม่อยากให้เขาอกหักต้องฟังเขาเยอะๆ คอยถามและชวนพูดคุยบ่อยๆ พูดเพราะๆ มองตากันบ้างอย่ามัวแต่มองจอพิมพ์คุยกันผ่านไลน์ การยิ้มและโอบกอดช่วยลดระยะห่างของคนสองคนได้เสมอ

“นาฬิกาของคนทำงานกับนาฬิกาของคนรออยู่ที่บ้านมักเดินไม่เท่ากัน”

พี่อ้อยอายุ 50 กว่าแล้ว แต่แม่ยังโทรตามกลับบ้านทุกวันเหมือนยังเป็นเด็กอายุ 15 แต่พี่อ้อยไม่เคยรู้สึกรำคาญ เพราะถ้าวันนึงไม่มีเสียงนี้โทรตามคงจะเหงามาก และอาจรู้สึกว่าทำไมการกลับบ้านของตัวเองไม่มีผลกับชีวิตเลย

“ไม่มีเรื่องไหนเล็กไปถ้ามันทำร้ายหัวใจเราได้ ไม่มีเรื่องไหนเล็กไปถ้ามันทำให้หัวใจคนที่เรารักอบอุ่นได้”

อย่ามองว่าทุกเรื่องคือเรื่องเล็ก เช่น คุณแม่พี่อ้อยมีความสุขกับการให้ลูกเอารูปที่ถ่ายด้วยกันไปอัดรูปออกมาใส่รวมกันเป็นอัลบั้มไว้เปิดดู มากกว่าการดูรูปผ่านหน้าจอมือถือ ซึ่งในตอนแรกพี่อ้อยก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอเห็นคุณแม่มีความสุข ตัวเองก็มีความสุขไปด้วย

“การทำงานที่เรารักมักไม่เหนื่อย การทำเพื่อคนที่เรารักก็มักไม่เหนื่อยเช่นเดียวกัน”

เวลามีคนถามพี่อ้อยว่าทำงานหลายงานแถมต้องดูแลแม่ที่ป่วยด้วยไม่เหนื่อยเหรอ ประโยคข้างต้นคือคำตอบ “ก่อนที่จะมาถึงจุดทำได้ไง ทุกคนผ่านจุดทำไงได้มาก่อนทั้งนั้น เราเลือกได้หรอว่ามันต้องเป็นไปตามแผนชีวิตฉันสิ แม่จะมาป่วยตอนนี้ได้ไง ฉันงานเยอะอยู่ ทำได้หรอทำไม่ได้หรอกค่ะ”

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่พี่อ้อยได้เรียนรู้จากการดูแลคุณแม่ที่สุขภาพไม่แข็งแรง เช่น การใส่ใจสังเกตสิ่งเล็กน้อยอย่างสีปัสสาวะของแม่ที่ช่วยบ่งบอกอาการผิดปกติได้แต่เนิ่นๆ หรือการที่ต้องไปอยู่หน้าห้องผ่าตัดบ่อยๆ ทำให้รู้ว่าไม่มีอะไรที่คนเราอยากได้มากไปกว่า การที่คุณหมอเดินออกมาแล้วบอกว่าปลอดภัยแล้วครับ ต่อให้เราเคยอยากได้อะไรต่างๆ นานา สุดท้ายสิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือการมีลมหายใจและอยากให้คนที่เรารักยังมีลมหายใจอยู่ใกล้ๆ กัน

“อย่ามัวแต่มองข้างหน้าจนลืมมองคนข้างๆ ความสำเร็จจะอ้างว้าง ถ้าไม่มีคนข้างๆ ฉลองด้วย”

หลายคนให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจนมองข้ามคนในครอบครัว พี่อ้อยได้ยกตัวอย่างเรื่องคุณตาคุณยายที่ญี่ปุ่นคู่หนึ่งที่ช่วยกันทำงานอย่างหนัก เพื่อวางแผนไปเที่ยวดูดอกพิ้งค์มอส (Pink Moss) หลังเกษียณด้วยกัน แต่พอถึงวันที่พร้อม สายตาของคุณยายกลับมองไม่เห็นเสียแล้ว คุณตาจึงนำดอกพิ้งค์มอสมาปลูกเต็มพื้นที่ฟาร์มโคนมของตัวเอง เพื่อให้คุณยายตื่นเช้ามาได้กลิ่นและได้สัมผัสทุกวัน ชดเชยความผิดพลาดที่คุณตาพาคุณยายมาเที่ยวดูดอกพิ้งค์มอสในวันที่สายเกินไป

พี่อ้อยจึงดีใจมากที่มีโอกาสพาคุณแม่ไปเที่ยวญี่ปุ่นและถ่ายรูปกับภูเขาไฟฟูจิได้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาวางแผนเตรียมการล่วงหน้าเยอะมาก เพราะหลังจากกลับมาไม่นานก็มีข่าวโควิดระบาด ซึ่งเธอก็ไม่แน่ใจว่าภาพที่คุณแม่ถ่ายกับภูเขาไฟฟูจิตรงนั้นจะเป็นภาพสุดท้ายที่แม่ได้ไปญี่ปุ่นหรือเปล่า แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้พาแม่ไปในที่ที่แม่ต้องการสำเร็จแล้ว เราไม่รู้เวลาข้างหน้าเหลือเท่าไหร่แต่วันนี้ดูแลกันและกันให้ดีที่สุดก็พอ

“เวลาฟังเพลงอย่าฟังแค่เพราะอย่างเดียว เพราะเพลงบางเพลงบอกกับเราเสมอว่า มีคนเสียใจกับคำว่าถ้ารู้อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะไม่ใช่คนนั้น ถ้าตอนนี้ดูแลกันและกันให้ดี มือที่จับกันอยู่เราไม่รู้จะได้จับกันอย่างนี้อีกเมื่อไหร่”

ก่อนจบ พี่อ้อยได้เปิดคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่ถ่ายตอนไปเยี่ยมคุณแม่ที่เพิ่งออกจาก ICU เป็นภาพขณะที่พี่อ้อยใช้มือตัวเองเขี่ยมือคุณแม่เบาๆ เหมือนกำลังปลอบโยน “เขาคงรู้สึกว่าว้าเหว่มาก เพราะก่อนหน้านี้เข้าเยี่ยมไม่ได้ พอเจอหน้าปุ๊บเขาโกรธพี่อ้อยมาก ว่าพามาทิ้งที่ ICU ทำไม”

“สิ่งที่เขาขอพี่เสมอคือให้จับมือหน่อยได้ไหม ปกติเขาไม่หลับเลยนะคะ แล้ววิธีการที่พี่ใช้ปลอบโยนคือเอามือเล็กๆ ของเราเขี่ย นี่แหละค่ะสิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ไม่มีเรื่องไหนที่เล็กเกินไปถ้ามันทำร้ายหัวใจเราได้และไม่มีเรื่องไหนเล็กเกินไปถ้ามันทำให้คนที่เรารักอบอุ่นหัวใจที่สุด พี่เชื่อว่าทุกคนตรงนี้ทำได้ทุกคนค่ะ”

ชีวิต ‘ปั๊บ Potato’ บอกให้รู้ว่า…อยู่กับปัจจุบัน พร้อมเปิดรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและอยู่กับมันให้ได้

Speaker คนต่อมา คือ คุณปั๊บ – พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข นักร้องนำวง Potato ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ยืนอยู่ในวงการมานานถึง 21 ปี จนตอนนี้เขาอายุ 41 ปีแล้ว นิยามของวง Potato สำหรับคุณปั๊บจึงเปรียบเหมือนครึ่งหนึ่งของชีวิต ซึ่งในงานทอล์กครั้งนี้เขาได้มาบอกเล่าให้ฟังว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตที่ผ่านมานั้น เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง

วิธีรับมือกับชีวิตที่มีความเปลี่ยนแปลงบ่อย

ตลอดระยะเวลาที่ทำวง Potato คุณปั๊บได้พบเจอกับความเปลี่ยนแปลงหลายครั้งทั้งเพื่อนในวงเสียชีวิต มีสมาชิกลาออกต้องหาคนใหม่มาแทนเพื่อให้บริษัทยอมรับและให้ออกอัลบั้มต่อ แล้วก็จะมีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาอีกเรื่อยๆ เวลาเจอปัญหาหรือวิกฤตการเปลี่ยนแปลง เขาจะใช้วิธีเรียนรู้ที่จะยอมรับ อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงขณะนั้น แล้วค่อยๆ ปรับตัวไปตามสถานการณ์

วิธีจัดการกับความล้มเหลวและความผิดหวังจากการทำงาน

คุณปั๊บมักจะย้อนกลับมาถามตัวเองว่าเรามาทำอาชีพนี้ทำไม เราชอบอาชีพนี้มากขนาดไหน เรารักมันมากแค่ไหน แล้วก็ทำมันไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีความสุขที่ได้ทำนั่นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วในระดับตัวเอง พยายามทำหน้าที่ของตัวเองในขณะนั้นให้เต็มที่และดีที่สุดก่อน ส่วนผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง บางทีก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของคนฟังตัดสิน คนชอบไม่ชอบหรือวิจารณ์ยังไงเป็นสิ่งที่เราต้องนำมากลับมาปรับปรุงพัฒนาผลงานต่อไป

อีกวิธีคือการนั่งสมาธิ ซึ่งคุณปั๊บทำเป็นประจำมา 10 กว่าปีแล้ว เนื่องจากอาชีพการงานต้องพบเจอกับผู้คนและความวุ่นวายแทบตลอดทั้งวัน การนั่งสมาธิและใช้เวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ช่วยให้จิตใจของเขาสงบ สบายใจขึ้น เวลาเจอปัญหา การนั่งสมาธิไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหายไปได้ทันที แต่ทำให้ตัวเรามีสติคิดทบทวน แล้วค่อยๆ มองเห็นหนทางในการคลี่คลายปัญหาได้ในที่สุด

วิธีรักษาความเป็นตัวเองไม่ให้หล่นหายในโลกมายา

คุณปั๊บจะพยายามใช้ชีวิตเวลาอยู่ที่บ้านให้ใกล้เคียงกับเวลาออกไปทำงานข้างนอกที่ต้องออกไปเจอผู้คนต้องอยู่ท่ามกลางสื่อในฐานะบุคคลสาธารณะ เพื่อที่เวลากลับบ้านจะได้ไม่ต้องสับสนหรือรู้สึกเหนื่อยเกินไป เราไม่ต้องพยายามเป็นอะไรบางอย่างเพื่อให้เหมือนเราออกไปอยู่ข้างนอกตลอด โดยเฉพาะความรู้สึกและตัวตนข้างในไม่ใช่แค่สิ่งที่เป็นเปลือกนอก

วิธีรับมือกับความเจ็บปวดและปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

คุณปั๊บบอกว่าถึงจะเสียใจและเจ็บปวดแค่ไหนแต่ก็ต้องอยู่กับความเป็นจริงแล้วลุยต่อไป เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะตายหรือแพ้ เรามีสัญชาตญาณการเอาตัวรอด บางคนอาจเลือกการเดินหนีปัญหา แต่สำหรับเขาเลือกที่จะถอยตัวเองออกมาเพื่อมองให้เห็นปัญหาที่แท้จริง โดยไม่เอาตัวเองเข้าไปจมอยู่กับปัญหา

คุณปั๊บได้ยกตัวอย่างเทคนิคที่เขามักใช้บ่อยๆ คือการหลับตาแล้วจินตนาการว่าเรากำลังขุดหลุมลงไปลึกๆ จนมองไม่เห็นปลายหลุมคืออะไร จากนั้นก็ปั้นปัญหาต่างๆ ออกมาเป็นก้อนโยนลงไปในหลุมแล้วค่อยๆกลบ จากนั้นค่อยๆ ลืมตาขึ้น ปัญหาอาจจะยังไม่ได้หายไปแต่ความรู้สึกเครียดจะเบาบางลง เรากลบมันไว้ก่อนเพราะยังไม่มีแรงวิ่งชน แต่เมื่อเราแข็งแรงขึ้นก็ต้องไม่ลืมที่จะกลับไปแก้ไข ไม่ใช่ทิ้งปัญหาเอาไว้อย่างนั้น

ปิดท้ายด้วยการตอบคำถาม “ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า…” ซึ่งคุณปั๊บได้ตอบว่า “อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนี้ละกันครับ เพราะจริง ณ ตอนนี้กับจริงในอดีตมันก็ไม่เหมือนกัน มันไม่มีอะไรแน่นอน แล้วก็พยายามเปิดรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่าเอาตัวเองไปปักว่า ฉันคือคนนี้ วันนั้นฉันเป็นแบบนี้ จริงๆ แล้วตัวเราเองก็เปลี่ยน แต่เราอาจจะไม่รู้ตัว ก็อยู่กับความเปลี่ยนแปลงด้วยอยู่กับความเป็นจริงด้วย ผมว่าเราก็จะค่อยๆ ผ่านชีวิตไปได้เรื่อยๆ ทุกวันครับ”

ชีวิต ‘กระติ๊บ – ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล’ บอกให้รู้ว่า…

ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้ามีพรแสวงและหมั่นฝึกฝนตามกฎ 10,000 ชั่วโมง

Speaker คนรองสุดท้าย คือ คุณกระติ๊บ – ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล หลายคนน่าจะรู้จักเธอในฐานะนางงามและนักแสดง แต่งานทอล์กครั้งนี้เธอจะมาเล่าเบื้องหลังเส้นทางสู่บทบาทอาชีพใหม่อย่างช่างสักและเชฟ ซึ่งมีที่มาจากพรแสวงและการฝึกฝนตามกฎ 10,000 ชั่วโมง

ศิลปะเปลี่ยนชีวิต

ตั้งแต่เด็ก คุณกระติ๊บโตมาพร้อมกับคำว่า “สวยแต่โง่” เพราะเธอเรียนไม่เก่งเลยแถมยังเป็นเด็กสมาธิสั้น จนคุณหมอแนะนำคุณพ่อให้ลองหากิจกรรมอะไรให้เธอทำ จนกระทั่งค้นพบว่าเธอสามารถนั่งเรียนศิลปะได้นานตั้งแต่เช้าจนค่ำ พอขึ้นชั้นม.ปลาย เธอจึงรู้ตัวก่อนเพื่อนคนอื่นๆ ว่าอยากเรียนต่อด้านศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย จึงมุ่งเรียนพิเศษศิลปะตั้งแต่ชั้นม.4 และในที่สุดก็สามารถสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรได้ตามที่หวังด้วยคะแนนเต็ม 100 เหตุการณ์นี้ทำให้คุณกระติ๊บเริ่มเชื่อว่า “คนเราทำอะไรก็ได้ ถ้าเกิดเรามีเวลาเตรียมตัวมากพอหรือว่าเราทุ่มเทกับเรื่องนั้น”

ทำความรู้จักกฎ 10,000 ชั่วโมง

ต่อมาคุณกระติ๊บไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่ช่วยยืนยันในสิ่งที่เธอเชื่อ เป็นหนังสือที่พูดถึงเรื่องกฎ 10,000 ชั่วโมง โดยบอกว่าคนเราสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญได้ ถ้าเราฝึกฝนอย่างจริงจังและมุ่งมั่น
“ถ้าฝึกวันละ 1 ชั่วโมง ใช้เวลา 10,000 วัน หรือเท่ากับ 27 ปี แต่ถ้าเราฝึก 2 ชั่วโมงต่อวัน ใช้เวลา 5,000 วัน หรือว่าเกือบ 14 ปีเร็วขึ้นมาครึ่งหนึ่ง ถ้าเราฝึกวันละ 4 ชั่วโมง ใช้เวลา 2,500 วัน หรือราวๆ 7 ปี แต่ถ้าฝึกวันละ 8 ชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 1,250 วัน หรือเกือบ 4 ปี แต่ถ้าฝึกวันละ 12 ชั่วโมง ใช้เวลา 833 วัน หรือเกือบ 2 ปี

“การเริ่มต้นยากเสมอ เทคนิคของกฎ 10,000 ชั่วโมงมีหลายคนที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะว่าอ่อนแอ ยอมแพ้ไปก่อน แต่ถ้าติ๊บเชื่อว่าถ้ามีความหมั่นเพียร ไม่มีทางเลยที่เราจะไม่เก่ง”

โควิดเปลี่ยนชีวิตสู่การเป็นช่างสัก

ช่วงโควิดทำให้คุณกระติ๊บรู้สึกว่าคนเราไม่สามารถมีอาชีพเดียวได้ จึงลองถามตัวเองว่ามีอะไรอีกไหมที่ตัวเองอยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ จนได้คำตอบว่าอยากเป็นศิลปิน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะศิลปินด้านไหนดี วันหนึ่งเธอไปนั่งเล่นตรงลานน้ำพุหน้าสยามพารากอน ดูคนที่เดินผ่านไปมาแล้วพบว่า 3-4 คนใน 10 คนมีรอยสัก จึงปิ๊งไอเดียว่าอยากเป็นช่างสัก ซึ่งแฟนของคุณกระติ๊บก็สนับสนุนพาไปซื้ออุปกรณ์ทุกอย่าง ส่วนวิธีการสักเธอก็เรียนรู้ผ่านการดู Youtube จนสามารถสักผลงานชิ้นแรกลงบนหนังเทียมได้สำเร็จ หลังโพสต์ลง Instagram ก็ไปเข้าตาชาวฝรั่งเศสเจ้าของร้านสักชื่อดังแถวถนนข้าวสารชวนให้เธอไปเป็นช่างสักที่ร้าน

ความสามารถในการเป็นเชฟที่ได้มาโดยไม่รู้ตัว

เรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ คือ คุณกระติ๊บไม่ชอบอาชีพธุรกิจร้านอาหารเลย เพราะมีความฝังใจตั้งแต่เด็กจากการที่แม่เปิดร้านอาหาร แล้วยุ่งจนไม่เคยมีเวลามางานวันแม่ที่โรงเรียนได้เลย จนเธอถูกเพื่อนล้อว่าไม่มีแม่ แต่วันนึงคุณกระติ๊บมีโอกาสได้ร่วมแข่งขันทำอาหารในรายการมาสเตอร์เชฟ ทำให้เธอค้นพบความสามารถในการทำอาหารที่ได้มาโดยไม่รู้ตัว “เพราะตอนเด็กๆ ถ้าติ๊บอยากนั่งใกล้ๆ แม่ก็ต้องไปช่วยปอกหอม ซอยกระเทียม ทักษะพวกนี้เลยได้มาแบบไม่รู้ตัว เราเองก็ตกใจว่าเราสามารถผ่าปลาได้ ผ่าไก่ได้โดยที่เราไม่ต้องเรียนอะไรเพิ่ม”

คุณกระติ๊บได้ฝากทิ้งท้ายให้ผู้ฟังทุกคนได้คิดและลองค้นหาความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัว ซึ่งอาจนำมาพัฒนาต่อตามกฎ 10,000 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากหนึ่ง

“ลองค้นลองหาบางอย่างในตัวคุณดูสิคะ อาจจะมีบางอย่างที่คุณทำมันมาแล้วหลายชั่วโมงก็ได้ ถ้าวันนี้คุณรู้สึกว่าต้องมีอาชีพที่สอง ต้องมีทางออกทางอื่น ลองค้นดูในความทรงจำก็ได้ บางคนอาจจะเก่งเรื่อง Mechanic มาตั้งแต่เด็กแต่ว่าหยุดทำมันไป หลายๆ คนบอกว่าคนเราพออายุ 30-40 กว่า เราเปลี่ยนอาชีพไม่ได้หรอก แต่ติ๊บรู้สึกว่าลองค้นหาดีๆ มันมีอยู่จริงๆ นะคะสิ่งที่เราอาจจะไม่ต้องเริ่มต้นจากหนึ่ง”

ชีวิต ‘ปอม มนุษย์กรุงเทพฯ’ บอกให้รู้ว่า…ชีวิตเราก็เท่านี้

Speaker คนสุดท้ายของงาน คือ คุณปอม – ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ นักสัมภาษณ์ และผู้ก่อตั้งเพจ มนุษย์กรุงเทพฯ วัย 36 ปี เขาเคยสัมภาษณ์คนมาแล้วเกือบพันคน ก่อนจะนำมาเขียนเรื่องราวเผยแพร่ลงในเพจ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามเกือบ 400,000 คนแล้ว โดยเขาเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นใครต่างก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นของตัวเอง

แนะนำอาชีพนักสัมภาษณ์

คุณปอมเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัว และอธิบายว่าอาชีพของเขาคือการไปสัมภาษณ์ผู้คนมีทั้งแบบ ‘สุ่มคุย’ กับคนทั่วไปตามที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หอศิลป์ และอีเวนท์ต่างๆ ซึ่งมีหลายครั้งที่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า “ฉันไม่น่าสนใจหรอก” บางคนวิ่งหนีไปเลยก็มี ซึ่งเวลาถูกปฏิเสธก็ทำให้เขารู้สึกแย่บ้างเหมือนกัน ส่วนการสัมภาษณ์อีกแบบนึงคือ ‘การนัดล่วงหน้า’ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นคนที่เขารู้จักหรือมีข้อมูลในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะใช้วิธีส่งข้อความหรือโทรขอนัดสัมภาษณ์เหมือนสื่อมวลชนทั่วไป

คำถามที่มักใช้ในการสัมภาษณ์

1. “เหตุการณ์หรือช่วงเวลาที่ยากในชีวิตคืออะไร” เป็นคำถามที่คุณปอมใช้บ่อยที่สุด เพราะทุกคนมีความยากในชีวิตหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ และคนที่ผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมาได้จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘บทเรียนชีวิต’ เช่น ความอดทน การปล่อยวาง การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับคนอ่านที่มีประสบการณ์เหมือนหรือต่างกันให้เข้าใจหรือนำไปปรับใช้กับตัวเองได้

2. “สิ่งที่ทำให้คุณยิ้มได้หรือมีความสุขคืออะไร” เพราะคุณปอมเชื่อว่าทุกคนมีความสุขในแบบของตัวเอง เลยตั้งคำถามกว้างๆ แล้วดูว่าคนตอบนึกถึงอะไรเป็นอันดับแรก เล่าถึงอะไรด้วยท่าทีและน้ำเสียงมีความสุข เขารู้สึกว่าการคนเรากล้าที่จะชัดเจนว่าฉันมีความสุขกับเรื่องนี้ก็สำคัญ ถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม

3. “เรื่องที่ทำให้คุณภูมิใจคืออะไร” คุณปอมให้นิยามคำว่า ความภูมิใจ คือ ความทรงจำของการกระทำที่รู้สึกดี เช่น เราภูมิใจที่เราตั้งใจเรียนจนสอบผ่าน หรือภูมิใจที่วันนั้นพาแม่ไปรักษาพยาบาล ก้อนประสบการณ์หรือช่วงเวลาตอนที่เราทำแล้วรู้สึกดี นั่นแหละคือความภูมิใจ

หัวใจสำคัญของการสัมภาษณ์

คุณปอมออกตัวว่าเขาไม่ใช่คนสัมภาษณ์ที่เก่ง คำถามอาจจะไม่ได้คมคาย การจับประเด็นอาจจะไม่ได้แม่นยำมาก แต่มีจุดแข็งอยู่ที่การตั้งใจฟัง ซึ่งเขาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการสัมภาษณ์ บางคนบอกคุณปอมว่าเขาไม่เคยเล่าเรื่องนี้มาก่อนและไม่เคยมีใครมานั่งฟังเขาพูดแบบตั้งใจขนาดนี้มาก่อน ในระหว่างการสัมภาษณ์มีหลายครั้งที่คุณปอมอินไปกับเรื่องราวที่ได้ฟังจนร้องไห้ตามไปด้วย

“ช่างมัน” บ้างก็ได้

หลังจากผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนมามากมาย ได้ยินได้ฟังเรื่องราวชีวิตมาหลากหลาย มีสำนึกบางอย่างเกิดขึ้นในใจคุณปอม หนึ่งในนั้นคือคำว่า “ช่างมัน” เพราะหลายคนที่เขาสัมภาษณ์พูดตรงกันว่า ความสุขเกิดขึ้นจากการได้ใช้เวลากับคนที่รัก หากไม่มีใครรู้ว่าความตายจะเกิดขึ้นตอนไหน เราควรให้ความสำคัญกับคนที่เรารัก ถ้าทะเลาะก็ไม่ควรโกรธกันนาน ไม่เอาแต่คิดว่า ฉันถูก-เธอผิด หาวิธีคุยกันดีๆ ให้ได้เร็วที่สุด แล้วใช้เวลาร่วมกันดีกว่า

เสียงตอบรับที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ

คุณปอมทำเพจมนุษย์กรุงเทพมานาน 8 ปี แน่นอนว่าเสียงสะท้อนที่ได้รับกลับมาก็ย่อมมีทั้งคำชม คำตำหนิ ดราม่าบ้าง หรือด่ารัวๆ บ้าง ตัวอย่างคำชม เช่น มีคนมาขอบคุณที่งานเขียนของเขาทำให้คนที่เคยอ่านอต่อะไรสั้นๆ มาเริ่มอ่านอะไรยาวๆ ได้, มีครูสอนภาษาไทยให้คนต่างชาติเอาบทความของเขาไปเป็นตัวอย่างในการสอนหนังสือ หรือคำอวยพรที่ได้รับจากอดีตผู้ต้องขังซึ่งออกจากคุกมาทำน้ำพริกจิ้งหรีดขาย เพราะหลังจากที่เขาสัมภาษณ์และเขียนลงในเพจก็ทำให้ขายของได้มากขึ้นมีชีวิตที่ดีขึ้น

ในขณะเดียวกันก็มีคอมเมนต์เชิงลบที่คุณปอมเคยได้รับ เช่น ยาวไปไหน ไม่อ่านครับ ซึ่งถ้าเป็นคำตำหนิแบบเอาสะใจ คุณปอมก็ใช้วิธีมองข้าม เลือกที่จะไม่อ่าน ไม่ตอบโต้ พอไม่อ่านก็เลยไม่เครียด

ชีวิตเราก็เท่านี้

คุณปอมได้สรุปทิ้งท้ายตามคอนเซ็ปต์ของงานมนุษย์ต่างวัย Talk ชีวิตนี้บอกให้รู้ว่า… เพื่อให้ผู้ฟังทุกคนได้ลองกลับไปคิดทบทวนหลังจบงาน

“ผมมักพิมพ์ facebook ขำๆ เวลาเล่าเรื่องอะไรก็ตามด้วยประโยคว่า “ชีวิตเราก็เท่านี้” ครับ ชีวิตเราก็เท่านี้ในความหมายของผม คือผมตั้งใจทำเพจนี้มา 8 ปี ทำคนเดียว เขียนเล่าเรื่องมาเกือบพันชิ้น สิ่งที่ยากในชีวิตคือความเหนื่อยและขี้เกียจครับ เพราะโดยนิสัยผมไม่ใช่คนขยัน ก็พยายามสร้างวินัยขึ้นมาแล้วก็ทำอย่างต่อเนื่อง เวลามีคนเห็นประโยชน์จากงานเราก็มีความสุขครับ

“เพจนี้คืองานไม่ประจำที่ผมทำนานที่สุดแล้วครับคือ 8 ปี ยังไม่อยากเลิกทำ เพราะชีวิตของผมแค่ตื่นมากินอิ่มนอนหลับ ได้ทำงานที่มีความหมาย แล้วก็ได้ใช้เวลากับคนสำคัญใกล้ตัว ก็โอเคแล้วครับ ผมทำเพจโดยไม่ได้คาดหวังว่าจะมีอะไรใหญ่โต ไม่เคยพูดประโยคว่าเปลี่ยนแปลงสังคม ผมคิดว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอกครับ สังคมมันใหญ่มากกว่าที่เราคิดผมก็แค่ทำทุกวันให้มันดีที่สุด ทำแต่ละวันไปเรื่อยๆ ให้มันดีต่อไป ชีวิตเรามันก็เท่านี้แหละครับ”

“วันนี้ตื่นเต้นครับ พูดผิดพูดถูกทั้งที่เตรียมมาแล้ว แต่ชีวิตเราก็เท่านี้ครับ ขอบคุณครับ”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ