มนุษย์ต่างวัยจัดอันดับคลิปวิดีโอ ‘มนุษย์ต่างวัย’ ที่มี ‘ยอดผู้ชม’ เยอะที่สุดแห่งปี 2565 มาให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน จะมีคลิปไหนบ้าง และหนึ่งในนั้นเป็นคลิปที่เพื่อนๆ เคยเห็น หรือชอบกันหรือเปล่า มาดูกันเลย
เรื่องราวความรักในถิ่นฐานบ้านเกิดของลูกหลานอีสาน ที่เอาชนะคำสบประมาทว่า อาหารอีสานสกปรก สู่บทพิสูจน์การทำให้โลกรู้จักรสชาติของอาหารอีสานแท้ๆ
มนุษย์ต่างวัยเดินทางสู่ จ.ขอนแก่น ทำความรู้จักกับ คำนาง ณัฎฐภรณ์ คมจิต อายุ 38 ปี เจ้าของร้านเฮือนคำนาง ลูกหลานชาวอีสาน 100% ที่ทั้งรักและภูมิใจในความเป็นคนอีสาน แต่เมื่อตอนมาทำงานในกรุงเทพกลับพบว่า คนต่างถิ่นไม่เข้าใจในอาหารอีสาน มองว่าเหม็น สกปรก กินแล้วจะท้องเสีย ดูไม่มีวัฒนธรรมการกิน ทำให้คำนางตั้งเป้าหมายว่า จะถ่ายทอดเรื่องราวของอาหารผ่าน “พาข้าว” เพื่อให้คนรู้จักความงามและความอร่อยของอาหารอีสานมากกว่าแค่ส้มตำ ลาบ ก้อย โดยการหยิบเมนูพื้นบ้านที่ซ่อนอยู่ในครัวของชาวอีสานออกมาปรุงให้คนต่างถิ่นรู้จัก และเข้าใจวัฒนธรรมการกิน และวิถีชีวิตคนอีสานที่แท้จริง
“เฮือนคำนาง” เป็นร้านอาหารอีสานสไตล์เชฟเทเบิ้ลออเทนติก บอกเล่าเรื่องราวอาหารอีสานผ่านสารพัดวิธีการปรุงทั้ง อ่อม อ๋อ อูด อึ๊บ อั่ว อู๋ กินคู่กับผักพื้นบ้านเพื่อเป็นยา แบบแนวแก้แนวกัน ล้วนถูกถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวบน “พาข้าว” ไม่ใช่เพียงแค่ทำร้านอาหารแต่ “เฮือนคำนาง” ยังเลือกใช้วัตถุดิบจากชุมชนทั้งปู ปลา ผักพื้นเมือง จากชาวบ้าน เพื่อกระจายรายได้สู่ผู้สูงอายุในชุมชนด้วยแนวคิด ธุรกิจและชุมชนจะเติบโตไปด้วยกัน
จากความตั้งใจแรกที่แค่อยากมีอาชีพเสริมทำหลังเกษียณคลายเหงา แต่กลับกลายเป็นความท้าทายใหม่ในชีวิตด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เนื้อไทยสู้เนื้อต่างประเทศไม่ได้จริงๆ หรือ ?
เรื่องราวของพ่ออรุณ ศาลางาม วัย 70 ปี ที่เริ่มต้นจากทุนที่ดินที่ จ.ขอนแก่น สู่การไปศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงวัวจากผู้รู้ระดับประเทศ แม้จะเป็นมือใหม่ แต่พ่ออรุณก็เรียนรู้ด้วยความตั้งใจและตื่นเต้นที่อยากนำความรู้ที่ได้มาลงมือทำจริงๆ นอกจากนั้นเคล็ดลับเด็ดที่ฟาร์มพ่ออรุณนำใช้ก็คือการนำรำจากข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีกลิ่นหอมมาใช้เป็นส่วนผสมในการเลี้ยงวัว จนกระทั่งได้เนื้อวัวที่มีเอกลักษณ์พิเศษในชื่อ Jasmine Wagyu ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
“การที่คนไทยได้กินเนื้อพรีเมี่ยมจากคนไทยด้วยกันเอง ทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อคุณภาพได้ นั่นคือฝันที่กลายเป็นจริงของผม เป็นคุณค่าของชีวิตวัยเกษียณที่ผมมีความสุขมาก”
มนุษย์ต่างวัยชวนย้อนวันวานกลับไปในยุค 80s-90s กับเรื่องราวของ ‘เสื้อแตงโม’ แบรนด์เสื้อที่คนไทยคุ้นเคยมานานกว่า 40 ปี เสื้อยืดสีสดใสลายแตงโมผ่าซีก เสื้อลายดอก ลายทาง และคุณภาพของเสื้อที่ไม่รุ่ยง่ายๆ คือเอกลักษณ์ของแตงโมมาตลอด 40 ปี
คุณอดิศร และคุณอมรา พวงชมภู วัย 65 ปี เริ่มต้นทำแบรนด์ ‘SUIKA’ ภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าแตงโม จากธุรกิจเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากการซื้อจักรราคาถูกมาเย็บเสื้อยืดสกรีนคำคมโดนๆ ให้นักศึกษาเลือกซื้อ ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับอย่างที่คาดไม่ถึง ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจทำอาชีพค้าขายเสื้อตั้งแต่นั้นมา
“เป้าหมายของเรา คืออยากให้ตู้เสื้อผ้าของคนไทยมีเสื้อแตงโมสักหนึ่งตัว” เมื่อตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างนั้นแล้ว ทั้งคู่จึงตั้งใจผลิตเสื้อคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้ จนสามารถตั้งเป็น บริษัท สยามแฮนด์ ขึ้นมา โดยทั้งคู่เชื่อเสมอว่ากุญแจความสำเร็จของแตงโมคือ ‘พนักงาน’ ถึงกับทำสัญญาใจไว้เลยว่า “เรื่องเย็บผ้าพี่ฝากน้องๆ ช่วยดูแล ส่วนชีวิตของน้องๆ พี่จะเป็นคนดูแลเอง”
อยู่เถื่อนโฮมสเตย์กลางป่า@เชียงดาว ที่พักหลักร้อย วิวหลักล้าน ไม่มีไฟฟ้า มีห้องพัก2หลัง แต่มียอดจองเต็มทั้งปี
เรื่องราวของ พ่อทอง แก้วใจมา อายุ 73 ปี เจ้าของอยู่เถื่อนโฮมสเตย์ ที่เป็นทั้งผู้ดูแล ผู้สร้างและออกแบบ พ่อครัว รวมไปถึงพนักงานต้อนรับประจำโฮมสเตย์ ที่ชวนทุกคนมาใช้ชีวิตแบบดิบเถื่อน ไม่หรูหรา มีแต่ความเรียบง่าย ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า มีแต่ตะเกียง ไม่มีแอร์ แต่อากาศเย็นทั้งปี ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ไม่มีปลั๊กไฟ 100% แถมยังอิ่มตา อิ่มใจ กลางคืนดูหิ่งห้อยส่องแสง ดวงดาวเต็มท้องฟ้า พร้อมชิมอาหารจากเตาฟืนฝีมือคุณตาคุณยาย ทำให้แม้จะมีห้องพักแค่ 2 ห้อง ในราคา หลักร้อย แต่กลับมียอดจองเต็มตลอดทั้งปี
อยู่เถื่อนไม่ได้เป็นแค่โฮมสเตย์กลางป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่หารายได้ในช่วงบั้นปลายของผู้อาวุโส เป็นพื้นที่แห่งความภูมิใจ สร้างคุณค่าและรอยยิ้มในชีวิตช่วงบั้นปลาย ที่ทำให้อยากตื่นขึ้นมา ส่งมอบรอยยิ้มและดูแลลูกๆ หลานผู้มาเยือนในทุกๆ วัน
“ใครๆ ก็เรียกว่าลิซ่ารุ่นแม่ ตอนไปสมัครเต้นเขาถามว่า คุณแม่มาสมัครให้ลูกเหรอคะ (หัวเราะ) แต่สำหรับเราคิดว่า ไม่ว่าวัยไหนก็ยังเต้นได้”
มนุษย์ต่างวัยพาไปทำความรู้จัก “จุง” จุไรรัตน์ สินแสง อายุ 57 ปีผู้หลงใหลในการเต้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Cover เพลงเกาหลีจากศิลปินที่ชื่นชอบอย่าง BLACKPINK เธอเริ่มต้นเต้นจริงจังตอนอายุ 40 โดยเริ่มจากการไปลงเรียนคลาสสอนเต้น แม้ในช่วงแรกจะดูแปลกในสายตาคนอื่น ว่าอายุเยอะแล้วทำไมถึงยังมาเต้นเหมือนคนหนุ่มสาว แต่ “จุง” กลับไม่ปล่อยให้ความคิดของคนอื่นมาตีกรอบชีวิตของเธอ เธอเลือกที่จะโฟกัสที่ความสุขของตัวเอง เพราะเชื่อว่า ชีวิตไม่มีลิมิตไม่ว่าจะวัยไหน ถ้าไม่ใช่สิ่งไม่ดี ก็สามารถทำได้ทุกอย่าง เพราะการเต้นก็คือการออกกำลังกายที่ทำแล้วมีความสุข
เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้วที่ ป้าตา-จำเนียร เอี่ยมเจริญ งดเว้นการทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดและเดินสู่เส้นทางสายมังสวิรัติอย่างเต็มตัว จนกระทั่งฝีมือการปรุงอาหารมังสวิรัติของเธอเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนมีเจ้าของงานอีเวนต์มากมายที่เชิญเธอไปเป็นเชฟและคอยจัดการด้านอาหารภายในงาน ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีหลายเมืองที่หญิงวัย 65 ปี เดินทางไปสอนการทำอาหารที่นั่น ยังไม่รวมถึงลูกศิษย์อีกหลายคนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล บินมาเรียนทำอาหารกับคุณป้าถึงเชียงใหม่
“The O Idol season 2” และ “มนุษย์ต่างวัย” พาไปลิ้มรสอาหารและทำความรู้จักกับชีวิตอันแสนเรียบง่าย สันโดษ ณ บ้านกลางป่า ที่ไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา อาศัยโซลาร์เซลล์และสูบน้ำบ่อใช้แทน
“ทุกครั้งที่ทำไม่ว่าจะถวายครูบาอาจารย์หรือทำให้ลูกค้าทาน เราจะใส่ใจและมีสติระลึกรู้อยู่ตลอด เมื่อจิตมีสติมีสมาธิแล้ว เราก็จะทำอาหารออกมาได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพ จะว่าไปก็ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารหรอก แต่ใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตเลย”
‘มนุษย์ต่างวัย’ พาเหล่าคนรักรถคลาสสิกไปรู้จักกับ อาเจียว – กันตพงศ์ ฤกษ์แสนสุข วัย 76 ปี ผู้ใช้รถ Lambretta มอเตอร์ไซค์แนวสกู๊ตเตอร์คลาสสิกในตำนาน ที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอาเจียวใช้รถ Lambretta รุ่น X200 คันนี้มายาวนานกว่า 60 ปีแล้ว เรียกว่าเป็นรถที่เติบโตมาพร้อมๆ กับอาเจียว ผ่านทุกช่วงเวลาไม่ว่าสุขหรือทุกข์ และไม่ใช่แค่ขี่ใช้ไปวันๆ อาเจียวยังดูแลรถที่อายุกว่า 60 ปีนี้ อย่างดีทุกจุด เรียกว่าไปทุกทริปไม่ว่าไกลแค่ไหน รถอาเจียวไม่เคยต้องเปิดฝากระโปรงซ้อมเลย
นอกจากเรื่องราวของการรักรถแล้ว ในวัย 76 ปี อาเจียวได้กลายเป็นพี่คนโตในวงการรถสกู๊ตเตอร์คลาสสิก ที่มีน้องๆ หลายวัยรักและเคารพ ไม่ว่าจะชวนไปออกทริปทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาเจียวก็ยินดีร่วมด้วยทุกทริปในฐานะรถท้ายขบวนที่คอยดูแลน้องๆ
ความรักในรถสกู๊ตเตอร์คลาสสิกนี้ ได้กลายเป็นประตูให้อาเจียวได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวของสิ่งที่รัก กับคนรุ่นใหม่ที่รักรถเหมือนๆ กันมานานกว่า 20 ปี
“แค่ร่างกายเขาพิการ เขาก็ใช้ชีวิตลำบากกว่าคนอื่นแล้ว ดังนั้นเขาจะแต่งหญิง จะเป็นอะไรก็เป็นไปเลย แม่สนับสนุนเต็มที่ ถ้านั่นคือความสุขของบุญรอด”
เรื่องราวของ ‘มนุษย์แม่สุดแข็งแกร่ง’ อย่าง แม่ลัดดา อารีย์วงษ์ วัย 60 ปี แม่ของ ‘บุญรอด’ คู่หูยูทูบเบอร์ LGBT จากช่อง poocao channel ซึ่งถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ตับตั้งแต่แรกเกิด จากวันนั้นชีวิตของแม่ลัดดาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล แม่ต้องทิ้งทุกอย่างไม่ว่างาน หรือคนรอบข้าง เพื่ออยู่ดูแลลูกที่ข้างเตียงในโรงพยาบาลนานนับปี แต่หลังจากการให้คีโมรักษาจนอาการของบุญรอดดีขึ้นแล้ว กลับพบว่า การนอนอยู่บนเตียงตั้งแต่คลอดนั้นส่งผลให้บุญรอดมีอาการเส้นยึด ทำให้การเคลื่อนไหวของเขาผิดปกติไป กลายคนพิการตั้งแต่อายุ 1 ขวบ
บุญรอดไม่เพียงแต่พิการตั้งแต่กำเนิดเท่านั้น แต่เขายังแสดงออกว่าเป็น LGBT ตั้งแต่ในวัยเด็ก ทำให้ยิ่งถูกล้อเลียน ถูกบูลลี่ ดูถูกจากสังคมรอบข้างอย่างหนัก ว่าพิการแล้วยังเป็น LGBT แต่ด้วยความรักและความเข้าใจ แม่ลัดดาเชื่อมั่นว่าครอบครัวต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกให้ได้ ทำให้ทั้งพ่อและแม่ของบุญรอดพร้อมสนับสนุนทุกสิ่งที่ถูกต้องที่บุญรอดเป็นและเชื่อมั่นในศักยภาพของลูก
ความเข้าใจเหล่านี้กลายเป็นกำลังใจทำให้บุญรอดเติบโตมาด้วยใจที่แข็งแกร่ง ไม่กลัวคำพูดดูถูกใดๆ ที่ผ่านเข้ามา มากไปกว่านั้นเขายังพิสูจน์คำดูถูกเหล่านั้นด้วยการเติบโตมาด้วยจิตใจที่งสมบูรณ์เข้มแข็ง พร้อมเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ จนสามารถ เรียนจบปริญญาโท แถมยังเป็นยูทูบเบอร์ที่มีคนตามหลักแสน สร้างรายได้ให้ตนเองและครอบคัว
“ความสุขของคนวัย 72 แบบก๋งก็คือการได้ทำอาหารอร่อยๆ และได้รับรอยยิ้มตอบแทนจากลูกค้ารุ่นลูกรุ่นหลาน”
มนุษย์ต่างวัยพาไปทำความรู้จักร้าน “ข้าวบ้านก๋ง” ร้านอาหารตามสั่ง จ.เชียงใหม่ ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายรุ่นต่างยกให้เป็นร้านอาหารขวัญใจเด็ก มช.
พ่อครัวขวัญใจนักศึกษาคนนี้ก็คือ ก๋ง ประเสริฐ พฤกษาชาติ อายุ 73 ปี พ่อครัวที่ไม่ใช่แค่ปรุงอาหารให้อร่อยแต่ยังปรุงอาหารด้วยความใส่ใจ แม้จะเป็นเพียงแค่ร้านอาหารตามสั่งในบ้านที่ทำขึ้นมาเพื่อหากิจกรรมทำหลังเกษียณ ไม่ให้ต้องเจ็บป่วย บวกกับความรักในการทำอาหารมากว่า 30 ปี แต่ทุกๆ จานที่ผ่านมือก๋งล้วนขึ้นชื่อเรื่องความเป๊ะ ช้อนต้องเข้าคู่ ผักต้องสดใหม่ เครื่องปรุงและวัตถุดิบอย่างดี รักษาความสะอาดสุดๆ แม้กระทั่งขวดเครื่องปรุง ก็ต้องเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้เสร็จ ซึ่งความตั้งใจของก๋งคือต่อให้อาหารจะราคาถูกหรือแพงต้องให้เกียรติและทำทุกจานให้ดีที่สุดให้สมกับที่ลูกค้าไว้วางใจ
นานกว่า 20 ปีแล้ว ที่ “อาจารย์ทิพาพร” และ “อาจารย์บวร” สามีภรรยา อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นสร้างป่าในบ้านของตนเอง จากที่ดินว่างเปล่าที่มีเพียงต้นมะพร้าว 2 ต้นกลายเป็นสวนป่าร่มรื่นที่มีพันธุ์ไม้หายากกว่า 10,000 ชนิด ที่ทั้งคู่ปลูกด้วยตัวเองซึ่งเป็นชีวิตที่ทั้งคู่ตั้งใจออกแบบไว้เพื่อจะได้ใช้ชีวิตสงบงามท่ามกลางธรรมชาติในช่วงวัยเกษียณ
จากความรักในผืนป่าสู่งาน Eco printing ผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติ ที่เกิดจากใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้น อาจารย์ทิพาพรนำใบไม้ มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการรังสรรค์ลวดลายลงบนผืนผ้ากลายเป็นผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ จากเริ่มต้นทดลองทำเพื่อเรียนรู้ สู่ความหลงใหล และกลายเป็นผู้รู้เกี่ยวกับ Eco printing ในที่สุด ทำให้บ้านกลางป่าแห่งนี้กลายเป็นที่แหล่งเรียนรู้ เกี่ยวกับธรรมชาติและงานพิมพ์ผ้าที่มีผู้สนใจเข้ามาเก็บรับความรู้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาและน่าจะเป็นต้นแบบชีวิตอันงดงามในวัยเกษียณที่อีกหลายคนฝันไว้