คุณลุงวัย 77 ปีคนนี้น่าจะเป็น ติ๊กตอกเกอร์ที่แปลกที่สุดคนหนึ่งในโลกออนไลน์ เพราะคอนเทนต์ที่ลุงนำเสนอผ่านโลกโซเชียลมีเดียไม่ใช่ การเต้น ร้องเพลง ทำอาหาร แต่งหน้า ออกกำลังกาย แต่คือการออกมานั่งเคาะระฆังยามค่ำคืนเพื่อช่วยทำให้คนนอนไม่หลับสามารถข่มตาหลับลงได้ จนสามารถมีผู้ติดตาม เกือบ 9 แสนคน ในระยะเวลาเพียง 1 ปี
มนุษย์ต่างวัยชวนคุณไปรู้จักกับเจ้าของเสียง ที่ขับกล่อมยามค่ำคืนของคนหลับยาก ต้นเสียงนี้มาจาก ‘ลุงหงอกกิ๊กก๊อก’ หรือ คุณลุงไกรสร พรหมพิทักษ์ อายุ 77 ปี เจ้าของ TikTok ‘LoongNgorkGigGog’ ช่องสำหรับบำบัดโรคนอนไม่หลับของผู้คนในโลกโซเชียลมีเดีย ที่ความเชื่อส่วนตัวของคุณลุงเชื่อว่า นี่คือศาสตร์พลังงานธรรมชาติ
แม้สิงที่ลุงทำอาจจะยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิชาการว่าได้ผลจริงหรือไม่ แต่จำนวนแฟนๆ ที่ติดตามเกือบ 1 ล้านคน กำลังบอกอะไรกับเรา ทำไมคนสมัยนี้นอนหลับยากจนต้องมาฟังชายชราวัย 77 ปี นั่งเคาะระฆังเพื่อส่งเราเข้านอน
หากคืนไหนนอนไม่หลับให้มานอนฟังเสียงลุงหงอก
ชายสูงอายุ ผมขาวทั่วหัว เขาเรียกตัวเองว่าลุงหงอก เกือบทุกคืนเขาจะ ปรากฏตัวขึ้นใน Tiktok พร้อมกับขันสีทอง 1 ใบ และไมโครโฟนเพื่อทำ Live ผ่านช่องทาง TikTok คุณลุงจะคอยเคาะขันโลหะให้เป็นจังหวะดัง “ติ๊ง” จนสิ้นสุดเสียงกังวานแล้วจึงเริ่มเคาะอีกครั้ง วนอยู่แบบนั้นตลอด 5 ชั่วโมง ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 2 นับจำนวนการเคาะได้กว่า 600 ครั้ง ในแต่ละคืน ไม่มีแม้พูดคุย ทักทาย หรือ ตอบคำถามใดๆ กับผู้ติดตาม แต่ในระหว่าง live กลับมีผู้ติดตามสูงสุดถึง 6,000 คน
ลุงหงอกคือใคร ทำไมต้องทำแบบนี้ทุกคืน
ชีวิตของช่างรถยนต์ สู่การเป็นผู้ส่งต่อความรู้ในฐานะสื่อ
หลายสิบปีก่อน “ลุงหงอก” เคยเป็นช่างรถยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญกระทั่งลุงได้เห็นสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ แต่กลับมีจุดที่อธิบายไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้คนเข้าใจผิด ทำให้ลุงหงอกรู้สึกว่าปล่อยผ่านไม่ได้ จึงตัดสินใจสมัครเข้าไปเป็นนักเขียนนิตยสารเกี่ยวกับรถยนต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 จากนั้นคุณลุงหงอกในวัยหนุ่มก็ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อส่งต่อความรู้เรื่องรถ กระทั่งไต่เต้าจนได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารกรังด์ปรีซ์ นิตยาสารรถยนต์ชื่อดัง และเป็นนักเขียนนิตยสารช่างวันหยุดที่เกี่ยวกับเรื่องการกำเนิดเครื่องยนต์ ถึงปี พ.ศ. 2525
จากช่างฝีมือดีก็กลายมาเป็นสื่อเต็มตัว นอกจากงานเขียนลุงหงอกมีผลงานการจัดรายการวิทยุอีกมากมายทั้ง “พิทักษ์ยานยนต์” และรายการเที่ยงคืนกับ “สิบล้อบ้านเรา” สถานีวิทยุ ขส.ทบ. AM 1278 KHz ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2529 และรายการช่างวันหยุด ในทุกวันอาทิตย์ควบคู่กันไป เพื่อเป็นพื้นที่สื่อที่ให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหารถยนต์ที่ผู้ฟังทางบ้านส่งเข้ามาปรึกษาในรายการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2540 อีกด้วย
ลุงหงอกบอกว่าหัวใจสำคัญของการทำงานคือต้องเป็นประโยชน์กับคน ดังนั้นนอกจากการให้ความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไก ที่ลุงทำอย่างต่อเนื่องจนได้เป็นประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ให้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
ลุงหงอกยังจัดตั้งโครงการ ‘กลุ่มแท็กซี่บ้านเรา’ ที่มีไว้ช่วยเหลือประชาชนที่ลืมของไว้ในรถแท็กซี่ สามารถติดต่อขอของที่ลืมไว้คืน เรียกได้ว่าเป็นยุคแรกๆ ของการเปิดช่องทางให้คนแจ้งเข้ามาติดต่อแจ้งเหตุกันได้
ความเชื่อส่วนบุคคลที่เปลี่ยนนักเล่าเรื่องรถยนต์ สู่การเป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิต
“วันหนึ่งมีเหตุการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นกับลุงเหมือนโดนไฟฟ้าช็อต ตอนแรกลุงไม่รู้ว่าคืออะไร หลังจากลุงไปศึกษาอ่านหนังสือเรื่องไฟฟ้าในอากาศ หรือไฟฟ้าสถิต จากนักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์ผู้คิดค้นสายล่อฟ้า เบนจามิน แฟรงคลิน ทำให้ได้รู้ว่าศาสตร์นี้เรียกว่า พลังงานบริสุทธิ์ ลุงใช้เทคนิคกับศาสตร์นี้ในคลื่นวิทยุยานเกราะ AM 540 KHz ในรายการปรัชญาชีวิต ด้วยศาสตร์นี้
“ลุงเริ่มให้ผู้ฟังโทรเข้ามาขอคำปรึกษาตามหลักปรัชญา และรักษาผ่านศาสตร์พลังงานธรรมชาติ เป็นการกำหนดจิต สอนวิธีการหายใจ สอนวิธีขยับร่างกาย รวมไปถึงใช้เสียงในการบำบัด ทำให้หลายคนมีอาการดีขึ้น ทุเลาจากอาการเจ็บป่วย โดยไม่คิดค่าจ้างหรือเรียกเก็บจากผู้ที่มาขอคำปรึกษาเลยสักบาทเดียว ลุงย้ำเสมอว่า “เป็นเพียงแค่ความเชื่อของลุงเอง ที่ไม่เคยขอและบังคับใครให้เชื่อ”
เข้าสู่วงการ TikTok ในวัย 77 ปี
“เพราะรายการวิทยุสมัยนี้ ไม่ค่อยมีคนเข้าถึง ทำให้รู้ได้ว่าวิทยุมันไปไม่รอด เลยตัดสินใจมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการเป็นที่พึ่งให้กับคนที่เดือดร้อน ช่วยในแบบที่ลุงช่วยได้”
ลุงหงอกลองผิดลองถูกมาตลอด ตั้งแต่การสมัครเข้าเป็นผู้ใช้ TikTok เริ่มหามุมตั้งกล้องถ่ายเพื่อ Live เตรียมอุปกรณ์ในห้องนอน ซึ่งวิธีการที่ลุงใช้ยังคงเป็นวิธีเดิมกับตอนจัดรายการวิทยุ ให้ผู้ชมใน Live ทำตามที่ลุงบอก ขยับตามที่ลุงพูด เพื่อบำบัดร่างกาย ซึ่งบางคนทำได้บ้างไม่ได้บ้าง”
“การ Live ของลุงมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียว คือการทำให้คนที่ฟังอยู่ ได้บำบัดอาการนอนไม่หลับ ตอนเวลา 4 ทุ่ม เป็นเวลาที่คนควรนอน เมื่อถึงเวลา คนฟังก็จะเข้ามาฟังเหมือนเป็นเวลาเตือนว่าถึงเวลาที่ต้องหลับ ซึ่งนี่เป็นสัญญาณที่ดี การใช้ศาสตร์พลังงานธรรมชาติ ก็เหมือนเป็นการสร้างบรรยากาศที่จะทำให้คนใช้สมาธิกับการฟังเสียงสั่นสะเทือนให้ระบบประสาททำให้นอนหลับไปโดยที่ไม่รู้ตัว
“จากในห้องนอนของลุงที่เป็นเพียงแค่ห้องนอนธรรมดา ตอนนี้กลายเป็นห้องสตูดิโอ สามห้องใหญ่ แยกกันด้วยผ้าม่านดำ ที่มีบรรยากาศเงียบชวนหลับใหล มีเครื่องมือบันทึกเสียง การจัดไฟต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเสียงบำบัด ที่ได้ลูกศิษย์ที่มีความเชื่อคล้ายกันมาช่วยเหลือ เมื่อมีคนรุ่นใหม่มาซัพพอร์ต ทำให้เรื่องเทคโนโลยีกับคนวัย 77 ปี ก็ดูไม่ใช่เรื่องยาก
“ถึงตอนนี้จะอายุ 77 แล้ว แต่สิ่งที่ลุงอยากทำยังเหมือนเดิม คือการได้ทำเพื่อคนอื่น เมื่อ TikTok ทำให้คนทุกวัยเข้ามาใช้ได้ ลุงก็อยากที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สุขภาพของคนในโซเชียลมิเดียดีขึ้นได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”
บางคนว่าลุงเพี้ยนในสังคมคนนอนไม่หลับ
“สิ่งที่หลายคนตั้งข้อสังเกตและสงสัยคือ การนอนเคาะขันตอนกลางคืนจะทำให้นอนหลับได้อย่างไร แต่ลุงคิดว่ามันเป็นความเชื่อที่ลุงมีมาตั้งแรก ทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะเสพสื่อแบบไหน ลุงมั่นใจว่าสิ่งที่ลุงทำไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน คนดูเองก็ไม่ต้องมาเสียเงินเสียทองให้ลุง
“ลุงมองในมิติของการนอนหลับเป็นหลัก เพราะเห็นคนในโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน ยังมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับกันค่อนข้างเยอะ ลุงเลยเข้ามาใช้ศาสตร์พลังงานบริสุทธิ์ในการสร้างคลื่นเสียงที่ทำให้คนง่วงนอนในยามค่ำคืน และหลับไปพร้อมๆ กัน”
บางทีคำถามที่ว่า วิธีการของลุงหงอกถูกหลักวิชการหรือไม่ ช่วยให้คนนอนหลับได้จริงหรือ อาจจะน่าสงสัยไม่แพ้ ทำไมทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไม่สามารถข่มตานอนหลับได้ ต้องอาศัยตัวช่วยจากคุณลุงวัย 70 หรือตัวช่วยอื่นๆ ให้สามารถข่มตาหลับได้ทั้งๆ ที่การนอนหลับพักผ่อนก็คือเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์
เรียบเรียง : ธนวิชญ์ เจียมอยู่ / นันท์นภัส โอดคง
ภาพ : ธนวิชญ์ เจียมอยู่