เมื่อสามปีก่อน ขณะที่ มาร์กาเร็ต มองดู วิลเลียม ปีนบันไดซ่อมพัดลมเพดานในอะพาร์ตเมนต์ของเธอ เธอเผลอเปรยออกมาว่า “ฉันชอบที่คุณทำแบบนี้” ไม่ทันขาดคำ วิลเลียมโผลงจากบันไดแล้วรวบตัวมาร์กาเร็ตมาจูบอย่างแผ่วเบา
“ตอนนั้นเธอมีท่าทีตกใจ แต่ก็ยอมรับจูบจากผม” เขาจำได้แม่น
จากวันนั้นวิลเลียม ช่างไฟในตำนานวัย 87 ปี และมาร์กาเร็ตวัย 74 ปี ก็ตกลงเป็นคู่รักชั่วข้ามคืน พวกเขาชวนกันไปเดตทุกสัปดาห์ ใช้เวลาดีๆ และค้างคืนด้วยกัน แต่กลับไม่เคยแพลนถึงการแต่งงานหรือย้ายมาอยู่ด้วยกันแบบถาวร
นี่ไม่ใช่รักแบบ one night stand หรือนิยายรักแสนโรแมนติกที่มองไม่เห็นจุดจบ แต่อ้างอิงจากเรื่องราวของคู่รักสูงวัยในนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์แบบที่นักประชากรศาสตร์เรียกว่า Living Apart Together (LAT) มิตรภาพระยะยาวในฐานะคู่รัก (ไม่จำกัดเพศ) ที่ตกลงกันว่าจะแบ่งปันพื้นที่และสารทุกข์สุกดิบให้แก่กัน โดยไม่ต้องมีพันธสัญญาหรือย้ายมาอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตเพื่อคนอีกคน LAT กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้สูงวัยและคนรุ่นใหม่ทั่วโลก
รักแหละ แต่ไม่ต้องเป็น ‘คนคนเดียวกัน’
เราอาจคิดว่าผู้สูงวัยน่าจะเป็นกลุ่มที่ยึดมั่นกับรูปแบบความรักความสัมพันธ์ที่ต้องอยู่ด้วยกัน ใช้ชีวิตแบบเคียงข้างกายจนแก่เฒ่าตายจาก แต่กลายเป็นว่าคนกลุ่มแรกๆ ที่ยืดอกรับความสัมพันธ์แบบ LAT ก็คือผู้สูงวัย อาจเพราะตลอดการเดินทางของชีวิตได้ผ่านความคาดหวัง อดทน หย่าร้าง เรียนรู้ประสบการณ์ทั้งดีและร้าย ทำให้หลายคนได้มองย้อนกลับมาและเลือกเส้นทางชีวิตที่มีอิสระให้กับตัวเอง
แนวคิดความสัมพันธ์แบบ Living Apart Together เรียกสั้นๆ LAT เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1970 แต่ถูกบัญญัติและตีความขึ้นที่เนเธอร์แลนด์เป็นครั้งแรกในปี 1978 จ นทั่วโลกใช้เรียกตามๆ กันมา
ดร. คาเรน โคบายาชิ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ผู้ศึกษาลงลึกถึงความสัมพันธ์แบบ LAT บอกว่า คนวัย 25-29 ปี หรือ Generation Y คือกลุ่มคนที่เลือกความสัมพันธ์แบบนี้มากที่สุด เพราะเข้าใจตัวเองและไม่ติดกรอบขนบธรรมเนียมของสังคม คน Gen Y เป็นโสดมากขึ้น มีความคิดเป็นปัจเจก มีอาชีพการงาน และตั้งเป้าประสบความสำเร็จในอาชีพ ธุรกิจ มากกว่าความฝันที่จะมีครอบครัวสมบูรณ์ ทั้งหญิงและชายสามารถหาเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอีกฝ่าย มีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพ ประกันชีวิต การเกษียณมากกว่าเดิม กลุ่มถัดมาที่เราแทบไม่เชื่อว่าจะสนใจความสัมพันธ์แบบ LAT คือเบบี้บูมเมอร์ ผู้หญิงวัย 60-88 ปี หลายคนเข็ดจากชีวิตแต่งงานในครั้งก่อนจึงเลือกแนวทางนี้ เพราะอยากมีชีวิตที่แตกต่างจากเดิม หนำซ้ำผู้สูงวัย หลายคู่กลับค้นพบว่า ระยะห่าง คือเคล็ดลับความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน การใช้ชีวิตคู่แบบมีช่องว่างจะทำให้ความสัมพันธ์สดใหม่ได้นานขึ้น ดังนั้น LAT จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของการมีไลฟ์สไตล์ในแบบที่คนทุกวัยต้องการ
Freedom of Love เมื่อความรัก = อิสระ
ในอดีต แนวคิดแบบ Cohabitation อยู่ก่อนแต่ง หรืออยู่เลยไม่ต้องแต่ง เคยเป็นที่นิยมในหลายประเทศ แต่วันนี้ผู้คนในประเทศฝั่งยุโรปอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย หันเข้าหาความสัมพันธ์แบบ Living Apart Together มาพักใหญ่ ขนาดที่ว่า ความสัมพันธ์แบบ LAT บรรจุเป็นตัวเลือกในแบบฟอร์มการสำรวจระดับชาติมาตั้งแต่ปี 1995 เลยทีเดียว
ส่วนฝั่งอเมริกา แคนาดา ก็กำลังตามมาติดๆ เมื่อได้ปัจจัยภายนอกอย่างโรคระบาดโควิด -19 ยิ่งเน้นว่าแม้รักกันก็ไม่จำเป็นต้องตัวติดกันตลอดเวลาก็มีความสุขได้ บางครั้งกลายเป็นมีความสุขมากกว่าด้วยซ้ำ บางคนเลือกอยู่คนละประเทศ อยู่ในที่ดินเดียวกันแต่ปลูกบ้านคนละหลัง บางคนอยู่อะพาร์ตเมนต์เดียวกันแต่คนละห้อง ถ้ายังคิดไม่ออกถึงข้อดี ลองนึกถึงวันที่เราอยากดูซีรีส์เกาหลีแต่แฟนอยากดูหนังแอ็กชัน หรือสามีอยากดื่มกาแฟเงียบๆ ยามเช้า แต่ภรรยาอยากออกกำลังกายสนุกๆ ตามเทรนเนอร์ในคลิป ผู้สูงวัยบางคนสะสมของรักมาทั้งชีวิตแต่ต้องขายทิ้งเพราะคนรักไม่ชอบ บางคนยอมอดทนเพื่อคนที่รักแต่สุดท้ายกลายเป็นตบะแตกทะเลาะจนชีวิตครอบครัวต้องจบลง และผู้คนก็พบว่าพวกเขาไม่ควรต้องทน แต่สามารถเลือกความรักไปพร้อมกับอิสรภาพได้ด้วย
ในสหรัฐอเมริกา แม้ LAT จะเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก แต่ แจ็กเคอลีน เบนสัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์และวิทยาศาสตร์ครอบครัว มหาวิทยาลัยมิสซูรี กล่าวว่า LAT ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีอะไรมาการันตีชีวิต แต่ข้อมูลปัจจุบันพบว่า แนวโน้มความสัมพันธ์แบบใหม่นี้กำลังเป็นตัวเลือกที่เป็นที่นิยมสูงขึ้นในคนอายุมากที่ยังมีสุขภาพดี มีที่อยู่อาศัยและมีทรัพย์สินเลี้ยงตัวเองสบายๆ มองหาคู่รักและอยากมีชีวิตโรแมนติกไม่ต่างจากวัยรุ่น แถมจากการสำรวจพบว่าความสัมพันธ์ในกลุ่มนี้มักจะยั่งยืนด้วย
ในปี 2016 เบนสันยังพบว่าผู้สูงวัยอายุ 60-88 ปี จำนวนมากต้องการเพื่อนคุยที่วางใจได้แต่ไม่ได้อยากเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตหรือที่อยู่อาศัย ยังต้องการแยกบ้าน แยกค่าใช้จ่ายของใครของมัน แยกเงินเก็บเพื่อให้แต่ละคนวางแผนอนาคตของตัวเองได้ ผู้สูงวัยที่เลือกความสัมพันธ์แบบ LAT ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งงานหรือติดกับภาพของครอบครัวสมบูรณ์แบบ เท่ากับการได้มีชีวิตในแบบของตัวเอง
อยากมีชีวิตอิสระ ต้องคิดวางแผน
แม้ข้อดีอาจทำให้เราคล้อยตาม แต่การอยู่กันแบบ LAT บางครั้งต้องเผชิญกับความเหงาและความไม่แน่นอนเพราะไม่มีอะไรมารับประกันทั้งกฎหมายหรือจารีตประเพณี ทั้งสองฝ่ายควรตกลงให้เข้าใจกันตั้งแต่แรกโดยมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนกลางมาช่วยวางแผนชีวิต ขั้นตอนคือ คู่รักควรระบุความต้องการของตัวเอง เปิดข้อมูลทางการเงินให้ชัดเจน หากเจ็บป่วยขึ้นมาจะมีทางเลือกไหนบ้างที่ช่วยดูแลได้ เช่น ครอบครัว เพื่อน ลูกหลาน หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแล หากต้องย้ายมาอยู่ด้วยกันชั่วคราวจะย้ายไปอยู่บ้านใคร บั้นปลายชีวิตจะไปอยู่พักที่ไหน เหล่านี้ควรตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีทนายเป็นผู้ดูแล
นอกจากการวางแผนด้านกฎหมาย ความสัมพันธ์ LAT ก็ยังมีปัญหาหลายด้านไม่ต่างจากความสัมพันธ์แบบอื่นๆ เช่นว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งป่วยแล้วอยู่ในความดูแลของลูกหลาน เขาอาจถูกส่งไปอยู่บ้านพักคนชรา และทำให้คู่รักไม่ได้เจอกันบ่อยๆ เหมือนเคย หรือคำถามในด้านความเป็นอยู่ สุขภาพผู้สูงวัยในบั้นปลายจะเป็นอย่างไร ลูกๆ จากการแต่งงานครั้งก่อนจะยอมรับได้ไหม ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะจบลงไหมถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ความเสี่ยงนี้อาจไม่ได้มากมายไปกว่าปัญหาการหย่าร้าง การทำร้ายร่างกายของคนในครอบครัวจากความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ที่มีให้เห็นจนชินตา
คุณย่าจี สปูน วัย 73 ปี และคุณปู่จอห์น แบ็ก วัย 74 ปี คู่รักที่อาศัยใกล้มหานครนิวยอร์ก ใช้ชีวิตร่วมกันแบบ LAT มากว่า 10 ปี ทั้งคู่ตกหลุมรักกันตอนอายุ 64 ปี นัดพบกัน 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่างฝ่ายต่างแฮบปี้ที่จะใช้ชีวิตในอะพาร์ตเมนต์ของตัวเอง ขณะที่คุณย่าจียังคงสนุกกับกิจกรรมทางสังคม เพลิดเพลินกับไลฟ์สไตล์ในชีวิตหลังเกษียณ แต่หลังจากคบกัน 3 ปี คุณปู่จอห์นก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจและพักฟื้นที่บ้าน ทั้งคู่ตกลงว่าคุณปู่จะย้ายมาอยู่ในอะพาร์ตเมนต์เดียวกับคุณย่า โดยที่มีคุณย่า ลูกสาวของปู่ นางพยาบาล และเพื่อนๆ สลับสับเปลี่ยนมาดูแล พวกเขาทำงานกันเป็นทีม ตัวคุณย่าเองก็ยังสามารถใช้ชีวิตและทำภารกิจที่โปรดปรานได้ต่อไป
นักสังคมสงเคราะห์ชี้ว่า ความคาดหวังในการดูแลกันของคู่ที่แต่งงานแล้วมีมากกว่าในคู่ที่ไม่ได้แต่งงาน LAT เลยกลายเป็นหนึ่งในโมเดลความสัมพันธ์แห่งอนาคตที่ทำให้ไม่ต้องมีใครที่จะต้องแบกภาระในการดูแลใครจนสูญเสียหลายอย่างในชีวิตไปเพียงเพราะขึ้นชื่อว่าเป็นสามีภรรยา “ฉันรักเขาและอยากดูแลเขาให้มากพอ แต่ต้องไม่ใช่ 24 ชม. ฉันไม่มีพลังเหลือเฟือ และยังอยากใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ”
เมื่อแต่งงาน = ความดี ในวันที่ผู้หญิงถูกกำหนดให้เป็นแม่บ้าน
ที่อินเดีย ประเทศที่ให้สิทธิและความสำคัญกับผู้ชายเหนือผู้หญิง มีจารีตประเพณีกำหนดการสมรสอย่างเคร่งครัดในฐานะเรื่องทางศีลธรรม ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยกับการที่หญิงสูงวัยชาวอินเดียวัย 50+ จะมีความรักใหม่ แต่ผลสำรวจจากหญิงสูงวัยชาวเมืองปูเน่กว่า 400 คน พบว่ากว่า 70% อยากมีเพื่อนคู่คิดที่ชวนกันกระโดดข้ามความโดดเดี่ยวแม้ลูกๆ จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้หญิงเอง ในอินเดียจึงมักมีบริษัทจัดหาคู่คอยดูแลจัดการ เพราะในขณะที่หญิงอินเดียต้องการเพื่อนรู้ใจยามแก่เฒ่า ชายอินเดียกลับต้องการแค่แม่บ้านมาดูแลครัว การตกลงชัดเจนตั้งแต่ต้นทางจึงสำคัญ บริษัทจัดหาคู่เข้ามามีบทบาทให้แต่ละฝ่ายสามารถระบุเงื่อนไข เซ็นยินยอมพร้อมใจก่อนทำความรู้จักกัน ตั้งแต่เรื่องทำอาหาร การใช้ชีวิต ทรัพย์สิน และแม้กระทั่งเรื่องบนเตียง
ในประเทศจีน มีการพูดคุยกับผู้หญิงอายุ 23-57 ปี ที่เลือกความสัมพันธ์แบบ LAT ว่านอกจากอิสระและความสบายใจจะเป็นเหตุผลลำดับต้นๆ แล้ว อาชีพการงาน ภาระ และการเรียน คือสิ่งที่พวกเธอให้ความสำคัญ อย่าง Hua ภรรยาของนายทหารที่ปักกิ่งที่ควรจะย้ายตามสามีไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่น แต่เธอก็ต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพครูจึงเลือกแยกกันอยู่ เธอยอมรับว่าปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คือการมีเซ็กซ์ และเธอเองก็อยากมีลูก แต่ด้วยภาวะแบบนี้ยังไม่สามารถมีได้
หญิงสูงวัยหลายคนกลัวว่าความผูกพันอาจทำให้เธอต้องดูแลสามีและครอบครัวเต็มเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแต่เนิ่นๆ บางคนจึงตัดเรื่องความสัมพันธ์ลึกซึ้งออกไป ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูงเท่านั้น หญิงม่ายหลายคนเห็นเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันต้องดูแลสามีที่ป่วยตลอดชีวิต บทสนทนาในแต่ละวันจะวนเวียนแต่เรื่องนี้ตลอดเวลา แทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง และพวกเธอไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น
แอลลิสัน ฟอร์ติ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเวกฟอเรสต์แห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา กล่าวว่า “ ฝ่ายหญิงไม่ควรรู้สึกกดดันจากความคาดหวังทางสังคมและวัฒนธรรมในการทำหน้าที่แม่บ้าน ผู้หญิงมีคุณค่าในตัวเองแม้เธอจะไม่ได้อยากดูแลฝ่ายชายตลอดเวลา ” และรายงาน National Alliance for Caregiving ในปี 2020 ยืนยันว่า ชาวอเมริกัน 23% เห็นตรงกันว่าการดูแลผู้อื่นเต็มเวลาทำให้สุขภาพของตนแย่ลง เพราะการดูแลคนหนึ่งคนต้องใช้ทั้งกำลังกายกำลังใจมากกว่าที่คิด
ความสัมพันธ์ ไม่มีคำตอบตายตัว
ความสัมพันธ์แบบ LAT อาจเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับคนที่ต้องการทางเลือกในความสัมพันธ์ เมื่อบรรทัดฐานและค่านิยมสังคมเปลี่ยนไป การมีรักครั้งใหม่ของผู้สูงวัยจึงกลายเป็นเรื่องรื่นรมย์ จากผลสำรวจในปี 2005 โดย National Social Life, Health and Aging Project (NSHAP) พบว่า 7% ของผู้มีอายุระหว่าง 57-85 ปี ติดใจแนวความคิด LAT เพราะไม่จำเป็นต้องแต่งงานใหม่แต่ก็ช่วยให้คลายเหงาและมีชีวิตชีวาในบั้นปลาย แถมยังช่วยให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นภัยเงียบที่แฝงมากับความสูงวัย และมักเป็นกับหญิงมากกว่าชาย ส่วนสาเหตุมีหลากหลาย เช่น สุขภาพไม่ดีเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ต้องอยู่บ้านลำพัง เหล่านี้ทำให้ทั้งสุขภาพและจิตใจของผู้สูงวัยดิ่งลง ที่น่าตกใจคือการรายงานของกรมสุขภาพจิตว่า อัตราการฆ่าตัวตายของผู้สูงวัยไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี เป็นอันดับสองรองจากวัยทำงาน และมักจะฆ่าตัวตายได้สำเร็จ การสังเกตอาการซึมเศร้าในผู้สูงวัยนั้นยากกว่าในวัยรุ่น บางคนซึมเศร้าเล็กน้อยแบบค่อยเป็นค่อยไป พอมารู้อีกทีก็เป็นรุนแรงแล้ว การมีเพื่อนคู่คิด มีคนอยู่เคียงข้างและดูแลกันและกัน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่พยุงสุขภาพจิตใจของผู้สูงวัยให้แข็งแรง
ความสัมพันธ์แบบ LAT อาจฟังดูแปลกสักหน่อยสำหรับหลายคน แต่ที่สุดแล้ว สิ่งที่มนุษย์เราต้องการในความสัมพันธ์และชีวิตก็แตกต่างกันไป ไม่มีความสัมพันธ์ไหนดีกว่ากัน และ LAT ก็บอกเราว่า นี่เป็นอีกรูปแบบของความรักและความสุขที่เป็นไปได้
ขอบคุณภาพจาก : RODNAE Productions, Pixel Vlada Karpovich Pixel
อ้างอิง
www.nytimes.com
www.brandthink.me
www.godates.co
time.com
archive.discoversociety.org
munewsarchives.missouri.edu
Youtube Channel : The List Show TV