เปิดจักรวาลธุรกิจแฟรนไชส์ รู้ก่อนลงทุน

จบลงไปแล้วสำหรับกิจกรรมชีวิตซีซัน 2 ห้องเรียนที่ชวนคนวัย 45+ มาร่วมเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ เตรียมพร้อมสู่ชีวิตซีซันถัดไปของตัวเอง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมนุษย์ต่างวัย SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดห้องเรียนธุรกิจและการออกแบบชีวิตสำหรับคนวัยก่อนเกษียณ จัดกิจกรรมชีวิต ซีซัน 2 วิชา ‘ธุรกิจแฟรนไชส์ เลือกอย่างไรให้รอด?’ เพื่อให้ผู้ที่สนใจลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้รู้จักและมองเห็นภาพจักรวาลของธุรกิจแฟรนไชส์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.พงศ์ศักดิ์ ตฤณธวัช ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และกลยุทธ์องค์กร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ คณะอุตสาหกรรมบริการ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน คุณกวิน นิทัศนจารุกุล รองนายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ และเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก Otteri wash & dry และคุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด มาร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน

ทำความรู้จักธุรกิจแฟรนไชส์เบื้องต้น ลองออกแบบ Business Model ของตัวเอง เรียนรู้เทคนิคการเลือกแฟรนไชส์ให้เหมาะสมกับความถนัด ความชอบ ประสบการณ์ รวมทั้งเงินทุนของตัวเองและความรู้ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อีกมากมาย

สำหรับปีนี้พวกเราชาวมนุษย์ต่างวัยขอขอบคุณทุกการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ ที่มาร่วมเรียนรู้ ทดลอง และหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ร่วมกับพวกเราในทุก ๆ กิจกรรมมาตลอดทั้งปี และปีหน้าพวกเรายังมีกิจกรรมที่น่าสนใจเตรียมไว้ให้เพื่อน ๆ อีกเพียบ แล้วอย่าลืมมาสนุกกับการเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสู่ชีวิตซีซันใหม่ไปด้วยกันนะครับ

“หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแฟรนไชส์มีอยู่ 3 เรื่อง อย่างแรก คือ เช็กความพร้อมตัวเองว่ามีความชอบ ความถนัดจริงหรือไม่ มีประสบการณ์ เวลา และเงินทุนเพียงพอหรือเปล่า สอง คือ รู้เทรนด์การตลาดให้มากที่สุด สามคือทำเล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะเน้นย้ำเสมอ เพราะสุดท้ายแล้วอย่างไรเราก็ต้องมีหน้าร้าน

“วันนี้เราเริ่มจากซื้อแฟรนไชส์ของคนอื่น วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ของตัวเองได้ อยู่ที่ตัวสินค้าหรือบริการ เราต้องค้นหาว่าเทรนด์ของผู้คน สังคม เป็นแบบไหน แต่ก็ต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิต และต้องมีทักษะการโค้ช เพื่อประคองเเฟรนไชส์ซีหรือผู้ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ของเราให้ได้ด้วย ต้องบอกได้ว่าวิธีการดูธุรกิจนั้นต้องทำอย่างไร

“สิ่งสำคัญคืออย่าหยุดที่จะฝัน หาข้อมูลให้รอบด้าน ค่อย ๆ ใช้เวลาไตร่ตรอง ศึกษาจากคนที่มีประสบการณ์มาก่อน เพราะเหรียญมี 2 ด้านเสมอ

ผู้เข้าร่วมให้ความสนใจและตั้งใจฟังมาก เห็นได้ชัดจากตอนทำเวิร์กช็อปว่า เขารู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง และเขียนออกมาได้อย่างถูกต้อง งานนี้อาจเป็นพื้นที่ให้หลายคนได้มาวิเคราะห์ตัวเองว่าเขามีความพร้อมหรือไม่ ก็ถือว่าเราได้มีส่วนช่วยจุดประกายความคิดให้กับเขา” 

“ก่อนจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม อยากให้ทุกคนคิดเรื่องการลงทุนให้รอบคอบ เพราะคนอายุมาก ไม่ได้มีเวลาและพลังมากพอที่จะผิดพลาดได้เยอะ ให้แบ่งสัดส่วนเงินมาลงทุน โดยเผื่อความเสี่ยงไว้ด้วยว่าถ้าเงินก้อนนี้เกิดความเสียหายจากการลงทุนไปแล้ว เราจะยังสามารถรับมือและจัดการได้

“สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่ชีวิตวัยเกษียณ หรือกำลังค้นหาตัวเองอยู่คือ อยากให้มีแพสชันและมีความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ และขอให้มีใจเป็นวัยรุ่นอยู่เสมอ

ผมรู้สึกยินดีมาก ๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันประสบการณ์ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ครั้งนี้ กลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่ที่ถึงแม้จะเป็นกลุ่มคนวัย 50+ แต่ทุกคนก็ให้ความสนใจ และตั้งใจฟังมาก ๆ รู้สึกว่าทุกคนมีพลังเต็มเปี่ยมในการค้นหาธุรกิจแฟรนไชส์ที่เหมาะสมกับตัวเอง และมีพลังเยอะไม่แพ้คนในวัยอื่น ๆ เลย

“สิ่งที่อยากให้ระวังก่อนลงทุนทำธุรกิจอะไรก็ตามคืออย่าเชื่อสิ่งที่คนอื่นโฆษณา หรือสื่อโซเชียลมากเกินไป อยากให้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน รวมทั้งวิเคราะห์ตัวเอง พิจารณาตัวเองทั้งความพร้อมและความสนใจ ถ้าหากจะเลือกแฟรนไชส์อะไร อย่าเลือกตามเฉพาะเทรนด์ หรืออะไรที่มันขายดี เพราะบางอย่างมันไปเร็ว ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ดูความสนใจ เทียบกับเวลาและเงินทุน และอย่าเครียดกับสิ่งที่ไม่ควรเครียด

“แม้ว่าเราอาจจะผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มามากมายในอดีต แต่มันไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเราจะไปต่อในทิศทางไหน ประสบการณ์ใหม่ ๆ คือสิ่งที่เราต้องกล้ายอมรับ พัฒนาตัวเองโดยการหาความรู้ใหม่ ๆ ติดตามเรื่องใหม่ ๆ อยู่เสมอ อย่าคิดว่าอายุเท่านี้ ไม่ต้องรู้แล้วก็ได้

“เราสามารถทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนได้ แต่ทำอย่างมีวิจารณญาณในการทำ ทำให้พอดี อย่าทุ่มสุดตัว อย่าใช้ช่วงเวลาสุดท้ายไปเสี่ยงกับสิ่งที่เราไม่รู้ แต่อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ หรือศึกษาให้เข้าใจมากขึ้น

สิ่งที่ทำให้การมาบรรยายในครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่น ๆ ที่ผ่านมา คือ ทุกคนมีเป้าหมายที่อยากจะทำอะไรบางอย่างกับชีวิตหลังจากนี้ สังเกตได้จากคำถามที่ผู้เข้าร่วมหลายคนได้ถามมา ทำให้เห็นว่าเขาไม่ได้ถามเพราะแค่อยากรู้ไปเฉย ๆ แต่รู้เพื่อจะไปทำต่อ และวางแผนให้ชัดเจนขึ้น” 

“เราทำธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว ทำอพาร์ทเมนต์ของตัวเอง แล้วก็เปิดร้านอาหารด้วย ไม่ได้เข้าร่วมงานสัมมนาอะไรแบบนี้มานานมากแล้ว ตอนนี้พอมีเวลามากขึ้น และอยากทำธุรกิจของตัวเองให้ดีกว่าเดิม ก็มองว่าเราต้องหาข้อมูล เปิดโลกให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้เรามองว่าเรายังมีไม่มากพอ ก็เลยคิดว่าอยากได้ความรู้ในเรื่องของการทำธุรกิจ

“วันนี้คิดว่าได้กลับไปเกินกว่าความคาดหวัง ทั้งได้รู้จักพี่ ๆ ได้ความรู้จากวิทยากร เป็นหนึ่งวันที่ได้อะไรเยอะมาก ในอนาคตเราอาจจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการทำธุรกิจของตัวเองได้

“สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือการคัดเลือกวิทยากรที่มีความเชื่อมโยงกับหัวข้อ ใช้เวลาได้คุ้มมาก ระหว่างรอก็ได้ดูคลิป ทำให้ทุกอย่างมันดูไม่น่าเบื่อ และทุกคนได้มีส่วนร่วม

ถ้าเรามีเงินลงทุนและความพร้อมมากกว่านี้ ก็คงมองหาอะไรที่มันท้าทาย เพราะเป็นคนชอบทำกิจกรรมหลากหลาย คิดว่าอยากเปิดร้านขายดอกไม้ของตัวเองในลักษณะรับจัดดอกไม้และขายต้นไม้ด้วย เพราะเรามีที่ในร้านอาหารของตัวเองซึ่งแบ่งมาทำตรงนี้ได้ ค่อย ๆ ทำ ลงทุนไม่ต้องเยอะมาก พัฒนาธุรกิจของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ พอถึงวันที่เราเกษียณเราก็จะสบาย และมีเวลาไปทำสิ่งที่เราชอบ” 

“รู้จักกิจกรรมนี้จากข่าวสารในไลน์กลุ่มที่ตัวเองอยู่ เพราะมีคนแชร์มาอีกที ที่สมัครมาก็เพราะมองว่ามันตอบโจทย์ตัวเอง เพราะเราใกล้เกษียณแล้ว คิดว่าน่าจะมีอะไรทำบ้าง อาจจะไม่ใช่ธุรกิจจ๋า แต่ทำเพื่อที่จะมีรายได้หรือกิจกรรมให้เราได้ทำในช่วงที่ยังมีกำลังอยู่ หรือสามารถส่งต่อให้คนอื่นได้

“คิดว่ากิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ เพราะว่าเราทำงานประจำ ไม่มีมุมมองในเรื่องของธุรกิจ เมื่อก่อนเราจะเลือกแฟรนไชส์จากความรู้สึก ไม่ได้มีทฤษฎีอะไร เราสนใจธุรกิจแฟรนไชส์อยู่แล้ว เพราะมองว่ามันเหมาะกับเราตรงที่เราไม่ต้องไปสร้างธุรกิจอีก ซึ่งในวัยขนาดนี้เราควรที่จะมีธุรกิจกึ่งสำเร็จรูปที่ทำให้เราเดินต่อได้ง่ายขึ้น

“จริง ๆ เราพยายามหาอะไรที่เหมาะกับตัวเองอยู่ การมาร่วมกิจกรรมวันนี้ก็ทำให้เราได้มองเห็นภาพตัวเองชัดขึ้น เหมือนอย่างที่วิทยากรบอกว่าตอนนี้เป็นช่วงที่เราเข้าสู่การเริ่มต้นศึกษาใหม่อีกครั้ง

วันนี้ได้อะไรกลับไปเยอะมาก อย่างแรกคือ เมื่อก่อนเรายังไม่รู้ว่าเราควรจะลงทุนสักเท่าไร แต่วันนี้เราได้ตัวเลขแล้วว่าเงินที่เราจะใช้วางแผนลงทุนมันควรเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างที่สองคือทำให้เรารู้จักธุรกิจแฟรนไชส์ดีขึ้นว่ามีประเภทอะไรบ้าง แบบไหนที่เหมาะกับเรา รู้หลักการเลือกแฟรนไชส์ที่ดี และสำคัญที่สุดคือการได้ทำแบบสำรวจตัวเราว่าเราเหมาะกับธุรกิจแฟรนไชส์หรือไม่ แล้วธุรกิจแฟรนไชส์แบบไหนที่เหมาะกับเรา ซึ่งมันทำให้เราชัดเจนและไปเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ต่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งแบบสำรวจนี้เป็นสิ่งที่ชอบมากที่สุด

“สิ่งที่ได้ไปจากกิจกรรมวันนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือทำให้เราตระหนักขึ้นว่าทำอะไรอย่าผลีผลาม ให้หาความรู้ก่อน ส่วนที่สองคือคิดว่าจะนำความรู้ที่ได้จากตรงนี้ไปแบ่งปันให้กับเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือว่ารุ่นน้องที่เขาอาจจะยังไม่ทันได้เตรียมตัว แล้วก็วิ่งไปที่ความเสี่ยงเลย

“ด้วยความที่เราใกล้จะเกษียณ ก็เลยมองมองหาโอกาสใหม่ ๆ อาจจะต้องมีรายได้เสริม หรือทางเลือกในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งแฟรนไชส์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในกระแสด้วย ก็เลยอยากทำความเข้าใจมันให้มากขึ้น

“วันนี้สมาชิกในกลุ่มต่างมีความสนใจในเรื่องแฟรนไชส์ บางคนก็ทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ บางคนก็เคยทำธุรกิจมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนอยู่ในเพซเดียวกันคือการที่ได้เข้ามารับความรู้ ความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจ น่าจะเป็นทางที่ดี

“นอกจากความรู้วันนี้ก็ได้อะไรกลับไปเยอะมาก ทั้งได้ทักทาย พูดคุยกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มที่น่ารักและได้แนวคิดจากวิทยากร เท่าที่สัมผัสได้ทุกคนมาด้วยใจ และต้องการที่จะให้ความรู้จริง ๆ เข้าใจว่าคนวัยนี้มันมีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถเสี่ยงมากได้เท่ากับเด็ก ๆ แล้ว

สำหรับชีวิตในซีซันถัดไปของตัวเอง เราจินตนาการไว้ว่าจะเป็น Happy Girl ยังไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็น Woman ด้วยซ้ำ มีความรู้สึกว่าคนเราต้องหาความสุขให้กับตัวเอง มันไม่มีใครเอาความสุขมาให้เราได้ และการที่เราจะมีความสุขได้ เราต้องมีคนรอบข้างที่ดีแล้วก็ตัวเราเองก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุดด้วย

“สิ่งที่ได้กลับไปในวันนี้คือวิธีคิด วิธีการมองธุรกิจแฟรนไชส์ว่าอะไรคือความเสี่ยง อะไรคือประโยชน์ อะไรคือโอกาส ก็เป็นสิ่งที่ดี

“ตัวเองเป็นคนที่ทำธุรกิจด้านที่ปรึกษา ชอบพบปะผู้คน อยากให้คำแนะนำดี ๆ หรือเจอแง่มุมแปลกใหม่บ้าง ก็เลยคิดว่าถ้าเกษียณแล้วอยู่เฉย ๆ หรือเที่ยวกันเองกับครอบครัว มันอาจจะไม่ได้ทำให้ชีวิตเราสนุกขึ้น แต่ถ้าเรามีธุรกิจ เราก็จะได้พูดคุยกับลูกค้า ได้ไปเดินมองโน่นมองนี่ในร้าน

“เรามองเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว อย่างธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร แฟรนไชส์เครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งแฟรนไชส์เกษตร เพราะว่าพอมีที่มีทางอยู่บ้าง และทางพ่อตาแม่ยายก็เริ่มลงทุนไปบ้างแล้ว แต่มันไม่ได้ทำเป็นธุรกิจจริงจัง ทำเป็นสันทนาการมากกว่า คิดว่าหลังจากนั้น ถ้าเรามีเวลาเต็มที่ เราก็จะทำให้มันมีโอกาส มีรายได้เข้ามามากขึ้น

อีกหน่อยอาจจะเปลี่ยนจากลูกค้าที่คุยกันในวิชาชีพหลักของเรา เป็นการคุยกับลูกค้าในธุรกิจแฟรนไชส์เล็ก ๆ ของเราก็ได้ คิดว่าพอเกษียณก็จะลดงานให้น้อยลง แล้วหาอย่างอื่นทำบ้าง อาจจะหาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำ เพื่อให้ชีวิตมันไม่น่าเบื่อ

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ