หลายคนอาจจะคิดว่าอาชีพข้าราชการนั้นมีความมั่นคงอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลอะไรในชีวิตมาก เพราะมีสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐคอยสนับสนุนแบบครอบคลุมทั้งตัวเองและสมาชิกในครอบครัวอยู่แล้ว พอเกษียณอายุราชการไปก็ยังได้รับเงินบำนาญทุกเดือนไปตลอดชีวิต
แต่นั่นกลับไม่ใช่มุมมองของสัตวเเพทย์ ผู้ทำงานด้านความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศอย่าง ‘พี่ณา’ พจณา สากระแสร์ วัย 50 ปี ผู้ที่มองเห็นสถานการณ์ต่าง ๆ ของโลกซึ่งมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และคิดว่าแม้จะมีความเสี่ยงเพียงแค่ 1% หรือ 0.1% ก็นับเป็นความเสี่ยง
เธอจึงคิดอยู่เสมอว่า ถ้าตัวเองไม่ได้รับราชการแต่เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่จะไม่ได้รับสวัสดิการสนับสนุนหรือเงินบำนาญจากภาครัฐในวัยเกษียณ เธอจะวางแผนการเงินของตัวเองอย่างไรให้เพียงพอที่จะมีชีวิตเกษียณที่สบาย และใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอไปตลอดชีวิต
สร้างนิสัยทางการเงินที่ดีมาตั้งแต่เด็ก
“พี่เริ่มเก็บเงินตั้งแต่เด็ก ๆ พออายุ 7 ขวบ เริ่มเขียนชื่อเป็น แม่ก็พาไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารใกล้บ้านแล้ว สมัยนั้นธนาคารยังเปิดทำการครึ่งวันช่วงเช้าวันเสาร์ พี่ก็จะเก็บเงินค่าขนมที่แม่ให้ไปโรงเรียนทุก ๆ สัปดาห์ไว้เพื่อนำไปฝากธนาคาร ได้ 5 บาท 10 บาทก็เอาไปฝาก จนสามารถมีเงินหลักหมื่นได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นให้พี่คิดเรื่องการวางแผนการเงินและการออมมาตั้งแต่ตอนนั้น และกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้
“หลังจากทำงานได้ประมาณ 5 ปี พี่เริ่มวางแผนการเงินและการลงทุน เพราะตอนนั้นเริ่มศึกษาเรื่องเงินเฟ้อ ประกอบกับการทำงานด้านการต่างประเทศ ติดตามข่าวสารต่าง ๆ จากทั่วโลก เห็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วง อย่างเช่น ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่อาจจะทำให้เกิดนโยบายยกเลิกบำนาญ หรือขยายเวลาการเกษียณ เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาครัฐก็ได้ ก็เลยคิดว่าเราต้องไม่ประมาท และต้องมีแผนการเงินและการลงทุนที่เราบริหารจัดการด้วยตัวเองนอกเหนือจากสวัสดิการที่ได้จากภาครัฐด้วย”
จากการออมสู่การลงทุน
“พี่เก็บออมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 12% ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้กับตัวเพื่อเป็นเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในยามฉุกเฉิน ช่วงแรก ๆ ยังไม่ได้แบ่งเงินมาลงทุนเยอะ แต่พอเงินเดือนสูงขึ้นก็เพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน กบข. เป็น 27% ตามอัตราส่วนสูงสุดที่เขาให้สมทบ
“ส่วนเงินเดือนอีก 10% พี่จะแบ่งไปออมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ของกรมปศุสัตว์ในรูปแบบของทุนเรือนหุ้น ซึ่งกำหนดเพดานเงินฝากไว้ไม่ให้เกิน 2 ล้านบาท ส่วนอีก 10-25% เป็นการออมตามอัธยาศัย เช่น พี่ซื้อกองทุนรวม SSF เก็บไว้เพื่อลดหย่อนภาษี ซื้อหุ้นโดยเลือกซื้อจากธุรกิจที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เราขึ้นรถไฟฟ้า เราก็ซื้อหุ้น BTS หรือเราใช้โรงพยาบาลก็ซื้อหุ้นโรงพยาบาล แต่จะไม่ลงทุนในส่วนนี้เยอะมาก เพราะเรามั่นใจในกองทุนรวมมากกว่า เพราะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลอยู่ เราก็ให้เขาบริหารเงินของเราให้ ไม่ต้องทำเอง
“นอกจากนี้ ก็มีแบ่งไปออมทอง ซื้อสลากออมสิน และซื้อประกันออมทรัพย์เก็บไว้บ้าง รวม ๆ แล้วเป็นการแบ่งเงินเก็บออมและลงทุนประมาณ 50-60% ของรายได้ที่มีอยู่”
ก้าวแรกของการลงทุนที่ดีคือการลงทุนในความรู้
“การลงทุนที่ดีควรจะเริ่มจากการหาข้อมูลก่อน อย่าเพิ่งลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้ ถ้าชอบเรื่องอสังหาริมทรัพย์ก็ศึกษาเรื่องบ้านเช่า คอนโดให้เช่า เลือกในสิ่งที่เราสนใจ อย่างพี่ชอบเรื่องการลงทุน พี่ก็จะอ่านหนังสือเรื่องการวางแผนการเงิน กองทุนรวม และหุ้นบ้างนิดหน่อย ศึกษาด้วยตัวเองจนมั่นใจก่อนแล้วค่อยเริ่มลงทุน
“แหล่งความรู้ส่วนใหญ่ของพี่มาจากหนังสือและเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ smarttoinvest.com ของสำนักงาน ก.ล.ต. เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเว็บไซต์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ของธนาคารต่าง ๆ ที่เราเป็นลูกค้าอยู่ รวมทั้งติดตามเพจต่าง ๆ ที่ให้ความรู้ด้านการเงินและการลงทุน เดี๋ยวนี้ความรู้หาง่ายมาก มีแหล่งความรู้มากมายให้เลือก ทั้งยูทูบ หลักสูตรออนไลน์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่ดี สามารถเลือกติดตามได้ตามความชอบของตัวเอง
“บางครั้งมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน ถ้าว่าง พี่ก็จะไปเข้าร่วม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนในหลาย ๆ สาขาอาชีพที่มีเป้าหมายและความสนใจในแบบเดียวกัน การไปทำกิจกรรมมันได้ความรู้ ได้เพื่อน ได้เจอคนที่มีความสนใจเหมือนกัน ทำให้เรามีกำลังใจว่ายังมีคนที่มีความชอบหรืออุดมการณ์แบบเดียวกับเราอยู่”
คิดเผื่อตัวเราในอนาคตเสมอ
ถึงแม้จะต้องแบ่งสัดส่วนการออมและการลงทุนถึง 50% แต่พี่ณาก็บอกว่าไม่เครียด เพราะรู้ดีว่าจุดมุ่งหมายของตัวเองคืออะไร และทำไมถึงต้องทำมันให้สำเร็จ
“ตอนนี้เราอดทนได้แต่ตัวเราในวัยหลังเกษียณต้องอยู่อย่างสบาย เรียกง่าย ๆ ว่าอดทนรวย เรามองตัวเองเหมือนเป็นคน 2 คน คือ ตัวเราในปัจจุบันกับตัวเราในอนาคตที่ไม่ได้ทำงานแล้ว เราต้องคิดว่าเขาจะไม่มีคนให้เงินแล้ว เราต้องเก็บเงินไว้ให้เขาด้วย อย่าใช้หมด ใช้สบายตั้งแต่ตอนนี้ เพราะถ้าถึงเวลาตัวเราคนนั้นจะลำบาก
“พี่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการออมในรูปแบบบังคับมากกว่าสมัครใจ เพราะคิดว่าถ้าเราปล่อยตามสบาย รอให้มีเงินเหลือแล้วค่อยเก็บออมหรือลงทุนคิดว่าก็คงจะไม่ได้เริ่มสักที อยากให้ทุกคนจำไว้เสมอว่าการเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราอาจจะเจอจุดหักเหหรือจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้ต้องมาสนใจการวางแผนการเงิน เช่น ภาระหนี้สิน หรือค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยที่ไม่คาดฝัน
“พี่เคยดูรายการของสาวโรงงานในยูทูบ เขาจะซื้อวัตถุดิบปรุงอาหารและขนมต่าง ๆ จากซูเปอร์มาร์เก็ตเดือนละครั้ง และซื้อครั้งละมาก ๆ เพื่อมาทยอยใช้ทำกับข้าวไปกินที่ทำงาน ซึ่งช่วยประหยัดรายจ่ายยิบย่อยได้เยอะ พี่ก็ลองทำตามบ้าง แต่ไม่ได้ซีเรียส บางครั้งก็ยังไปสังสรรค์กับคนอื่นตามปกติ”
ทุกความสำเร็จเริ่มต้นจากเป้าหมายที่ดี
“พี่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากมีอิสรภาพทางการเงิน สามารถใช้จ่ายได้ตามใจ โดยไม่ขัดสน คิดว่าอยากจะเก็บเงินให้ได้ 10 ล้านก่อนเกษียณ ซึ่งตอนนี้ก็สามารถทำได้เกิน 50% แล้ว โดยใช้หลักการง่าย ๆ อย่าง SMART ซึ่งประกอบด้วย
- Specific – ชัดเจน นั่นก็คือต้องมีเงินพอใช้จ่ายจนวันสุดท้ายของชีวิต
- Measurable – วัดผลได้ วัดออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนว่าเราจะต้องใช้เงินจำนวนเท่าไร เช่น
ถ้ามี 20 ล้านบาทคือ ใช้จ่ายได้อย่างสบาย
10 ล้านบาทคือ ใช้จ่ายอย่างพอดี และ
6 ล้านบาทคือ ใช้จ่ายแบบประมาณตน
- Achievable – ทำสำเร็จได้ด้วยต้นทุนที่มีอยู่บวกกับระยะเวลาที่นานพอและความสม่ำเสมอ
- Realistic – สามารถบรรลุผลหรือเป็นจริงได้ภายใต้ข้อจำกัดในปัจจุบันและในอนาคต
- Time-bound – มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน
“สำหรับพี่เส้นชัยในการวางแผนทางการเงินตลอดระยะเวลาการทำงาน 35 ปี คือวันเกษียณ แต่ ณ วันเกษียณมันจะเป็นจุดเริ่มต้นการใช้เงินที่เราวางแผนมากับเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต เราจึงต้องออกแบบการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับรายได้ที่ลดลงด้วย”
การลงทุนไม่ใช่เรื่องน่ากลัวที่เรากลัวเพราะเรารู้ไม่มากพอ
“การลงทุนมันสนุกดีนะ เป็นเหมือนโลกอีกใบ วันข้างหน้าถ้าเกษียณแล้ว เราอาจจะนำเงินสักก้อนมาลองวางแผนลงทุนแบบจริงจัง และทุ่มเวลากับมันมากขึ้น เราเองก็ไม่ได้เก่งอะไรมากมาย เป็นมือสมัครเล่นมาก ๆ อาจจะมีความรู้แค่ 10% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานทางด้านการเงินและการลงทุนที่เขาเก่ง ๆ แต่ถ้าเรามีความรู้แล้วเราไม่ใช้มันเลย มันก็จะค่อย ๆ ลืมไป
“เราก็เลยพยายามศึกษา ลองเอาเงินไปชาเลนจ์ดูว่ามันจะเป็นอย่างไร อะไรที่เราลองแล้วไม่เหมาะกับเรา เช่น พวก Robo Advisor (การนำเอาเทคโนโลยี AI มาผสมผสานกับแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อช่วยในการวางแผนการลงทุน) เราก็ถอนออก แล้วเปลี่ยนรูปแบบ เราอาจจะเหมาะกับการลงทุนเอง ไปแบบช้า ๆ แต่ชัวร์มากกว่า
“หรืออย่างในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมาก หลายคนอาจจะตื่นตระหนก แต่สำหรับพี่คิดแต่จะลงทุนในสิ่งที่เหมาะสมกับสภาวะนั้น ๆ พี่ก็เลยไม่ตกใจ เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนเพิ่ม เพราะเราถือคติว่า ‘คิดการณ์ใหญ่ ใจต้องนิ่ง’ ก็เลยผ่านทุกวิกฤตไปด้วยดี
“ของแบบนี้มันต้องลองด้วยตัวเอง ให้มาทำแทนกันไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของทักษะและประสบการณ์เหมือนกับการขับรถ ต่อให้เราบอกให้เขาลงทุน แต่ถ้าวันนี้เขายังกลัวอยู่ เขาก็จะไม่ทำ”
การวางแผนการเงินและการลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องทำไปตลอดชีวิต
“อยากให้ทุกคนคิดถึงอนาคตในวันที่เราไม่มีรายได้จากการทำงานและวางแผนการเงินตั้งแต่อายุน้อย ๆ แต่สำหรับคนที่ใกล้เกษียณก็ไม่ต้องเครียด เพราะเริ่มวันนี้ก็ยังดีกว่าไม่เริ่ม ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มช้า แต่ถ้าเรามีเครื่องมือที่ดีเราก็สามารถตามทันคนอื่นได้ เราอาจจะต้องลงทุนเยอะ หรือใช้เงินตั้งต้นมากหน่อย แต่ว่ามันไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น
“ทัศนคติเรื่องการลงทุนและการเก็บออมเป็นสิ่งที่ต้องมีไปตลอด อย่างประเทศเเถบยุโรป เช่น สวิสเซอร์แลนด์ หรือเยอรมันที่เขามีอัตราการออมกันสูงมาก เราก็รู้สึกว่าเราอยากทำให้ได้แบบนั้น เราต้องเก็บทรัพย์สินของเราไว้ในที่ที่ปลอดภัย ในวันที่อายุมากขึ้น เราอาจจะปรับพอร์ตได้ แต่ไม่ใช่ล้างพอร์ตหรือเลิกทำไปเลย ต้องศึกษาหาความรู้อยู่ตลอด
“ทุกวันนี้มีเครื่องมือใหม่ ๆ มากมายให้ลองใช้ เราก็ลองไปเรื่อย ๆ อย่าหยุดสนใจเรื่องพวกนี้ เพราะมันเป็นเงินที่เราหามา เราต้องพยายามต่อยอดมัน เงินก้อนสุดท้ายก็เหมือนเงินทุกก้อนที่เราใช้ในชีวิตที่จะต้องมีการวางแผนการใช้จ่าย และเรียงลำดับความสำคัญทุกครั้งว่าสิ่งไหนจำเป็น (need) สิ่งไหนเป็นแค่ความต้องการ (want)”
ปลายทางคือชีวิตวัยเกษียณที่อยู่ได้อย่างมีความสุข
“พี่โชคดีที่หลาย ๆ อย่างในชีวิตค่อนข้างลงตัวและราบรื่น ไม่ได้เจออุปสรรค หรือวิกฤติอะไร เมื่อก่อนเราทำมาเยอะ เหมือนเราปลูกแอปเปิลไว้ ตอนนี้ก็จะเป็นเวลาที่มันจะออกดอกผลให้เราได้เก็บเกี่ยวแล้ว
“ทุกวันนี้เงินที่เราเก็บสะสมมามันเติบโตขึ้นจนเรารู้สึกว่าเราไม่ต้องเคร่งครัดกับมันเหมือนช่วงแรก ๆ แล้ว เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่าจะเก็บเงินให้ได้ 10 ล้านก่อนเกษียณ ซึ่งตอนนี้มันได้ประมาณ 6 ล้าน ทำให้เวลาอีก 10 ปีที่เหลือก่อนที่จะเกษียณ เราสามารถที่จะปรับแผนการออมและการลงทุนให้ทำได้สบายขึ้น และอาจจะนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อความเพลิดเพลินบ้าง แต่จะยังคงรักษาทัศนคติและวินัยในการออมให้สม่ำเสมอเหมือนเดิม
“ก่อนถึงวันเกษียณพี่ก็คงเตรียมปรับแผนของตัวเอง ค่อย ๆ ปลดภาระที่จะต้องมานั่งดูแลให้เหลือน้อยที่สุด และค่อย ๆ เตรียมตัวสู่วัยเกษียณอย่างแท้จริง คิดว่าพอถึงตอนนั้นเราก็คงจะใช้เวลาทำอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ค่อยได้ทำ หรือทำสิ่งที่ชอบ ไปทำบุญ ปลูกต้นไม้ ท่องเที่ยว พักผ่อน ทำสวนกุหลาบ สตูดิโอโยคะ ร้านตัดเสื้อ แล้วก็เปิดคลินิกรักษาสัตว์ไว้แก้เหงา พอให้เรายังได้คุยกับคนนั้นคนนี้ และได้เข้าสังคมพูดคุยกับคนที่รักสัตว์เหมือนกันอยู่บ้าง”
เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน การวางแผนทางการเงินจึงเป็นเหมือนเกราะป้องกันที่ดีสำหรับชีวิตในวันข้างหน้าโดยเฉพาะในวันที่เราอาจจะไม่ได้มีรายได้จากการทำงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะช่วยต่อยอดความมั่นคงทางการเงินได้ ก็คือ ‘การลงทุน’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และลงมือทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม เหมือนอย่างที่พี่ณาได้เลือกให้มันเป็นอีกหนึ่งแผนสำรองของชีวิตที่จะช่วยเป็นรากฐานที่มั่นคงได้ในวันที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า เพราะอย่างน้อย ๆ การมีทางออกหลาย ๆ ทางให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าเสมอ