การวางแผนการเงินและการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมไว้ดูแลตัวเองในวัยเกษียณนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับคนวัย 50+ ซึ่งเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะช่วยดูแล รักษา และต่อยอดให้เงินที่เรามีอยู่นั้นเติบโตได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืนนั้น นอกจากการมีความรู้ และความเข้าใจในการลงทุนแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการรู้เท่าทันเทคนิคกลโกงต่าง ๆ ของมิจฉาชีพที่จะหลอกให้เรานำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ จนอาจทำให้เงินก้อนสุดท้ายที่เราเก็บสะสมมาทั้งชีวิตนั้นหายวับไปกับตา
มนุษย์ต่างวัยรวบรวมทุกเรื่องการเงินและการลงทุนที่น่าสนใจจากรายการ Life Long Investing ลงทุนวิทยาฉบับ 50+ พอดแคสต์ที่จะทำให้การเงินและการลงทุนเป็นเรื่องเข้าใจง่ายสำหรับคนวัย 50+ ที่ “มนุษย์ต่างวัย” ร่วมกับ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” (ก.ล.ต.) สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับคนวัย 50+ ที่สนใจเรื่องการลงทุน ต้องการตัวช่วยในการจัดการแผนการเงินที่เหมาะสมและตอบโจทย์รูปแบบชีวิตของตัวเองได้ พร้อมที่จะเข้าสู่วัยเกษียณได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ลงทุนอย่างไรให้ปลอดภัย ?
- เลือกลงทุนจากแหล่งลงทุนที่น่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จัก สามารถเช็กได้จากเว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th
- ต้องลงทุนด้วยตัวเอง อย่าฝากคนอื่นลงทุนให้ แม้จะรู้จักกันก็ตาม
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีทริกในการสังเกตความผิดปกติ 5 ข้อ ที่ดูแล้วเว่อ เกินความเป็นจรง ไม่ควรที่จะหลงเชื่อง่าย ๆ แล้วนำเงินไปลงทุน
5 ข้อสังเกต ดูแล้วเว่อ อย่าเผลอลงทุน
- สูงเว่อ เช่น อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงผิดปกติ
- ไวเว่อ เช่น อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนภายในเวลาอันรวดเร็ว
- ชัวร์เว่อ เช่น การันตีว่าได้ผลตอบแทนสูงอย่างแน่นอน
- เร่งเว่อ เช่น เสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้น เพื่อเร่งให้รีบตัดสินใจ
- ลอยเว่อ เช่น แอบอ้างผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐฯ หรือคนมีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
ในเวลาเพียง 2 ปีกว่ามูลค่าความเสียหายของคดีหลอกให้ลงทุนมีมากกว่า 26,000 ล้านบาทและยังเป็นคดีที่มีผู้เสียหายรายเดียวถูกหลอกจนสูญเสียทรัพย์สินมากกว่า 300 ล้านบาท โดยที่กลุ่มเป้าหมายที่มักจะถูกหลอกให้ลงทุน คือ
- กลุ่มคนอายุ 30-50 ปีมีอัตราการถูกหลอกให้ลงทุนสูงที่สุด เพราะอยู่ในช่วงวัยทำงานต้องการหา Passive income จึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพชักชวนไปลงทุนได้ง่าย
- ส่วนกลุ่มคนเกษียณอายุมีอัตราการถูกหลอกให้ลงทุนอยู่ประมาณ 5%
วิธีเลือกแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือในการศึกษาข้อมูลด้านการลงทุน
- ศึกษาจากเพจ Offiicial เท่านั้น สังเกตได้จากเครื่องหมาย Blue Mark ที่อยู่หลังชื่อเพจ
- เช็กความโปร่งใสของเพจ ถ้าเป็นเพจในประเทศไทย ผู้ดูแลเพจก็ต้องอยู่ในเมืองไทย ถ้าอยู่ที่อื่น หรือมีที่อยู่ในหลายประเทศให้ตั้งข้อสังเกตเลยว่าเป็นเพจของมิจฉาชีพ
- ไม่เปลี่ยนชื่อบ่อย
- ยอดการกดไลก์ กดแชร์ ไม่เท่ากับยอดผู้ติดตาม
- ต้องมีเบอร์ที่เราสามารถติดต่อเพื่อคุยรายละเอียดได้
เทคนิค กลโกงต่าง ๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวง คือ
- โชว์ความร่ำรวย ให้เห็นว่าคนที่มาลงทุนนั้นได้กำไรจริง ผ่านการเขียนรีวิว หรือตัดต่อคลิปปลอม
- แอบอ้างคนมีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
- ใช้ผลกำไรสูงเกินความเป็นจริงเป็นตัวกระตุ้นความโลภ ผ่านตัวเลขในแอปพลิเคชันที่ทำขึ้นมา และหลอกว่าเป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ที่คนไม่ค่อยรู้จัก
- พยายามใช้ศัพท์เทคนิค หรือศัพท์วิชาการ เพื่อให้ดูซับซ้อนและมีความน่าเชื่อถือ
ในการลงทุนประเภทต่าง ๆ นั้น ให้นึกอยู่เสมอว่าอะไรที่ได้มาง่าย ๆ ดูผิดแปลกไปจากปกติ มักจะเป็นเรื่องหลอกลวง ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ
ก่อนลงทุนทุกครั้งควรเช็กข้อมูลกับสถาบันทางการเงินที่จะลงทุนด้วยให้ครบถ้วน
- ถ้าเป็นเว็บไซต์ทำธุรกรรมทางการเงินในไทย ต้องลงท้ายด้วย .th เพื่อแสดงว่ามีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
- ถ้าเป็นการลงทุนกับแพลตฟอร์มในต่างประเทศ การลงทุนนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย
- ไม่ลงทุนกับแอปพลิเคชันที่ ก.ล.ต.ไม่ได้ให้การรับรอง
สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในการถูกหลอกให้ลงทุนด้วยแอปพลิเคชัน “SEC Check First”
“SEC Check First” เป็นตัวช่วยในการค้นหารายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจดทะเบียนอย่างถูกต้อง รวมทั้งใช้ในการตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น (หลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล)
วิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
- อย่าเก็บเงินทั้งหมดไว้ในบัญชีที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้ง
- หากมีคนแปลกหน้าติดต่อเข้ามาผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียจะต้องไม่มีประเด็นทางด้านการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง หากมีให้ระวังไว้ว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ
หากมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส
- โทร 1441 สายด่วนภัยออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- โทร 1207 กด 22 สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต. หรือ เว็บไซต์ www.sec.or.th/scamalert
ติดตามข้อมูลความรู้ทางการเงินและการลงทุน
ได้ในรายการพอดแคสต์ Live Long Investing ลงทุนวิทยาฉบับ 50+ ตอน
เหลี่ยมทุกดอกแล้วหลอกให้รวย รู้ทันกลลวงหลอกลงทุน | ลงทุนวิทยาฉบับ 50+ EP.4