‘Life is Fruity’ สารคดีที่สอนอย่างละมุนว่า การยืนระยะต้องใช้เวลาและการเดินทางอย่างช้าๆ แต่มั่นคงคือวิถีหนึ่งของการใช้ชีวิต

ต้นไม้ที่เติบโตแข็งแรง ทนฟ้า ทนฝน ทนลมพายุ จนแผ่กิ่งก้านใบให้ร่มเงา มากกว่านั้นบางต้นให้ดอก ออกผล เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นหลักฐานว่าต้นไม้ต้นนั้นต้องผ่านการยืนระยะ และปฏิเสธไ ม่ได้ว่าการยืนระยะนั้นต้องใช้เวลา

เช่นกันกว่าจะเข้าใจชีวิตได้อย่างที่ได้เห็นจาก life is Fruity หรือ ชีวิตนี้หอมหวาน ตามชื่อภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ชีวิตของตัวเอกอย่าง ชูอิจิ ทสึบาตะ สถาปนิกมากประสบการณ์ ก็ล่วงเข้าสู่วันวัยที่ 90 ปี

สารคดีระดับรางวัลเรื่องนี้เล่ามุมมองธรรมดาของความสุขที่ทุกคนต่างมองเห็น แต่ใช่ว่าคนทุกคนจะค้นพบความธรรมดาที่พิเศษเช่นนี้ได้ เพราะต้องใช้ต้นทุนที่มีผ่านการบ่มเพาะ ก่อเกิด เติมเต็ม จนโชกโชนในบทบาทความเป็นมนุษย์คนหนึ่งมายาวนาน เรื่องธรรมดาๆ ที่ว่าจึงไม่ธรรมดาเสมอไป

คุณตาชูอิจิเป็นสถาปนิกออกแบบเครื่องบินรบให้กองทัพเรือในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามจบลง เขายังคงยึดอาชีพสถาปนิกต่อ จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเกิดขึ้นตอนเขาอายุ 36 เมื่อชูอิจิในวัยหนุ่มได้รับมอบหมายให้ รับ ผิดชอบ การออกแบบผังเมืองใหม่ในฐานะหัวหน้าสมาคมอสังหาริมทรัพย์

สถาปนิกหนุ่มวาดฝันถึงผังเมืองที่เอื้อให้ชาวเมืองได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เน้นภูมิทัศน์ด้วยการสร้างบ้านตามสันเขา เพื่อให้ชาวเมืองได้เห็นว่ามีภูเขาอยู่ตรงไหนบ้าง ทั้งยังหลงเหลือป่าส่วนหนึ่งทิ้งไว้กลางเมือง และออกแบบเส้นทางเดินลม

แต่ทว่าในโลกความจริงนั้นผังเมืองที่จินตนาการไว้ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพราะรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้นกลับมองว่าความประหยัดและความรวดเร็วเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ สำหรับการสร้างเมือง

“ผมคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ปลูกป่าขึ้นที่นี่ได้อีกครั้ง ผมเลยตัดสินใจสร้างป่าเล็กๆ บนผืนที่ดินที่ซื้อไว้ เพื่อจะอนุบาลพืช พันธุ์ต่างๆ มันเป็นการทดลองเพื่อแสดงให้เห็นว่า แต่ละคนสร้างผืนป่าของตัวเองได้”

คุณตาชูอิจิเป็นสถาปนิกที่มีสุนทรียะในหัวใจ เขาคิดเช่นนั้นและทำสิ่งที่เชื่อมั่นมาตลอด เขาคิดว่าถ้าทุกบ้านปลูกป่าเล็กๆ ได้ พื้นที่แห่งนี้ก็จะเหมือนป่าชุมชน เขาจึงเริ่มทำงานของตัวเองพร้อมกับทำงานเพื่อชุมชนมาตลอด 50 ปี

คุณตามี ฮิเดโกะ ทสึบาตะ วัย 87 ปี เป็นคู่ชีวิต คุณยายฮิเดโกะเป็นลูกสาวคนเดียวของโรงหมักสาเก ที่เก่าแก่กว่า 200 ปี ผู้ที่เติบโตมากับขนบประเพณีและวิธีการเลี้ยงคนละแบบกับสามี แม้จะมาจากรากที่แตกต่างกันแต่ทั้งคู่เป็นเสมือนหุ้นส่วนชีวิตที่เรียนรู้และผ่านฤดูกาลต่างๆ ด้วยกันมาเกือบ 70 ปี

คุณตาและคุณยายอาศัยอยู่ภายใต้ชายคาของ ‘บ้านทสึบาตะ’ บ้านหลังคาสีน้ำตาลแกมแดงที่ดูอบอุ่น ในเมืองคาสุไก จังหวัดไอจิ บ้านที่มีอายุนานกว่า 40 ปีนี้เป็นบ้านที่คุณตาสร้างและออกแบบขึ้นตามสถาปนิกคนโปรดของเขา อาณาบริเวณรอบบ้านมีไม้ผล ไม้ดอก ไม้ยืนต้นที่เริ่มต้นปลูกมาตั้งแต่ผืนดินแห้งผาก

ต่อเมื่อสายลมพัด ใบไม้แห้งก็ร่วงหล่น ดินก็สมบูรณ์ พืชผลก็เติบโตช้าๆ อย่างมั่นคง


สองสามีภรรยาลงแรงกับการสร้างพื้นที่ชีวิตของตัวเอง ในสารคดีเราจึงได้เห็นภาพความหอมหวานที่หลายหลากของเหล่าไม้นานาพรรณ เช่น มันฝรั่ง หน่อไม้ ข้าวโพด มะนาว ผักกาดหัว ดอกโบตั๋น ลูกพลับ เกาลัด แตงโม มะเดื่อ เผือก บ๊วย ทั้งพันธุ์เล็กและธรรมดา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของพืชพันธุ์ที่เจ้าของบ้านตั้งใจปลูกและดูแล ส่วนภูเขาที่เดิมที่เป็นเขาหัวโล้นหลังบ้าน คุณตาคุณยายก็ชวนคนที่สนใจมาร่วมปลูกต้นโอ๊กด้วยกัน

บ้านของทั้งสองน่าอยู่ ร่มรื่นด้วยพรรณไม้นานาสีสัน ทั้งยังมีกิจกรรมมากมายให้ชีวิตยามวัยชราของทั้งคู่ไม่นิ่งเฉยและไม่น่าเบื่อ ทั้งคู่ช่วยกันทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ รดน้ำ ขุดดิน ซ่อมหลังคา เก็บผลไม้ ตกแต่งสวน ทำกับข้าวกินกันเอง ไปจนถึงการเขียนป้ายข้อความน่ารักๆ ปักไว้เตือนสติกันและกันตามจุดต่างๆ แถมด้วยป้ายเพื่อสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่บ้านหลังนี้ด้วย

ในบ้านมีทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไร้ไฟฟ้าที่สลับเปลี่ยนกันใช้อย่างคนตามทันโลก แม้อายุมากแล้ว แต่ทั้งคู่ยังเคลื่อนไหวได้อย่างแข็งแรงด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งไม้เท้าเวลาเดินเหิน สามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระลูกหลาน จะไปไหนหรือทำอะไรก็สามารถทำเองได้ ทั้งนั่งรถเมล์ ขึ้นรถไฟ เดินซื้อของ ส่งพัสดุ ส่งจดหมาย หรือแม้กระทั่งปั่นจักรยาน

นอกจากทั้งสองจะช่วยกันดูแลบ้านเป็นอย่างดีแล้วก็ยังดูแลตัวเองได้ดี ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อกันและกัน หรือต่อใครๆ

“เราสะสมเงินไว้ให้คนรุ่นต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าเราทำดินดี ลูกหลานก็ปลูกพืชผลได้”  

ร่างกายที่แข็งแรง สมบัติเดิมที่มี หน้าที่การงาน หรือการเตรียมตัวเตรียมพร้อมรับอายุขัยที่มากขึ้นซึ่งสองตายายทำได้ดีนั้นก็ส่วนหนึ่งทำให้มีชีวิตที่มีคุณภาพ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเหตุที่ชีวิตหลังเกษียณที่เห็นในสารคดีดำเนินไปได้อย่างสวยงามนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายรัฐสวัสดิการที่ดีที่ช่วยให้คนสูงวัยได้มีเงินบำนาญในการใช้ชีวิตที่เหลือได้อย่างมั่นคง

ในตอนหนึ่ง คุณยายฮิเดโกะผู้มีหน้าที่จ่ายตลาดเล่าว่า ตัวเองนั้นมีเงินบำนาญใช้เดือนละ 320,000 เยน คิดเป็นเงินไทยแล้วประมาณ 97,000 บาท เธอจึงตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่เสมอและใช้เงินที่ได้รับอย่างคุ้มค่า เพื่อให้มีชีวิตที่ไม่สร้างความลำบากให้กับลูกหลาน พวกเด็กๆ จึงได้ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อเติบโตและเป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่ดีในสังคม

“เราต้องดูว่า เราทำอะไรได้บ้าง แล้วขยันฝึกฝน มันใช้เวลา แต่เราจะค้นพบสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น เราต้องลงมือทำเอง”

ประโยคข้างต้นคือคือสิ่งที่คุณตา ชูอิจิ ยึดมั่น และเป็นตัวอย่างให้คุณยายฮิเดโกะนำไปปรับใช้ในชีวิตของเธอ


ชีวิตหอมหวานยามแก่เฒ่า ชีวิตที่ตัวเองสามารถเลือกออกแบบเองได้แบบคู่สามีภรรยาทสึบาตะที่เห็นในเรื่องนี้จึงดูเป็นชีวิตที่ดูโรแมนติกในแบบของตัวเอง แต่ ในโลกใบนี้มีทั้งเรื่องใจดีและใจร้ายให้เราได้เจอ ได้เรียนรู้ ได้ใช้เวลา ซึ่งเรื่องนี้เป็นสัจธรรมที่ทุกคนต่างรู้

สารคดีเรื่องนี้ก็เช่นกัน ภาพความสุขสบายในฉากชีวิตของตายายเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเรื่องเล่าเท่านั้น เพราะเบื้องหลังวันวานกว่าจะผ่านมาถึงเวลานี้ได้ไม่สามารถฉายให้เห็นได้ภายในเวลาเพียงชั่วโมงครึ่งตามความยาวของเรื่อง

แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ ( Frank Lloyd Wright) สถาปนิกคนสำคัญคนหนึ่งของโลกก็ยังเคยพูดความจริงข้อหนึ่งไว้ว่า “ยิ่งคุณใช้ชีวิต ชีวิตของคุณก็ยิ่งงดงาม” ซึ่งก็เหมือนกับชีวิตของคุณตาชูอิจิและคุณยายฮิเดโกะใน Life is Fruity ที่หอมหวานขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลา

สารคดีเรื่องนี้ชวนให้ผมคิดถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้น ณ ในบ้านหลังหนึ่งใต้แสงจันทร์ ผมจดและจำสิ่งที่เจ้าของบ้านในวัย 50 กว่าปีซึ่งนั่งอยู่ตรงข้ามกองไฟบอกไว้ว่า

“ถึงสังคม รัฐ หรือ อำนาจไหนๆ มันจะไม่ยุติธรรมกับเรา แต่เชื่อเถอะว่า สิ่งที่เราลงแรงไปแล้วไม่มีวันสูญเปล่า โลกนี้ยุติธรรมกับเราเสมอ”

ต้นไม้ของ บ้านทสึบาตะ ยังแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ออกดอกผลอยู่ทุกฤดูกาล สารคดีที่หน้าหนังดูเรียบๆ เรื่องนี้จึงยิ่งย้ำให้ผมเชื่อมั่นว่า ‘การยืนระยะต้องใช้เวลา’

และใช้เวลาที่มีไปตามเส้นทางของเรา… ช้าๆ อย่างมั่นคง 

หมายเหตุ: Life is Fruity ( 人生フルーツ ) หรือชื่อภาษาไทยว่า ชีวิตนี้หอมหวาน สามารถหาชมได้ทาง VIPA แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงจากไทยพีบีเอส

ภาพยนตร์สารคดีชิ้นนี้คว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมประจำปี 2017 จากเวที Kinema Jumpo Award โดยมี เคนชิ ฟูชิฮาระ (Kenshi Fushihara) เป็นผู้กำกับและผู้เรียบเรียงเรื่องเล่าและทัศนะของคุณตาชูอิจิกับคุณยาฮิเดโกะออกมาเป็นเรื่องราว และได้ คิริน คิกิ (Kirin Kiki) นักแสดงหญิงระดับตำนานของญี่ปุ่นเป็นผู้บรรยาย โดยงานบรรยายเสียงในสารคดีเรื่องนี้เป็นผลงานท้ายๆ ของเธอก่อนจะเสียชีวิตในปีถัดมาหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล

รับชมได้ที่: https://bit.ly/3ad3lGD

Credits

Author

  • อธิวัฒน์ อุต้น

    Author & Drawชื่อแดนซ์, ยังคงตามหาว่ามีใครใช้ชื่อซ้ำกันไหมและหวังว่าจะพบในสักวัน บางครั้งก็จับกีตาร์ บางครั้งก็จับปากกา บางครั้งก็จับกล้อง (แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่ไล่จับความฝัน)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ