ชวนรู้จัก ‘โยคะหัวเราะ’ ศาสตร์แห่งการดูแลกาย-ใจ ให้มีความสุขด้วยเสียงหัวเราะ

“เราไม่ได้หัวเราะเพราะเรามีความสุข แต่เรามีความสุขเพราะเราหัวเราะ”

หนึ่งประโยคสำคัญที่มักจะถูกพูดกันบ่อย ๆ ของผู้ที่อยู่ในชมรมหัวเราะ และฝึกหัวเราะกันอย่างต่อเนื่อง หลายคนเปลี่ยนแปลงชีวิตได้แบบพลิกฝ่ามือด้วยเสียงหัวเราะของตัวเอง จากที่เคยยิ้มยากก็กลายเป็นคนยิ้มง่าย จากที่เคยเครียดหนักจนต้องใช้ยาเพื่อช่วยในการผ่อนคลาย ก็สามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกได้ดีขึ้นเมื่อกลับมาหัวเราะและหายใจอยู่กับตัวเอง

ถึงแม้ว่าคนเราจะหัวเราะกันได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่โดยปกติแล้วในชีวิตประจำวันของเรามักจะพบเจอกับความวุ่นวาย และปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะนำไปสู่ความเครียด ความวิตกกังวล และความไม่สบายใจมากกว่าจะมีเรื่องราวที่ชวนให้ยิ้มและหัวเราะออกมาได้ง่าย ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคนเราควรจะหัวเราะให้ได้อย่างต่อเนื่องประมาณ 10-15 นาทีในทุกวัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ

มนุษย์ต่างวัยชวนมาทำความรู้จักกับ ‘โยคะหัวเราะ’ ศาสตร์แห่งการผสมผสานเสียงหัวเราะ การหายใจ และการยืดเส้นยืดสาย ยืดกล้ามเนื้อจากการฝึกโยคะปกติเข้าด้วยกัน กลายเป็นวิธีการดูแลร่างกายและจิตใจที่เป็นเอกลักษณ์ ที่ช่วยให้เราหัวเราะได้ง่ายและนานพอที่สมองจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา

ในวันที่โลกเต็มไปด้วยเสียงต่าง ๆ ที่ดังขึ้นมากมาย เราอยากชวนทุกคนกลับมาผ่อนคลาย ด้วยการกลับมาฟังเสียงหัวเราะและลมหายใจกันสักครั้ง ถึงแม้ว่าเราอาจจะเป็นคนที่ยิ้มและหัวเราะยาก แต่การฝึกหัวเราะอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วย ‘โยคะหัวเราะ’ จะช่วยให้เราค่อย ๆ ยิ้มและหัวเราะได้ง่ายขึ้น ไม่แน่ว่าเราอาจจะกลายเป็นคนที่ยิ้มและหัวเราะออกมาได้ แม้กับเรื่องราวที่เล็กน้อยและเรียบง่ายโดยไม่ทันรู้ตัว

โยคะหัวเราะถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกโดย ดร.มาดาน คาทาเรีย (Dr. Madan Kataria) แพทย์ชาวอินเดีย ผู้เคยเผชิญกับความเครียดอย่างหนักและพบว่าการหัวเราะนอกจากจะสามารถช่วยให้จิตใจผ่อนคลายแล้ว ยังดีต่อสุขภาพ เขาจึงค่อย ๆ พัฒนาศาสตร์โยคะหัวเราะขึ้นมา และก่อตั้งเป็น Laughter Yoga International สถาบันสอนโยคะหัวเราะระดับนานาชาติ ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2538 ก่อนที่จะเผยแพร่ศาสตร์นี้ออกไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

ต่อมา ครูเก๋ – วรารักษ์ สู่โนนทอง หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Laughter University of Thailand ซึ่งเป็น Laughter Yoga Master Trainer คนเดียวในประเทศไทยและเป็น 1 ใน 70 คนของโลกได้นำโยคะหัวเราะเข้ามาในประเทศไทย ทำให้โยคะหัวเราะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีคนจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าไปศึกษา เรียนรู้ และฝึกฝนโยคะหัวเราะจนสามารถผ่านการรับรอง และนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้คนกลุ่มต่าง ๆ มากมาย ทั้งเด็ก คนวัยทำงาน คุณแม่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลร่างกายและจิตใจได้จากเสียงหัวเราะของตัวเอง

โยคะหัวเราะเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างเสียงหัวเราะการเลียนแบบท่าทางง่าย ๆ ของเด็ก ๆ และการฝึกหายใจแบบโยคะ จึงเรียกว่า “โยคะหัวเราะ”

แนวคิดของโยคะหัวเราะมีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ร่างกายไม่สามารถแยกระหว่างเสียงหัวเราะปลอมและเสียงหัวเราะจริงได้ เพราะฉะนั้นใคร ๆ ก็สามารถหัวเราะได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไข อาศัยเรื่องสนุกสนาน หรือเรื่องตลกขบขัน

การฝึกโยคะหัวเราะนั้น จะเริ่มต้นจากการออกกำลังกายและทำกิจกรรมกลุ่ม เมื่อทุกคนได้ทักทาย สบตา กันเรียบร้อย ก็จะเริ่มให้มีการเคลื่อนไหวด้วยการเลียนแบบท่าทางการเล่นของเด็ก ๆ เสียงหัวเราะที่เริ่มจากการแสดง หรือการแกล้ง จึงจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะที่ออกมาจากความรู้สึกข้างในจริง ๆ และส่งต่อความรู้สึกแบบนี้ไปถึงทุก ๆ คนที่กำลังฝึกหัวเราะอยู่ด้วยกัน จนกลายเป็นเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

การวิจัยทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่าแม้เราจะแกล้งหัวเราะหรือทำท่ามีความสุข ร่างกายของเราก็จะผลิตฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาตามหลักการเขียนโปรแกรมภาษาประสาท (NLP) ที่แทบจะไม่มีความแตกต่างระหว่างการคิดจะทำอะไรบางอย่างกับการลงมือทำสิ่งนั้นจริง ๆ ดังนั้น ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เป็นที่มาของเสียงหัวเราะก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในร่างกายเช่นเดียวกัน เหมือนกับที่นักแสดงหลายคนที่อินกับบทบาทเศร้าและหดหู่จนรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาจริง ๆ หลังจากจบการแสดง 

สำหรับเสียงหัวเราะที่เกิดจากอารมณ์ขันนั้นเป็นเสียงหัวเราะที่มีเงื่อนไข ขึ้นอยู่กับเหตุผล สภาพจิตใจ ระดับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละคน แต่การหัวเราะในโยคะหัวเราะ เป็นการหัวเราะแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของความสนุกสนานแบบเด็ก ๆ

ดร.โรเบิร์ต โพรวีน (Dr. Robert Provine) นักวิจัยผู้บุกเบิกด้านเสียงหัวเราะ กล่าวว่าเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราไม่ได้มาจากอารมณ์ขันหรือเรื่องตลก ๆ จริง ๆ แต่เกิดจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำ เมื่อเราอยู่กับเพื่อนหรือคนรู้จักที่มีความคิดคล้ายคลึงกันและได้ใช้ช่วงเวลาที่สนุกสนานไปด้วยกัน เราจะหัวเราะมากขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์

ครั้งนี้มนุษย์ต่างวัยมีโอกาสได้ติดตามกลุ่มอาสาสมัครโยคะหัวเราะจากกลุ่ม Laughter Yoga Thailand Club เข้าไปทำกิจกรรมโยคะหัวเราะให้กับผู้สูงอายุที่มูลนิธิธารนุเคราะห์ สถานพักฟื้นคนชราบางเขน ด้วยความตั้งใจของกลุ่มอาสาสมัครที่อยากเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนั้นมีทั้งคนที่เคยทำฝึกโยคะหัวเราะมาแล้วทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ และผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยได้ฝึกโยคะหัวเราะมาก่อน แต่ตลอดทั้งชั่วโมงในการทำกิจกรรม สิ่งที่เราสัมผัสได้คือบรรยากาศของความอบอุ่น ผ่อนคลาย ที่อบอวลไปด้วยความสุข ความสนุกสนานจากเสียงหัวเราะ และการได้เคลื่อนไหวร่างกายจนทำให้ใบหน้าของทุกคน ณ ที่แห่งนั้นเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข

‘แอนท์ – อุไรรัตน์ พึ่งสุนทรบัตร์’ หนึ่งในอาสาสมัครที่มาร่วมฝึกสอนและทำกิจกรรมโยคะหัวเราะกับผู้สูงอายุเล่าถึงการนำกิจกรรมโยคะหัวเราะไปใช้กับผู้สูงอายุว่าจะต้องมีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสม เพราะถ้าให้ผู้สูงอายุหัวเราะมากเกินไป จะทำให้ผู้สูงอายุเหนื่อยเร็ว จึงมีการเว้นช่วงให้ได้พักหายใจ แล้วค่อยกลับมาหัวเราะใหม่ รวมทั้งมีการให้ผู้สูงอายุได้ขยับร่างกายเบา ๆ ไปพร้อมกับการฝึกหัวเราะด้วย

“เวลาฝึกโยคะหัวเราะ ผู้สูงอายุจะได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ได้เต้น ได้ขยับร่างกาย และได้หัวเราะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยปกติการหัวเราะในชีวิตประจำวันนั้นไม่ทำให้เราหัวเราะได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอที่ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาได้ เราจึงต้องฝึกที่จะหัวเราะแบบไม่มีเงื่อนไข

“เราจะฝึกหัวเราะอย่างต่อเนื่องประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา แต่การจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากฮอร์โมนที่หลั่งออกมาได้นั้นคือการเข้าสู่ช่วงกราวด์ดิ้ง หรือช่วงสงบนิ่ง เพราะในช่วงที่ฝึกหัวเราะ ความคิดและความกังวลจะหายไป การที่จะให้ร่างกายได้หลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขอย่างเต็มที่ จึงต้องทำให้ระบบประสาท และร่างกายผ่อนคลายมากที่สุด โดยการฝึกสมาธิ เพื่อกำหนดลมหายใจให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย และกลับสู่สมดุลในแบบที่ควรจะเป็น นอกจากทำให้เกิดผลลัพธ์ในด้านของอารมณ์และจิตใจแล้ว ยังช่วยให้เกิดผลดีต่อร่างกายด้วย เพราะในระหว่างฝึกโยคะหัวเราะจะมีการให้ผู้สูงอายุได้ขยับร่างกายด้วย แต่จริง ๆ แล้วการหัวเราะอย่างต่อเนื่องก็เป็นการคาร์ดิโอรูปแบบหนึ่งอยู่แล้วเช่นกัน

เวลาเราลงไปทำงานกับผู้สูงอายุ เรามักจะได้รับฟีดแบกว่าเขาไม่เคยได้หัวเราะแบบนี้มานานแล้ว มันทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเองมากเลยมันทำให้เราดีใจไปกับเขาด้วยที่สิ่งที่เราไปทำมันช่วยให้เขากลับมารู้สึกถึงความสดใสของตัวเองได้อีกครั้ง ทำให้เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วทุกคนก็อยากหัวเราะและมีความสุข เพียงแต่เขาไม่รู้ว่ามันมีวิธีที่จะทำให้หัวเราะได้ง่าย ๆ เราก็เลยอยากส่งต่อและแบ่งปันความรู้ที่เรามีให้ทุกคนได้รู้ว่ามีโยคะหัวเราะอยู่บนโลกใบนี้

‘ส้มโอ ภัทรภร ลุสวัสดิ์’ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลสมุทรปราการ หนึ่งในอาสาสมัครที่นำโยคะหัวเราะเข้าไปใช้ในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กรเล่าให้เราฟังว่า

“พี่เป็นพยาบาลได้เรียนโยคะหัวเราะและนำไปใช้กับบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุข หลายคนก็ให้ฟีดแบ็กกลับมาว่า ‘เขามีความสุขมาก ไม่เคยได้หัวเราะแบบนี้มาก่อน’ หลายคนก็บอกว่า ‘เพิ่งรู้ว่ามีอะไรแบบนี้อยู่ด้วย’ และเขาสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ดูแลผู้ป่วยต่อได้

“พี่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอยู่แล้ว เวลาออกเยี่ยมบ้านก็จะมีการนำโยคะหัวเราะไปใช้ผู้ป่วย ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความสุขและเครียดน้อยลง คนไข้บางคนเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ เราให้เขาปรบมือ ตอนแรกเขาก็บอกว่า เขาไม่มีแรง ยกมือไม่ได้ แต่พอเราพาเขาทำไปเรื่อย ๆ เพลิน ๆ เขาก็ปรบมือได้ อาจเป็นเพราะความสนุกที่เกิดขึ้น ทำให้เขาลืมความเจ็บปวดทางร่างกายของตัวเองไป ถ้าเราให้เขายกมือเฉย ๆ เขาก็คงไม่อยากทำ แต่พอเราใช้เทคนิคโยคะหัวเราะเข้ามาช่วย เราจะเห็นว่าพอมีความสนุกเข้ามา ทำให้มันเพลิน เอาสมาธิมาจดจ่ออยู่กับการหัวเราะ ก็ทำให้เขาลืมความเจ็บปวดไป แล้วพอยกเรื่อย ๆ ยกบ่อย ๆ ความเจ็บปวดก็จะค่อย ๆ ลดลงไป และสามารถขยับร่างกายได้ดีขึ้น

เวลาเราหัวเราะ จะทำให้เส้นเลือดที่หัวใจและปอดเรามีการขยายตัว ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ มากขึ้น ความดันโลหิตลดลง เพราะออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้การหัวเราะที่ต่อเนื่องและยาวนานพอก็จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยในเรื่องระบบเผาผลาญของร่างกายด้วย ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ คงไม่ได้เกิดขึ้นจากการหัวเราะเพียงไม่กี่ครั้ง เราต้องฝึกหัวเราะอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

‘หมอจ๋า – แพทย์หญิงจุไรรัตน์ บัวภิบาล’ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมเด็จพระนั่งเกล้า หนึ่งในอาสาสมัครที่มาร่วมฝึกสอนและทำกิจกรรมโยคะหัวเราะกับผู้สูงอายุ เล่าถึงการนำโยคะหัวเราะไปใช้ในการฟื้นฟูร่างกายและบรรเทาความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยให้เราฟังว่า

“จุดเริ่มต้นของการนำโยคะหัวเราะมาใช้กับผู้ป่วย จริง ๆ ก็เริ่มจากความอยากนำมาใช้กับตัวเองก่อน เพราะเรามีอาการปวดเรื้อรังมาก ลองรักษาตัวเองด้วยวิธีทางการแพทย์แล้วรู้สึกว่ามันก็หายแค่ชั่วคราว ก็เลยคิดว่าแค่การรักษาทางร่างกายอย่างเดียวคงไม่พอ เลยค้นหาวิธีการรักษาแบบอื่น ๆ จนได้มาเจอโยคะหัวเราะจากการไปปฏิบัติธรรมที่ไร่เชิญตะวัน เลยเข้าไปลองฝึกฝน เรียนรู้อย่างจริงจัง

“ก่อนหน้านี้เราทำงานที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ส่วนใหญ่จะทำงานกับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เรามีคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าจะช่วยผู้ป่วยที่เขาเจ็บป่วยเรื้อรังได้อย่างไร พอเราลองฝึกโยคะหัวเราะด้วยตัวเองแล้ว ก็เลยอยากนำมาลองใช้กับผู้ป่วยดูบ้าง 

“สถาบันสิรินธร ฯ เป็นศูนย์ฟื้นฟูอยู่แล้ว การรวบรวมผู้ป่วยมาลองฝึกโยคะหัวเราะจึงทำได้ไม่ยาก ถึงแม้ว่าช่วงแรก ๆ จะยังมีคนมาไม่เยอะ แต่พอผู้ป่วยได้ลองทำครั้งแรกแล้วเกิดผลลัพธ์ที่ดี เขาก็ไปชวนคนอื่นมาด้วย มีคุณป้าท่านหนึ่งเป็นโรคหลอดเลือดสมอง พอได้มาฝึกโยคะหัวเราะครั้งแรก เขาก็รู้สึกว่าใจมันดีขึ้น ครั้งแรก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรม คุณป้าอาจจะดูไม่ค่อยสดชื่น แต่พอครั้งหลัง ๆ เขามาด้วยรอยยิ้มตลอด ส่วนคุณลุงอีกท่านหนึ่งเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย มาฝึกโยคะหัวเราะแค่ครั้งเดียว พอกลับไปผู้ดูแลก็บอกว่าคุณลุงร้องไห้น้อยลงมาก

“จริง ๆ การหัวเราะก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่เราจะหัวเราะอย่างไรให้เป็นยา ช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยของสุขภาพกายสุขภาพใจให้ดีขึ้น คนเราเวลาเจ็บป่วยมันไม่ได้ทุกข์แค่ทางกาย แต่เราทุกข์ใจด้วย ซึ่งการหัวเราะมันทำให้เรามีความสุขได้เลยทันที ตอนแรกอารมณ์เราอาจจะยังไม่ได้ แต่พอหัวเราะไปเรื่อย ๆ ความสุขมันจะมาเอง

“เวลาที่เราหัวเราะสมองจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ช่วยลดอาการปวด สารเซโรโทนิน ที่เป็นสารแห่งความสุข สารโดปามีน ที่ให้ความรู้สึกสบาย ๆ ผ่อนคลาย และสารออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ทำให้เรารู้สึกมีความสุข ความสนุก นอกจากนี้การมาฝึกโยคะหัวเราะยังเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำให้เกิดมิตรภาพและได้เพื่อนใหม่ ๆ ด้วย

“ทุกวันนี้เรายังมีอาการปวดและยังต้องทำกายภาพบำบัดอยู่ แต่การหัวเราะก็ทำให้ร่างกายและใจเราดีขึ้น ถ้าเราไม่ได้สร้างความสุขให้ตัวเองด้วยเสียงหัวเราะ ความคิดเราก็จะวนเวียนอยู่ที่อาการเจ็บป่วย การได้ฝึกโยคะหัวเราะจึงเป็นการย้ายจุดโฟกัสมาที่การสร้างความสุขและความสนุกให้กับตัวเองแทน”

ถึงแม้ว่าโยคะหัวเราะจะเป็นกิจกรรมที่ดีต่อคนทุกเพศ ทุกวัย แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่ด้วย กลุ่มคนที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการฝึกโยคะหัวเราะ คือ ผู้ป่วยโรคไส้เลื่อน ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดใหญ่มาในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน คุณแม่ตั้งครรภ์ช่วง 2 เดือนสุดท้าย ผู้ป่วยที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวาร และผู้ที่มีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 

โยคะหัวเราะเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจ สามารถเริ่มฝึกได้ไม่ยาก วันนี้เราอยากชวนทุกคนมาลองฝึกหัวเราะง่าย ๆ ด้วยท่าทางพื้นฐานของโยคะหัวเราะ 4 ท่า ไปด้วยกัน ให้เกียรติสาธิตโดย “ปูเป้ – วไลลักษณ์ ตาเทพ” ครูสอนโยคะที่เป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่มาร่วมจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุในวันนี้

ท่าที่ 1 – ท่าสวัสดี

เป็นการทักทายทั่วไปเวลาพบหน้ากัน เริ่มจากพนมมือ กล่าวสวัสดี มองตากัน แล้วหัวเราะ

ท่าที่ 2 – ท่าอะโลฮ่า (คำที่ใช้ทักทายหรืออำลาในภาษาฮาวาย)

ยืนตรง แยกขาเล็กน้อย หายใจเข้า ชูมือขึ้น แล้วหายใจออกพร้อมโน้มตัวไปข้างหน้า ปล่อยตัวสบาย ๆ แล้วหัวเราะออกมา เงยหน้าขึ้นพร้อมเปล่งเสียง “อโล” ก้มตัวลงจนสุดแล้วเปล่งเสียงหัวเราะ

ท่าที่ 3 – ท่าชงโกโก้ร้อน

เป็นการใช้จินตนาการแบบไม่มีเงื่อนไข สมมติว่าเรากำลังชงโกโก้ร้อน จินตนาการว่ามือข้างหนึ่งกำลังถือแก้วอยู่ ใช้มืออีกข้างเทน้ำร้อนลงไปในแก้ว พร้อมเปล่งเสียงลากยาวว่า “เอ๋” จากนั้นก็เทโกโก้ลงไป พร้อมเปล่งเสียงลากยาวว่า “เอ๋” ต่อมาก็เติมน้ำผึ้งแล้วเปล่งเสียงลากยาวว่า “เอ๋” จากนั้นก็จินตนาการว่าเราหยิบช้อนมาคนวน ๆ เปล่งเสียงลากยาวว่า “เอ๋” แล้วหัวเราะ ดูอุณหภูมิของแก้ว ยกแก้วขึ้นดมกลิ่นโกโก้ แล้วจินตนาการว่าแก้วมันร้อนจนเราต้องสะบัดมือออกพร้อมกับหัวเราะออกมา

ท่าที่ 4 – ท่าตลับเมตร

เป็นการช่วยเปิดพลังในตัวเอง ด้วยการเปิดอก เปิดแขน แล้วเงยหน้า เริ่มจากยื่นมือขวาออกไปแล้วใช้ฝ่ามือซ้ายไปสัมผัสมือขวา ลากกลับมาที่ข้อศอก พร้อมเปล่งเสียงลากยาวว่า “เอ๋” ลากไปที่หัวไหล่ พร้อมเปล่งเสียงลากยาวว่า “เอ๋” ลากต่อไปที่ไหล่ด้านซ้าย พร้อมเปล่งเสียงลากยาวว่า “เอ๋” กางแขนออก เงยหน้า อ้าปาก แล้วหัวเราะ หลังจากนั้นก็ทำสลับข้าง

ระหว่างฝึกโยคะหัวเราะ ถ้าเรารู้สึกเหนื่อย หรือหายใจไม่ทัน ให้เราหายใจเข้าให้ลึก กลั้นลมหายใจไว้ 3 วินาที แล้วปล่อยลมหายใจออกทางปากยาว ๆ ช้า ๆ ทำทั้งหมด 3 ครั้ง นอกจากนี้ระหว่างฝึกโยคะหัวเราะ อย่าลืมกล่าวชื่นชมตัวเองและคนอื่นด้วยการกล่าวคำว่ายอดเยี่ยม ยอดเยี่ยม ยอดเยี่ยมเสมอ

ข้อมูลบางส่วนจาก

โยคะหัวเราะเพื่อสุขภาพและความสุข https://pubhtml5.com/bookcase/dxowo/

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/LaughterYogaThailandClub

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ