Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

“ทั้งที่ผมเป็นช่างภาพแท้ ๆ แต่วันที่พ่อผมเสีย ผมกลับไม่มีรูปพ่อใช้ในงานศพ” ‘Last Photo’ ภาพสุดท้ายที่เราเลือกเองได้ กับ ‘ตุ่ย-ธำรงรัตน์ บุญประยูร’

“สวัสดีครับ ผมชื่อตุ่ยนะครับ”

ประโยคแรกที่ ‘ตุ่ย-ธำรงรัตน์ บุญประยูร’ ช่างภาพมืออาชีพวัย 64 ปี กล่าวทักทายคนบนเก้าอี้ตรงหน้าด้วยรอยยิ้ม หลังแนะนำตัวเสร็จ พี่ตุ่ยก็จะมีสนทนากับคนตรงหน้าด้วยคำถามแบบเรียบง่ายสบาย ๆ แต่แฝงไว้ด้วยการชักชวนให้คนที่นั่งอยู่หน้ากล้องได้ทบทวนชีวิต ระหว่างที่เขากำลังกดชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพ

“ผมเรียนจบคณะนิติศาสตร์ สมัยนั้นพอเรียนจบก็ต้องไปลงเรียนเนติบัณฑิต ผมทำตามที่พ่อสั่งนะ แต่ไม่เคยไปเรียนเลย ต่อมาพ่อให้ไปสอบเข้าทำงานในธนาคารใหญ่ ๆ ผมก็ทำตามแล้วก็สอบได้ด้วย แต่ก็ไม่ยอมบอกพ่อ แอบฉีกจดหมายตอบรับทิ้งเพราะใจมันไม่ไป ตอนนั้นผมคิดอยู่อย่างเดียวว่าอยากเป็นช่างภาพ

“ความใฝ่ฝันของช่างภาพเกือบทุกคนคือการได้ถ่ายภาพลงใน National Geographic สมัยนั้นผมซื้อนิตยสารมาปั๊ปก็ต้องเปิดหน้าท้ายสุดเพื่อดูรายชื่อช่างภาพแต่ละคน เราอยากรู้ว่าเบื้องหลังว่าเขาทำงานกันยังไง เพราะอยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง

“ผมทำงานหนังสืออยู่สักพัก จนวันหนึ่งผมก็คิดขึ้นมาว่าชีวิตตอนนี้มันไม่ได้เข้าใกล้ความฝันเลย เลยตัดสินใจเข้าวงการโฆษณา งานของผมคือถ่ายรูปสินค้าและนางแบบ วงการนี้ก่อนการทำงานทุกครั้ง ทุกองค์ประกอบต้องถูกวางแผนและจัดการมาเป็นอย่างดีแล้ว ต่อให้นางแบบป่วยมาไม่ได้ก็ต้องมีนางแบบสำรองเสมอ เราถูกสอนกันมาว่าเมื่อถึงเวลาถ่ายงานจริง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่วางไว้ ต้องไม่เกิดความผิดพลาดเด็ดขาด ต้องไม่มีเหตุให้พูดคำว่าขอโทษ”

ตลอดระยะเวลาเกือบทั้งชีวิตที่ ‘ตุ่ย’ เดินบนเส้นทางการเป็นช่างภาพอาชีพ การงานได้สร้างความเครียด ความกดดันที่ต้องรีบเร่งแข่งขันจนนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว สมดุลชีวิตบางอย่างขาดหายไป จนกระทั่งเกิดวิกฤตที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เขาหันกลับมาทบทวนตนเองอีกครั้งว่าอะไรคือความหมายของชีวิต และอะไรกันแน่คือสิ่งที่เป็นความสุขอย่างแท้จริง

“ตอนนั้นถ้าคุณรู้จักผม คุณจะไม่อยากคุยด้วยเลย ผมเป็นคนจู้จี้ เอาแต่ใจตัวเองมาก ผมไม่เคยยิ้มให้ใครและไม่คุยกับใครเลยนอกจากลูกน้องและลูกค้าที่เซ็นต์อนุมัติงานให้เท่านั้น ถ้าไปถามคนที่ทำงานกับผมตอนนั้นเขาจะบอกเลยว่าผมไม่ใช่คนน่ารักใจดีเลย เพราะการทำงานตอนนั้นมันกดดันและเครียดมาก ชีวิตไม่มีคำว่าบาลานซ์เลย จนผมคิดว่าต่อให้ได้เงินมากขนาดไหนมันก็ไม่มีความหมาย ผมเลยตัดสินใจออกมาเปิดบริษัทเอง

“แต่ท้ายที่สุดธุรกิจกลับไปได้ไม่สวยนัก หนี้สินเต็มไปหมด ผมถึงขนาดต้องเอาเครื่องมือทำมาหากินที่มีออกมาขายหมด ทั้งหนังสือภาพถ่ายราคาแพงหรือแม้กระทั่งกล้องฟิล์มที่ผมรัก วันนั้นมันทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนว่าตลอดหลายปีที่เราทุ่มเททำงานหนักมันเป็นสิ่งสูญเปล่าหรือเปล่า เพราะเราทำทุกอย่างเต็มที่แต่กลับไม่มีความสุขเลย

“จนมีช่วงสั้น ๆ ที่ผมได้ถ่ายภาพให้กับนิตยสาร ‘ไลฟ์ แอนด์ แฟมิลี่ (life & family)’ ในเครือของ ‘รักลูก’ ที่ต้องถ่ายภาพคนประกอบในบทสัมภาษณ์ โดยปกติคนสัมภาษณ์จะต้องไปสัมภาษณ์แล้วส่งต้นฉบับมาให้ช่างภาพอ่าน แล้วช่างภาพจึงค่อยตามไปถ่ายรูปทีหลัง แต่ผมว่าแบบนี้ไม่สนุกเลย ฉะนั้น ทุกครั้งที่นักสัมภาษณ์เขาจะไปสัมภาษณ์ใคร ผมจะขอไปนั่งฟังด้วยตลอด บางทีก็ถามคำถามกับเขาด้วยนะ ตอนนั้นเรารู้สึกสนุกมาก (หัวเราะ) แต่ละสัปดาห์ได้ไปสัมภาษณ์คนหลายคน ยิ่งนานวันเข้ามันทำให้เรารู้จักคน ได้ฟังความคิด รู้จักมุมมองใหม่ ๆ มันเลยทำให้ผมเริ่มสนใจชีวิตผู้คนและทำให้ผมชอบถ่ายรูปคนมากกว่าข้าวของหรือสินค้า เพราะผมเห็นความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น

“ผมเลยกลับมาถามตัวเองใหม่ว่าทำไมเราต้องไปทำอะไรที่ตัวเองไม่มีความสุขด้วย จากนั้นตลอด 6 ปี ที่ผ่านมานี้ผมเลยเริ่มออกพูดคุยและถ่ายรูปผู้คน แต่ละโปรเจกต์จะมี theme ที่ต่างกันออกไปบ้าง แต่มีแกนหลักเดียวกันทั้งหมดคือการเก็บภาพความสุข”

วันนี้ ตุ่ย-ธำรงรัตน์ในวัย 65 ปี วัยที่ร่างกายเริ่มถดถอย และเริ่มได้รับแจ้งข่าวสารการเสียชีวิตของเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันบ่อยครั้งขึ้น ทำให้เขาเริ่มหันกลับมาตระหนักเรื่องความตายและคิดถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ลงมือทำและเป็นความฝันมาเนิ่นนาน อันนำมาสู่การเกิดขึ้นของโปรเจกต์ ‘Last Photo’ นิทรรศการภาพถ่ายที่ชวนผู้คนมาถ่ายภาพสำหรับงานสุดท้ายแห่งชีวิต ภาพถ่ายที่จะเชื่อมโยงเรื่องความตายกับการให้ความหมายของชีวิตผ่านคำถามเพียงไม่กี่คำ

“ในปี 2534 พ่อผมเสียชีวิตลง เราต้องจัดงานศพ แต่เชื่อไหมว่าผมกลับไม่มีรูปพ่อสำหรับตั้งในงานเลย ผมต้องไปหาบัตรประชาชนของพ่อมาก๊อปปี้ เอาฟิล์มไปล้าง ขยายรูป แต่งสี ปรับคอนทราสต์ เพราะผมอยากให้รูปหน้าศพพ่อเป็นรูปบัตรประชาชนที่สวยที่สุดในโลก

“ในงานศพคืนนั้น มีเพื่อนช่างภาพด้วยกันทักว่า ‘งานศพพ่อแท้ ๆ แต่รูปหน้างานทำได้แค่นี้เองเหรอ ?’ ตอนนั้นมันทำให้ผมรู้สึกผิด ผมเป็นช่างภาพแท้ ๆ มาเป็นสิบปี แต่ในงานศพพ่อตัวเองกลับใช้แค่รูปบัตรประชาชนมาเป็นรูปหน้างาน มันกลายเป็นสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจจนมาถึงทุกวันนี้

“ผมเลยคิดโปรเจกต์ ‘Last Photo’ ขึ้นมาเพื่อชวนผู้คนพูดเรื่องความตายและความหมายของชีวิตผ่านภาพถ่ายที่ผ่านคำถามเพียงไม่กี่คำถาม จนถึงวันนี้ เก้าอี้ตรงหน้าผมตัวนี้มีคนมานั่งแล้วกว่า 400 คน แต่ละคนลุกออกไปด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน

“สิ่งที่ผมพบระหว่างการพูดคุยไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวหรือคนสูงวัย ทุกคนต่างมีเรื่องราวในชีวิตที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความสุขทุกข์ในชีวิตของทุกคนไม่ว่าวัยไหนคือเรื่อง ‘ความสัมพันธ์’

“ผมเห็นว่าการให้ความหมายเรื่องความสัมพันธ์เปลี่ยนไปทุกช่วงวัย เด็ก ๆ อาจมีความสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยง หมา แมว ปลาทอง มันไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักพ่อแม่นะ แต่ในวัยของเขาสิ่งนี้อาจจะสำคัญกว่าพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเสียอีก แต่พอกาลเวลาผ่านไป มันอาจเป็นความสัมพันธ์ต่อครอบครัว ลูกหลาน และสุดท้ายคือต่อตัวเอง

“ผมเคยถ่ายภาพให้เด็ก ๆ กลุ่มชูใจ ตอนนั้นลองถามเขาเรื่องความตาย ตอนแรกคิดว่าเขาคงไม่มีทางเข้าใจหรอกว่าเป็นยังไง เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้สูญเสียคนในครอบครัว แต่พอลองตั้งคำถามว่าถ้าพวกเขาตายและอยากจะทำอะไร นั่นกลายเป็นคำถามที่ชวนให้เด็ก ๆ นึกย้อนไปถึงคุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่”

ลุงพิชัยและลูกชาย

ไม่ว่าภาพ ‘Last Photo’ ของแต่ละคนจะถูกใช้เป็นภาพสุดท้ายหน้างานศพหรือไม่ แต่สีหน้าในภาพถ่ายของทุกคนกลับเปี่ยมไปด้วยความสุขและความหวัง เราไม่เห็นวี่แววแห่งทุกข์หรือโศกเศร้าเลยแม้แต่น้อย รวมทั้ง ‘ภาพของลุงพิชัย’

ภาพของลุงพิชัยกับลูกชายเป็นหนึ่งในภาพที่คุณตุ่ยคัดเลือกให้จัดแสดงไว้ในนิทรรศการ เพราะเป็นหนึ่งในหลายภาพที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความประทับใจ เพียงไม่กี่นาทีที่ลุงพิชัยกับลูกชายนั่งอยู่หน้ากล้อง แต่กลับสร้างมวลความรู้สึกที่พิเศษและจับใจจนกระทั่งคุณตุ่ยแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

“ตอนที่ผมไปจัดสตูดิโอที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ผมเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเข็นรถเข็นผู้ป่วยพาพ่อเข้ามา บนรถคือ ‘ลุงพิชัย’ ลูกชายเล่าว่าคุณหมอเจ้าของไข้ที่รักษาบอกพ่อว่ามีการถ่ายรูป ให้ลองมาดู พอได้ยินแบบนั้น ลุงพิชัยก็ตาเป็นประกายอยากมาถ่ายรูป ตอนนั้นลูกชายดูไม่ได้อยากมานักแต่ก็ต้องมาเพราะเกรงใจหมอ ระหว่างนั้นเขาดูไม่อยากพูดคุย เอาแต่ยืนรอเวลาว่าเมื่อไหร่พ่อจะถ่ายรูปเสร็จสักที

“ลุงพิชัยคือผู้ป่วยระยะท้ายที่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แต่นาทีที่ผมลั่นชัตเตอร์ ผมเห็นว่าสายตาของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป กลายเป็นคนป่วยที่มีแววตาสดใส มันคือแววตาที่ดูมีความหวังและมีความสุข ผมชวนให้ลูกชายเขามาดูรอยยิ้มของพ่อในภาพ เขาทึ่งมากและบอกว่าไม่เคยเห็นโมเมนต์นี้ของพ่อมาก่อนเลย

“ผมเองรู้สึกอยากเก็บช่วงเวลาดี ๆ นี้ไว้อีก จึงขอให้ลูกชายขยับรถเข็นของลุงพิชัยให้หน่อย แต่มันเป็นการเข็นรถที่เก้ ๆ กัง ๆ ดูไม่คล่อง ผมเลยออกปากแซวไปว่าเขาคงไม่ค่อยได้พาพ่อมารพ.ใช่ไหม แต่ฝ่ายลุงพิชัยกลับรีบออกตัวทันทีว่าเพราะแต่ก่อนตนเองเดินได้ ไม่ต้องให้ลูกช่วย แต่พอต้องนั่งรถเข็น ลูกชายคนนี้ก็มารับมาส่งตลอด ผมเห็นน้ำเสียงและสายตาที่ลุงพิชัยจับจ้องไปที่ลูกชายแล้ว ผมก็รู้ได้เลยว่าลุงพิชัยรักลูกมาแค่ไหน

“จากโมเมนต์นี้เอง มันคงทำให้มีมวลความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น จนในที่สุด ลูกชายขอให้ผมช่วยถ่ายรูปเขาคู่กับพ่อ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเขามีท่าทีปฏิเสธมาโดยตลอด ตอนจังหวะที่เขาสองคนหันมามองหน้ากัน ผมรู้สึกได้ถึงความรักที่ทั้งคู่มีให้กันโดยที่ไม่มีคำพูดอะไรเลย ผมรู้ทันทีว่าผมกำลังได้บันทึกช่วงเวลาที่พิเศษมาก ๆ เอาไว้

“เมื่อถ่ายภาพเสร็จ สีหน้าลูกชายเปลี่ยนไปมาก เขาบอกผมว่าไม่เคยมีรูปแบบนี้กับพ่อมาก่อนเลย เมื่อผมลองถามลุงพิชัยว่าอยากเห็นชีวิตตัวเองต่อจากนี้เป็นอย่างไร เขาตอบผมเพียงสั้น ๆ ว่า ‘อยากหายป่วย อยากมีชีวิตแล้วอยู่กับลูกไปนาน ๆ’ เราทุกคนที่อยู่ตรงนั้นฟังแล้วอึ้ง เพราะต่างรู้ว่าลุงพิชัยเป็นโรคที่รักษาไม่ได้และอยู่ในระยะท้ายแล้ว การที่แกพูดแบบนั้นคงเป็นเพราะรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ ผมรู้สึกตื้นตันใจเหลือเกินที่ได้อยู่บันทึกความทรงจำที่มีค่าแบบนี้เอาไว้

“ผมไม่รู้หรอกว่าเรื่องราวก่อนหน้าของพ่อลูกคู่นี้เป็นอย่างไร แต่อย่างน้อย ทั้งคู่ได้มีโมเมนต์หนึ่งที่มีความหมายมากเพียงพอที่จะอยู่ในความทรงจำของตลอดไปแม้ในวันที่ใครบางคนจากไปแล้ว ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่ารูปที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็คงไม่สำคัญเท่ากับว่าในนาทีนั้น ลูกชายได้รู้ว่าพ่อมีความหมายกับเขาอย่างไรและเขาได้ทำหน้าที่ลูกออกมาได้ดีที่สุดแล้ว

“3 เดือนหลังจากนั้น ลูกชายส่งข่าวมาบอกผมว่าลุงพิชัยเสียชีวิตลงแล้ว มันอดใจหายไม่ได้ที่รู้ว่าวันนั้นคือการพบกันครั้งสุดท้ายของพวกเรา ภาพถ่ายนี้กลายเป็นภาพความทรงจำสุดท้ายในชีวิตจริง ไม่ใช่เพียงสำหรับพวกเขาทั้งคู่ แต่มันคือความทรงจำของผมด้วย การที่ผมได้อยู่ด้วยกันกับพวกเขาในนาทีนั้นมันกลายเป็นความทรงจำเล็ก ๆ ของผมที่ทรงพลังมาก”

เพราะชีวิตของแต่ละคน มีเรื่องราว มีเหตุการณ์ และความทรงจำต่าง ๆ มากมาย ‘Last Photo’ จึงไม่ใช่แค่การถ่ายรูปตั้งหน้างานศพเท่านั้น แต่กลับเป็นภาพถ่ายที่ชวนให้ผู้คนย้อนกลับไปคิดถึงสิ่งที่ยังติดค้างอยู่ในใจ หรือเรื่องราวใดที่อยากบอกใครบางคนหรือแม้กระทั่งตัวเองหรือเปล่า ทั้งเรื่องดีและร้าย หลายร้อยเรื่องราวที่ผ่านมาอาจไม่ได้เป็นดั่งใจ ลองตั้งคำถามดูอีกสักทีไหมว่าปัจจุบันนี้เราจะดูแลชีวิตที่เหลืออยู่นี้อย่างไร

ท้ายที่สุด ไม่ว่าภาพถ่ายของคุณตุ่ยจะกลายเป็นภาพที่ใช้ในงานสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ หรือไม่ว่าผู้คนที่เห็นภาพถ่ายนี้จะจดจำคนในภาพด้วยความทรงจำแบบใด แต่สิ่งที่มีค่ามากกว่านั้นคือประสบการณ์ในการพูดคุยเพื่อรู้จักตัวเองผ่านคำถามสั้น ๆ เพียงไม่กี่คำถาม

แกลเลอรีภาพถ่าย ‘Last Photo’ ของตุ่ย-ธำรงรัตน์ บุญประยูร ยังคงเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อทำหน้าที่เก็บภาพความทรงจำให้แก่ทุกคนที่ผ่านไปมา และทำหน้าที่เป็นเครื่องบันทึกความทรงจำและให้หวนนึกย้อนถึงคุณค่า ความหมายของชีวิตของเราอย่างแท้จริง

ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook: Thamrongrat Boonparyol (ธำรงรัตน์ บุญประยูร)

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ