‘ลัดดา คงเดช’ ศิลปินอิสระ Gen Y ในวันที่ต้องย้ายกลับบ้านเพื่อแม่

เรามีนัดกับ ผึ้ง-ลัดดา คงเดช ศิลปินอิสระเจน Y วัย 39 ปี ที่บ้านเช่าแถวเยาวราช โดยวันนี้เป็นวันสุดท้ายในการเก็บข้าวของเพื่อย้ายกลับไปอยู่บ้านแม่ที่จังหวัดนครปฐม ถ้านับระยะเวลาที่เธอใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเช่าแห่งนี้ก็ราวๆ 3-4 ปี แต่เทียบไม่ได้เลยกับระยะเวลานับตั้งแต่เธอย้ายออกจากบ้านแม่มาใช้ชีวิตอิสระด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองยาวนานร่วม 20 ปีแล้ว

ผึ้งเติบโตและใช้ชีวิตกับคุณแม่ที่บ้านในจังหวัดนครปฐมตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเธอสอบติดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเลือกเรียนสาขาวิชาการละครตอนปี 2 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการย้ายออกจากบ้านมาอยู่หอพักตามลำพังครั้งแรก หลังจากนั้นจังหวะชีวิตก็ทำให้เธอแทบไม่มีโอกาสย้ายกลับไปอยู่บ้านกับแม่อีกเลย นอกจากจะเป็นการแวะเวียนกลับไปเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว ในช่วงวันหยุดหรือมีเวลาว่างจากการทำงานฟรีแลนซ์เท่านั้น

ชีวิตนักศึกษาการละคร ก้าวแรกของการย้ายออกจากบ้านมาใช้ชีวิตตามลำพัง

“เราไม่ได้อยู่กับแม่ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความที่เรียนละครแล้วต้องกลับดึก ทีนี้แม่ไม่อยากให้ขี่มอเตอร์ไซค์ก็เลยให้อยู่หอตั้งแต่ช่วงปี 2 พอเรียนจบปุ๊บก็ทำงานแรกที่ดุริยางค์ศิลปากร ช่วงนั้นก็ยังไปกลับบ้านนะ แต่ประมาณ 3 เดือนเริ่มไม่ไหว ก็เลยย้ายไปอยู่หออีก จากนั้นก็คืออยู่บ้านน้อยมาก อยู่หอเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ย้ายไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ชีวิต คิดว่าจนถึงตอนนี้ย้ายที่อยู่น่าจะร่วม 10 ครั้งได้

“มีช่วงที่แม่บ่นอยากให้กลับมาอยู่ด้วยตลอด แต่พองานของเราส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ ก็เลยยาก อย่างตอนทำงานทีวี เวลาไม่แน่นอน ก็จะมีวันที่เราต้องนอนออฟฟิศ นอนห้องตัดต่อบ้าง พอลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ช่วงแรกก็ยังอยู่บ้าน ถ้ามีงานก็ค่อยเข้ามากรุงเทพฯ ตอนนั้นมีรถเลยไม่ได้ลำบากมาก แต่พอช่วงหลังงานเริ่มถี่ ซ้อมละครทีนึง 3-4 เดือนก็เลยไปอยู่คอนโดรุ่นน้อง ก่อนจะย้ายมาเช่าบ้านหลังนี้อยู่ยาวเลย เมื่อคืนนั่งนับน่าจะประมาณ 3-4 ปีแล้ว ของเลยเยอะมาก”

เมื่อต้องดูแลแม่สูงวัยที่เจ็บป่วยด้วยตัวเอง จึงได้รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

ปัจจุบันคุณแม่ของผึ้งอายุ 74 ปี มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เพิ่มเติมคืออาการเจ็บป่วยจากความเสื่อมโทรมของร่างกายที่เริ่มแวะเวียนเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ตามประสาผู้สูงอายุ

“สุขภาพของแม่ตอนนี้โดยรวมคงที่ แต่พออายุมากก็เริ่มมีอาการอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามวัย นอกจากโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ความดัน ไขมัน ตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาระบบลำไส้ การขับถ่าย ควบคุมหูรูดเวลาปัสสาวะลำบาก นอนไม่หลับตอนกลางคืน ลุกขึ้นมาฉี่บ่อย เราก็ใช้วิธีให้แกใส่ผ้าอ้อม แต่แม่ไม่ได้ป่วยติดเตียง ยังสามารถเดินเองได้นะ แค่ไม่สามารถงอเข่าได้ ถ้าเดินในบ้านก็จะต้องใช้เก้าอี้ค่อยๆ ไถไป ด้วยความที่แม่น้ำหนักตัวเยอะก็เลยไม่สามารถใช้ไม้เท้าได้ ต้องเป็นแบบสามขาถึงจะใช้ได้ แต่พอเมื่อยแล้วแกนั่งไม่ได้ก็เลยชอบใช้เก้าอี้มากกว่า เพราะเวลาแกไถไปแล้วเดินไม่ไหว ก็สามารถนั่งพักได้ ตอนนี้ถึงน้ำหนักจะเริ่มลดแล้ว แต่ก็ยังยืนสองขาโดยไม่ค้ำอะไรไม่ได้ ก็ยังค่อนข้างลำบากอยู่

“อีกปัญหาที่เริ่มมีคืออาการวูบ ซึ่งแม่บอกว่าเคยเป็นตั้งแต่สาวๆ แล้ว แต่มีครั้งนึงแกกำลังอาบน้ำอยู่แล้ววูบหล่นจากเก้าอี้ลงไปเลย กว่าจะโทรมาหาเราก็คือลงไปนอนจนได้สติขึ้นมาแล้ว เหมือนคนเป็นลม โชคดีที่หัวไม่ฟาดอะไร อีกครั้งแกเดินแล้วใจร้อน เปลี่ยนจากเก้าอี้ไปเป็นถังอีกใบนึงที่เคยใช้ประจำ แต่เหมือนกะจังหวะผิดไปนิดนึงเลยล้มปากฟาดประตู ตอนวิดีโอคอลมาหาเราคือปากเป็นแผล จริงๆ ก็ไม่ได้ใหญ่เท่าไร แต่พอแกเป็นเบาหวาน เราก็จะกลัวว่าแผลจะหายช้าไหม ตอนนี้เรื่องอาการวูบล้มก็น่าจะดีขึ้นแล้ว เพราะตั้งแต่เราบอกแกว่าต่อไปถ้ามีอาการวูบเมื่อไรให้โทรหาเรา ไม่ว่าจะวูบมากวูบน้อย ล่าสุดก็เพิ่งจะโทรมาบอกแค่ครั้งเดียวภายในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผึ้งได้รู้ซึ้งถึงความยากลำบากในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ คือตอนที่แม่ของเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมเมื่อปี 2559

“สิ่งหนึ่งที่เราช็อกคือหลังผ่าตัดจะมีสายระโยงระยางเต็มไปหมด แล้วช่วงที่แม่พักฟื้นอย่างเร็วคือหนึ่งเดือน อย่างช้าก็สามเดือน ซึ่งการดูแลต่างๆ เราต้องเป็นคนทำเอง แต่เราไม่รู้ว่าจะต้องเช็ดตัวยังไง เพราะเราไม่เคยเช็ดตัวให้แม่แบบเช็ดทั้งตัวจริงๆ เคยแค่เช็ดแขนเช็ดขา หรืออย่างตอนเปลี่ยนผ้าอ้อม มันไม่ได้ยากแค่เรานะ สำหรับแม่เองก็ยาก เพราะเขาก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่ถึงขนาดจะต้องให้ใครมาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ แต่ในกรณีนี้คือการผ่าตัด เขาไม่สามารถขยับตัวได้ เราก็ต้องใจเย็น แม่เองก็พยายามจะช่วย แต่แกตัวใหญ่เลยยากมากในการจับตัวค่อยๆ พลิก คือปกติก็พลิกตัวยากอยู่แล้วนะ แต่อันนี้มีสายเสียบอยู่ด้วยก็เลยทำให้ยากขึ้นไปอีก ต่อให้แม่อยากช่วยแค่ไหน บางทีแกคิดว่าก็ขยับเยอะแล้ว แต่ยกตัวเองไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีพลิกตัวทีละด้าน ดึง-พลิก-ดึงแบบนี้ เปลี่ยนผ้าอ้อมสำหรับคนแก่ครั้งนึงคือเหนื่อยมาก ไม่นับเรื่องจัดการอารมณ์ความรู้สึกที่แม่ขยับตัวไม่ได้ มันหงุดหงิดไปหมด ช่วงแรกจังหวะยังไม่ประสานกัน เราบอกอย่าเพิ่งยกตัว อย่าเพิ่งขยับขอจัดก่อน แต่แม่อยากช่วยก็พยายามยกตัว ทำไมยังใส่ไม่เสร็จสักที เหนื่อยแล้วนะ ต้องคุยกันเยอะมากกว่าจะจับจังหวะกันได้ ต้องใช้เวลาและความอดทนมาก ดูแลเด็กว่ายากแล้ว แต่ดูแลคนแก่คือยากกว่ามากๆ

“แล้วกว่าแม่จะทำใจฉี่ใส่ผ้าอ้อมได้ สำหรับคนแก่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะเขาจะมีความรู้สึกว่าต้องไปเข้าห้องน้ำสิ ไม่ได้คิดว่าใส่ผ้าอ้อมแล้วจะฉี่ได้เลย เราเองก็ไม่รู้ว่าจะพูดยังไง คือมันไม่ใช่แค่การพูดว่า ก็ฉี่ไปสิ ก็ฉี่ไป เราอาจจะพูดอย่างนั้นได้ แต่เขาทำไม่ได้ แต่ก่อนเราไม่มีทักษะในการสื่อสารว่าจะต้องบอกยังไงให้เขารู้สึกว่าฉี่ใส่ผ้าอ้อมได้ไม่ใช่เรื่องผิด มันยากเหมือนกันนะ แต่ปัญหานี้ก็ผ่านมาได้ระยะนึงแล้ว

“หลังจากเหตุการณ์ที่แม่ผ่าตัด ทำให้เราอยากไปลงเรียนวิธีการดูแลผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะเลยนะ เราหาที่เรียนไว้แล้ว ลงไว้ 2 คอร์สคือคอร์สดูแลเด็กเล็ก 0-3 ปี ที่เรียนไปแล้ว กับอีกคอร์สคือการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจริงๆ เราอยากลงเรียนเป็นคอร์สยาวด้วยซ้ำ แต่ยังหาเวลาเรียนไม่ได้

“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้สึกว่าความรู้เหล่านี้จำเป็นจนเราต้องไปอยู่จุดนั้น ต้องเจอสถานการณ์จริงๆ ว่า เฮ้ย เราเปลี่ยนผ้าอ้อมให้แม่ไม่เป็น หรือเราจะเช็ดอวัยวะเพศของแม่ให้สะอาดได้ยังไง ไหนจะต้องทำงานกับความรู้สึกที่กระดากอายกันทั้งเราทั้งแม่ มันไม่ใช่แค่เรื่องวิธีการ แต่เป็นเรื่องการสื่อสารหรือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้านความรู้สึกให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน”

วิธีดูแลแม่สูงวัยผ่านทางไกล สไตล์คนทำงานอิสระแบบผึ้ง

เมื่ออยู่กันคนละบ้าน คนละจังหวัด แถมตารางการทำงานของผึ้งก็เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ตามประสาฟรีแลนซ์ เธอจึงต้องหาวิธีลดช่องว่างของระยะทาง เพื่อจัดการดูแลเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ของแม่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เนื่องจากเราไม่ได้อยู่กับแม่ตลอด ก็พยายามจะปรับปรุงบ้านให้เขาสามารถอยู่คนเดียวได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด เราไม่ได้มีทุนจัดการอะไรเยอะมากก็จะมองหลักๆ คือเรื่องความปลอดภัย ประตูบ้านต้องเปิดเข้าออกกรณีฉุกเฉินได้ง่าย แต่ก็ต้องแน่นหนาพอที่จะล็อกบ้านได้ในวันที่ไม่มีใครอยู่ แล้วก็มีเรื่องความสะอาด เพราะแม่ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกวัน ตอนนี้เราใช้วิธีเอาถังขยะไว้นอกบ้าน ให้แม่ใส่ถุงเอาออกไปทิ้งทุกวัน ก่อนหน้านี้แกจะใส่ถุงแล้ววางทิ้งไว้ข้างในบ้าน พอเรากลับไปจะรู้สึกไม่สะอาด เพราะต่อให้ใส่ถุงไว้ มันก็ไม่ได้สะอาดขนาดนั้น ทำให้สภาพแวดล้อมในบ้านโดยรวมไม่ค่อยดี แม่ก็ตกลงเอาออกมาทิ้งข้างนอก ตอนนี้ก็มีญาติที่มาช่วยทำความสะอาดเอาไปทิ้งให้ แต่พอเรากลับไปบ้านก็จะทำความสะอาดทั้งหมดให้อีกที

“อีกอย่างที่สำคัญคือห้องน้ำ เพราะส่วนใหญ่แกจะวูบในห้องน้ำ ตอนนี้เราก็กำลังดูว่าผนังด้านนึงอาจจะต้องบุด้วยอะไรสักอย่าง ถ้าล้มจะได้ไม่กระแทก อย่างพื้นเราอาจจะทำอะไรไม่ได้มาก ส่วนที่เราทำไปแล้วคือราวจับช่วยยกตัวตรงชักโครก เก้าอี้นั่งอาบน้ำก็มีอยู่แล้ว แต่ว่าต้องไปจัดระบบอีกสักนิดนึง ก็ค่อยๆ ทำไป เพราะเรื่องพวกนี้ยังหาข้อมูลยากนะ อย่างเราเข้าไปค้นหาวิธีจัดบ้าน ปรับปรุงบ้านสำหรับผู้สุงอายุก็จะเป็นแค่หลักการกว้างๆ แต่มันไม่มีรูปแบบ ไม่มีตัวอย่างว่าพื้นที่แบบนี้ควรใช้วัสดุแบบไหน ถ้าเทียบกับการจัดห้องสำหรับเด็กจะมีข้อมูลเยอะกว่า แต่ของผู้สูงอายุยังมีน้อยมากในแง่ความรู้ที่คนสามารถเข้าถึงได้เอง”

ส่วนเทคนิคในการดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะการคุมเรื่องอาหารการกิน ผึ้งเลือกใช้วิธีหาจุดกึ่งกลางระหว่างความสมัครใจของแม่กับความห่วงใยของเธอในฐานะลูก และต้องผ่านการพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งแม่ลูกคู่อื่นๆ ก็อาจมีวิธีการที่แตกต่างไปจากคู่ของเธอกับแม่

“เราคิดว่าต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกแต่ละคู่ซึ่งอาจไม่เหมือนกัน ต้องหาวิธีตกลงกันเอง เพราะต้องทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่าย ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะไม่ค่อยอยากร่วมมือด้วยหรอก อย่างแม่เราถือว่ายอมประมาณนึง แต่ผู้สูงอายุบางคนอาจจะไม่ยอมอะไรเลย อย่างผู้สูงอายุบางคนที่เรารู้จักเป็นเบาหวานแต่ไม่สนใจอะไรเลย จะกินน้ำอัดลมทุกวัน จะกินทุเรียน ไม่ดูแลสุขภาพ ลูกก็ตามใจอยากกินอะไรก็ให้กินหมด แต่เราจะบอกแม่เลยว่าไม่ได้นะ ไม่ทำแบบเขานะ ถ้าจะกินก็คือกินแค่นิดเดียวพอหายอยาก เราไม่ได้โหดถึงขนาดห้ามกินหมดเลยนะ เพราะเราก็เข้าใจว่าแม่อายุขนาดนี้แล้วก็ต้องให้เขามีความสุขบ้าง แต่ก็ต้องรู้ลิมิตตัวเองด้วย อย่างที่บอกเลยว่ามันเป็นเรื่องที่แม่ลูกแต่ละคู่ต้องตกลงกันเอง

“โชคดีที่แม่เราไม่ค่อยดื้อเรื่องคุมอาหาร อะไรที่ไม่ให้กินก็ทำได้ เลยไม่ต้องห่วงเท่าไร ล่าสุดเราก็สอนแม่ทำ IF (Intermittent Fasting: การลดน้ำหนักแบบจำกัดช่วงเวลาการกิน) จริงๆ ตอนแรกสอนไม่ได้หรอก สอนแล้วไม่เชื่อ จนแกไปได้ยินเพื่อนทำคล้ายๆ แบบนี้ เราเลยบอกว่าก็นี่แหละที่เคยบอก เหมือนพระฉันข้าวแค่มื้อเช้ามื้อเดียว แต่พอเป็น IF ก็เลือกเอาสิว่าจะกินข้าวมื้อไหนตอนไหนบ้าง เพราะว่าแม่ยังต้องกินยา แกก็เลยลองทำ เริ่มจากหลัง 4-5 โมงเย็นก็จะไม่กินแล้ว ไปหยุดกินอีกทีก็คือเที่ยงๆ เพราะแกต้องกินข้าวเช้า ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยคุมน้ำตาล คุมไขมันได้ดีขึ้นอีกทางนึง ส่วนความดันก็คงที่ แต่ยังต้องกินยาเรื่อยๆ นะ”

ผลกระทบจากโควิด-19 และจังหวะชีวิตที่ลงตัว คือเหตุผลในการตัดสินใจย้ายกลับบ้าน

“เราตัดสินใจย้ายกลับบ้านที่นครปฐม เพราะช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้มีงานที่เป็นออนไลน์มากขึ้น เลยรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เริ่มไม่จำเป็นแล้ว เดี๋ยวนี้การเดินทางก็ง่ายขึ้น และอย่างน้อยเราก็มีคอนโดเพื่อนที่จะเข้ามาพักได้เวลามีงาน 2-3 วันหรือเดือนนึง หรือถ้าเป็นงาน Event ที่ต้องลงหน้างานติดต่อกัน ออฟฟิศเขาก็จะมีที่พักให้อยู่แล้ว เราเลยคิดว่าถ้างั้นกลับไปอยู่ที่บ้านละกัน บวกกับส่วนนึงแม่อายุมากขึ้น เราเลยอยากกลับไปเตรียมบ้านเผื่อว่าในอนาคตถ้าเราจำเป็นต้องย้ายกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นหลักอีกครั้ง แม่จะได้อยู่ง่ายสบายขึ้น จัดการบ้านให้แม่รู้สึกว่าเราไม่ได้ไปไหน ก็ตั้งใจทำทั้งเรื่องสถานที่ แล้วก็เรื่องใจให้แกรู้สึกโอเคถ้าเราจำเป็นต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่นอีก แต่ถ้าเรื่องโทรหา ส่วนใหญ่จะเป็นแม่โทรมาก่อนทุกครั้ง (หัวเราะ) ยกเว้นถ้าช่วงไหนที่แม่ป่วย เราก็จะโทรกลับบ่อยขึ้นเพื่อเช็กอาการ และเขาจะได้รู้สึกว่าเราไม่ได้หายไปไหน แต่ถ้าช่วงไหนแกสบายดีก็จะโทรมาเอง ส่วนเรื่องผ้าอ้อมหรือของใช้ต่างๆ เราเป็นคนดูแลสั่งซื้อให้อยู่แล้ว

“พอแม่รู้ว่าเราจะย้ายกลับบ้านที่นครปฐม เขาก็จะคอยถามว่าเมื่อไร ไหนว่าจะกลับ ทำไมยังไม่กลับอีก เราก็เลยขีดเส้นตายให้ตัวเองว่าต้องย้ายกลับสิ้นเดือนกรกฎานี้แหละ ไม่งั้นน่าจะอีกยาว เพราะเรารู้แล้วว่าเดี๋ยวครึ่งปีหลังจะมีงานแน่ๆ อย่างงานใหญ่ที่จะมีตอนปลายปี ก็ต้องเริ่มเตรียมงานล่วงหน้า ซึ่งเดือนนี้ก็เป็นจังหวะที่เหมาะเหมือนถูกล็อกมาแล้ว เพราะเรามีงานที่ต้องออกข้างนอกจริงๆ แค่ 2-3 วัน ที่เหลือก็คืองานที่ทำออนไลน์ได้หมด เลยมีเวลาเก็บของบ้านนี้ แล้วกลับไปเคลียร์บ้านที่นครปฐม”

เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เริ่มทลายกำแพงความสัมพันธ์ ก่อนย้ายกลับไปอยู่กับแม่อีกครั้ง

นอกจากการเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ภายในบ้าน ยังมีอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่เธอต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนย้ายกลับไปอยู่กับแม่อีกครั้ง คือ การทลายกำแพงความสัมพันธ์และหาวิธีรับมือกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างเธอกับแม่ที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ เวลาอยู่ด้วยกัน

“เรากับแม่ไม่ได้สนิทแบบตัวติดกัน เพราะเราไม่ได้อยู่บ้านตลอดเวลา ตอนเรียนก็อยู่หอ ตอนทำงานก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เลยแอบมีช่องว่างเบาๆ ซึ่งเราคิดว่าต้องเริ่มทลายบางอย่างแล้ว หลักๆ คงเป็นเรื่องความรู้สึก เรารู้ว่ากลับไปอยู่บ้านคราวนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือการทะเลาะกัน (หัวเราะ) เพราะเดิมเรากับแม่ก็เป็นคู่กัดกันอยู่แล้ว เป็นคนดื้อเหมือนกันด้วย คุยกันเยอะไม่ได้เพราะเดี๋ยวจะทะเลาะกัน

“ถ้าเป็นสมัยเด็กๆ เราก็จะไม่คุมอารมณ์ โมโหก็คือโมโหเลย พอเป็นคนใกล้ตัวเราจะโมโหง่ายกว่าคนอื่นจริงๆ นะ อย่างปัญหาเรื่องเดียวกันเรารู้เลยว่าถ้าเป็นคนแก่คนอื่น เราจะปล่อยผ่านได้ ขนาดกลับไปจัดของ จะย้ายอะไรจะยกอะไร แกก็จะโวยวายว่านั่นที่นอนแมว เดี๋ยวแมวไม่มีที่นอน จนเราต้องบอกว่าถ้าไม่มีที่ให้วางของ ไม่มีที่ให้อยู่ก็ไม่ย้ายกลับแล้วนะ แกก็จะเออๆ ไม่บ่นแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะไม่มีใครยอมใคร ตอนนี้แกก็ยอมมากขึ้น ไม่ตวาด เปลี่ยนเป็นน้อยใจแทน

“ส่วนเราก็จะไม่ตวาดแล้วเหมือนกัน ใช้วิธีรีบตัดจบ เดินไปไหนก่อนก็ได้ เพราะถ้ายังเผชิญหน้ากันเดี๋ยวจะพูดแรงกว่านี้ ความรู้สึกโมโหบางทีมันเกิดขึ้นอัตโนมัติ ห้ามไม่ได้ เพราะโมโหไปแล้ว แต่ว่าเราหยุดการตวาดกลับได้ หยุดคำพูดที่ไม่ดีได้ หยุดกระแทกของได้ หยุดสิ่งที่จะเกิดตามมาหลังจากโมโหได้

“แล้วคนแก่จะมีนิสัยชอบเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ เมื่อก่อนก็จะรู้สึกว่าแม่เล่าเรื่องนี้อีกแล้ว แต่พอย้อนกลับมาคิดว่าเราไม่ได้อยู่กับแม่ตลอดเนอะ พอแกเจอเราก็จะอยากเล่าทุกอย่าง ชวนคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนนี้เราเลยปล่อยแม่พูดเต็มที่ เพราะอ่านเจอด้วยว่าการพูดทำให้สมองผู้สูงอายุได้ทำงาน จะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัวที่สุด ไม่ได้กลัวแค่เขาลืมเรานะ แต่ถ้าเป็นหนักๆ เขาจะลืมแม้แต่วิธีเข้าห้องน้ำ เดินออกไปไหนก็ไม่รู้ เลยปล่อยให้เขาพูดไปเลย

“หรือบางทีแม่ชอบถามถึงคนนั้นคนนี้ แล้วเรารู้สึกว่าจะถามไปทำไมตัวเองก็ไม่รู้จัก ตอนนี้เราก็ต้องพยายามปรับด้วยการตัดคำพูดเหล่านี้ออก เวลาเขาถามอะไรก็อธิบายให้รู้ว่าคนนั้นคือใคร อะไรคือสิ่งนั้นสิ่งนี้ เยาวราชอยู่ตรงนั้น นี่อยู่ตรงนี้ ไม่ต้องรีบไปตั้งแง่ว่าเขาไม่รู้จัก ก็เล่าให้ฟังไปเถอะ ถึงเขาจะไม่รู้จักก็ช่างเขา พอเราตัดความรู้สึกรำคาญออกไป แม่ก็จะไม่รู้สึกว่าถูกกันออกจากเรื่องราวของชีวิตเรา ก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องทำงานกับตัวเองเยอะเหมือนกัน”

เชื่อว่ายังมีคนเจน Y อีกหลายคนที่กำลังเผชิญปัญหาและตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกันกับผึ้ง ไม่ว่าจะเรื่องการแบ่งเวลาให้กับการทำงานและคนในครอบครัว การต้องแบกภาระดูแลพ่อแม่สูงวัยที่เจ็บป่วย ปัญหาช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ที่เริ่มห่างเหินกันเมื่อโตขึ้น เราหวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยให้ทุกคนค้นพบคำตอบและวิธีการในแบบของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่กำลังตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่อีกครั้ง

Credits

Author

  • รวีวรรณ ธีรธนาพงษ์

    Authorมนุษย์ INFJ อดีตเป็นเป็ด ปัจจุบันอยากเป็นนกอินทรี อนาคตอยากเป็นยูนิคอร์น ชอบเรียนรู้และมองหาโอกาสที่จะได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เชื่อว่าคนเราพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ไม่สิ้นสุด

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ