เริ่มต้นหัดว่ายน้ำตอนอายุ 34 และอีก 35 ปี ให้หลัง พี่จุ๋ม- จีรณี จิตตเสวี อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารคอสโมโพลิแทน (ฉบับภาษาไทย) ผู้มักปรากฎกายริมสระน้ำด้วยบิกินีลายเสือคนนี้ ก็ไม่เคยหยุดว่ายน้ำอีกเลย แถมยังจริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถว่ายน้ำต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก (ว่ายแลป หรือ Lab swimming) ได้ไกล 1 พันเมตร แม้จะมีอายุเลยวัยเกษียณมาเกือบสิบปี
สำหรับพี่จุ๋มแล้ว การลุกขึ้นมาว่ายน้ำ 20 รอบสระมาตรฐาน จนเป็นกิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้ ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะมีอายุยืนยาวให้มากที่สุด แต่หัวใจสำคัญคือ การมีสุขภาพดีที่สามารถดูแลตัวเองให้นานที่สุด
ว่ายน้ำเพื่อเอาชนะความกลัว
“เราเริ่มเรียนว่ายน้ำตอนอายุ 34 ปี เพราะอยากใส่ชุดว่ายน้ำ และอยากเอาชนะความกลัว
“เราเป็นคนกลัวน้ำ แต่ชอบใส่ชุดว่ายน้ำ พอใส่ทีไร เดินลงทะเลแค่ข้อเท้าเปียกก็ต้องรีบขึ้นแล้ว ตอนนั้นอายุ 34 ปี ทำงานอยู่สถานทูตออสเตรเลีย จึงไปสมัครเรียนแบบกลุ่มที่สมาคม YWCA ต้องไปเรียนรวมกับเด็ก 6-10 ขวบ เด็ก ๆ ก็เรียกน้าจุ๋มบ้าง ป้าจุ๋มบ้าง กว่าจะว่ายได้ใช้เวลาอยู่ 6 เดือน และว่ายได้ทั้งฟรีสไตล์ กรรเชียง และกบ จากนั้นก็ว่ายเรื่อยมา
“ตอนนี้ 69 แล้ว ว่ายน้ำมาตลอด 35 ปี จากที่ว่ายวันละ 500-600 เมตร ตอนยังทำงานอยู่ ก็เปลี่ยนมาว่ายจริงจังขึ้นตอนไม่ได้ทำงานแล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เพราะมีเวลามากขึ้น และอยากเอาชนะใจตัวเอง โดยค่อย ๆ เพิ่มระยะจาก 600 เป็น 700, 800, 900, จน 1,000 เมตร คือถ้าว่ายไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้จะไม่หยุดเป็นอันขาด”
ข้อดีของการว่ายน้ำสำหรับพี่จุ๋มคือความสดชื่น และเป็นการออกกำลังกายที่บาดเจ็บน้อยที่สุด หรือแทบจะไม่บาดเจ็บเลย ที่สำคัญยังไม่ต้องพึ่งพาใคร สามารถว่ายคนเดียวได้เลย ตอนว่ายก็แค่ต้องรู้กำลังตัวเองว่าว่ายได้แค่ไหนก็พอ แล้วค่อย ๆ เพิ่มรอบขึ้นไปเรื่อย ๆ
พี่จุ๋มยังบอกอีกว่าถ้าคนเราสามารถผ่อนคลายร่างกายตัวเองได้ โดยไม่พยายามเอาชนะเรื่องความเร็ว ก็จะว่ายได้เอง สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการว่ายน้ำคือการปรับลมหายใจ คล้ายกับการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ตอนว่ายพี่จุ๋มจะมีการนับรอบไปเรื่อย ๆ เริ่มจากหนึ่ง-สอง-สาม เป็นสิบรอบ และครบยี่สิบรอบคือหนึ่งพันเมตรพอดี สำหรับสระความยาวมาตรฐาน 25 เมตร ไปกลับ 50 เมตร
พี่จุ๋มเป็นคนที่สนใจในสุขภาพมาก โดยทุกวันเมื่อตื่นนอนแล้ว เธอจะยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยโยคะเบา ๆ 30 นาที แล้วค่อยต่อด้วยการว่ายแลป (Lap swimming) หรือการว่ายน้ำต่อเนื่อง และที่สำคัญคือเธอจะต้องมาพร้อมบิกินีลวดลายสีสันต่าง ๆ เสมอ โดยเฉพาะลายเสือซึ่งเป็นลายโปรด
“เราชอบอะไรที่เป็นลวดลาย ลายสัตว์ต่าง ๆ นี่ชอบมาก โดยเฉพาะลายเสือ พอใส่บ่อยเข้า เพื่อนฝูงเห็นอะไรที่เป็นเสือ ก็จะนึกถึงเรา และซื้อมาฝากเสมอ ลายเสือเลยกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ซึ่งอาจสะท้อนความแกร่งบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในตัวเราก็ได้นะ”
ถ้าจะอายุยืน ขอมีสุขภาพดี
ในหนึ่งชีวิตของพี่จุ๋ม เธอผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 9 ครั้ง โดยสองครั้งเป็นผ่าตัดใหญ่ คือมะเร็งปากมดลูก และจอประสาทตา ส่วนที่เหลือคือการผ่าซีสต์ที่หน้าอก ซึ่งการผ่าตัดครั้งแรกตั้งแต่อายุ 25 ปี ได้เป็นตัวจุดประกายให้เธอหันมาสนใจเรื่องสุขภาพ
“เราไม่ได้ต้องการอายุยืน แต่ต้องการมีสุขภาพดีที่สุดขณะยังมีชีวิต สิ่งนี้เป็นสัจจะ เราเห็นแม่ที่อายุยืนแล้วช่วยตัวเองไม่ได้ เรากลัวมากว่าจะเป็นแบบนั้น เพราะเราเป็นโสด เป็นลูกคนสุดท้อง พี่ ๆ เขามีครอบครัวกันหมด เรารู้อยู่แล้วว่าเราตัวคนเดียว เราถึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องพยายามอยู่อย่างมีสุขภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
“นี่ไม่เคยรู้สึกเลยว่าตัวเองแก่เลย เพราะยังเป็นพวกนุ่งขาสั้นท่องโลก ตั้งแต่ไม่ได้ทำงาน กลับรู้สึกว่าตัวเองสุขภาพดีขึ้น ไปตรวจร่างกายที หมอต้องเรียกพยาบาลมาดูว่านี่เขา 69 แล้วนะ พวกเธอต้องทำให้ได้อย่างนี้ (หัวเราะ) ตอนนี้หวังอย่างเดียวว่า เราคงจะไม่มีชีวิตอยู่ไปจนถึงวันที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และทุกวันนี้ก็ใช้ชีวิตแบบคนที่ก้าวตามโลกอยู่แล้ว บางทีอ่านหนังสือเขาบอกให้ทำอย่างนั้นสิทำอย่างนี้สิ จะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ หรือเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว และเราเป็นคนที่ไม่ทำอะไรตามกฎเกณฑ์ด้วย เช่น อายุเท่านี้ ๆ ควรจะทำอะไรแบบที่เขาทำ ๆ กัน ถ้าเราไม่ใช่คน ๆ นั้น”
“This is me” ชีวิตอิสระในแบบของตัวเอง
ปัจจุบันพี่จุ๋มดำรงชีพด้วยเงินเก็บ และดอกผลที่งอกเงยจากการซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Saving) รวมทั้งสลากออมสิน เนื่องจากลำพังสวัสดิการรัฐ ซึ่งรับเบี้ยผู้สูงวัยเดือนละ 600 บาทนั้นไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังยอมจ่ายเงินประกันสังคมต่อ เพื่อจะใช้สิทธิรักษาพยาบาลด้วย แต่ตอนนี้เริ่มคิดหนัก เพราะสิทธิลดลงเรื่อย ๆ เช่น ให้เอ็กซเรย์ปอดได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้นในชีวิต ซึ่งอาจน้อยเกินไปสำหรับการดูแลสุขภาพ
ที่สำคัญคือการเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้สร้างความมั่นคงอะไรไว้ให้ ทำให้ต้องกระตือรือร้นสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง “ลูกผู้หญิงอย่างเรา จะล้มอย่างไรก็ให้ล้มในที่ของเรา เราต้องมีที่ยืน อย่าเป็นคนที่ไม่มีอะไรติดตัวเลย ยกเว้นแฟน อย่ายึดติดแฟน เพราะพอแฟนทิ้ง เราจะไม่มีที่ไป และชีวิตต้องมีเงินเก็บพอสมควร เราต้องใช้จ่ายให้สมตัว เราไม่เคยอายเลยที่ไม่ใช่คนหรูหรา ไม่เคยอายว่าชีวิตนี้ใช้แต่ของราคาถูก ผู้หญิงเราจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ไหม เราไม่เคยสนเลยว่าแฟชั่นจะไปถึงไหน This is me นี่แหละฉัน เราเป็นคนไม่มีหน้าอก แต่ไม่เคยคิดจะไปทำให้ใหญ่ขึ้น หน้าอกเลยเท่ากับเอวอยู่จนถึงทุกวันนี้” (หัวเราะ)
เอกลักษณ์ของพี่จุ๋มคือผมสั้นกุด แต่เคยมีแฟนคนหนึ่ง เขาชอบให้ไว้ผมยาว แต่พอเลิกกัน สิ่งแรกที่ทำคือซอยผม เหมือนได้ประกาศอิสรภาพของการหลุดพ้น “ผู้หญิงเราควรเป็นตัวของตัวเอง ทำอะไรเพื่อตัวเอง อย่าทำเพื่อเอาใจผู้ชาย เราเคยมีเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง นางกลุ่มอกกลุ้มใจที่ต้องตัดมดลูกทิ้ง นางบอกว่า How can I be a woman without the womb ฉันจะเป็นผู้หญิงได้อย่างไรถ้าไม่มีมดลูก เราเลยบอกว่าขอโทษเถอะ มดลูกของยูน่ะ มันติดอยู่ที่หน้าผากเหรอ ถ้ายูไม่มีมดลูก แล้วมันจะแสดงว่ายูไม่ได้เป็นผู้หญิงอย่างนั้นเหรอ ผู้หญิงคือความเป็นมนุษย์นะ ไม่ใช่มดลูก”
“คนเราอย่าหยุดสร้างเพื่อน”
สิ่งที่พี่จุ๋มอยากขอบคุณชีวิตในช่วงวัยนี้ก็คือการมีเพื่อน เพราะเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นเครื่องจรุงใจที่ได้พูดคุยเฮฮา ซึ่งเธอรอคอยที่จะได้เจอเพื่อน โดยเพื่อนไม่ต้องเยอะ แต่เพื่อนต้องมีคุณภาพ
“คนเราอย่าหยุดสร้างเพื่อน เพราะในที่สุด เราจะรู้เองว่าใครคือเพื่อน เพื่อนคือคนที่เราจะคบได้อย่างสบายใจ โดยไม่มีการหาผลประโยชน์ โดยไม่มีคำหวาน โดยไม่ต้องมากดไลก์ กดแชร์ เพื่อนคือคนที่จะอยู่กับเราในวันที่เราไม่สบาย และพร้อมที่จะให้เราไปค้างคืนด้วยในวันที่เราต้องการใครสักคน”
สิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพี่จุ๋มในวันที่ไม่ได้ทำงานแล้ว และกำลังเตรียมเข้าสู่วัย 70 จึงเป็นเรื่องของสุขภาพจิตที่ดี ควบคู่กับสุขภาพกายที่ยังคงแข็งแรงกับการว่ายน้ำต่อเนื่องเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
“เราก็อย่าไปคิดว่าเราไม่ได้ทำงานแล้วสิ ก็ทำทุกอย่างให้เหมือนเดิม อย่างเราเองพอตื่นเช้าออกกำลังกายเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ 9 โมงเช้าเป็นต้นไป ก็ยังนั่งที่โต๊ะทำงานเหมือนเดิม เปิดแลปท็อปอ่านข่าว อ่านหนังสือ เจอนวนิยายเรื่องไหนถูกใจ เราก็แปลเก็บไว้อ่านเองบ้าง ให้เพื่อนอ่านบ้าง ไม่เห็นจะเป็นอะไร” พี่จุ๋ม – จีรณี จิตตเสวี ในวัย 69 บอกอย่างอารมณ์ดีในชุดบิกินีลายเสือบนหุ่นอันเป๊ะปังของเธอ ท่ามกลางบรรยากาศแดดร่มลมตกบนชั้นดาดฟ้าของอาคารคอนโดมีเนียมกลางกรุงที่เธอซื้อจากน้ำพักน้ำแรงของเธอโดยลำพัง