หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่บอกว่า ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ทุกคนสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ แม้จะต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือช่วงวัย เป็นเหมือนเพื่อนที่สร้างความสุข ช่วยปลอบประโลมจิตใจ อยู่เคียงข้างในทุกช่วงเวลาของชีวิต และอาจเป็นหนึ่งในความฝันวัยเด็กของใครหลายคนที่อยากใช้ตอบด้วยความภูมิใจเวลาถูกใครถามถึงเรื่องความสามารถพิเศษว่าอย่างน้อย เราก็เล่นดนตรีสักอย่างได้ แม้จะเป็นเพียงเพลงง่าย ๆ ไม่กี่เพลงก็ตาม
สำหรับบางคน ความฝันเหล่านั้นอาจถูกต่อยอด พัฒนาจนกลายเป็นอาชีพ แต่สำหรับบางคนความฝันเหล่านั้นอาจค่อย ๆ เลือนรางจนจางหายไปตามกาลเวลาราวกับว่าไม่เคยเกิดขึ้น แต่สำหรับ ‘แจ๋’ กรกช สุขทรัพย์วศิน วัย 49 ปี คุณครูสอนปั้นดินเซรามิกแห่ง Atpotterhouse Bkk ของเหล่าลูกศิษย์ตัวจิ๋ว เธอยังไม่ลืมความฝันนั้น เพราะเมื่อโอกาสในการเรียนดนตรีกลับมาในชีวิต เธอรีบคว้ามันไว้ และเริ่มเรียนรู้มันอย่างตั้งใจจนกลายเป็นนักเรียนเครื่องสายในวัย 30+
จากตอนแรกที่คิดแค่ว่าอยากเล่นดนตรีเพื่อสร้างความสุข แต่วันหนึ่งเธอก็ได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนเวทีออร์เคสตราระดับประเทศ ทั้งที่เธอไม่เคยมั่นใจและไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะทำมันได้ แต่สุดท้ายความฝันของเธอก็เกิดขึ้นได้ ด้วยความเชื่อมั่นและสนับสนุนอย่างจริงจังในการช่วยสอนและฝึกซ้อมของครูสอนเชลโลผู้เป็นลมใต้ปีกอย่าง ‘ครูสปีค’ ดร.สมรรถยา วาทะวัฒนะ วัย 36 ปี ที่เป็นทั้งครูและเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เธอฝึกซ้อมจนถึงวันที่เธอได้ขึ้นโชว์บนเวที
กลับมาตามความฝัน
“เราชอบและอยากเรียนดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ตอนนั้นไม่ได้มีเงินพอ เพราะการเรียนเครื่องสายต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ ดูจับต้องยาก คิดว่าเราไม่น่าจะเรียนได้ พอโตขึ้นเราเป็นคริสเตียนเห็นอาจารย์เขาเล่นไวโอลินอยู่ที่โบสถ์ ก็เลยเดินเข้าไปคุย เขาเลยบอกว่าที่โบสถ์มีสอนฟรีนะ เราก็เลยไปร่วมคลาสกับเขา และหัดเรียนไวโอลินมาตั้งแต่ตอนนั้น
“ตอนเริ่มเล่นยากนะ เพราะไวโอลินมันไม่มีตัวคั่นเลย เลื่อนนิ้วนิดเดียวก็เพี้ยนแล้ว ซึ่งนิ้วของผู้ใหญ่มันมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าของเด็กมาก เด็ก ๆ เขาเรียนแป๊บเดียวก็เป็นแล้ว บางทีเรียนมาพร้อมกัน แต่เขาไปไกลแล้ว ส่วนเรานิ้วก็แข็ง โน้ตก็อ่านยาก เล่นก็ยาก แต่เราก็เล่นไปเรื่อย ๆ จนมันเริ่มฟังได้ แล้วพอเราได้ยินเสียงดี ๆ จากเครื่องดนตรีที่เราเล่น มันก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น
“เราไม่เคยคิดว่าตัวเองเริ่มเรียนดนตรีช้าไปเลยนะ เพราะเรามีโอกาสได้เรียนแล้ว คิดว่าคนเรามันต้องก้าวผ่านให้ได้สักหนึ่งประตู อย่างการเรียนไวโอลินเล่มแรกของหลักสูตรซูซูกิมันจะต้องผ่านเพลงที่ 9 ให้ได้ ซึ่งมันเป็นเพลงที่เล่นกระโดดข้ามสายไปมา ถ้าผ่านเพลงนั้นได้เราก็จะเริ่มรู้สึกมีกำลังใจ หลายคนที่เรียนคลาสเดียวกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็หยุดเรียนตอนเล่นเพลงนี้เยอะมาก เพราะโน้ตมันเริ่มยากแล้ว แต่ที่เราไม่หยุดเพราะเราอยากเล่นให้ได้ เราชอบเสียงของมันอยู่แล้ว แต่ทักษะเรายังไปไม่ถึง เราก็เลยพยายามที่จะผ่านมันไปให้ได้
“พอเล่นไวโอลินไปได้สัก 4-5 ปี ก็เริ่มมีความคิดว่าเราน่าจะตั้งวง เลยไปถามเพื่อน ๆ ที่เคยเรียนไวโอลินมาด้วยกัน ก็ได้เพื่อนที่เล่นไวโอลินและเชลโลมาอย่างละ 1 คน ตอนนั้นพอเราได้ยินเสียงเชลโลก็รู้สึกว่ามันเพราะมาก ฟังแล้วมันอุ่น มารู้ตอนหลังว่าเสียงเชลโลเป็นเสียงโทนเดียวกับเสียงพูดของคน มันก็เลยเหมือนเกับเรามีเพื่อนอีกคนหนึ่ง พอเล่นไปสักพัก สมาชิกในวงที่เขาเล่นเชลโล เริ่มมาบ้าง ไม่มาบ้าง วงก็เลยขาดคน ส่วนไวโอลินก็มีคนเล่นแล้ว เราก็เลยคิดว่าอยากไปเรียนเชลโล
“ไวโอลินกับเชลโลมันเล่นยากคนละแบบ การวางนิ้วบนเชลโลบ๊อกมันจะกว้างกว่า แต่นิ้วก้อยเราสั้นกว่าคนอื่น เวลาเล่นมันจะปวดไปถึงข้อเลย แต่ครูก็จะบอกให้เราวางนิ้วให้ตรงตำแหน่ง อีกอย่างคือเวลาเล่นไวโอลินเราจะสะบัดแค่ข้อมือ แต่เวลาเล่นเชลโลเราต้องสะบัดทั้งแขน พอเล่นไปสักพักถึงจุดหนึ่งครูเขาก็เราบอกให้เลือกว่าจะเรียนไวโอลินหรือเชลโล เพราะเราเริ่มอ่านโน้ตสลับกันแล้ว เราก็เลยเลือกหยุดเรียนไวโอลินแล้วมาเรียนเชลโล เพราะเราชอบเสียงเชลโลมากกว่า”
ฝันที่ไม่กล้าฝัน
“วันหนึ่งเรามีโอกาสได้ไปดูคอนเสิร์ตวง Bangkok Combined Choir & Orchestra (BCCO) ตอนนั้นเราอยากลองเล่นมากเลย แต่ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเล่นได้ จนครูที่โบสถ์เขามาชวนไปออดิชัน เลยได้ไปนั่งฟังเขาซ้อมก็รู้สึกว่ามันยากจัง แต่เราพอจับจังหวะได้ ก็เลยไปคุยกับครูผู้คุมวงว่าเราพอจับจังหวะได้นะแต่ไม่น่าเล่นไหว เขาก็เลยบอกว่าเรามาถูกทางแล้ว ให้เราไปลองคุยกับครูสอนเชลโลหรือครูสปีคดูก่อนแล้วค่อยมาบอก
“ตอนนั้นเราก็เลยไปคุยกับครูสปีค เอาโน้ตเพลงทั้งหมดไปให้ครูดู แล้วครูก็บอกว่ามีแค่ 2-3 เพลงที่ยากหน่อย ลองไปซ้อมดูก่อนไหม ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ค่อยมาคุยกันอีกที หลังจากนั้นเราก็เริ่มซ้อมเพลงจากโน้ตที่ได้มาเริ่มจากเล่นช้า ๆ ก่อน พอเข้าใจโน้ตมากขึ้นก็ค่อย ๆ เพิ่มความเร็ว ตามคำแนะนำของครู พอเล่นเพลงนั้นได้เราก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น
“เราคิดว่าตัวเองเล่นได้แล้ว แต่พอไปซ้อมกับวงจริง ๆ เรากลับเล่นไม่ทัน อย่างบางเพลงที่เราเคยซ้อมไปในจังหวะ 100 พอไปเล่นจริง ๆ มันกลายเป็น 110 หรือ 120 แล้วทุกคนก็ค่อนข้างจะเป็นมืออาชีพ ทำให้เรารู้สึกว่าแค่ตอนซ้อมเรายังทำไม่ได้เลย มันก็เลยทำให้เราท้อ
“สุดท้ายเราก็กลับไปที่ความตั้งใจแรกของตัวเองก็คือการเล่นเพลงถวายพระเจ้า ซึ่งเราเชื่อว่าพระเจ้าดูที่ความตั้งใจ ไม่ได้ดูที่ผลลัพธ์ เวลาไปซ้อมผู้คุมวงเขาก็ให้กำลังใจ ตรงไหนที่เราไม่มั่นใจ เขาก็ให้เราเล่นเบา ๆ ได้ ครูสปีคก็บอกว่าถ้าเขาตัดสินใจแล้ว เขาจะไม่ถอย เขาจะเดินต่อไปข้างหน้า ได้แค่ไหนก็แค่นั้น เราก็เลยฮึดสู้แล้วค่อย ๆ ซ้อมต่อ”
วันที่ฝันเป็นจริง
“จำได้ว่าก่อนจะเล่นอาจารย์ชาวเกาหลีที่เขาเป็นหัวหน้าพาร์ต เขาก็ถามเราว่า ตื่นเต้นใช่ไหม แล้วเขาก็บอกว่าตัวเขาเรียนทางดนตรี เรียนเชลโลมาโดยตรงเลยนะ แต่พอมาเล่นกับวง Bangkok Combined Choir & Orchestra (BCCO) เขายังรู้สึกว่าเขาต้องใช้เวลาตั้ง 5 ปี กว่าจะรู้สึกชอบเสียงที่ตัวเองเล่นกับวงนี้
“สิ่งที่เขาพูดทำให้เรามีกำลังใจว่าปีนี้เราเล่นเป็นปีแรก เดี๋ยวปีหน้าเราก็พัฒนาได้ มันเป็นการปรับตัวให้เข้ากับวงที่เราเล่น ปรับให้เข้ากับสไตล์ของคอนดักเตอร์ ซึ่งมันต้องใช้เวลา เราคิดว่าเราเองก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน เหมือนกับที่เราใช้เวลาเรียนดนตรีมาเป็น 10 ปี แต่เราก็ยังต้องไปต่อ ต้องพัฒนาต่อ คนอื่นเขาเลิกเรียนกันไปหมดแล้ว แต่ที่เราก็ยังเรียนดนตรีมาตลอดเพราะเรายังอยากให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
“วันนั้นพอเล่นเสร็จ ลงจากเวทีมา ร้องไห้เลย คนดูเขาก็ลุกขึ้นยืนปรบมือให้ เราชอบเสียงตอนนั้นมาก ๆ ชอบความรู้สึกที่ทุกคนร้องและเล่นออกมาด้วยความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า ตอนเล่นเสร็จเรายังกลับมานึกอยู่เลยว่าเรามีโมเมนต์แบบนั้นได้อย่างไร
“ทุกครั้งที่มีคนมาชมว่าเราเล่นเก่ง เราก็จะบอกว่าจริง ๆ แล้วเราเล่นผิดเยอะมาก แต่เราก็ดีใจมากที่เราผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาจนขึ้นไปเล่นได้ อย่างน้อยเราก็ไม่ได้หยุดไปก่อน ไม่ใช่คนที่ถอย หรือยอมแพ้อะไรง่าย ๆ เหมือนเราเอาชนะตัวเองได้ ถึงแม้มันจะไม่สมบูรณ์ แต่แค่เราได้ลุกออกมาทำ มันก็ดีที่สุดแล้ว”
แรงส่งจากลมใต้ปีก
“ดนตรีได้นำพาความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต ทำให้เราได้สังคมใหม่ ได้ความรู้ใหม่ ได้ทำอะไรใหม่ ๆ ได้เพื่อนใหม่หลากหลายวัยทั้งในวงการดนตรีและศิลปะ แล้วก็ได้ความสุขเพิ่มขึ้น
“ตอนที่เราเริ่มเล่นดนตรี เราไม่ได้คิดถึงการมาเล่นกับวงใหญ่ ๆ แบบนี้หรอก แต่ครูสปีคเขาเห็นว่าเราจะไปได้ เขาช่วยเราเยอะมาก เขาบอกเราตั้งแต่เจอกันครั้งแรกว่า เราดูมีฟีลลิ่งในการเล่นนะ แต่เราต้องเล่นให้มันสบายขึ้น แล้วมันจะเพราะขึ้น
“ครูสปีคเป็นทั้งครู ทั้งเพื่อน ทั้งพี่น้อง คุยกันได้ ปรับทุกข์กันได้ บางครั้งครูเขาก็มาเรียนปั้นดินกับเราด้วย ตอนที่เราแสดงบนเวที ครูก็ไปเชียร์ ไปให้กำลังใจตลอด ทำให้เราไปต่อได้และมั่้นใจมากขึ้น ไม่อย่างนั้นเราอาจจะหยุดทำไปแล้วก็ได้”