คนพิการทำงานได้จริงหรือ?
“หลายคนไม่เข้าใจว่าคนพิการจะทำงานอะไรได้ ทุกคนคิดว่าเมื่อมีความพิการเกิดขึ้น ศักยภาพคนคนนั้นจะด้อยลงถึงขีดสุด”
โต้ง – นายคุณากร สุวรรณเนตร (พิการทางการมองเห็น)
มนุษย์ต่างวัยชวนไปรู้จักกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีจำนวนพนักงานกว่า 230 คน ซึ่งในจำนวนนั้น มี 3 คน เป็นคนพิการ
‘โต้ง’ (พิการทางการมองเห็น) นักวิชาการ วัย 35 ปี หนึ่งในผู้พิการที่สอบคัดเลือกเข้ามาทำงานแบบเดียวกับคนทั่วไป
‘ไอซ์’ (พิการทางสติปัญญา) บรรณารักษ์ของห้องสมุดสร้างปัญญา (สสส.) วัย 26 ปี ที่มีความสามารถในทำหนังสือเสียง
‘บอล’ (พิการทางสติปัญญา) ผู้ช่วยเลขานุการ มือพิมพ์อันดับ 1 ของแผนก วัย 31 ปี
พวกเขาผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำงานไม่ใช่เพราะความสงสาร เห็นใจ แต่ผ่านเข้ามาเพราะความเชื่อมั่นว่า พวกเขามีความสามารถที่จะพัฒนาได้และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้า . ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สสส. ได้ริเริ่มนวัตกรรมทางสังคมมากมายเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลอันจะมาซึ่งสังคมแห่งความสุข และโครงการ ‘คนพิการต้องมีงานทำ’ ที่สสส. ได้ริเริ่มร่วมกับภาคีเครือข่ายก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้น จนปัจจุบันเกิดการจ้างงานคนพิการ มากกว่า 7,000 คน และทำให้สังคมเห็นว่า คนพิการก็มีศักยภาพ และความมุ่งมั่นที่จะทำงานเช่นเดียวกับคนปกติ เพียงแต่สิ่งที่พวกเขาขาดคือพื้นที่แห่งโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถ
พวกเขาก็ต้องการพึ่งพาตนเองได้ ต้องการศักดิ์ศรี มีงานทำเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เมื่อองค์กรไหนให้โอกาสกับคนพิการ ก็จะพบว่าพวกเขาก็มีศักยภาพ สร้างประโยชน์ให้องค์กรได้ ไม่น้อยไปกว่าใคร