โตขึ้นอยากเป็นอะไร ? คงเป็นคำถามในวัยเด็กที่ใครหลายคนคุ้นหู หรือได้ยินอยู่บ่อย ๆ ซึ่งคำตอบก็มีหลากหลายตั้งแต่อาชีพยอดฮิตอย่างครู หมอ พยาบาล ตำรวจ ฯลฯ หรือถ้าเป็นสมัยนี้ เราก็อาจจะได้ยินคำตอบว่า ดารา นางงาม อินฟลูอินเซอร์ ยูทูปเบอร์ ฯลฯ และบางครั้งเราอาจจะได้ยินคำตอบเป็นตัวละครจากโลกการ์ตูนหรือเทพนิยาย เช่น สไปเดอร์แมน ซูเปอร์แมน สโนว์ไวท์หรือซินเดอเรลล่าก็ได้ เช่นเดียวกับเด็กหญิงคนหนึ่งที่เคยมีความฝันว่าอยากเต้นรำและใส่ชุดกระโปรงสวย ๆ เหมือนตุ๊กตาคู่ที่หมุนอยู่ในขวดแก้ว
ความฝันนั้นถูกเก็บไว้ในใจมาตลอด พอเติบโตขึ้นเธอก็ใช้ชีวิตกับธุรกิจเสื้อผ้า ชอบแต่งตัว ชอบของสวย ๆ งาม ๆ เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงาน ก็หมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่ตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งที่เธอได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์ทั้งหน้าที่ลูกสาว หน้าที่ภรรยา หน้าที่แม่ และมีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่อีกครั้ง เธอจึงเริ่มต้นทำตามฝันที่เคยตั้งใจไว้อย่างจริงจังมากขึ้น
มนุษย์ต่างวัยคุยกับ ‘คุณยายหลุยส์’ นันทนา วรัญญชัยชนะ วัย 65 ปี ที่จับพลัดจับผลูตอบรับคำชวนจากครูเพื่อลงแข่งลีลาศหลังจากเริ่มเรียนจริงจังได้เพียงแค่เดือนเดียว เพราะอยากใส่ชุดสวย ๆ ถ่ายรูป จนทุกวันนี้คุณยายลงสนามมาแล้วนับไม่ถ้วนและคว้ารางวัลมามากกว่า 100 รายการ
นอกจากกีฬาลีลาศที่คุณยายชื่นชอบ คุณยายยังเปิดช่องติ๊กต็อก khunyailouis (คุณยายหลุยส์) เพื่อรีวิวชีวิตวัยเกษียณของตัวเอง จนมีหลาน ๆ เอฟซีมาติดตามช่องกว่า 300,000 คน ที่คอยมาคอมเมนต์พูดคุย และทักทายคุณยายอยู่ตลอด ทำให้ชีวิตของคุณยายเต็มไปด้วยสีสัน และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้คุณยายได้กลับมาสร้างรายได้ของตัวเองอีกครั้ง
คนอื่นไปแข่งเราไปแต่งสวย
“เมื่อก่อนคุณยายอยู่จ.สกลนคร ทำธุรกิจเสื้อเเจ็คเกตกันหนาว ดูแลงานด้านบัญชี ดูแลลูก คุณยายเป็นคนชอบเข้าสังคม ชอบไปออกงานต่าง ๆ ชอบถ่ายรูป ร้องเพลง ไปไหนก็มีแต่คนรู้จัก เหมือนเป็นเน็ตไอดอลประจำหมู่บ้าน ก่อนหน้านี้จะไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-สกลนคร แต่พอลูก ๆ เขาเรียนจบ ทำงานกันแล้ว เขาก็อยากให้พ่อแม่เกษียณ คุณยายก็เลยมาอยู่กับลูก
“เราเข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ ตอนอายุมากแล้ว ก็เลยไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะเพื่อน ๆ ก็อยู่ต่างจังหวัดกันหมด มันเหงา ก็เลยคิดว่าไปเรียนลีลาศดีกว่าจะได้มีเพื่อน เราชอบแต่งตัว ชอบถ่ายรูป ตอนเด็ก ๆ เคยเห็นตุ๊กตาผู้หญิงใส่ชุดสวย ๆ หมุนอยู่ในขวดแก้วคู่กับตุ๊กตาผู้ชาย เราก็ชอบ ดูแล้วเราก็เก็บไปนั่งฝันว่าอยากมีโอกาสทำแบบนั้นบ้าง
“สมัยอยู่สกลนครคุณยายเคยได้เรียนลีลาศอยู่บ้าง แต่เรียนแบบงู ๆ ปลา ๆ ไม่ได้จริงจัง พอตัดสินใจว่าจะไปเรียนลีลาศก็เลยหาข้อมูล แล้วหลังจากนั้นก็ไปสมัครเรียนที่ศูนย์กีฬารามอินทรา
“ตอนเริ่มเรียนคุณยายอายุ 61 ปีแล้ว เรียนไปได้สักพัก คุณครูก็ชวนไปลงแข่ง เราก็คิดว่าจะไปแข่งได้ยังไง เราเพิ่งมาเรียน แต่ครูเขาก็เชียร์อยู่เป็นอาทิตย์ ตอนนั้นคุณยายไม่เคยคิดเลยว่าเรียนแล้วจะไปลงแข่ง แค่กะมาเรียนแก้เหงา แต่ครูก็มาเชียร์เรื่อย ๆ จนเราวาดภาพตามว่าเราจะได้ใส่ชุดมีปีกสวย ๆ ที่มันดูเว่อร์วังอลังการ ที่มันเป็นชุดที่ใช้ใส่เวลาลงแข่ง ถ้าเราไม่ไปแข่ง เราก็จะไม่มีโอกาสได้ใส่ชุดแบบนั้น ก็เลยตอบตกลงไป
“ไปแข่งครั้งแรกที่ไอคอนสยาม ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องผลแพ้ชนะเลย แค่อยากใส่ชุดสวย ๆ ถ่ายรูป คุณยายจ้างช่างภาพไปถ่ายเลยนะ วันนั้นลงแข่งทั้งหมด 4 รายการ คือ ไจฟว์ รัมบ้า ชะชะช่า และแซมบ้า แข่งรายการไหนก็ได้ที่สุดท้ายตลอด แต่พอแข่งเสร็จกลับมีแต่คนชื่นชมว่าเราใจกล้ามากเลยที่มาลงแข่งสนามใหญ่แบบนี้ เราก็ไม่เข้าใจว่าเราได้ที่สุดท้าย แต่ทำไมคนเขามาชมกันจัง พอเรากลับมาดูคลิปย้อนหลังก็เห็นว่าวันนั้นคนที่ลงแข่งกับเรามีแต่ระดับแชมป์ทั้งนั้น ก่อนแข่งเขาก็ไปซ้อมในสนามจริงกันหลายรอบ ส่วนเรามองหาแต่มุมถ่ายรูป ถ่ายมุมนั้น มุมนี้ จนไม่มีที่ถ่าย ไม่ได้ซีเรียสอะไรเลย เพราะวันนั้นกะว่าแค่ได้รูปลงเฟซบุ๊กก็พอใจแล้ว”
เส้นทางนักล่ารางวัล
“หลังแข่งรอบนั้น ครูเขาก็มาชวนไปแข่งต่อที่จังหวัดขอนแก่น ตอนแรกก็บอกครูว่าเราไม่ไป เพราะไปก็ได้ที่สุดท้าย ก็เลยไม่ได้ซ้อม ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย เพราะตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ไปแข่ง แต่มีรุ่นพี่เขามาคุยด้วย มาเชียร์ มาให้กำลังใจ เขาบอกว่าเราทำได้ เรามีครูดี ไปแข่งครั้งนี้ยังไงก็ได้เหรียญกลับมา ก็เลยตัดสินใจว่าจะไป
“ตอนนั้นเหลือเวลาซ้อมอยู่แค่ 5 วัน แล้วคุณยายก็คิดว่าจะลงแข่งแค่ 5 รายการ แต่พอไปถึงแล้วรู้ว่ามันเป็นงานการกุศลที่เขาเอาเงินจากการจัดงานไปบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาล คุณยายก็เลยบอกครูไปว่าให้ลงเยอะ ๆ เลย อยากทำบุญ ครูเขาก็เลยลงให้เราไป 21 รายการ ลงแม้กระทั่งการแข่งแบบโซโลเดี่ยวทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยซ้อมมาก่อน แต่พอไปถึงตรงนั้นแล้ว มันก็ต้องเต้นให้ได้ ปรากฏว่าการแข่งครั้งนั้นเราได้รางวัลชนะเลิศประเภทคู่ไป 2 รายการ ส่วนประเภทโซโลเดี่ยวเราได้ที่ 2 กลับมา
“ตอนแรกที่ได้รางวัลมา ก็ยังรู้สึกงง ๆ อยู่ แต่พอแข่งไปเรื่อย ๆ ฝีมือเราก็พัฒนาขึ้น คุณยายก็เลยคิดว่ามาถึงขั้นนี้แล้ว เราก็ต้องทุ่มเทให้มากขึ้น บางครั้งก็ท้อ ก็อยากเลิกแข่งนะ เพราะมันเหนื่อย มันทรมานมาก เราเต้นด้วยกล้ามเนื้อ คอก็ต้องเชิดอยู่ตลอด ทุกอย่างต้องคม ต้องเป๊ะ เพราะเราไม่ได้เรียนเอาสนุก แต่เรียนเพื่อไปแข่ง”
พักให้ไหวแล้วไปต่อ
“วันที่ซ้อมมากที่สุดคือ 5 ชั่วโมง วันนั้นพอกลับถึงบ้านเท้าพอง เจ็บหัวเข่า ก็เลยโทรไปขอลดจำนวนชั่วโมงเรียนกับครู เวลาจะลงแข่ง คุณยายต้องไปซ้อมเกือบทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง บางครั้งครูเขาเห็นว่าเราไม่ไหว เขาก็จะบอกให้เราพัก
“บางครั้งรู้สึกไม่ไหวก็บอกครูว่าอยากเลิกแข่งแล้ว มาเรียนสนุก ๆ เหมือนเดิมก็พอ แต่ครูเขาก็ให้กำลังใจ เขาบอกว่าคนอื่นเขาไม่พร้อมเท่าเรา แต่เขาก็สู้จนได้เป็นแชมป์ แต่เรามีความพร้อมหลาย ๆ อย่าง ถ้าจะเลิก ก็น่าเสียดาย พอครูเขาให้กำลังใจ คุณยายก็เลยอยากสู้ต่อ เพราะถ้าเลิกแข่งไปจริง ๆ มันก็คงเหมือนขาดอะไรบางอย่างในชีวิต
“จริง ๆ เวลาไปแข่งมันสนุกนะ ได้เจอเพื่อนด้วย อีกอย่างก็คือเราได้ใส่ชุดสวย ๆ ได้ถ่ายรูปแบบที่เราชอบ ทุกวันนี้คุณยายลงแข่งลีลาศได้เหรียญมาแล้วประมาณ 100 กว่าเหรียญ ได้ถ้วยมาประมาณ 32 ถ้วย แต่รางวัลที่ภูมิใจที่สุดคือรางวัลที่ได้ไปรับกับสมเด็จพระเทพฯ ในการแข่งขันลีลาศนานาชาติ ซึ่งเป็นการแข่งรอบการกุศล ที่จ.ขอนแก่น ตอนนั้นคุณยายเอาถ้วยกลับบ้านไป 22 ถ้วย จนคุณตาเขาบอกแม่บ้านว่าให้คุณยายเอาถ้วยไปคืน เพราะเขาคิดว่าเราไปยืมของคนอื่นมา
“ส่วนลูก ๆ เขาเห็นแม่ได้รางวัลกลับมา ต่อหน้าเราเขาก็ไม่ได้พูดอะไรนะ แต่พอเพื่อนเขามากินข้าวที่บ้าน เขาก็พูดกับเพื่อนเขาว่าแม่ไปแข่งลีลาศได้รางวัลมานะ พอได้ยินเขาพูดกับเพื่อนแบบนั้นเราก็ดีใจ เดือนหน้าคุณยายกำลังจะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาลีลาศชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2568 หลังจากวันนี้ก็จะคงซ้อมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันแข่ง”
ทำตามฝันในวันที่พร้อม
นอกจากลีลาศสิ่งที่ทำให้คุณยายมีรอยยิ้มอยู่เสมอก็คือช่องติ๊กต็อก khunyailouis (คุณยายหลุยส์) ที่คุณยายตั้งใจให้เป็นพื้นที่รีวิวไลฟ์สไตล์วัยเกษียณของคุณยายเพราะอยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแบบของตัวเอง
“ทุกวันนี้คุณยายมีความสุขมากที่ได้มาเล่นติ๊กต็อก มีหลาน ๆ เอฟซีเข้ามาทัก เข้ามาคอมเมนต์ทุกวัน คุณยายก็ได้คิดทุกวันว่าจะตอบคอมเมนต์หลาน ๆ ว่ายังไง ทำให้คุณยายไม่เหงาและสนุกมากขึ้น แล้วก็ทำให้คุณยายได้ถ่ายคอนเทนต์กับลูกสาวด้วย
“ตอนนี้เราเกษียณแล้ว ไม่มีภาระอะไร อยากทำอะไรก็ได้ ที่ผ่านมาเราทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ตอนนี้เราเลยไม่มีอะไรต้องห่วง และโฟกัสกับชีวิตของตัวเองได้อย่างเต็มที่ อายุเป็นเพียงตัวเลข เราไม่คิดว่ามันช้าเกินไปที่มาเริ่มต้นทำตามความฝันในวัยนี้ เพราะการทำในตอนที่เราพร้อมมันดีที่สุด
“ทุกวันนี้ความหมายในชีวิตของคุณยาย คือ การมีครอบครัวที่อบอุ่น มีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ฝากถึงแม่ ๆ ที่กำลังเลี้ยงลูกว่าอย่าท้อ แบ่งเวลาให้ตัวเองบ้าง ไว้ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ สักวันเราก็จะได้ทำตามฝัน ไม่ต้องคิดว่าอายุมากแล้วมันจะสายเกินไป เพราะวันที่โอกาสมาถึง ถ้าเรายังแข็งแรงอยู่ เราก็จะมีแรงไปทำตามฝันได้
“ถ้าถามว่าจะเต้นลีลาศไปจนเมื่อไร คุณยายก็คิดว่าจะเต้นไปจนกว่าจะไม่มีแรงลุกจากเตียงเลย
‘ความสุข’ ไม่มีวันสาย
สิ่งสำคัญที่ทำให้คุณยายหลุยส์สามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างเต็มที่ก็คือการที่มีครอบครัวคอยสนับสนุนในทุกเส้นทางความสุขที่คุณยายเลือกเสมอ ‘แคทตี้’ รัสรินทร์ ธนะชัยวัฒนะโภคินลูกสาวของคุณยายหลุยส์เล่าถึงความตั้งใจของลูก ๆ ที่อยากให้พ่อแม่มีเวลาได้ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่หลังจากที่ดูแลลูก ๆ มาอย่างยาวนานว่า
“ลูก ๆ ทุกคนมองในทิศทางเดียวกันว่าอยากให้คุณพ่อคุณแม่เขาได้พัก และได้ไปใช้ชีวิตทำอะไรที่เขาชอบ เพราะว่าเวลาที่ลูก ๆ มองกลับมาแล้วเห็นพ่อแม่มีความสุข มันก็จะทำให้เราไม่กังวล และไปใช้ชีวิตของเราได้เต็มที่
“เมื่อก่อนคุณแม่เคยพูดว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้เขาจะเลือกไม่เกษียณ เพราะเขาอยากเป็นคนให้มากกว่าเป็นคนรับ อยากดูแลลูก อยากเป็นคนให้ลูกมากกว่า ช่วงแรก ๆ ที่เขาย้ายมาอยู่กับเราที่กรุงเทพฯ เขาเหงา เขาก็จะบอกให้เราพาไปนั่นไปนี่ แต่บางครั้งเราก็ติดงาน ไม่ได้มีเวลาให้เขาเต็มที่ แต่พอเขาเจอลีลาศ เขาก็ไปมีสังคมของเขา ได้เจอเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน ทำให้ชีวิตเขามีสีสันมากขึ้น
“ยิ่งพอเขาไปเจอติ๊กต็อก ได้ทำคอนเทนต์ เริ่มมีงานอินฟลูอินเซอร์เข้ามา มันก็ทำให้เขามีชีวิตชีวามากขึ้น เวลามีคนมาดูคลิปแล้วคอมเมนต์ว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากคลิปของคุณแม่ มันก็ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันมีคุณค่ามากกว่าการสร้างความบันเทิง
“เรายินดีกับคุณแม่ที่เขาได้เจอเรื่องที่ยังทำให้ชีวิตเขาตื่นเต้น สิ่งที่คุณแม่ทำมันสะท้อนให้เราเห็นว่า มันไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับความสุข เราคิดว่าคนเราจะมีความสุขได้ มันต้องมีความตื่นเต้นในชีวิต ที่ทำให้เรายังมีไฟ ไม่ห่อเหี่ยว และมีเป้าหมายที่จะตื่นมาใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน”