“ยายขายขนมเกล็ดกะโห้มา 30 ปีแล้วลูก เป็นขนมโบราณสูตรตกทอดมากว่า 100 ปี เดี๋ยวนี้ไม่มีคนทำแล้วก็เลยไม่ค่อยมีคนรู้จัก ตอนนี้ยายอายุ 83 แล้วก็ยังทำขนมขายอยู่ เพราะว่ายิ่งทำก็ยิ่งไม่เครียด ถ้าวันไหนหยุดแล้วดูแต่โทรทัศน์ เห็นแต่ข่าวโควิด สักวันยายก็อาจจะเป็นซึมเศร้าได้ สู้เอาแรงมาทำขนมดีกว่า ได้ออกกำลัง ไม่เครียด และมีความสุข”
“คุณยายเอื้อนจิตร ไตละนันทน์” เป็นเจ้าของร้านขนมไทยคุณยายเอื้อนจิตรที่เปิดขายความอร่อยมาแล้วกว่า 50 ปี นอกจากทองพับและทองม้วนแล้ว คุณยายยังมีขนมเด่นของร้านเป็นขนมโบราณที่ชื่อไม่ค่อยคุ้นหูคนทั่วไปนักอย่าง ‘เกล็ดกะโห้’ โดยเริ่มขายครั้งแรกตอนอายุ 30 ปี ปัจจุบัน คุณยายยังคงไปจ่ายตลาดเพื่อคัดสรรวัตถุดิบอย่างดีตามสูตรโบราณ และเปิดเตาทำขนมเพื่อส่งขาย แม้อายุปีนี้จะเข้า 83 ปีแล้วก็ตาม
“สมัยก่อนยายเป็นช่างเสริมสวยและช่างตัดเย็บเสื้อผ้า หลังมีลูกก็ต้องหาอาชีพอื่นเพราะจะได้เลี้ยงลูกไปด้วย ทำงานไปด้วยได้ พอได้สูตรขนมเก่าแก่มาเลยตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นแม่ค้าขนมไทยจนถึงทุกวันนี้”
‘เกล็ดกะโห้’ ขนมโบราณสูตรต้นตระกูลที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 100 ปี
“เกล็ดกะโห้เป็นขนมโบราณ สูตรที่ใช้เป็นของต้นตระกูลของสามี ซึ่งปกติเขาจะไม่ค่อยสอนกันเพราะคนสมัยโบราณเขาจะกลัวสูตรของต้นตระกูลหลุดออกไป คุณยายเป็นสะใภ้ของบ้านนี้ คุณย่าของสามีมักจะชอบให้ไปซื้อวัตถุดิบให้ ซึ่งคุณย่าจะย้ำและละเอียดกับการเลือกวัตถุดิบมาก ทำให้ยายได้ทักษะการเลือกซื้อของมาจากตอนไปซื้อของให้เขา แต่พอถึงตอนทำเขาจะไม่ทำให้เราเห็น แอบไปทำ เราก็อาศัยว่าคอยสังเกตเวลาชิมรสชาติบ้าง แอบดูบ้าง เพื่อแกะสูตร
“ตอนนั้นเราลองผิดลองถูกอยู่เป็นปี เพราะเขาไม่สอนให้ เราก็ต้องใช้วิธีแอบดู กว่าจะแกะสูตรครบไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะขั้นตอนมันละเอียดซับซ้อน อาศัยว่าทนเหนื่อยหน่อยเพราะถ้าทำได้ก็จะมีอาชีพ ตอนแรกจะขายหม้อแกงเพราะเป็นของขึ้นชื่อของเมืองเพชร แต่ใครๆ ก็ขายกัน มีเกล็ดกะโห้นี่ละที่เราไม่ต้องลงทุนใหม่ ไม่ได้มีขายเกลื่อน น่าจะสร้างรายได้ได้ดี”
พิถีพิถันเพื่อความอร่อยเหนือกาลเวลา
“การทำเกล็ดกะโห้ต้องละเอียดตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ ยายต้องไปตลาดและยืนคุมการคั้นกะทิสดด้วยตัวเอง เพราะเราจะรู้ว่าควรใช้หางกะทิเท่าไหร่ หัวเท่าไหร่ น้ำเท่าไหร่ ซึ่งลูกๆ หลานๆ ยังทำตรงจุดนี้ไม่ได้เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ ทุกครั้งที่ทำขนมยายจะนำทีมบุกหาวัตถุดิบด้วยตัวเอง แป้งก็ต้องใช้แป้งว่าวอย่างดีเพื่อความหอมอร่อยของขนม ขั้นตอนการทำของยายจะเริ่มจากการเคี่ยวกะทิกับน้ำตาล จากนั้นใส่แป้งและไข่ลงไป เคี่ยวจนแป้งเซ็ตตัว แล้วพักไว้ 1 คืน ระหว่างที่พักแป้งก็ต้องเก็บอย่างดี ห้ามไม่ให้ใครมาเปิดหรือจับเพราะแป้งจะเสียทันที จากนั้นตอนทำก็จะเริ่มด้วยการตั้งแม่พิมพ์บนเตาถ่าน ซึ่งแม่พิมพ์นี่ก็หาได้ยากในปัจจุบัน จากนั้นก็นำแป้งเกล็ดกะโห้นำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ใส่ในแม่พิมพ์ และนำแม่พิมพ์ไปวางบนเตาถ่าน เคล็ดลับสำคัญอยู่ตรงที่การอบควันเทียนแบบโบราณที่ช่วยทำให้ขนมหอม หวาน มัน อร่อยยิ่งขึ้น
“กว่าจะทำเสร็จไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะทำได้แต่ละแผ่นต้องใช้ความอดทนอย่างมากเพราะหน้าเตามันก็ร้อน ยายเคยเปิดสอนหลายรุ่นก็ไม่มีใครทำได้ จนทุกวันนี้เราไม่ได้เปิดสอนแล้ว เพราะถ้าเขาทำได้ สร้างอาชีพได้ ยายก็ดีใจ แต่พอสอนไปแล้วเขาทำไม่ได้ ยายก็จะเสียใจว่าทำให้เขากลับไปขายเป็นอาชีพไม่ได้ เลยเลือกที่จะไม่สอนดีกว่า แบบนี้สบายใจแล้ว”
จากนั่งรถเมล์ส่งขนม สู่ไลฟ์ออนไลน์ด้วยฝีมือของหลานสาว
“ช่วงก่อนโควิดยายก็ยังทำขนมส่งตามร้านเบเกอรี่ทุกวัน ในแต่ละวันยายก็จะนำขนมใส่ถุงแพ็คอย่างดี แล้วขึ้นรถเมล์ตระเวนส่งทั้งลาดพร้าว โชคชัยสี่ อนุสาวรีย์ชัยฯ อายุ 80 กว่านี่ละยังแบกขนมส่ง (หัวเราะ) ใครผ่านไปผ่านมาก็อยากจะช่วยยายถือนะ ยายก็บอกว่าไม่ต้องลูก เดี๋ยวยายยกเอง กลัวผิดมุมผิดท่าแล้วขนมจะแตก
“ยายทำเอง ออกไปส่งเองทุกวัน เหมือนได้หนีเที่ยวในวัย 80 กว่า ได้เจอคน มีคนแวะเวียนเข้ามาพูดคุย แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”
น้ำตาล-วิรากานต์ ไตละนันทน์ หลานสาววัย 26 ปี ของคุณยายเอื้อนจิตรช่วยเสริมว่า “เราเห็นคุณยายมีความสุขในการทำขนมและยังมีอะไรทำ เราเลยรู้สึกว่าถ้าไปบอกให้เขาหยุดทำ มันเหมือนไปบังคับให้เขาหยุดมีความสุข เราเองก็ต้องออกไปทำงาน และจะให้เขาอยู่บ้านเฉย ๆ มันคงน่าเบื่อสำหรับคนที่ทำงานมาทั้งชีวิตแบบคุณยาย เลยตัดสินใจเข้ามาช่วยคุณยายในการทำช่องทางขายออนไลน์ในเพจ ‘ขนมไทยคุณยาย-ยายเอื้อนจิตร’ เพื่อที่คุณยายจะได้ไม่ต้องออกไปขึ้นรถเมล์คนเดียวให้เป็นอันตรายในยุคโควิด
“ตอนนี้ก็จะเน้นขายทางออนไลน์เป็นหลัก โดยจะชวนคุณยายมาไลฟ์ผ่านแฟนเพจที่ทำขึ้น คุณยายก็จะไปดูวิธีการไลฟ์ขายของจากในยูทูบบ้าง เฟซบุ๊กบ้าง บางครั้งก็ดูพิมรี่พายว่าเขาขายแบบไหนเพื่อมาปรับเป็นรูปแบบตัวเอง พอมาทำขนมกับคุณยาย ช่วยคุณยายทำจริงๆ เราถึงมีเวลาได้คุยกัน ได้เห็นความสุขของเขา ถ้าเป็นแต่ก่อนเราก็คงทำแต่งาน ไม่ได้สังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้”
“เงินทองไม่สำคัญเท่าความสุข” งาน … ไม่ได้ทำให้ชีวิตลำบาก แต่ทำให้ชีวิตยังมีคุณค่า
“ตอนนี้ยายก็อายุ 80 กว่าแล้ว เงินทองไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าความสุข การที่ยายยังขายขนมส่วนหนึ่งก็เพราะว่าอยากเก็บเงินตรงนี้ไว้ใช้ในยามที่ร่างกายไม่ไหว จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ที่สำคัญเลยก็คือให้ยายมีคุณค่า ทำให้รู้สึกว่าอายุขนาดนี้ก็ยังมีแรงทำขนมได้ การทำขนม ออกมาส่งขนมทุกวัน นอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว สิ่งสำคัญคือไม่เครียด สิ่งที่ยายกลัวที่สุดคือการเป็นซึมเศร้า ยิ่งในยุคโควิดที่ข่าวสารเต็มไปด้วยเรื่องเครียด ถ้ายายอยู่แต่กับโทรทัศน์ ไม่ได้ทำงาน ร่างกายก็จะเสื่อมลงเรื่อยๆ จิตใจก็เช่นกัน สู้เอาแรงมาทำขนมดีกว่า จะได้แข็งแรง อยู่กับลูกๆ หลาน ๆ และทำขนมโบราณให้หลานๆ ลูกค้าทั้งหลายได้กินไปนานๆ
“ทุกวันนี้ยายยังแบ่งรายได้จากการขายขนมเพื่อทำกล่องปันสุขแจกจ่ายขนมให้กับคนที่กำลังลำบากในยามวิกฤตด้วย ยายพร้อมส่งกำลังใจถึงคนที่ท้ออยู่ว่าขอให้สู้ ยายเอง 80 กว่าแล้วก็จะสู้ไปพร้อมทุกคน”