“ที่ร้านเราอยู่มาได้จนถึงวันนี้ เพราะการรักษาคุณภาพด้วยกรรมวิธีการอบชาแบบดั้งเดิม และความจริงใจในการบริการลูกค้า การทำชาไม่ใช่การค้าขายแบบธรรมดานะ มันเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เหมือนเราสร้างความสุขให้ลูกค้า เราทำชาดี ๆ ไปให้เขา เขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย”
มนุษย์ต่างวัยพาไปคุยกับ ณฐพล หิรัญสาโรจน์ วัย 67 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง “ห้างใบชา ก.มุยกี่” ร้านชาอายุ 116 ปี ที่ยังคงใช้กรรมวิธีการอบชาแบบดั้งเดิมด้วยเตาถ่าน และคัดสรรชาคุณภาพหลากหลายแบบให้กับลูกค้า ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานร่วมศตวรรษ
“ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ยุคปู่ ตอนนั้นเขาอพยพมาจากเมืองจีน พื้นฐานครอบครัวเขาปลูกชา มีความรู้เรื่องชาอยู่แล้ว เขาเลยจับเรื่องชามาทำธุรกิจ เริ่มจากการรับใบชามาแบ่งบรรจุแล้วหาบใส่ปี๊บไปขายตามบ้าน หลังจากนั้นประมาณ 4-5 ปี เขาก็มาเช่าบ้านเพื่อเปิดเป็นร้านชา
“ผมเกิดที่นี่ โตมาในร้านชา ซึมซับกลิ่น รสของชา ดื่มชามาตั้งแต่เด็ก บ้านคนจีนทุกบ้านมีกาน้ำชาอยู่แล้ว วัฒนธรรมการดื่มชาเป็นของคนจีน ส่วนคนไทยจะไม่ค่อยนิยมดื่มชา วัยรุ่นยุคนั้นนิยมดื่มโค้ก เป๊ปซี่ ถ้าใครดื่มกาแฟก็จะดูหรูหน่อย ขนาดผมเองขายใบชาก็ยังไม่ค่อยภูมิใจเท่าไร พอบอกเพื่อนว่าที่บ้านขายชา เพื่อนก็จะงง ๆ ตอนนั้นผมเลยมองว่าเส้นทางการเติบโตของธุรกิจมันแคบลงเรื่อย ๆ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน ตลาดมันกลับด้าน โลกตะวันออกเปิดมากขึ้น คนก็นิยมดื่มชามากขึ้นด้วย”
ผันตัวจากงานประจำมาทำธุรกิจครอบครัว
“พอเรียนจบผมก็ไปทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย แต่เตี่ยอยากให้กลับมาช่วยสานต่อธุรกิจ ทุกครั้งที่ผมกลับบ้านหรือมีวันหยุด ผมก็ต้องมาเป็นลูกมือเตี่ย มาช่วยทำชา ทำให้ผมค่อย ๆ ซึมซับความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับชามาเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัว จนถึงช่วงที่ผมเลิกทำงานประจำตอนอายุประมาณ 50 กว่าปี เพราะความอิ่มตัวจากการทำงานบริษัท เหนื่อยจากการเดินทาง ก็เลยกลับมาทำร้านตรงนี้ อีกอย่างเตี่ยกับแม่อายุมากแล้ว ถ้าผมไม่ทำ ก็ต้องเลิกกิจการไป
“ตอนทำใหม่ ๆ ก็ไม่คุ้น จากคนที่เคยออกไปทำงานข้างนอก ออกไปหาผู้คน หาร้านค้า พอมาทำงานที่ร้าน ลูกค้ากลับเป็นคนมาหาเราแทน กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ เจออุปสรรคเยอะมาก ตอนนั้นเราก็ยังอยู่ในกรอบความคิดเก่า ๆ ของเราว่าชามีแต่คนแก่ดื่ม พอคนแก่หายไป ชาก็จะหายไปด้วย แต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เริ่มดื่มชาเยอะขึ้น ลูกค้าที่อายุน้อยที่สุดของผมเรียนอยู่ชั้นม.1 ตอนแรกผมก็นึกว่าเขามาซื้อให้เตี่ย แต่เขาบอกว่าเขาดื่มเอง”
ขยายโอกาสการเติบโตด้วยการขายออนไลน์
“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้รู้จักดร.ดิษฐวัฒน์ แก้วกาญจนดิษฐ์ ประธานสมาคมผู้รักชาและวัฒนธรรมจีน เขามาหาที่ร้าน เพราะอยากมาดูเราอบชา มาเรียนรู้เรื่องชา กลุ่มของเขามีสมาชิกอยู่หลายหมื่นคน เขาก็แนะนำให้ผมทำเพจ เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
“ผมได้ลูกสาวมาช่วยทำเพจร้านให้ ทำให้คนรู้จักร้านชาของเรามากขึ้น ข้อได้เปรียบคือเรามีที่มาที่ไป มีร้านค้าเป็นหลักแหล่ง มีความน่าเชื่อถือ ถ้าลูกค้าไม่มั่นใจ เขาก็สามารถมาลองดื่มที่หน้าร้านได้เลย เวลาลูกค้าเข้าร้านเราจะถามก่อนว่าเขาเคยดื่มชามาก่อนหรือเปล่า ถ้าเคยเราก็ถามต่อว่าเขาชอบดื่มชาแบบไหน แต่ถ้าไม่เคยเราจะถามว่าเขาชอบชาแบบอ่อน แบบกลาง หรือแบบเข้ม เราจะได้แบ่งหมวดหมู่แล้วแนะนำเขาถูก แล้วก็มีการเทตัวอย่างชาให้เขาดูสีสันของใบชาด้วย
“ชาที่ร้านแบ่งเป็นประเภทหลัก ๆ คือ ชาขาว ชาเขียว ชาแดง และชาดำ ชาขาวจะมีคุณสมบัติคล้าย ๆ กับชาผู่เอ๋อร์ เวลานำไปชงผสมอย่างอื่น เช่น ชามะนาว รสชาติจะไม่เพี้ยน แต่ถ้าเป็นชาเขียวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาชนิดอื่น ๆ ส่วนชาดำเป็นชาหมัก 100 เปอร์เซ็นต์ คาเฟอีนเป็น 0 สามารถดื่มได้ตลอดเวลา ช่วยลดไขมันได้ดีเช่นเดียวกับชาแดง แต่กลิ่นและรสอาจจะไม่ชวนดื่มเท่าไร
“ส่วนชาที่อยากให้ลอง มี 3 ชนิด หนึ่งคือชาเขียวหลงจิ่ง มีแหล่งกำเนิดที่หางโจว ซึ่งเป็นชาที่ชาวเซี่ยงไฮ้นิยมดื่มกันตลอดทั้งวัน สองคือชาทิกวนอิมสด จากมณฑลฟูเจี้ยน ที่เรานำมาอบเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ลดกลิ่นเขียวลง รสชาตินุ่ม มีความหวานในตัว และสามคือชาลิ้นนกกระจอก เป็นชาเก่าแก่ที่สืบสายพันธุ์มาจากชาต้าหงเผา มีความหอมเด่นชัด แต่ความเข้มน้อยจะกว่าชา ต้าหงเผา
“ส่วนใหญ่ชาทุกชนิดเราจะนำเข้าเตาอบ ยกเว้นชาเขียวสดกับชาดำที่เป็นชาหมัก การอบไฟเป็นเหมือนการปรุงแต่งรสชาติโดยใช้ความร้อนแทนการใช้สารเคมี เวลาที่ร้านได้ใบชามาก็จะเก็บเอาไว้ อย่างชาสุ่ยเซียน จะเก็บไว้ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้มันนุ่ม แต่พอมันได้ความนุ่ม ผลเสียที่ตามมาก็คือความชื้นในอากาศมันเข้ามาสัมผัสใบชาด้วย ทำให้กลิ่นควันไฟกับความหอมดรอปลง เราก็ต้องนำมาอบ พออบเสร็จก็จะได้ทั้งความหอมของกลิ่นควันไฟกับความนุ่มที่เราใช้เวลาบ่มเก็บมันมา ซึ่งตรงนี้เป็นเทคนิคที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่แล้ว
“เตาที่เราใช้อบใบชาจะไม่เหมือนเตาอั้งโล่ทั่วไปที่มีรูเพื่อให้อากาศเข้า ดังนั้นจะต้องมีเทคนิคการควบคุมไฟ เพื่อให้ความร้อนผ่านขึ้นลงทางเดียว ทุกเช้าผมก็ต้องมาเอาขี้เถ้าออก แล้วปรับไฟ เมื่อก่อนร้านเรามี 2 เตา เพราะเราอบชาราคาถูกส่งภัตตาคารด้วย แต่ทุกวันนี้เราเปิดแค่เตาเดียว เพราะเราอบแต่ชาคุณภาพสูง บางครั้งเราก็เอาชาเก่าที่เก็บไว้นาน ๆ ออกมาอบเพื่อไล่กลิ่น”
ความโชคดีที่อยากให้อยู่ต่อไป
“การทำร้านชาทำให้ผมได้เจอคนเยอะ หลากหลายวงการ ที่เขาเข้ามาหาเรา ตั้งแต่ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี เจ้าของธุรกิจ นายช่าง หรือแม้กระทั่งพระ เราได้นั่งคุยกัน ดื่มชากัน นับเป็นความโชคดีที่เราเลือกทำอาชีพนี้
“ผมโชคดีที่มาทำธุรกิจนี้ตอนที่อยู่มาจะ 100 ปีแล้ว ถ้าผมไม่มีพื้นฐานมาก่อน ต้องเริ่มจาก 0 ผมก็คงลำบาก เมื่อก่อนผมไม่ได้ใส่ใจเรื่องพวกนี้ แต่พอโตขึ้น เราเข้าใจว่าธุรกิจอายุเป็น 100 ปีนี่หายากนะ บางธุรกิจเติบโตจนยิ่งใหญ่ แต่พอไม่กี่สิบปีต่อมาก็ล้มหายตายจาก ร้านชาสมัยโบราณที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว
“ธุรกิจนี้เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว เป็นความโชคดีที่เราอยากส่งต่อ มองย้อนกลับไป ถ้าไม่ได้กลับมาสานต่อไว้ ผมก็คงเสียดายเหมือนกัน”
พิกัด ห้างใบชาก.มุยกี่ 122 ถนนพระรามที่ 4 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
Facebook : K.muikeetea