อายุน้อย ไม่มีประสบการณ์ ไม่ใช่ไม่มีความสามารถ
อายุมาก ไม่เคยทำ ไม่ใช่ทำไม่ได้
เพราะเราเชื่อว่า “อายุ” เป็นเพียงตัวเลข และ “ความสำเร็จ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และอายุ หากแต่อยู่ที่ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ย่อท้อ ทุกความสำเร็จเกิดขึ้นได้ ไม่มีคำว่าเร็วหรือช้าเกินไป ถ้าหัวใจเราบอกว่าใช่และเรายังไม่หยุดพยายาม
มนุษย์ต่างวัย ร่วมส่งต่อพลังบันดาลใจให้คนทำงานทุกช่วงวัย เพื่อสร้างสังคมการทำงานที่วัดมาตรฐานจากฝีมือและผลงานมากกว่าประสบการณ์หรืออายุ ด้วยการชวนคนหลากหลายวัยมาร่วมพูดคุยถึงการทำสิ่งที่รักด้วยใจที่มุ่งมั่น ทุ่มเท จนสามารถสร้างความสำเร็จในงานของตัวเอง ด้วยความเชื่อที่ตรงกันว่า “ขนาดของหัวใจสำคัญกว่าอายุ”
“เฟรม DICE” สมาชิก T-POP วงน้องใหม่ ที่หลงรักในการเต้น และฝึกฝนจนเดบิวต์เป็นศิลปินได้สำเร็จด้วยวัยเพียง 15 ปี
“ป้าน้อย Tattoo” ช่างสักที่เริ่มหัดใช้เครื่องมือสักตอนอายุเข้าหลัก 4 แต่ทุกวันนี้มีผลงานการันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ และยังถ่ายทอดความรู้ที่มีเป็นวิชาให้เด็กรุ่นใหม่ได้ฝึกฝนจนสามารถเป็นอาชีพได้
และ “ป้าพิม Mother Roaster” บาริสต้าที่เริ่มเปิดร้านกาแฟร้านแรกในวัย 70 ปี ก่อนที่ธุรกิจจะเติบโตและขยายออกไปจนมีด้วยกันถึง 5 สาขา ผ่านมาแล้วหลายบทบาททั้งเป็นวิทยากร จัดเวิร์กชอป ออกบูทนิทรรศการไกลถึงต่างประเทศ แถมด้วยการจัดงานเทศกาลกาแฟเป็นของตัวเองไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ธนันณัฐ สิทธิพันธุ์กุล (เฟรม DICE)
“เฟรม DICE” สมาชิก T-POP วงน้องใหม่ ที่หลงรักในการเต้นมาตั้งแต่อยู่อนุบาล และไม่ยอมให้อายุเป็นข้อจำกัดในการสร้างประสบการณ์ชีวิต ทุ่มเท ฝึกฝนจนเดบิวต์เป็นศิลปินได้สำเร็จด้วยวัยเพียง 15 ปี
เฟรมชื่นชอบศิลปะทุกแขนง โดยเฉพาะการเต้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ พอครอบครัวเห็นพรสวรรค์ ก็ได้ไปเรียนเต้นอย่างจริงจังมากขึ้น ไปประกวดตามเวทีต่าง ๆ อัดคลิปเต้นของตัวเองลงโซเชียลมีเดีย จนวันหนึ่งความสามารถของเขาไปสะดุดตาทีมงานรายการเทรนด์ศิลปินฝึกหัดอย่าง 789SURVIVAL ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนชีวิตของเฟรมจากเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่รักการเต้น ได้รับโอกาสในการฝึกฝน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเดินตามฝันของตัวเอง จนกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ที่น่าจับตามอง และเพิ่งปล่อยซิงเกิลแรกของวงไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
“การทำงานตั้งแต่อายุ 14 15 มันยากนะครับ แต่พอฝึกไปเรื่อย ๆ เรามีประสบการณ์มากกว่าคนอื่น เฟรมไม่ได้เครียดกับการทำงาน แต่เฟรมเลือกที่จะสนุกไปกับมันมากกว่า
“ไม่มีใครบอกว่าเฟรมเด็กหรืออายุน้อยเกินไปที่จะรับผิดชอบทั้งเรื่องเรียนและทำงานไปด้วย
“สิ่งที่เฟรมเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดจากการได้รับผิดชอบหน้าที่ศิลปิน การได้เริ่มทำงานในวัยนี้ก็คือ เฟรมคิดเยอะขึ้น รอบคอบมากขึ้น มีการวางแผนชีวิตที่เป็นระบบขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่ได้คิดอะไรจริงจังขนาดนี้ ก็ต้องจริงจังมากขึ้น ต้องให้เวลาและทุ่มเทกับสิ่งที่เราทำ เพราะนั่นคือการแสดงความรับผิดชอบของเรา
“ในช่วงชีวิตของเฟรม ตั้งแต่ได้เริ่มเทรนจนมาถึงวันนี้ มีทั้งช่วงเวลาที่ท้อ เสียใจ หรือยากลำบาก บางครั้งเวลาซ้อมเต้น ก็เคยล้มบ้าง แต่เฟรมไม่ได้เอาความผิดพลาดมาเป็นข้อจำกัด หรือกำแพงที่ทำให้ตัวเองไม่ไปต่อ เวลาล้มเราจะจำมันได้ และครั้งต่อไปเราจะระวังมากขึ้น
“ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรืออยู่ในวัยไหนก็ตาม ทุกคนมีคุณค่าของตัวเอง สามารถสร้างสรรค์ผลงานทุกอย่างได้ โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าตัวเองอายุเท่าไร แม้เราอาจจะเป็นเด็ก แต่ก็ใช่ว่าผลงานที่ออกมาจะมีคุณค่าน้อยกว่าคนอื่น สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวเราที่เป็นคนสร้างผลงานชิ้นนั้น ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไม่ชอบผลงานของเรา แต่ถ้าเราชอบงานนั้น ก็ถือว่าเราทำสำเร็จแล้ว
“ยิ่งเรารู้เร็ว เข้าใจตัวเองเร็ว ค้นพบตัวเองเร็ว ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบ เพราะเราจะได้ใช้เวลากับสิ่งนั้นมากขึ้น เฟรมอยากให้สังคมมองคนที่ผลงานมากกว่าอายุ เฟรมรู้สึกว่ายิ่งเรารักมันมากเท่าไร ทักษะของเรา ผลงานของเราก็จะยิ่งดีขึ้นตามไปด้วย เฟรมเคยได้รับฟีดแบกจากแฟนคลับว่า เขารับรู้ได้ถึงพลังความรักในการเต้นของเรา เฟรมส่งต่อพลังความรักในการเต้นให้คนอื่นรับรู้ได้ ทุกวันนี้การเต้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเฟรมไปแล้ว ถ้าวันหนึ่งไม่มีโอกาสได้ทำมันแล้ว เฟรมคงเสียใจมาก”
จินตนา ฉิ่งเล็ก (ป้าน้อยTattoo)
ช่างสักที่เริ่มหัดใช้เครื่องมือสักตอนอายุเข้าหลัก 4 แต่ทุกวันนี้มีผลงานการันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ และยังถ่ายทอดความรู้ที่มีเป็นวิชาให้เด็กรุ่นใหม่ได้ฝึกฝนจนสามารถเป็นอาชีพได้
“พี่เริ่มหัดสักครั้งแรกตอนอายุ 43 ปี ตอนนั้นไม่เคยคิดจะสักเลย ไม่รู้จักเครื่องมือสักด้วยซ้ำ ช่วงเริ่มสักใหม่ ๆ ใครเดินเข้ามาในร้านก็มีแต่คนถามว่า ‘พี่สักได้จริง ๆ เหรอ ป้าสักได้จริงเหรอ’ บางทีจะลงเข็มอยู่แล้ว ลูกค้าก็ยังลังเลอยู่ ตอนที่ได้ลงมือสักจริง ๆ ลูกค้าก็ไม่มั่นใจหรอก แต่พอเขาเปิดใจ ลองให้เราทำ เขาเห็นผลงานเรา เขาก็ชอบ
“พอสักมาได้ประมาณ 2 ปี พี่ก็เริ่มไปประกวด ไปครั้งแรกก็ได้รางวัลเลย ทำให้เราเริ่มมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาผลงานมากขึ้น จากนั้นก็ไปประกวดเรื่อย ๆ ได้รางวัลรวม ๆ แล้ว 30 กว่ารางวัล แต่ถึงแม้จะได้รางวัลแล้ว คนข้างนอกที่เขาไม่รู้จักเรา เขาก็ยังไม่เชื่อว่าเราทำได้อยู่ดี พอดีมีรายการหนึ่งเข้ามาถ่าย แล้วมียอดคนดูเยอะ ก็เลยทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น
“เคยมีคนบอกพี่ว่าต่อให้เราสักดีแค่ไหน ก็ไม่มีใครมาสักกับเราหรอก เพราะคนจะมองจากบุคลิก แต่ภาพลักษณ์เราไม่ได้ อายุเยอะ ไม่มีใครมาสักด้วยหรอก แต่ความโชคดีของพี่คือพี่เป็นคนคิดบวก อาจจะเฟลอยู่ 2-3 วัน ก็กลับมาได้ พี่บอกตัวเองว่า ‘เอาใหม่ ลองใหม่ เราต้องทำให้ได้ดีกว่าเดิม’ พี่จะเอาข้อผิดพลาดของตัวเองมาปรับปรุง ถึงพี่จะทำงานสักเข้าปีที่ 10 แล้ว แต่พี่ก็ไม่ได้คิดว่ามันนาน เพราะมันมีอะไรให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีสิ่งใหม่ ๆ ที่เรายังไม่รู้ และเราต้องเรียนรู้ไม่มีวันจบ
“สำหรับวงการสัก พี่อาจจะเริ่มช้ามาก และอายุอาจมีผลในการทำงานบ้างในเรื่องของสภาพร่างกาย แต่ถ้าเราตั้งใจ อายุก็ทำอะไรเราไม่ได้ สมมติว่าอายุเราเท่านี้เราอาจจะลดเวลาทำงานลงจาก 8 ชั่วโมงเหลือ 4 ชั่วโมง ถ้าใจเราอยากจะทำเราก็จะหาทางทำมันจนได้ อย่างเรารู้ว่าเราต้องใช้พลัง ใช้สมาธิ ใช้สายตา ต้องนั่งนาน ๆ เราก็ดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น พี่อยากให้สังคมวัดกันที่ฝีมือ ความรับผิดชอบ และตัวผลงานที่สร้างสรรค์ออกมามากกว่าประสบการณ์หรืออายุ บางคนอาจจะอายุน้อยแต่เก่งมากก็ได้
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้คือความตั้งใจ ความพยายาม และความมุ่งมั่นจะทำให้ได้ แน่นอนว่ามันจะมีวันที่เราท้อ เราเหนื่อย ถ้าเรารู้สึกแบบนั้น ให้เราพักสมอง พักหัวใจ แล้วค่อยลุกขึ้นมาทำใหม่ พรสวรรค์ไม่สำคัญเท่าพรแสวง ถ้าเราไม่พยายาม ไม่ฝึก ต่อให้เรามีพรสวรรค์ เราก็ทำไม่ได้แน่นอน
“ทุกงาน ทุกอาชีพต้องเจอกับปัญหาหรืออุปสรรค บางวันเราอาจจะรู้สึกแย่มาก ๆ ขอแค่เราไม่ท้อ ถ้าวันนี้แย่ พรุ่งนี้เราเอาใหม่ ทุกวันคือการเรียนรู้ แก้ไขในสิ่งที่เราทำผิดพลาดไป แล้วเดี๋ยวกำลังใจของเราจะกลับมาเอง รับฟังคนอื่นด้วย นำข้อผิดพลาด หรือสิ่งที่เราทำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ว่าอายุเท่าไร ถ้าเราตั้งใจ เราเริ่มใหม่ได้เสมอ”
เพลินพิศ เรียนเมฆ (ป้าพิม Mother Roaster)
บาริสต้าที่เริ่มเปิดร้านกาแฟร้านแรกในวัย 70 ปี ก่อนที่ธุรกิจจะเติบโตและขยายออกไปจนมีด้วยกันถึง 5 สาขา ผ่านมาแล้วหลายบทบาททั้งเป็นวิทยากร จัดเวิร์กชอป ออกบูทนิทรรศการไกลถึงต่างประเทศ แถมด้วยการจัดงานเทศกาลกาแฟเป็นของตัวเองไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
“การเริ่มต้นธุรกิจตอนอายุ 70 ทำให้เราคิดเป็น มองเป็น ด้วยความที่เราผ่านโลกมาเยอะ อะไรที่คิดว่ายังไม่ได้ทำ ถ้าทำแล้วจะมีความสุข ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรยากเกินไป ถึงแม้มันจะยาก มันก็ยากน้อยกว่าสิ่งที่เราเคยผ่านมา ยิ่งทำ เรายิ่งมีพลัง ยิ่งสนุก เพราะเมื่อไรที่เราทำมันด้วยแพสชัน ด้วยความสุข มันจะสร้างพลัง สร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้เราตลอดเวลา
“มีคนมาถามเยอะมากว่าแก่แล้ว ทำไมไม่อยู่นิ่ง ๆ ทำไมไม่อยู่บ้านเลี้ยงหลาน แต่ธรรมชาติของเราไม่เหมือนคนอื่นอยู่แล้ว ป้าไม่ได้คิดว่าคนเราจะถูกอายุเป็นตัวกำหนดว่าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ถามว่าอายุ 70 แล้วยังไง ทำอะไรไม่ได้เหรอ ไม่ใช่หรอก มันอยู่ที่ว่าชีวิตตอนนั้นเราทำอะไร อยู่ตรงไหนต่างหาก แต่ละคนก็มีช่วงชีวิตที่แตกต่างกันไป
“อายุเป็นเพียงตัวเลข ไม่ได้เป็นอุปสรรค ทุกอย่างอยู่ที่ใจเรา ถ้าเราฟังคนอื่น เราก็ต้องดูว่าสิ่งที่เราทำมันกระทบคนอื่นแค่ไหน ถ้าไม่ ก็ทำเลย ถ้าพรุ่งนี้ยังได้ตื่น ป้าก็จะทำสิ่งที่อยากทำต่อไป เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตอนไหน
“ตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ เราอาจจะไม่ได้ทำสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ตอนนี้เรามีเวลา มีโอกาส เราก็กลับไปทำสิ่งที่เราอยากทำ มันอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละคน อยู่ที่ใจของเรามากกว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ถ้าใจเราเต็มที่ เราสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แม้แต่บางครั้งที่เราเจ็บป่วย ไม่สบาย แต่ถ้าใจเรามีพลังมากพอ เราก็ยังสามารถลุกขึ้นมาได้
“เวลาใครถามอายุ ป้าจะบอกว่าหยุดอยู่ 70 ที่บอกแบบนี้ก็เพราะว่าอย่างน้อยตัวเราจะได้รู้สึกว่าปีนี้เราอายุ 70 นะ ซึ่งมันจะ 70 เท่าไรก็แล้วแต่ เราไม่ต้องไปขยับตามมัน เพราะเมื่อไรที่เราขยับ ทุกปีที่มันบวกเพิ่มขึ้น มันจะทำให้ความรู้สึกของเราลดลง คิดว่าแก่แล้วนะทำนั่นไม่ได้ ทำนี่ไม่ได้ จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเรื่องเรียน เรื่องการทำงาน การเดินทาง หรือแม้กระทั่งเรื่องการมีคู่มันไม่ได้เกี่ยวกับอายุเลย
“ถ้าวัดความสำเร็จ มันเกิดขึ้นตั้งแต่เราตั้งใจทำแล้ว ถึงแม้เราจะท้อแค่ไหน ล้มกี่ครั้ง เราก็ลุกขึ้นมาใหม่ เราจะลุกขึ้นมากี่ครั้งก็ได้ แค่เต็มที่กับมัน ถ้าเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำ ความสำเร็จมันจะตามมาเอง”
ไทยประกันชีวิตขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนทุกแรงงาน ทุกความสามารถ เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ไม่ตัดสินคุณค่าคนทํางานจากเพียงแค่ประสบการณ์หรืออายุ เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไร เราต่างมีศักยภาพ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าและความหมายในแบบของตัวเอง