“บางคนก็ถามว่ามาทำจิตอาสาทำไม ค่ารถก็เสียเอง ค่าข้าวก็ต้องเสียเอง แต่เราก็รู้สึกว่าเราก็ไม่ได้ลำบาก เพราะเรามาแบบไม่ได้คิดว่าจะต้องได้อะไร ถ้ามัวแต่คิดว่ามาแล้วจะได้อะไรกลับไปบ้าง มันไม่มีความสุขหรอก แต่ถ้าเรามาแบบไม่คาดหวังอะไร เราจะได้อะไรกลับไปอย่างแน่นอน”
มนุษย์ต่างวัยคุยกับ “ปาน” จิดาภา ดำรงจักษ์ วัย 56 ปี ผู้ทำงานอาสาในโรงพยาบาลมามากกว่า 100 ครั้ง โดยมีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการหาสถานที่เก็บประสบการณ์ให้กับลูกสาวที่อยากเข้าเรียนเเพทย์ จนทุกวันนี้งานจิตอาสาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สร้างความสุขให้กับเธอเสมอในทุกครั้งที่ได้ทำ
ในฐานะคนที่ทำงานจิตอาสามากว่า 8 ปี จึงอยากชวนคนที่มีเวลาว่างโดยเฉพาะคนที่เกษียณจากการทำงานและไม่มีภาระอะไรแล้วให้ลองเปิดใจมาทำงานจิตอาสาดูสักครั้ง ไม่แน่ว่าอาจจะพบความหมายและความรู้สึกบางอย่างที่ช่วยเติมเต็มคุณค่าในชีวิตจนอาจแปลกใจว่าทำไมตอนแรกที่คิดว่าตั้งใจมาเพื่อให้ แต่กลับกลายเป็นคนที่รับพลังกลับไปมากกว่า
ทุกวันนี้เธอเรียกตัวเองว่า ‘จิตอาสามืออาชีพ’ และตั้งใจว่าจะทำงานจิตอาสาไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่เธอยังสามารถทำมันได้ เพราะงานจิตอาสาให้อะไรกับเธอเยอะมาก ทั้งความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนใหม่ และได้เจอสังคมใหม่ที่สามารถพูดคุยและแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ ให้แก่กันได้
จุดเริ่มต้นเส้นทางจิตอาสา
“เราเริ่มทำงานจิตอาสามาตั้งแต่ปี 2017 หรือประมาณ 8 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากลูกสาวอยากเรียนแพทย์ แล้วเขาต้องมีผลงานเพื่อทำพอร์ตโฟลิโอ เราก็เลยลองหาข้อมูลอินเทอร์เน็ตว่าสามารถจะไปทำงานจิตอาสาที่ไหนได้บ้าง จนไปเจอคำว่า ‘ฉลาดทำบุญ’ เราก็สงสัยว่ามันเป็นอย่างไรก็พบว่า การฉลาดทำบุญคือ เราไม่จำเป็นต้องทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราสามารถใช้แรงกาย แรงใจของเราทำบุญได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ตรงกับความเชื่อของเราตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า ‘คนเราไม่จำเป็นต้องทำบุญด้วยเงินอย่างเดียวเท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้นคนไม่มีเงินก็ทำบุญไม่ได้’
“จากนั้นเราก็ตัดสินใจเลือกทำจิตอาสาในโรงพยาบาล เพราะรู้สึกว่าหลายคนที่ไปติดต่อโรงพยาบาลหรือไปหาหมอนั้น ต้องมาตั้งแต่ตี 4 ตี 5 บางครั้งต้องอยู่ไปจนถึงเย็น เสียเวลาไปทั้งวัน เราก็เลยอยากไปหาคำตอบว่ามันเป็นเพราะอะไรกันแน่ ประกอบกับอยากไปทดลองทำจิตอาสาก่อนที่ลูกสาวจะมาเก็บประสบการณ์เพื่อเตรียมยื่นสอบ เข้ามหาวิทยาลัยด้วย
“เราก็เลยสมัครมาทำงานจิตอาสาที่สถาบันประสาทวิทยา ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดรับบุคคลทั่วไป พอได้เข้ามาทำก็ได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่าง และตอบคำถามที่ตัวเองเคยสงสัยได้แล้วว่าทำไมการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งถึงต้องใช้เวลานาน”
ช่วยผู้ป่วยให้สะดวกกาย สบายใจ
“ก่อนเริ่มทำงานจิตอาสาจะมีช่วงปฐมนิเทศก่อน เจ้าหน้าที่จะมาให้ข้อมูลกับเราเกี่ยวกับประเภทของผู้ป่วยตามสิทธิการรักษาพยาบาลต่าง ๆ ว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิอะไรได้บ้าง เช่น บัตรทอง ประกันสังคม ฯลฯ เมื่อเรารู้สิทธิและขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว เราก็จะสามารถอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ป่วยและญาติใจเย็นลง เพราะสาเหตุที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่รอไม่ได้ หรือไม่อยากรอนั้น เพราะเขาไม่รู้ว่าต้องรอนานแค่ไหนและต้องทำอะไรบ้าง
“หน้าที่หลักของเราคือช่วยผู้ป่วยชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดัน บอกทางไปจุดต่าง ๆ ในโรงพยาบาล และช่วยอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ในการรับการตรวจรักษาให้กับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยบางคนมาก่อนเวลา เราก็จะบอกเขาว่า ‘ลุงไปกินข้าวก่อนได้นะคะ คุณหมอจะมาตอน 9 โมง’ หรือผู้ป่วยบางคนสายตาไม่ค่อยดี ขาไม่ค่อยดี เราก็จะเดินเข้าไปถามว่ามีญาติมาด้วยไหม ถ้าเขานั่งรถเข็นเราก็จะเข้าไปช่วยเข็นให้ แต่เคสเหล่านี้ที่สถาบันประสาทฯ จะค่อนข้างน้อย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่พึ่งพาตัวเองได้ หรือไม่ก็มากับญาติอยู่แล้ว
“แต่ถ้าเป็นที่โรงพยาบาลราชวิถีจะมีเคสผู้ป่วยที่ต้องได้รับความช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ บางคนมาคนเดียว บางคนสายตาไม่ดี เราก็จะเข้าไปช่วยประคองแล้วพาเขาเดินไปยังจุดต่าง ๆ บางครั้งเราก็ช่วยดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเจอหมอไปจนเขาขึ้นรถกลับบ้าน ถ้าเราอยู่กับเขาตลอดไม่ได้ก็จะฝากให้อาสาคนอื่นมาช่วยดูแลต่อ”
การให้ที่ได้กลับมามากกว่า
“พอทำจิตอาสาไปสักพัก เราก็ไปชวนลูกสาวมาทำด้วย การที่เขาได้มาทำงานจิตอาสาทำให้เขาเข้าใจภาพของการทำงานในโรงพยาบาลมากขึ้น พอเราถามเขาอีกครั้งว่า ‘ยังอยากเป็นหมออยู่ไหม’ เขาก็บอกว่าเขาชอบ เขามีความสุข หลังจากนั้นเขาก็ไปสมัครทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลต่าง ๆ ตามความสนใจของตัวเอง ทั้งโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งพอเขาทำไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้เขากล้าที่จะถาม กล้าที่จะพูดคุยกับผู้ใหญ่ หรือผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลมากขึ้น และเขาก็ได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับใช้ในการเรียนแพทย์อย่างที่เขาตั้งใจไว้ได้แล้ว
“การทำจิตอาสาในโรงพยาบาลทำให้เราได้เห็นคนป่วย คนที่เป็นโรคต่าง ๆ มากมาย ทำให้เราได้สังเกตและหาข้อมูลอยู่ตลอด เราไปอบรมเพื่อเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ในการทำงานในโรงพยาบาลเพิ่มเติม เช่น ไปอบรมกับคลินิกลมชักที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ทำให้เราสามารถช่วยเป็นจิตอาสาในการคัดกรองผู้ป่วยก่อนเข้าพบคุณหมอได้
“งานจิตอาสาทำให้เราได้ความรู้หลาย ๆ อย่าง เช่น วิธีลดความดัน วิธีทำซีพีอาร์ เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เราก็เอาความรู้เหล่านี้ไปแนะนำผู้ป่วย และนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งบางอย่างหากไม่ได้มาทำจิตอาสา เราก็อาจจะไม่ได้มีความรู้ตรงนี้เลยก็ได้
“นอกจากนี้งานจิตอาสายังเป็นสิ่งที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งกับคุณแม่ ลูกสาว และสามีด้วย ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยคุยกับแม่ แต่หลังจากมาทำจิตอาสาเราก็เริ่มใจเย็นลง เข้าใจธรรมชาติของเขามากขึ้น เวลาไปทำงานจิตอาสาเราก็ไปกับลูก เรียนซีพีอาร์ก็พาลูกไปเรียนด้วย พอกลับบ้านมาก็จะเล่าให้สามีฟัง เขาก็รับฟังและสนับสนุนอยู่เสมอ เพราะเขาเห็นว่าเราไปทำจิตอาสาเราก็ยังรับผิดชอบหน้าที่ในครอบครัวได้ดี และเราก็มีความสุขที่ได้ไปทำด้วย”
เมื่อ ‘การให้’ กลายเป็น ‘ความสุข’
“ความสุขจากการทำจิตอาสามันต่างจากความสุขจากการทำอย่างอื่น อย่างเวลาไปเที่ยว เราอาจจะคาดหวัง อยากเห็นนั่น อยากเจอนี่ อยากเห็นหิมะ พอไปถึงแล้วหิมะไม่ตก เราก็ไม่มีความสุข แต่การไปทำจิตอาสา เราไปแบบไม่คาดหวัง ไปด้วยใจที่อยากทำเพื่อคนอื่น ส่วนความสุขนั้นมันเกิดขึ้นเอง บางครั้งทำงานจนคนในโรงพยาบาลหมดแล้ว เราก็ยังไม่อยากกลับบ้าน เพราะมันสนุกและมีความสุขจนลืมเวลาไปเลย
“สิ่งที่เป็นความทรงจำที่ประทับใจในการทำงานจิตอาสาคือ การได้ช่วยผู้ป่วยผูกเชือกรองเท้า เวลาที่ผู้ป่วยต้องถอดรองเท้าชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ทำให้เขาเดินค่อนข้างลำบาก บางครั้งเวลาที่เราเห็นเชือกรองเท้าเขาหลุดก็เลยเข้าไปช่วย เรารู้ว่าเขารู้สึกขอบคุณอยู่ในใจ ถึงแม้เขาจะไม่มีคำพูด แต่เราก็รับรู้ได้จากการมองเข้าไปในแววตาเขา แค่นี้ใจเราก็มีความสุขแล้ว
“งานจิตอาสาทำให้เราอิ่มเอมใจและรู้สึกว่ามันเป็นการฉลาดทำบุญจริง ๆ มันรู้สึกว่าเราอยู่ถูกที่ เราให้ด้วยความรู้สึกว่าอยากให้ ทำด้วยความรู้สึกว่าอยากทำ ถ้ามีเวลามากกว่านี้ เราก็อยากมาช่วยบ่อย ๆ ตั้งใจว่าปีนี้อยากบริจาครถเข็นให้กับโรงพยาบาลด้วย เพราะพอมาทำจิตอาสา เราก็เห็นว่ารถเข็นไม่พอ ก็เลยอยากช่วยสนับสนุนตรงจุดนี้”
คนแปลกหน้าที่กลายเป็นครอบครัว
“การเป็นจิตอาสากับเครือข่ายพุทธิกานั้นไม่ยาก ที่นี่มีพี่เลี้ยงที่ใจดีและพร้อมดูแลให้ทุกคนได้มาร่วมฉลาดทำบุญด้วยสองมือของตัวเอง อยากให้ลองมาทำด้วยกัน เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิต สำหรับคนวัยอิสระที่เกษียณไปแล้ว แต่ไม่รู้จะไปทำอะไร งานจิตอาสาเป็นสิ่งหนึ่งที่อยากให้มาลองทำสักครั้ง มันอาจจะช่วยเติมเต็มบางอย่างในชีวิตได้
“สิ่งที่เราจะได้กลับไปจากการทำงานจิตอาสาแน่ ๆ คือ การป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เพราะเราได้มาเจอผู้คน ได้อยู่ในสังคม และได้พูดคุยกับคนอื่น ทำให้เราได้ใช้ความคิดอยู่ตลอด นอกจากนี้ยังได้ความรู้หลายอย่างกลับไปดูแลตัวเอง ที่สำคัญคือไม่เหงาและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวด้วย
“เราคิดว่าจะทำงานจิตอาสาไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่จะทำได้ เพราะนอกจากความสุขที่ได้จากการทำงานจิตอาสา มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นอีกครอบครัวหนึ่งของเราไปแล้ว”
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ พุทธิกา ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา