แคร์กิฟเวอร์มือใหม่ ทำอย่างไรไม่ให้เป็น ‘เดอะ แบก’ คุยกับ ‘โจ๋-ชนาพร เหลืองระฆัง’ กับอาชีพลูกสาวและแคร์กิฟเวอร์ของครอบครัวแบบเต็มเวลา ในแบบที่ตัวเองยังสุขในทุกวัน

‘เมื่อพ่อก็ป่วย แม่ก็แก่ จะเป็นใครเล่าที่ต้องกลับมาดูแล ถ้าไม่ใช่ลูกสาว?’

ประโยคนี้อาจไม่เกินจริงไปนักในสังคมเอเชียบ้านเรา ในวันผู้เป็นพ่อแม่เริ่มแก่ตัวและเจ็บไข้ ก็มักเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ลูก ๆ อยู่ในวัยที่กำลังทำงานอย่างหนักและเริ่มสร้างครอบครัวของตัวเอง หลายคนเลือกที่จะลาออกจากงานประจำ ทิ้งชีวิต และความฝัน และกลับมาดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าในกับครอบครัว

แน่นอนว่าลูกทุกคนย่อมเต็มใจในการดูแลพ่อแม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยกำลังทำหน้าที่นี้ด้วยความกดดัน และเหนื่อยล้า และบางครอบครัวเลือกที่จะให้มีใครคนหนึ่งแบกรับความรับผิดชอบอันหนักอึ้งนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว

มนุษย์ต่างวัยชวนทำความรู้จักกับ ‘โจ๋-ชนาพร เหลืองระฆัง’ วัย 47 ปี กับบทบาทลูกสาวและแคร์กิฟเวอร์เต็มเวลา หลังจากที่คุณพ่อล้มป่วยอย่างกระทันหันโดยไม่ทันได้ตั้งตัว เกือบ 3 ปี ที่โจ๋ทำหน้าที่ดูแลคุณพ่อผู้ป่วยอัมพฤกษ์ครึ่งซีก รวมถึง คุณแม่ คุณป้า รวมถึงน้องชาย น้องสะใภ้ และหลาน ๆ อีก 6 ชีวิตในบ้าน

ครอบครัวของโจ๋ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะมีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในบ้าน ก็ไม่มีใครจำเป็นต้องรับหน้าที่ ‘เดอะแบก’ แม้แต่คนเดียว เพียงแค่ทัศนคติที่ดี การจัดการที่เหมาะสม และการรู้จักวางใจซึ่งกันและกันของทุกคนในครอบครัว เพียงเท่านี้ ภารกิจการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัยในบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากเกินไป ไม่ว่าบ้านไหนก็ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องทิ้งใครในครอบครัวไว้ข้างหลังแต่เพียงผู้เดียว

เมื่อพ่อล้มป่วย โลกทั้งใบก็เปลี่ยน

ครอบครัวของโจ๋เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่มี พ่อ แม่ ป้า น้องชาย น้องสะใภ้ หลาน ๆ อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แม้ว่าทุกคนจะอยู่ร่วมกัน แต่ต่างคนต่างมีชีวิตที่เป็นอิสระ มีความชอบ และวิถีชีวิตที่ต่างกัน และดูแลตัวเองได้โดยไม่พึ่งพากันและกันมากนัก

“ก่อนหน้านี้ เรามีงาน มีครอบครัว มีชีวิตเป็นของตัวเอง มีเวลาก็จะออกกำลังกาย เดินทางท่องเที่ยว ส่วนพ่อก็ชอบขับรถออกไปพบปะเพื่อนฝูง ไปสภากาแฟ แม่ก็ชอบไปจ่ายตลาด ในขณะที่น้องชายก็มีครอบครัวของตัวเองต้องดูแล ทุกคนมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน ไม่ได้สนใจทุกข์สุขของคนในบ้านมากนัก”

จนกระทั่งวันหนึ่ง โจ๋ได้รับแจ้งจากน้องชายว่าพ่อล้มลงหมดสติ ครอบครัวเรียกรถพยาบาลเพื่อนำพ่อส่งโรงพยาบาลทันที หลังจากวินาทีนั้น ทุกอย่างในบ้านก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“วินาทีแรก เราเห็นเขานั่งนิ่งที่พื้น ดูเหมือนเขาหลับหน้าทีวีตามปกติ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ เราเรียกรถพยาบาลทันที หมอแจ้งว่าพ่อมีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบในจุดที่เป็นเส้นเลือดแขนงหลัก หลังจากวันนั้น พ่อกลับบ้านในสภาวะที่ร่างกายข้างขวาขยับไม่ได้ พูดจาไม่รู้เรื่อง ต้องใส่สายอาหารและรอกลับมาใส่สายอาหารหน้าท้องในอีก 6 เดือนข้างหน้าตามคำแนะนำของหมอ”

โจ๋เล่าว่าปกติแล้วพ่อเป็นคนแข็งแรงมาก ทุกเช้าจะเห็นเขาออกจากบ้านไปพบปะเพื่อนฝูงที่สภากาแฟ บางวันก็ไปต่างจังหวัด พ่อมีโลก มีสังคม และได้มีชีวิตในแบบที่เขาต้องการ การที่อยู่ ๆ พ่อล้มลงกระทันหันแบบนี้ทำให้โลกทั้งใบของเธอเปลี่ยนไปเช่นกัน

“วินาทีที่รู้ว่าการกลับบ้านครั้งนี้ของเขาจะไม่แหมือนเดิมอีกต่อไป เราเต็มไปด้วยความรู้สึกสารพัด ทั้งสงสาร เสียใจ เครียด กดดัน เราเคยเห็นเขาออกไปข้างนอกทุกวัน เห็นเขามีสังคมเพื่อนฝูง เขาเป็นคนวัย 75 ปี ที่มีความสุขกับชีวิตมาก แต่วันนี้ เขาทำอะไรไม่ได้เลยแม้กระทั่งการพูด”

ด้วยความที่โจ๋คือลูกสาวคนโตในครอบครัวใหญ่ต้องทำหน้าที่ดูแลครอบครัว ทำให้เธอจมอยู่กับความรู้สึกทางลบได้ไม่นาน การมีสติและค่อย ๆ มองปัญหาตามความเป็นจริง รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในจึงเป็นสิ่งที่ช่วยกอบกู้ให้สถานการณ์ให้ดีขึ้น

“บ้านเราไม่พร้อมดูแลคนป่วย เพราะไม่เคยคิดว่าจะเจอเรื่องแบบนี้ เราต้องพาพ่อไปอยู่บ้านญาติชั่วคราว เพราะมีอุปกรณ์จำเป็นสำหรับคนป่วยครบ และเป็นเราเองที่เลือกไปอยู่ที่นั่นเพื่อดูแลพ่อ

“ตลอด 6 เดือน ที่อยู่ที่นั่น สภาพจิตใจแย่มาก กลายเป็นแคร์กิฟเวอร์มือใหม่ที่ทำงาน 24 ชั่วโมง แบบไม่ทันตั้งตัว โชคดีที่หาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลพ่อได้ แม้จะกังวลใจอยู่สักพักแต่ไม่นานก็เริ่มปรับตัวปรับใจได้ จากวันนั้นทำให้เรากลายเป็นแคร์กิฟเวอร์แบบเต็มเวลา จนถึงตอนนี้เกือบ 3 ปี แล้ว”

พ่อไม่ได้เป็นของเราคนเดียว

ตั้งแต่วันที่พ่อล้มป่วย และต้องมีผู้ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โจ๋และสมาชิกทุกคนในบ้านเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีคนใดคนหนึ่งรับภาระนี้ไว้แต่เพียงคนเดียว และจำเป็นต้องจ้างผู้ดูแลประจำ

“วันที่พ่อกลับมาบ้าน เรานั่งคุยกันว่าจะจัดการการดูแลอย่างไรดี เรายินดีรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลหลักโดยมีทุกคนช่วยกัน support แม้แต่แม่ที่แก่แล้วยังทำตัวมีประโยชน์ (หัวเราะ)

“เราทุกคนเต็มใจดูแลพ่อ ให้ดูแลตลอดเวลาก็ย่อมได้ แต่มันจะทุกข์ แม้ว่าสังคมจะพูดเรื่องความกตัญญูขนาดไหน แต่พวกเราคิดว่าละคนก็มีหน้าที่ มีชีวิตเป็นของตัวเอง เราจึงเห็นตรงกันว่าต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลพ่อเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระไม่ให้ใครคนหนึ่งต้องรับหน้าที่หนักเกินไป

“หลายครอบครัวมีความคาดหวังกับลูกสาวที่ยังโสดให้ดูแลคนแก่หรือคนป่วยในบ้าน พวกเขาต้องยืนอยู่บนความคาดหวัง ต้องแบกรับและอดทนโดยไม่มีใครค่อย support เราไม่อยากเห็นสิ่งนี้ในสังคมผู้ดูแล

“อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เราคิดว่าพ่อไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่เขาเป็นของทุกคนในบ้าน ทุกคนอยากดูแลพ่อไม่ต่างจากเรา ฉะนั้นทุกคนควรได้รับโอกาสนั้นและมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำหน้าที่ด้วย มันจะสร้างความสบายใจให้ทุกฝ่าย”

เลือกที่จะมี ‘พี่เลี้ยง’ ในบ้านด้วยความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม

ครอบครัวของโจ๋เห็นตรงกันว่าควรจ้างพี่เลี้ยงแบบเต็มเวลาเพื่อดูแลพ่อ และไม่ได้ต้องการคนมีทักษะในการดูแลผู้ป่วยเป็นพิเศษเช่น ทำแผล หรือดูดเสมหะ แต่ต้องการพี่เลี้ยงธรรมดาที่ดูแลกิจวัตรของผู้ป่วย การหาพี่เลี้ยงผู้สูงอายุอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่จริง ๆ แล้วไม่ง่ายเลย

“เราเริ่มจากการหาพี่เลี้ยงในกลุ่มเฟซบุ๊ก มันเหมือนจะง่ายเพราะมีคนหางานประเภทนี้เยอะ แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายเลย หลายคนไม่ได้มีใจอยากดูแลคนป่วยหรือผู้สูงอายุ และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหาคนที่เข้ากับครอบครัวเราได้ ทำให้เราต้องสัมภาษณ์อย่างเข้มข้น ต้องให้แม่มานั่งคุยด้วย จะได้รู้ว่าเข้ากับคนในบ้านเราได้ไหม จนในที่สุดก็ได้มา”

โจ๋เล่าให้เราฟังว่าจะมีตารางงานที่ชัดเจนสำหรับพี่เลี้ยงว่าเวลาไหนต้องทำอะไร และจัดเวลาการพักผ่อนให้อย่างเหมาะสม ดูแลเขาเหมือนสมาชิกในบ้านคนหนึ่ง ให้เกียรติและเคารพปรับตัวในการอยู่ด้วยกันเสมอมาบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม

“หน้าที่ของพี่เลี้ยงคือการดูแลพ่อ ทำอาหาร อาบน้ำ ทำกายภาพบำบัด และอำนวยความสะดวกให้พ่อเท่านั้น

เราจะคิดเสมอว่าเขาคือพี่เลี้ยงของพ่อ ไม่ใช่แม่บ้าน เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม และดูแลเขาเหมือนสมาชิกในบ้านคนหนึ่ง

“การจ้างผู้ดูแลมาอยู่ที่บ้านแล้วดูแลเขาไม่ดี กดเขาไว้ ทั้งเรื่องอาหารการกินหรือความเป็นอยู่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ เพราะทุกคนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้ดูแล หรือสมาชิกทุกคนในครอบครัวควรอยู่บนความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม และต่อให้ผู้ป่วยคือพ่อของเรา ไม่ได้แปลว่าเราต้องเทิดทูนทำให้ทุกอย่างที่เขาต้องการเพราะว่าเขาเป็นพ่อ และควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยทำอะไรด้วยตัวเองบ้างหากเป็นไปได้ เพราะมันคือการให้เกียรติเขาเช่นกัน หากทุกคนที่อยู่ในวงล้อมแห่งการดูแลนี้มีความสุข สุดท้ายทุกความสัมพันธ์จะราบรื่นเอง”

วันที่ต้องเป็นแคร์กิฟเวอร์มือใหม่ ทำยังไงดี ?

สำหรับการดูแลผู้ป่วย โจ๋แนะนำว่าคำแนะนำจากแพทย์เจ้าของไข้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีใครรู้จักคนไข้ได้เท่าคนในบ้าน ให้หมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และการพบแพทย์มากกว่า 1 แห่งเพื่อขอคำแนะนำอาจเพิ่มทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้ป่วย

“ตอนพ่อออกจากรพ.แรก หมอแจ้งว่าให้พ่อใส่สายอาหาร แล้วอีก 6 เดือนให้กลับมาใส่สายอาหารทางหน้าท้อง แต่พอกลับมาบ้านเราสังเกตว่าพ่อกลื่นน้ำลายเองได้ ต่อมาเราเลยไปปรึกษาคุณหมอที่ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู (รพ.รามาธิบดี) พอลองตรวจดูก็พบว่าพ่อไม่มีปัญหาเรื่องการกลืนจริง ๆ และไม่จำเป็นต้องใส่สายอาหารอีกต่อไป กลายเป็นว่าจากการสังเกตของเราเองทำให้เราเปลี่ยนวิธีการดูแล และพ่อก็อาการดีขึ้นมากจากหน้ามือเป็นหลังมือ”

ในด้านความรู้สึกทางใจ สำหรับกิฟเวอร์มือใหม่ (ซึ่งโดยมากเกิดโดยไม่ทันตั้งตัว) ย่อมเป็นธรรมดาที่จะ รู้สึกเสียใจ เครียด กดดัน โจ๋เองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น และเธอได้ให้คำแนะนำไว้ในฐานะผู้ดูแลมือใหม่ว่าสิ่งที่สำคัญอันดับแรกสุดคือการมีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ รู้จักยอมรับ และรู้จักไว้วางใจผู้อื่น

“สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ขอให้ทุกคนตบไหล่ตัวเองเบา ๆ หายใจลึก ๆ พยายามทำตัวเองให้จิตใจมั่นคงก่อน ถ้าใจไม่มั่นคง การดูแลคนอื่นจะกลายเป็นความทุกข์ หากรู้สึกเครียด เศร้า โกรธ หรือทุกข์ ขอให้หันกลับมาดูมัน เข้าใจมันจากนั้นก็ยอมรับและปล่อยมันไป อย่ากดข่มไว้หรือพยายามทำให้ตัวเองเข้มแข็งตลอดเวลา เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ใจเราต่างหากต้องเลือกว่าจะอยู่ด้วยความรู้สึกแบบไหน

แม้ว่าจะต้องเป็นผู้ดูแลแบบเต็มเวลา แต่สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือการหันกลับมาใส่ใจชีวิตของตัวเอง หมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ตัวเรามีความสุข อะไรคือคุณค่าของเรา เพื่อในวันที่พวกเขาจากไป เราจะยังสามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างมีคุณค่าและมีความหมาย

“เรารู้ว่าแม่จะมีความสุขถ้าได้ไปตลาด เรารู้ว่าพ่อจะเบิกบานเมื่อได้ฟังเพลงสุรพล สมบัติเจริญ ฉะนั้นเราก็ต้องรู้จักความสุขของตัวเองด้วยเช่นกัน หมั่นทบทวนตัวเองว่าวันนี้เรายังมีความสุขไหม หรือถ้าไม่แล้วอะไรทำให้เราทุกข์ ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจนำความทุกข์ ความเครียดไปลงกับผู้ป่วย ไม่เป็นผลดีกับใครเลย”

อาชีพลูกสาวคนโตของบ้าน กับคุณค่าในชีวิตที่เปลี่ยนไปในวัย 40+

สำหรับครอบครัวของโจ๋แล้ว การมีพี่เลี้ยงทำให้การดูแลพ่อง่ายขึ้น ส่วนโจ๋ในฐานะลูกสาวคนโตจะทำหน้าที่บริหารจัดการความเป็นอยู่และความสุขของครอบครัวในภาพรวมแทน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า หากในครอบครัวมีใครสักคนที่ทำหน้าที่นี้แล้วล่ะก็ จะทำให้สมาชิกและบรรยากาศในภาพรวมของครอบครัวเป็นไปได้อย่างราบรื่น

“ทุกเช้าเราต้องลงมาดูว่าพี่เลี้ยงทำอะไรให้พ่อกิน เค็มไปหรือเปล่า หรือถ้าผักหมด เราจะเป็นคนออกไปหาซื้อมาให้ สำหรับพ่อ แม้จะมีพี่เลี้ยงแล้วแต่เราจะคอยช่วยดูเขาอยู่ตลอด เราสังเกตว่าเขาชอบฟังเพลงสุรพลมาก เราจะคอยเปิดให้เขาฟัง ส่วนแม่ชอบไปตลาด ไปเดินดูของ หรือทำธุระข้างนอก เราจะคอยทำหน้าที่พาเขาไปให้เขาเปิดหูเปิดตา แต่ถ้าหากมีใครไม่ว่าง เรากับน้องชายและทุกคนในบ้านก็พร้อมจะช่วยกันทำหน้าที่แทน”

โจ๋เล่าให้เราฟังว่าเธอพบว่าคุณค่าในชีวิตของเธอเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก จากที่เคยคิดว่าถ้าได้ออกไปทำงาน มีสังคมเพื่อนฝูงคงเป็นชีวิตที่มีความสุข แต่วันนี้ โจ๋ ในวัย 47 ปี กลับมองเห็นความสุขจากการได้อยู่กับครอบครัว ได้เห็นคนรอบตัวมีความเป็นอยู่ที่ดีทั้งกายและใจที่ไม่ว่าจะเจอเงื่อนไขยาก ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

“ตอนเราอายุ 20-30 ปี เราก็อยากมีงานดี ๆ มีเพื่อน มีชีวิต มีสังคมเหมือนคนอื่น แต่ในวันนี้ เราเริ่มคิดถึงตัวเองน้อยลง แล้วหันมาดูแลคนในบ้านมากขึ้น มีตรงไหนที่เราพอจะเข้าไปเติมเต็มช่วยให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จะรีบทำทันที

“สำหรับเราแล้ว ไม่ว่าเราต้องเป็นผู้ดูแลด้วยหน้าที่ ความจำเป็น หรืออะไรก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว เราเองต่างหากที่เป็นผู้เลือกทางเดินนี้ แต่มันคือความเต็มใจ ความพอใจ การบอกว่าชีวิตเราต้องพลาดอะไรบางอย่างไปเพียงเพราะต้องมาดูแลใครสักคนอาจไม่ยุติธรรมสำหรับใครเลย การได้ดูแลทั้งพวกเขาและตัวเราด้วยความรู้สึกเบาสบายโดยที่ไม่หลงลืมความต้องการของตัวเอง นี่ต่างหากคือต่างหากคือคุณค่าของเรา

การต้องดูแลผู้สูงอายุหลายคนในบ้านตลอดเวลา แม้ลูกทุกคนในบ้านจะทำด้วยความเต็มใจ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผู้อยู่ในฐานะลูกจะผ่านไปได้ในแต่ละวันอย่างราบรื่น แต่โจ๋-ชนาพร ทำให้เราเห็นว่า การจัดการที่ดีร่วมกับทัศนติและการมองโลกที่ดีตามความเป็นจริง การรู้จักขอความช่วยเหลือ รู้จักดูแลใจตัวเอง ไม่แบกรับความทุกข์กายใจไว้เพียงลำพัง จะทำให้ลูกในฐานะผู้ดูแลผ่านแต่ละวันไปได้อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ

“สำหรับใครที่เป็นลูกและต้องดูแลพ่อแม่อยู่ตอนนี้ เราเชื่อว่าทุกคนพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อดูแลเขาให้ดีที่สุดแล้ว แต่หากเจอปัญหาระหว่างทางต้องรู้จักขอความช่วยเหลือและวางใจผู้อื่น จงอย่าเป็น ‘เดอะ แบก’ อย่าคิดว่าทุกอย่างต้อง perfect ที่สุด

“และขอให้คิดถึงในวันที่พวกท่านจากไปแล้วว่าวันนั้นตัวเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปแบบไหน ฉะนั้นแล้ว ในระหว่างเส้นทางการดูแลอันแสนยาวนานนี้ ขอให้แบ่งเวลาออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก อย่าทิ้งอะไรที่เป็นคุณค่า เป็นความสุข และเป็นชีวิตของเราจริง ๆ” โจ๋กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ